Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว – อัลบั้ม 25 ปีให้หลัง จากมาโนช พุฒตาล งานที่ไม่ได้ฟังแค่วันนี้ แต่อาจจะไปถึงอีก 25 ปีต่อไป…. ก็เป็นได้

25 ปีให้หลัง / มาโนช พุฒตาล
(ไมลส์สโตน เรคอร์ดส์)

ในยุคนี้ มาโนช พุฒตาล ก็คือนักจัดรายการวิทยุ เป็นนักคิดที่เป็นนักเล่าเรื่องในคราวเดียวกัน ที่หยิบเรื่องราวต่างๆ มาบอกกล่าวได้อย่างน่าฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ชีวิต เรื่องความเป็นไปของผู้คน หรือว่าเรื่องราวในวงการเพลง

แต่ถ้าโตมาในยุค 80s มาโนช พุฒตาล มีบทบาทหลากหลายกว่านั้น ทั้งเป็นพิธีกรและคนทำรายการโทรทัศน์, เป็นนักเขียนและคนทำหนังสือ, เป็นเจ้าของค่ายเพลงไมลส์สโตน เรคอร์ดส์ เป็นนักดนตรี และศิลปิน แล้วหากรวมการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินในสังกัดด้วย มาโนช พุฒตาล ก็นับว่าเป็นโปรโมเตอร์คอนเสิร์ตได้เช่นกัน

ผลงานแรกในฐานะศิลปินของ มาโนช พุฒตาล อยู่ใน ‘ไตรภาค’ อัลบั้มรวมงานของศิลปินในสังกัด เมื่อปี 2537 ที่ประกอบด้วย ดิ โอฬาร โปรเจ็กต์, เดอะ เรน และเพลงของเจ้าตัวเอง “ไกล” งานโพรเกรสสีฟ บอกเล่าเรื่องราวเชิงปรัชญา ว่าด้วยการเดินทางของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ที่พยายามหาคำตอบบางอย่างในชีวิต ได้เผชิญกับคำลวงของหมอผี แต่ด้วยสติปัญญาก็ทำให้หลุดพ้นจากวังวนแห่งเล่ห์กล หากท้ายที่สุดก็ยังไม่พบคำตอบที่ต้องการ

ซึ่งเปิดช่องให้ได้ตีความกันหลากหลาย ตัวเพลงที่แบ่งเป็นบทเป็นตอน ก็ไม่ต่างจากการอ่านหนังสือ ที่แต่ละบทมีความเกี่ยวเนื่อง เชื่อมโยง ดนตรีที่รองรับมีมูฟเมนท์หลากหลาย ตามเนื้อหาหรืออารมณ์ ที่ไม่ใช่แตกต่างแค่จังหวะ หากลงไปถึงแนวทางดนตรี ที่มีทั้งโฟล์ก ทั้งร็อก ที่รายละเอียดยิบย่อยแยกไปได้อีก

2 ปีต่อมา ”ไกล” ถูกขยับขยายเป็นอัลบั้มชุดแรกของมาโนช พุฒตาล ‘ในทรรศนะของข้าพเจ้า’ ที่ไม่ใช่แค่เพิ่มเติมความยาว เรื่องราวยังปรับเปลี่ยน มีประเด็นชัดเจน มีขอบเขตกว้างไกลขึ้น โดยเป็นเรื่องความเชื่อ ความศรัทธา ดนตรีฟังใหญ่กว่า มีธีมหลักที่เชื่อมเรื่องราว การบันทึกเสียง การเรียบเรียง ซับซ้อน เช่นเดียวกับแนวดนตรี ซึ่งบอกถึงอิทธิพลหลากหลายที่เจ้าของอัลบั้มรับมา และด้วยความแข็งแรงทั้งดนตรี ทั้งเรื่องราว งานชุดนี้ ถูกยกให้เป็นหนึ่งในงานคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่ดีที่สุดของบ้านเรา มาจนถึงวันนี้…

