FATE αlpha / Cocktail
[Gene Lab]
FATE Ωmega/ Cocktail
[Gene Lab]
แค่ชื่อ Fate αlpha และ Fate Ωmega สองอัลบัมของค็อกเทล วงดนตรีที่มี โอม – ปัณฑพล ประสารราชกิจ ผู้บริหารค่ายเพลง ยีนแล็บ ในเครือบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมีเป็นนักร้องและแกนนำคนสำคัญ รวมถึงสมาชิกรุ่นก่อตั้งเพียงคนเดียวที่ยืนหยัดทำงานในนามของวงมาจนถึงตอนนี้ ที่ออกในช่วงเวลาสองปีติดต่อกัน ย่อมให้ความรู้สึกเหมือนเป็นอัลบัมพี่น้อง หรือน่าจะต้องมีความเกี่ยวพันกัน
ย้อนไปถึงอดีต ดูวันเวลาในการทำงานรวมถึงผลงานของค็อกเทล พวกเขาเริ่มต้นกันมาก่อนจะเป็นหนึ่งในศิลปินของสังกัดจีนีเรคอร์ดส์ โดยออกอัลบัมแรก Cocktail ตั้งแต่ปี 2545 ตามบันทึกที่มีอยู่ในวิกิพีเดีย เมื่อนับมาถึงวันนี้ พวกเขามีอายุอานามถึง 2 ทศวรรษ มีอัลบัมออกมา 8 ชุด มี Fate Ωmega เป็นงานชุดล่าสุด แล้วก็มีอีพีอีก 3 ชุด
หากนับ Ten Thousand Tears งานชุดที่ 4 ของวง แต่เป็นอัลบัมแรกที่ได้ออกกับค่ายใหญ่เมื่อปี 2554 เป็นหลักกิโลแรกในการทำงาน ถือว่าดนตรีร็อคของค็อกเทลมีลักษณะเฉพาะตัว มีความแตกต่างจากเพื่อนร่วมรุ่น มาตั้งแต่ออกสตาร์ต การแต่งท่วงทำนองที่ฟังสละสลวย การเรียบเรียงที่นำเครื่องสายมาใช้สร้างความสวยงามให้เพลง มาขนาดนี้คงไม่ต้องพูดถึงความเป็นพ็อปของงาน เมื่อสมการเริ่มต้นมีทั้งเมโลดีที่สวย การเรียบเรียงที่งามเป็นทุนตั้งตัว
ซาวนด์ดนตรี แม้จะรู้สึกถึงอิทธิพลของดนตรีร็อคทั้งจากฝั่งอังกฤษ ทั้งสหรัฐอเมริกา หรือกระทั่งเจ-ร็อค แต่เมื่อผ่านการปรุงแต่งของพวกเขา ก็เข้ามาอยู่ร่วมกันในอัลบัมได้อย่างไม่เคอะเขิน หากผสมผสานกันก็เป็นไปอย่างลงตัว เช่น “ในสายตาเธอ” เพลงบัลลาดที่ทำให้นึกถึงงานของวงร็อคแฮร์แบนด์อเมริกันยุค 80 หรือ “ฉันร้องไห้เป็นหมื่นครั้งเพื่อมาเจอเธอ” ที่เสียงกีตาร์มีกรุ่นกลิ่นของดนตรีบริต-พ็อปให้รู้สึก ซึ่งทั้งหมดมีจุดร่วมกันอยู่ที่เสียงร้องของปัณฑพล และซาวนด์ของวง ที่นอกจากทำให้แต่ละเพลงผูกโยงเข้าด้วยกัน ยังสร้างตัวตนของพวกเขาไปในคราวเดียวกัน
เนื้อหา ถ้อยคำภาษาก็มาแบบเดียวกับท่วงทำนอง บางเพลงก็เพิ่มด้วยเรื่องราวที่กระตุกหู บางเพลงก็ขายของสำเร็จได้ตั้งแต่ชื่อ เช่น “ฉันร้องไห้เป็นหมื่นครั้งเพื่อมาเจอเธอ” หรือว่า “งานเต้นรำในคืนพระจันทร์เต็มดวง” ที่ชวนให้คลิกฟังเหลือเกิน
