Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว – งานสามชุดของภูมิ วิภูริศ จาก MANCHILD, BANGKOK BALTER CLUB ไปถึง PHUM VIPHURIT ON AUDIOTREE LIVE

MANCHILD / Phum Viphurit
[Rat Terrier/ Earthtone Records/ Lirico]
BANGKOK BALTER CLUB / Phum Viphurit
[Rat Records]
PHUM VIPHURIT ON AUDIOTREE LIVE / Phum Viphurit
[Audio Tree]


หนึ่งอัลบัมกับอีพีสองชุดที่หนึ่งคืองานแสดงสด อีกหนึ่งคืองานสตูดิโอ ซึ่งทั้งหมดเป็นงานภาษาอังกฤษ คือเครดิทในการทำงานของ ภูมิ – วิภูริศ ศิริทิพย์ เด็กหนุ่มชาวไทย ที่ย้ายไปอยู่ที่แฮมิลตัน, นิว ซีแลนด์ตั้งแต่ 9 กับครอบครัวที่พ่อเป็นสถาปนิก และแม่เป็นกราฟิก ดีไซเนอร์ ซึ่งที่นี่ก็คือที่แรกที่ทำให้เขารู้จักกับการเล่นดนตรี แต่แทนที่จะเป็นกีตาร์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน กลับเป็นกลองแต่ก็ต้องหยุดเล่นเพราะเสียงที่ดังสนั่นดันไปรบกวนเพื่อนบ้านเข้า ภูมิเลยหันมาหากีตาร์แทน

เมื่อกลับมาเรียนต่อในบ้านเกิดตอนอายุ 18 ภูมิกลายเป็นที่รู้จักจากเพลงของตัวเอง และการคัฟเวอร์เพลงอัพโหลดขึ้นยูทูบ ทำให้ได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงอิสระ – แร็ท เรคอร์ดส์ แล้วก็ได้ออกอัลบัมชุดแรก Manchild ในปี 2017 ที่มีเพลง “Long Gone” และ “Lover Boy” กลายเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จนได้เดินสายแสดงสดในนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในเอเชีย, ยุโรป, เกาะอังกฤษ หรือว่าสหรัฐอเมริกา

และสตีเวน เอเดลสโตน นักเขียนของเว็บไซต์และนิตยสารโรลลิง สโตนในอเมริกา ถึงกับตั้งฉายาให้ภูมิว่า เป็น “อินดี-ป็อป สตาร์คนแรกของเมืองไทย” โดยเท่าที่จำได้ ยังไม่เคยมีศิลปินไทยคนไหนที่ทั้งถูกนำไปเขียนถึง และถูกตั้งฉายาในสื่อใหญ่ของอเมริการายนี้ ซึ่งน่าจะบ่งบอกกลายๆ ว่า เพลงของภูมิ รวมไปถึงศักยภาพที่เขาแสดงออกมาในวงการดนตรี ‘โลก’ นั้น มันขนาดไหน

ใน Manchild อัลบัมแรกที่ออกมาในปี 2017 แม้ภาพรวมจะฟังเป็นงานอะคูสติค-ป็อป แต่ภูมิก็สามารถสร้างหรือใส่บางสิ่งบางอย่าง ที่ในงานชุดต่อมาๆ สามารถเรียกได้ว่าเป็นเสน่ห์และแนวทางเฉพาะของเขาได้อย่างเต็มปาก ด้วยการสานต่อจากสิ่งที่เริ่มต้นไว้ในอัลบัมชุดแรกได้อย่างต่อเนื่อง และชัดเจนในการทำงาน

เพราะนอกจากจะมีแนวทางของเพลงที่ไม่สะเปะสะปะไปมา หรือไม่มีลักษณะแบบงานที่พยายามค้นหาตัวเองเช่นศิลปินหลายๆ ราย ทั้งเสียงร้องของภูมิที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการร้อง หรือการใช้เสียง ทั้งดนตรีก็ถูกห่อหุ้มด้วยซาวนด์ดนตรีที่ฟังล่องลอย บรรยากาศชวนเคลิ้บเคลิ้ม ฟุ้งฝัน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะรู้สึกหรือสัมผัสได้จากอัลบัมของวงในแบบซินธ์-ป็อป

แน่นอนว่ากับการเป็นศิลปินในโลกใบนี้ ยุคนี้ ที่หาความเป็น Original 100% ไม่เจอแล้ว เพลงของภูมิใน Manchild ก็อาจจะทำให้นึกถึงงานของศิลปินที่มาก่อน อย่าง Honne วงอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Prep วงอินดี-ป็อปจากเกาะอังกฤษ รวมไปถึง แม็ค เดอมาร์โค ศิลปินเดี่ยวชาวแคนาดา แต่ก็เป็นสัมผัสในแบบที่เรียกได้ว่าเป็น ‘แรงบันดาลใจ’ หรือ ‘อิทธิพล’ ได้อย่างเต็มปาก เมื่อเพลงของเขาไม่ต่างไปจากการหลอมรวมทางดนตรีของศิลปินเหล่านี้เข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน จนมีรูปลักษณ์เฉพาะตัวอย่างที่เห็น