วันที่.. มาโนช พุฒตาล มีอัลบั้มชุดใหม่ ‘25 ปีให้หลัง’ ซึ่งเวลา 25 ปีที่ว่า ก็คือช่วงห่างของงานชุดนี้ กับ ‘ในทรรศนะของข้าพเจ้า’

แม้ระหว่างการเดินทางของทั้งสองอัลบั้ม มาโนชจะมีผลงานออกมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นอัลบั้มหรือซิงเกิล อย่างที่มีอยู่ในมือก็คือ ซิงเกิล “ชีวิตที่เจ็บปวดของคนป่วย” จากปี 2549 เพลงบัลลาดโฟล์ก บอกเล่าความรู้สึกและมุมมองที่มีต่อการเจ็บป่วยของคนๆ หนึ่ง ที่ในตอนท้ายเขาก็รู้ว่า ชีวิตมีมากกว่าแค่ร่างกาย ส่วนข้อมูลในวิกิพีเดีย ก็บันทึกไว้ว่า ยังมีงานชุด ‘ลำดับที่ 1 อยู่อยุธยา’ ที่เป็นงานซิงเกิล, ‘ลำดับที่ 2 มาโนช พุฒตาล บุตรของนายเฉลียวกับนางอำไพ & สมพงศ์ ศิวิโรจน์ บุตรของนายเลื่อนกับนางซุ่นลิ่น’ และ ‘ลำดับที่ 3 มาโนช พุฒตาล บุตรของนายเฉลียวกับนางอำไพ – เชนมีคู่หูเป็นลิง’ ซึ่งทั้งหมดออกมาในปี 2551

แต่ด้วยชื่อชุด ‘25 ปีให้หลัง’ ที่นับเวลาต่อจาก ‘ในทรรศนะของข้าพเจ้า’ รวมถึงเครดิตที่เป็นมาโนช พุฒตาล ซึ่งปราศจากคำพ่วงท้ายเช่น 2-3 อัลบั้มก่อนหน้า

นี่คืองานชุดที่ 2 อย่างเป็นทางการ

จากเรื่องราวเพียงหนึ่งเดียว ที่ว่าด้วยความเชื่อ มีบทมีตอนเหมือนนวนิยายเมื่อ 25 ปีที่แล้ว คราวนี้มาโนชจะเล่าเรื่อง 7 เรื่อง “ดาวในแสงแดด”, “ครอบครัวเดียวกัน (นั่นไงละท้องฟ้า)”, ความฝันหมายเลข 9”, “ตายน่ะง่ายจะตาย”, “อาบอารมณ์”, “อยู่อยุธยา” และ “เจ้าหญิงนิทรา” ที่ต่างมีเนื้อหา มีประเด็นของตัวเอง จนอัลบั้มชุดนี้เปรียบได้กับหนังสือรวมเรื่องสั้น ที่เขียนจากประสบการณ์ มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในชีวิตและในความสนใจของมาโนช

ซึ่งสอดรับกับตัวตนในทุกวันนี้ ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะผ่านการเล่าตรงๆ ในฐานะนักจัดรายการวิทยุ, ผ่านตัวอักษรในฐานะนักเขียน หรือผ่านโน้ตดนตรีกับเนื้อร้องในฐานะของศิลปิน

แต่ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบไหน เล่าเรื่องอะไร ด้วยทักษะและความสามารถที่มี ก็ล้วนเป็นเรื่องที่ฟังสนุก เพลิดเพลิน ต่อให้เป็นเรื่องซีเรียสจริงจังก็ตาม ขณะเดียวกันก็มีประเด็น แง่มุมที่น่าสนใจ ให้ขบคิดได้มากมาก บางคราวความเฉียบคมของการใช้ภาษา ก็ทำให้คำง่ายๆ กลายเป็นเรื่องราวซับซ้อน มีการเปรียบเทียบเปรียบเปรย สอดแทรกอารมณ์ต่างๆ เข้ามาได้อย่างกลมกลืน