และพอคลิกจริง ๆ ก็ไม่รู้สึกผิดหวังที่ได้ยิน… ทั้งในเรื่องของเนื้อหา หรือว่าดนตรี
The Lords of Misery งานชุดต่อมาที่ออกในปี 2557 ค็อกเทลเติบโตขึ้น ดนตรีซับซ้อนกว่าเดิม ในหลาย ๆ เพลงมีมูฟเมนต์ที่หลากหลาย สับเปลี่ยนไปมา จนงานของพวกเขานอกจากจะเป็นร็อคที่มีเครื่องดนตรีคลาสสิคัลเป็นเสน่ห์สำคัญ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวไปแล้ว ที่หนนี้ยังฟังดู “ใหญ่” ขึ้น หลาย ๆ เพลงยังเต็มไปด้วยกลิ่นไอดนตรีโพรเกรสซีฟ ที่ซ่อนตัวอยู่ในความเป็นพ็อปได้แนบสนิท
5 ปีผ่าน ค็อกเทลกลับมาด้วยอัลบัมที่ใช้ชื่อวงเป็นชื่อชุด Cocktail ที่โดยสามัญกับการนำชื่อวงมาตั้งเป็นชื่ออัลบัมที่ไม่ใช่งานชุดแรก (ซึ่งพวกเขาเคยทำมาแล้ว) มันก็คือการบ่งบอก ตอกย้ำ ว่านี่คืองานที่แสดงถึงตัวตนของตัวเอง
และอัลบัม Cocktail ก็ทำหน้าที่ได้อย่างที่ทางวงต้องการ
แม้ดนตรีจะมีพื้นจากงานที่ผ่าน ๆ มา แต่ก็เติบโตกว่าเดิมชัด ชั้นของการเรียบเรียงดนตรีซับซ้อน ฟังอลังการ ถึงจะรู้สึก “ยาก” ในการเข้าถึง ในบางเพลง แต่ก็ยังคงความสวยงามเอาไว้ได้อย่างที่เคยเป็น เห็นได้ชัดจากเพลงซึ่งเป็น “ของตาย” ของวง เช่น “ช่างมัน”
บางเพลงก็ขยับขยายขอบเขตดนตรีของวงออกไป อย่าง “ในเงา” ที่ก้าวไปสู่เส้นทางสายคันทรี
เนื้อหาคมคายของหลาย ๆ เพลงสามารถจับต้องไปมองได้หลากหลายแง่มุม ทั้งความรัก ทั้งชีวิต
แล้วก็มีเพลงที่เป็นก้าวกระโดด เช่น “ปรารถนาสิ่งใดฤๅ” หรือ “ทำดีไม่เคยจำ”
ที่เพลงหลังคือเพลง “โชว์” ของอัลบัมชุดนี้ตีคู่มากับ “ดนตรีกาล” เมื่อจัดเต็มทั้งมูฟเมนต์ที่หลากหลาย แนวทางดนตรีที่มีทั้งร็อค, เร็กเก รวมถึงงานไทยเดิมผ่านเพลงเห่ ไล่ไปจนถึงเมทัล
ส่วน “ดนตรีกาล” ที่เป็นการร่วมงานกับ ทฤษฎี ณ พัทลุง ก็คือการนำเสนอตัวเองในฐานะวง คลาสสิคัล ร็อก ที่เต็มรูปแบบที่สุดเท่าที่วงเคยทำมา (ในตอนนั้น) ผ่านเรื่องราว ผ่านการเรียบเรียงที่ผสมผสานดนตรีและการร้องแบบคลาสสิคัล เข้ากับดนตรีร็อกได้อย่างลงตัว และเข้มข้น โดยเฉพาะในท่อนท้าย ๆ ที่เสียงกีตาร์ร็อคแผดกร้าวเล่นรับส่งกับกลุ่มเครื่องสายได้สนุก มีท่อนดนตรีในแนวทางต่าง ๆ มาเบรก ช่วยตอกย้ำความเป็น “ดนตรีกาล” ก่อนจะปิดด้วยเสียงร้องใหญ่โต ดนตรีที่พาอารมณ์ไปถึงจุดพีก ซึ่งเป็นการจบเพลงได้อย่างสมบูรณ์แบบ
