Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว – อัลบัมซาวนด์แทร็ค TENET งานดีๆ ที่ยังไม่สะอาดหมดจด

TENET – ORIGINAL MOTION PICTURE SOUNDTRACK / Ludwig Goransson
[Water Tower Music]

นับจาก The Dark Knight เป็นต้นมา ดนตรีประกอบในหนังของคริสโตเฟอร์ โนแลน ไม่ใช่เพียงแค่ดนตรีประกอบเพื่อสร้างอารมณ์ให้กับหนัง หรือบ่งบอกบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สามารถนำเสนอออกมาเป็นภาพได้ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหา เป็นซาวนด์ของเหตุการณ์

ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากงานใน Dunkirk ที่ดนตรีประกอบหลายๆ คิว มีลักษณะของซาวนด์ประกอบเหตุการณ์มากกว่าจะเป็นดนตรีด้วยซ้ำไป

และกับ Tenet แค่ธีมแรกของหนัง “Rainy Night in Tallinn” ก็แสดงให้ถึงคอนเส็ปท์การทำงานในแบบที่ว่าได้เต็มๆ เมื่อตัวดนตรีเริ่มตั้งแต่เสียงการตั้งสายของวงซิมโฟนี ที่เป็นการย้ำว่า เสียงที่เกิดขึ้นจากตัวละครในฉากนี้ไม่ใช่แค่เสียงในหนัง แต่เป็นส่วนหนึ่งของเสียงดนตรีประกอบที่ถูกนำมาใช้เล่าเรื่องราว หรือสร้างอารมณ์ให้กับผู้ชม

จากที่เคยทำงานร่วมกับฮานส์ ซิมเมอร์มายาวนาน ที่ทุกครั้งก็แสดงให้เห็นว่าเข้าคู่ เข้าขากันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะงานใน Interstellar และ Dunkirk ที่ดนตรีนอกจากจะมาแบบเยี่ยมยอดเหลือเกินแล้ว ยังตอกย้ำถึงการเป็นคนทำหนังของโนแลนว่า ใช้องค์ประกอบทุกอย่างในการทำงานเพื่อให้ภาพยนตร์ของเขาเป็นประสบการในการชมภาพยนตร์จริงๆ

จนทำให้รู้สึกเสียวๆ ว่า การทำงานครั้งแรกของโนแลนกับลุดวิก โกแรนส์สัน มือทำดนตรีรางวัลออสการ์จาก Black Panther อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีเท่า แต่แค่ฉากเปิดของหนัง โกแรนส์สันก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เขาไม่ใช่แค่ตัวเลือกที่ใช่ แต่ยังเป็นคนทำดนตรีที่โนแลนสามารถเรียกใช้งานได้ซ้ำ เป็นกระบี่อีกมือที่น่าจะทำงานกับผู้กำกับรายนี้ได้อย่างเข้าคู่เข้าขา

โดยงานที่โกแรนส์สันทำไว้ใน Tenet หลักๆ จะมีซาวนด์เป็นงานอิเล็กทรอนิกส์ ฟังหวือหวาเป็นส่วนใหญ่ ในตอนแรกเรื่องความไพเราะอาจจะไม่ใช่ แต่ถ้าฟังไปยาวๆ จะพบว่า นี่คืองานที่มีเสน่ห์ในตัว สามารถเปิดฟังยาวๆ ได้ เมื่อในแต่ละธีมไม่ได้มีแค่บีทหรือซาวนด์ แต่จังหวะจะโคนเหล่านั้น ตลอดจนซาวนด์ที่ฟังดูแปลกหู ยังมาพร้อมกับท่วงทำนองในตัว เช่นที่ได้ยินใน “Freeport” ธีมที่ได้ยินในตอนที่สองตัวละครนำของเรื่องบุกไปในโกดังของเซเทอร์เพื่อหาภาพของโกยา

ขณะที่ธีม “747” ก็ฟังยิ่งใหญ่ อลังการ ไปพร้อมกับการรุกเร้า ที่การโหมเสียงประโคมอึกทึกเข้ามาเป็นระยะๆ รวมกับเสียงเครื่องสายที่ฟังพลิ้วไหวคลอเบื้องหลัง สลับกับซาวนด์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่อาจจะทำให้หลายๆ คนนึกถึงงานที่ซิมเมอร์ทำให้กับโนแลนใน Inception และทำให้เป็นงานที่มีรอยตำหนิอยู่บ้างในเรื่องความเป็นตัวของตัวเอง

ใน “From Mumbai to Amalfi” โกแรนส์สันก็ใส่เสียงเครื่องเคาะเข้ามา ที่ทำให้มีสำเนียงท้องถิ่นเข้ามา แต่ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่คุ้นเคยกัน เพราะไม่ใช่สำเนียงดนตรีภารตะอย่างที่นิยมกัน หากก็ฟังแตกต่างและสร้างพื้นที่เฉพาะให้กับสถานที่ ที่เป็นฉากหลังของเหตุการณ์ได้ แล้วกับการที่ใส่ท่วงทำนองของธีม “Priya” เข้ามาก็ย้ำความเกี่ยวพันกับตัวละครรายนี้ให้โดดเด่นขึ้นมาอีก