เช่นที่ได้ฟัง ได้ยิน ได้คิด จาก ทั้ง 7 เพลงใน ‘25 ปีให้หลัง’

จากเรื่องสภาพแวดล้อมและผู้คนที่พยายามปกป้องรักษาเอาไว้ – “ดาวในแสงแดด”

การได้จมอยู่กับความสวยงาม ความอบอุ่นของธรรมชาติ ที่ถูกสื่อออกมาในเชิงปรัชญา และเทียบเคียงกับชีวิตผู้คนในคราวเดียวกัน – “อาบอารมณ์”

ความฝันที่จะได้เห็น มนุษยชาติไม่ว่าจะเป็นคนผิวสีอะไร อยู่ร่วมกัน เป็นครอบครัวเดียวกัน ใต้ท้องฟ้าและดวงอาทิตย์เดียวกัน ที่ในมุมหนึ่งก็แทรกภาพธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่เอาไว้ด้วย – “ครอบครัวเดียวกัน (นั่นไงละท้องฟ้า)”

ผู้คนกับความฝันที่เปลี่ยนแปรตามอายุขัย จากความฝันแบบเด็กๆ ไปเป็นความฝันที่มีความหมาย จริงจัง แม้น้อยครั้งจะสมหวัง หากผู้คนก็มีวิธีรับมือที่แตกต่างกันไป เศร้า-เสีย-ทำใจ แต่ไม่ว่าจะล้มเหลวแค่ไหน คนเราก็ยังมีความฝัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความหวัง มีชีวิต – “ความฝันหมายเลข 9” ที่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ แต่รู้สึกถึงอารมณ์ขันแกมเสียดสีตั้งแต่ชื่อ ที่คลับคล้ายชื่องานศิลปะที่มักตั้งกันสวยๆ พ่วงด้วยหมายเลข ยิ่งลงลึกไปถึงชื่อความฝันบางหมายเลขในเนื้อร้อง คำโฆษณาบัตรเครดิต หรือสโลแกนสวยๆ ของสินค้าบางตัวก็แว่บเข้ามา

หากที่น่าจะตั้งใจแน่ๆ ก็คืออารมณ์ขันแสบๆ ใน “อยู่อยุธยา” เพลงความยาวกว่า 12 นาที ที่ร่ายยาวถึงความรู้สึกต่อถิ่นฐานบ้านเกิด เมืองที่มีความยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสตร์ แต่คนรุ่นหลังไม่ได้รู้สึกภาคภูมิใจอะไร แม้จะได้ยินความเป็นมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเป็นเพียงคำบอกเล่าต่อๆ กันมา ผิดไปจากสิ่งที่เห็นและเป็นไปในช่วงชีวิตที่เกิดมา จากชีวิตริมน้ำที่เรียบง่าย ฉ่ำเย็น ไปเป็นชีวิตที่วุ่นวาย ร้อนรุ่มเมื่อถนนถูกตัดผ่าน จนผู้คนต่างหลอกตัวเองว่า มีความสุขกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น บ้านเมืองก็เต็มไปด้วยสื่อและโฆษณาสารพัด ไม่ว่าจะสร้างวัด ขายพระ ทำป้อมตำรวจ ที่ด้วยเนื้อหาอันหลากหลาย เพลงนี้ไม่ใช่แค่พูดเรื่องความเปลี่ยนแปลง หรือความรู้สึกต่อถิ่นเกิด แต่ไปไกลถึงสังคมที่เต็มไปด้วยการประโคมปั้นแต่ง ที่ย้อนกลับไปถึงการนำเสนอความยิ่งใหญ่ของบ้านเมืองซึ่งเป็นอดีตที่ไม่มีใครเคยสัมผัสในตอนแรก จนถึงชีวิตที่คิดว่าสบายแล้ว มีความสุขดี

ที่เหมือนการโฆษณาชวนเชื่อ หลอกตัวเอง และคนอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน

มาโนชปิดท้ายเพลงนี้แบบเรื่องสั้นที่หักมุมได้อย่างเฉียบขาด กลั้นหัวเราะได้ไม่ง่าย ก่อนขมวดด้วยบทสรุปว่าด้วยสิ่งที่ควรนึกถึงแต่กลับถูกลืม อยุธยา เมืองเก่าที่เขาเคยสัมผัส ไม่ใช่เมืองเก่าในประวัติศาสตร์

อารมณ์ขันแบบเสียดสีกลับมาอีกครั้ง – “ตายน่ะง่ายจะตาย” ที่นำความตายมาล้อกับการมีชีวิต การจากไปเป็นเรื่องง่ายแค่หยุดหายใจ แต่การมีชีวิตต้องทำอะไร อย่างน้อยก็ต้องหายใจ แต่ก็แลกด้วยโอกาสในการแสดงความห่วงใย, ให้ความอบอุ่น, ส่งต่อมุมมองความคิดให้ผู้คนรอบข้าง ได้มีช่วงเวลาดื่มด่ำกับความงามของธรรมชาติ การเติบโตของคนที่เรารัก

ความดีงามของเพลงนี้ก็คือ ทำให้การมีชีวิตฟังดูวุ่นวายหรือต้องทำอะไรเยอะแยะ แต่สัมผัสถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ที่เรียกว่า ‘ความสุข’ โดยที่ไม่ต้องกล่าวถึงออกมาให้ได้ยิน

และเป็นอีกครั้งที่มาโนชหักมุมได้อย่างคมคาย คราวนี้เป็นการบอกเล่าตรงๆ ถึงประสบการณ์สำคัญ ที่น้อยคนได้พบแล้วจะกลับมาถ่ายทอดต่อได้ ประสบการณ์ที่ทำให้ ‘รู้สึก’ ถึง ‘คุณค่า’ และ ‘ความยิ่งใหญ่’ ของการมีชีวิต

การเดินทางของ ‘25 ปีให้หลัง’ ปิดท้ายด้วยเพลงลัลลาบาย แสนอบอุ่น – “เจ้าหญิงนิทรา” ที่ถ่ายทอดความรัก ความเอาใจใส่ของพ่อคนหนึ่งที่มีต่อลูกสาว ในแบบที่ใช้ใจจับต้องได้ ไม่ใช่แค่ได้ยิน และอาจเป็นเพลงที่นอกจากเนื้อหาเรียบง่ายที่สุดในชุด ตัวดนตรีก็ไม่ได้มีมูฟเมนท์ เคลื่อนไหวมากมาย เช่นที่เพลงก่อนๆ หน้าแสดงให้เห็น ซึ่งเป็นไปตามเนื้อหาและอารมณ์ของแต่ละเพลง อาจจะมีช่วงเวลาในแบบแฟนตาซีบ้าง แต่ก็เพียงชั่วขณะ และไม่ได้หวือหวาจนเกินไปนัก

มาโนช พุฒตาล รูดม่าน ‘25 ปีให้หลัง’ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยเพลงนี้ ที่เหมือนพาคนฟังเข้านอน หลังเดินทางไปกับเรื่องราวที่เขาพบพาน และนำมาเล่าเป็นเพลง ที่ด้วยการเรียงร้อย ด้วยการเล่าเรื่องที่มีชั้นเชิง ทั้งจากดนตรีและเนื้อหา อัลบั้มชุดนี้ไม่ใช่แค่หนังสือรวมเรื่องสั้น แต่ยังเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่เต็มไปด้วยเรื่องดีๆ มีครบรส อ่านสนุก และไม่ใช่ความบันเทิงที่ว่างเปล่า

ที่เชื่อว่า หลายๆ คนคงหยิบมาอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ใช่แค่วันนี้ คืนนี้ พรุ่งนี้ แต่อาจจะไปถึงอีก 25 ปีต่อไป…. ก็เป็นได้

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 32 ฉบับที่ 8 กรกฎาคม 2564

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
1
In Love
2
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.