เมื่อภูมิเดินหน้าต่อกับงานอีพีอีกสองชุดที่ออกมาในปีนี้ (2019) ก็แสดงให้เห็นถึงทิศทางที่เขาเดินหรือเป็น และรวมไปถึงพัฒนาการในการทำงาน ตลอดจนศักยภาพในตัวได้อย่างชัดเจน

ใน Bangkok Balter Club ที่ออกมาเมื่อเดือนกันยายน ภาคอะคูสติคในเพลงของภูมิไม่ได้จัดจ้านอย่างที่เคยเป็นใน Manchild ตัวเพลงฟังเป็นงานในแบบป็อป-ร็อค จากความเข้มข้นของภาคริธึมที่เติมเข้ามา โดยบรรยากาศเคลิ้มเคลิ้ม ล่องลอย เช่นที่เคยสัมผัสจากงานชุดแรกไม่หายไปไหน

ที่สำคัญ เพลงของภูมิในชุดนี้มีเซนส์ของป็อปให้จับต้องได้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป

ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ “Lover Boy” ซิงเกิลฮิตของเขาจากปี 2018

ขณะที่ “Hello, Anxiety” ก็มีความเป็นร็อค หรือหากจะมองว่า เป็นความขึงขัง จริงจัง ที่มากกว่าเพลงอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน

ถ้าสิ่งที่ได้ยินใน Bangkok Balter Club เรียกได้ว่าพัฒนาการในการทำงาน เสียงที่ได้สัมผัสจาก Phum Viphurit on Audiotree Live อีพีที่เป็นบันทึกการแสดงสด ก็น่าจะเป็นการเผยศักยภาพในการทำงานของภูมิออกมาให้เห็นในหลายๆ ด้าน เมื่อเพลงเดิมๆ เพลงที่เป็นงานสตูดิโอ ถูกนำมาเรียบเรียงใหม่ และแน่นอนใส่ความดิบในแบบงานแสดงสดลงไป กลายเป็นงานที่มีอรรถรสแตกต่าง

อย่าง ‘Loverboy’ ก็เล่นสนุกกับการเรียบเรียง เล่นกับโครงสร้างเพลง ส่วน ‘Hello, Anxiety’ ก็ฟังคึกคัก สนุก มีช่วงว่าง ที่เปิดช่องให้ภูมิได้สนุกกับคนดู ที่ในบางอารมณ์ บางความรู้สึก ก็ต้องบอกว่า เพลงเหล่านี้สะดุดหูและชวนฟัง ‘กว่า’ งานต้นฉบับจากสตูดิโอด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการใช้เสียงของภูมิ ที่มีกลิ่นของโซลโชยชัด

แต่ถึงจะเป็นงานแสดงสด ก็ยังเก็บบรรยากาศที่ล่องลอย แบบเดียวกับที่ได้ยินจากงานสตูดิโอเอาไว้ได้ ไม่หายไปไหน

คงบอกได้ว่านี่คือสิ่งที่เป็นหรือเป็นส่วนหนึ่งในลายเซ็นที่อยู่ในบทเพลงของเด็กหนุ่มคนนี้

แล้วเมื่อรวมกับส่วนอื่นๆ ก็ทำให้งานของภูมิ – วิภูริศ ศิริทิพย์ ไม่ใช่แค่เป็นงานที่มีตัวของตัวเอง มีทางเฉพาะ มีเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใคร หากเป็นเพลงที่ทำให้เขาก้าวไปได้ไกลกว่าใครคนอื่นในบ้านเรา สำหรับอุตสาหกรรมดนตรีของทุกวันนี้ ที่ขอบเขตของศิลปินไทย ไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศไทยอีกต่อไป

เพราะแค่ใช้นิ้วคลิกก็สามารถฟังเพลงของใครก็ได้ ที่ถูกอัพโหลดไปอยู่ในระบบของผู้ให้บริการสตรีมิงที่เปิดให้ฟังกันทั่วโลกแค่ชั่วพริบตา

นั่นหมายความว่า ศิลปินทุกวันนี้ล้วนทำงานที่ Go Inter กันอยู่แล้วก็ว่าได้ แต่จะมีสักกี่รายทำงานที่เป็นสากล เช่นที่หนุ่มคนนี้ทำ และเป็น

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ฉบับที่ 3 ปีที่ 31 (2562)

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.