กับ 2 อัลบัมล่าสุด Fate αlpha (2564) และ Fate Ωmega (2565) ที่ชื่อให้ความรู้สึกเป็นอัลบัมพี่น้อง เป็นงานที่ดูมีความเชื่อมโยงกัน อย่างที่บอกเอาไว้ตั้งแต่ตอนต้น
ค็อกเทลเหมือนกำลังพาตัวเองออกไปจากเส้นทางเดิม ๆ ที่เคยเดิน ที่อาจไม่ต่างไปจากการปล่อยให้ Cocktail อัลบัมเมื่อปี 2562 เป็นป้ายสุดท้าย หรือไม่ก็สถานีปลายทาง หรือว่าจุดสุดยอดของการทำงานในแบบคลาสสิคัล ร็อค
เพราะกับการฟังไล่เรียงมาเรื่อย ๆ ด้วยแล้ว… งานชุดนั้นให้ความรู้สึกแบบนี้จริง ๆ
ทั้ง Fate αlpha และ Fate Ωmega ดนตรีพวกเขาเป็นร็อคแบบเมนสตรีมมากขึ้น ซาวนด์ดนตรีดิบ แรง หนักแน่นกว่าเดิม ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มีบทบาทกว่าที่เคยเป็น รวมถึงมีเพลงที่คลี่คลายเข้าหากลุ่มคนฟังวงกว้าง เช่น “อภิสิทธิ์ชน” งานจังหวะสนุก ๆ คึกคักในแบบสามช่า ซึ่งอยู่ใน Fate αlpha ส่วน Fate Ωmega ก็มีเพลงที่อวลไปด้วยกลิ่นไอของดนตรีลูกทุ่ง “คนจริงใจ” เพลงรักน่ารัก ๆ รวมศิลปินจาก 4 ภาค 4 ภาษา ทั้งปัณฑพล (กลาง), ปู่จ๋าน ลองไมค์ (เหนือ), พงศ์ พัทลุง (ใต้) และลำใย ไหทองคำ (อีสาน)
เพลงเปิดอัลบัมทั้งสองชุดต่างเป็นร็อคเข้มข้น จาก “หัวใจเหล็ก” ใน Fate αlpha มาเป็น “ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร” ของ Fate Ωmega ที่ต่างก็ไม่ใช่เพลงรักและมีอะไรบางอย่างคล้าย (หรือร่วม) กัน การใช้เสียงร้องประสานแบบวงประสานเสียงในโบสถ์ บีตอิเล็กทรอนิกส์แน่น ๆ แบบงานอินดัสเทรียลจากเพลงแรก แต่มาขับเน้นบรรยากาศที่ทำให้นึกถึงงานในยุค ‘80 ของเพลงหลัง
แต่ที่สะดุดหูก็คือ บรรดาเพลงที่มาพร้อมกับแขกรับเชิิญ ที่ค็อกเทลสามารถหยิบลายเซ็นของแต่ละคนมาใส่ในดนตรีร็อคของพวกเขาได้อย่างกลมกลืน
“ดึงดัน” ที่ร่วมงานกับศิริพร อยู่ยอด ภาษา-จังหวะจะโคน และลูกเล่นของเพลงฮิตจากศิลปินหญิงเสียงดีคนนี้ กลายเป็นส่วนหนึ่งในเพลงได้เนียนสนิท “รักจริง (ให้ดิ้นตาย)” ที่นอกจากท่อนแร็ปของเอฟ. ฮีโร ที่แทรกเข้ามา ก็มีคำร้องที่เป็นภาษาเพลงของแขกรับเชิญอีกคน ติ๊ก ชีโร ซึ่งท่อนร้องรองรับด้วยเปียโนหวาน ๆ แบบเดียวกับเพลงดังยุคหลังของศิลปินรายนี้ “นักดนตรี” ที่นอกจากสองสมาชิกไททศมิตร ยังมีธนพล อินทฤทธิ์ เจ้าของเสียงร้องเรื่องราวเล่าถึงชีวิตนักดนตรีที่ผ่านร้อน ผ่านหนาวมานาน ซึ่งเนื้อหาเข้ากับตัวตนของคนร้องที่ผู้คนมองเห็นหรือรับรู้ ตัวเพลงก็เด่นด้วยดนตรีคันทรี ร็อคในแบบธนพล และซาวนด์แบบไททศมิตร ที่หลอมรวมกับงานที่มีกลิ่นไอของค็อกเทล
เห็นได้ชัดว่า ไม่ว่าจะเป็นอัลบัมชุดไหน แนวทางดนตรีถูกขยาย หลากหลายมากขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในกรอบเดียวกัน โดยลักษณะเฉพาะตัวในการแต่งเพลงของค็อกเทลยังไม่ไปไหน ท่วงทำนองที่ไพเราะ ความเป็นพ็อปในเพลง แล้วก็ฟังง่าย คลี่คลายกว่า Cocktail ที่หลาย ๆ เพลงพวกเขาใส่เต็มจัดหนัก จนเป็นอัลบัมที่ฟังแล้ว “ทึ่ง” มากกว่าเข้า “ถึง” สำหรับคอเพลงทั่ว ๆ ไป เนื้อหาเปิดพื้นที่ให้มองได้กว้างไกลกว่าเดิม หลาย ๆ เพลงอาจรู้สึกเหมือนเป็นเพลงรัก แต่ก็คิดอีกทีก็ไปไกลกว่านั้นได้ เช่น ใน “ไร้ญาติขาดมิตร” และ “ต่างคน”
การมาถึงหลังจาก Cocktail ทำให้ Fate αlpha และ Fate Ωmega ดูเป็นการผ่อนคลายทั้งสำหรับคนฟังและคนทำงาน ดนตรีไม่ซับซ้อนนัก แล้วรู้สึกถึงการอยากทำอะไรสนุก ๆ ที่ไม่ต้องใหญ่โต และไม่ถึงขั้นเป็นงานทดลอง แล้วด้วยความที่มีจุดร่วมกันหลายอย่าง ไม่ใช่แค่ชื่อ ทั้งดนตรี มุมมอง หรือวิธีการสร้างงาน ที่มองผลสำเร็จของงานจากสายตาของคนนอก นี่คืออัลบัมที่ต้องฟังคู่กัน เมื่อรู้สึกถึงความเป็นกลุ่มก้อน และน่าจะเป็นอีกหลักไมล์หนึ่งในการทำงานของวง
ที่การวางจำหน่ายในรูปแบบซีดี ซึ่งทำออกมาเป็นแพ็คคู่ขายด้วยกัน ในชื่อ Fate ย่อมพอจะบอกถึงความตั้งใจของพวกเขาได้กลาย ๆ ว่าอยากจะให้คนฟังสัมผัสกับงานสองชุดนี้แบบไหน
ด้วยรูปลักษณ์ของแพ็คเกจ ดีไซน์ของปก การออกแบบต่าง ๆ ไล่เข้ามาถึงเนื้อในของอัลบัม ที่ถึงจะฟังคลี่คลาย ผ่อนอารมณ์ กว่างานที่ผ่านมา หากในเรื่องความตั้งใจ ความเข้มข้นในการทำงาน เอาแค่การนำศิลปินรับเชิญมาทำงานร่วมกัน แล้วลายเซ็นตัวตนทุกอย่างของแต่ละคน และของวงยังอยู่ครบ แบบเป็นก้อนเดียวกันไม่มีสะดุด มันก็จบ โดยไม่ต้องพูดอะไรต่อไปให้มากความอีกแล้ว
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 34 ฉบับที่ 8 ตุลาคม 2566
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่