นอกจาก “Priya” แล้วบรรดาตัวละครหลักๆ ของหนัง ต่างก็มีธีมเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเซเทอร์ กับ “Sator” หรือตัวเอกของเรื่องกับ “The Protagonist” นีลกับ “Meeting Neil” ซึ่งแต่ละธีมต่างก็มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไป

“Priya” ฟังนิ่ง มีสัมผัสของความอ่อนหวานในตัว หากก็ปิดท้ายด้วยความลึกลับ

“Sator” ฟังน่ากลัว ให้ความรู้สึกคุกคาม และน่าพรั่นพรึง โดยเฉพาะการใช้ซาวนด์ในแบบอินดัสเทรียล กับเสียงแบบกลองญี่ปุ่น ก็ทำให้รู้สึกเคร่งขรึม ดุดันยิ่งขึ้น ขณะที่การใช้เสียงหายใจ (ที่โกแรนส์สันบอกว่าเป็นของโนแลน) ก็เพิ่มความน่ากลัวให้กับตัวละครตัวเพิ่มไปอีก

“Meeting Neil” มีความรู้สึกถึงแสงวาบเป็นระยะๆ ซึ่งหากมองไปถึงตัวละครรายนี้ ที่การกระทำหลายๆ ครั้งไม่ต่างไปจากผู้ช่วยในยามวิกฤติของพระเอกของเรื่อง ดนตรีของเขาก็แทนตัวตนได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็รวมไปถึงความไม่น่าไว้ใจ ตลอดจนเอาแน่เอานอนไม่ได้ ที่ตัวดนตรีในช่วงท้ายแสดงออกมา

“The Protagonist” มาพร้อมกับความอบอุ่น นิ่ง และมีสัมผัสของเลือดเนื้อ จิตใจ มากกว่าธีมของตัวละครรายอื่นๆ ในขณะที่เดียวกันก็แฝงความสับสน และความลึกลับไว้ในตัว

แต่ที่ชอบ และฟังลงตัวมากที่สุดกลับเป็น “Foils” ธีมที่อยู่ในฉากตัวละครแล่นเรือใบ ซึ่งฟังดูเคลื่อนไหว และมีชีวิตชีวา แล้วในขณะเดียวกันก็รุกเร้าโดยที่ไม่ใช่สูตรง่ายๆ อย่างการใช้เพอร์คัสชันต่างๆ ที่ถือเป็นไฮไลท์ของอัลบัมดนตรีประกอบของ Tenet ก็ว่าได้

หากก็ต้องยอมรับว่า กับในหนังแล้ว ธีมอย่าง “Rainy Night in Tallinn” หรือช่วงของธีมแอ็คชันที่ใส่กันมายาวๆ อย่าง “Trucks in Place”, “Red Room Blue Room”, “Inversion” และ “Retrieving the Case” มันเตะหูมากกว่า

ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะแรงส่งจากภาพ และความต่อเนื่อง

ตัวอัลบัมปิดท้ายด้วย “The Plan” ของเทรวิส สก็อทท์ งานอิเล็กทรอนิกส์ซาวนด์เท่ๆ ที่ฟังรับกับดนตรีประกอบของหนังได้เป็นอย่างดี แต่ในท่อนร้องอาจจะฟังผิดหูอยู่บ้าง และคงจะดีกว่าหากมาเป็นงานเพลงบรรเลง ที่คงจะกลมกลืนกับงานของโกแรนส์สันมากกว่านี้

ซึ่งการเลือกมาเป็นเพลงปิดท้ายอัลบัม ก็ช่วยสถานการณ์ของเพลงนี้ได้มากอยู่

ขณะที่การทำงานของโกแรนส์สัน ก็อย่างที่บอกเอาไว้ในตอนต้น เป็นตัวเลือกที่ใช่ เป็นคนทำดนตรีที่โนแลนเรียกใช้ได้ซ้ำ และน่าจะทำงานกันได้อย่างเข้าคู่เข้าขาอีกราย

แต่ก็ต้องหลีกหนีโครงสร้างดนตรีในแบบที่ซิมเมอร์สร้างเอาไว้ให้หมดจด ไม่เช่นนั้นเนื้องานก็ยังคงมีตำหนิไม่สะอาดอย่างที่ได้ยิน

เป็นงานที่ดี แต่ยังไม่เอี่ยมอ่อง คงต้องสรุปกันเอาไว้แบบนี้

TENET Track Listing: 1. “Rainy Night in Tallinn” (8:01) 2. “Windmills” (5:16) 3. “Meeting Neil” (2:16) 4. “Priya” (3:24) 5. “Betrayal” (3:56) 6. “Freeport” (3:39) 7. “747” (7:05) 8. “From Mumbai to Amalfi” (4:26) 9. “Foils” (3:11) 10. “Sator” (2:51) 11. “Trucks in Place” (5:32) 12. “Red Room Blue Room” (3:29) 13. “Inversion” (3:32) 14. “Retrieving the Case” (3:20) 15. “The Algorithm” (5:58) 16. “Posterity” (12:42) 17. “The Protagonist” (4:48) 18. “The Plan” performed by Travis Scott (3:05) | Total length: 1:26:30

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ สะกิดร่องเสียง นิตยสาร เอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1312 ปักษ์หลัง กันยายน 2563

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.