Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว – สามัญ อัลบัมแรกของหนุ่มจากเวที เดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์ ชาติ สุชาติ

สามัญ / ชาติ สุชาติ
[What the Duck]

อีกหนึ่งนักร้องจากจากเวทีเดอะ วอยซ์ ที่ก้าวมาทำงานเพลงอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ออกหน้าออกตาให้ได้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง เหมือนเก่ง ธชย, อิเมจ สุธิตา, วี ไวโอเล็ทท์ และแม็กซ์ เจนมานะ

รวมถึงยังเป็นอีกคนหนึ่งที่มีอัลบัมออกมาให้ฟังกันเป็นเรื่องเป็นราว

เสน่ห์ของชาติ สุชาติที่หลายๆ คนสัมผัสได้ตั้งแต่ตอนยังเป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันเดอะ วอยซ์ ปีที่ 3 ก็คือเสียงร้องที่นุ่มนวล ละมุนหู ที่เข้ากันได้ดีกับเสียงอะคูสติคกีตาร์ ซึ่งความลงตัวที่มีก็ทำให้เขาได้รับการกล่าวถึงตั้งแต่ในตอนนั้น

ซึ่งในงานชุดแรก ‘สามัญ’ ก็เก็บเอาความลงตัว ที่กลายเป็นเสน่ห์ของชาติตั้งแต่ตอนนั้นมานำเสนอให้ได้สัมผัสกันเต็มที่ ในรูปแบบของงานโฟล์ค-ป็อป หรืออะคูสติค-ป็อป ที่ในช่วงแรกๆ อารมณ์หรือบรรยากาศของบางเพลงอาจจะทำให้นึกถึงศิลปินที่มาก่อน ที่ทำงานในแนวทางใกล้เคียงกัน อย่าง อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร (Greasy Cafe’) หรือฮูโก-จุลจักร จักรพงษ์ รวมไปถึงเป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ ตลอดจนศิลปินในยุคค่าเพลงอินดีรุ่งเรือง วิษณุ เทศขยัน อยู่บ้าง อย่างที่ได้ยินใน “การเดินทาง” เพลงแรกของอัลบัม ที่ทั้งภาษาและมุมมอง ที่ทำให้เห็นภาพของอภิชัยลอยมาบางๆ แต่ในท่วงท่าที่เป็นป็อป และดูอ่อนวัยกว่า หรือเพลงต่อมา “บันไดเลื่อน” ก็มาพร้อมกับกลิ่นไอบางอย่าง ที่สามารถสัมผัสได้จากงานของฮูโก ที่คลี่คลาย โปร่งสบายมากขึ้น

อาจจะเป็นการเปรียบเทียบ หรือยกตัวอย่างที่ไม่ยุติธรรมนักสำหรับชาติ แต่ก็เลี่ยงไม่ได้หากจะนิยามงานของผู้ชายคนนี้ให้เห็นเป็นภาพ สัมผัสได้เป็นรูปธรรมได้ชัดเจน ถึงกระนั้นที่สุดแล้ว ภายใต้เงาของศิลปินที่มาก่อน งานของชาติก็มีที่ทางของตัวเองให้เห็นให้ได้รับรู้ และพอจับสัมผัสได้เช่นกัน ถ้าเดินหน้าไปกับเพลงต่างๆ ใน ‘สามัญ’ จนจบครบทุกเพลง โดยเฉพาะความเป็นป็อปในงาน ความละเมียดละไมของดนตรี ที่ทำให้เพลงฟังอบอุ่น นุ่มนวล ไม่ว่าจะเป็นใน “แหงน”, “เวลา” หรือ “ระบาย” ที่เพลงหลังอยู่ในเส้นทางของเวสท์ โคสท์ ที่ถูกย่อยจนกลายเป็นโฟล์ค-ร็อคฟังสบายๆ และทั้งหมดสามารถโอบอุ้ม ส่งเสริม เนื้อหา เรื่องราว ที่หลายๆ เพลงเป็นมุมมองที่ไม่ธรรมดาได้อย่างเหมาะเจาะ

ไม่ว่าจะเป็น การเล่นกับการเดินทางและการเรียนรู้ จาก “การเดินทาง” ที่เป็นทั้งคำอธิบาย และการเปรียบเปรยซึ่งกันและกันกลับไปกลับมา, “บันไดเลื่อน” ก็เป็นบัลลาดที่เล่าเรื่องได้สนุก มีอารมณ์ขันแบบตลกร้าย ที่ฟังแล้วให้รู้สึกหวานอมขมกลืนไปในคราวเดียวกัน หรือ “ใช้ชีวิต” ก็เป็นบลูส์ที่บอกเล่าที่ชีวิตซึ่งผ่านตาให้เห็นในยามค่ำคืนได้อย่างรื่นรมย์

ซึ่งต้องรวมไปถึงการใช้ ‘เสียง’ ร้องของชาติในแต่ละเพลง ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเสริมเติมอารมณ์ให้กับเพลงทั้งที่ธรรมดาและไม่ธรรมดา เช่นที่ได้ยินใน “เพียง” เพลงรักช้ำๆ ของคนที่ต่างเป็นอดีตของกันและกัน ที่ดนตรีนิ่งๆ ของเพลงนี้ ขายเสียงร้องที่บาดลึกของชาติอย่างเต็มที่

แล้วเมื่อเดินทางกับเพลงของชาติมาจนถึงเพลงสุดท้าย ปัญหาที่พบกลับกลายไม่ใช่เรื่องของการได้ยินแล้วทำให้นึกถึงใครต่อใคร อย่างที่เป็นไปในเพลงแรกๆ แต่เป็นเรื่องของความ ‘กลมกลืน’ ของอัลบัมซะมากกว่า ที่ทั้งทางดนตรีในแต่ละเพลงฟังแตกต่างจนรู้สึกได้ โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลัง ที่ซาวนด์ดนตรีฟังหลากหลาย ซึ่งอาจส่งผลไปถึงการใช้เสียงร้องของชาติ ที่ต้องรับเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางดนตรีในเพลงต่างๆ จนแกว่งไปด้วยจากการฟังกันเพลงต่อเพลง

แต่ก็อีกนั่นแหละ หากฟังกันทีละเพลง ไม่คิดถึงความสืบเนื่อง ก็อาจไม่รู้สึกอะไร ยกเว้นว่าจะฟังยาวๆ เปิดฟังรวดคราวเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ ที่ไม่แปลกเลยหากจะรู้สึกว่า ‘สามัญ’ เป็นงานที่ปลายสะบัด แบบที่ไม่ชัดเจนด้วยว่าจะไปทางไหน ที่สมควรจะต้องมีการจัดเรียงใหม่เป็นอย่างน้อย แล้วเอาจริงๆ กับบางเพลงก็ยากที่จะบอกว่า ‘ใช่’ เมื่อมองในภาพรวมด้วยเช่นกัน

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน 2561

[one_half][/one_half][one_half_last][/one_half_last]

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.