Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว – 35 YEARS คำภีร์ งานในวาระครบรอบ 35 ปีของ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ เสือเก่าที่ยังแกร่ง และแข็งแรงกว่าเดิม

35 YEARS คำภีร์
พงษ์สิทธิ์ คำภีร์
(วอร์นเนอร์ มิวสิก)

จาก ‘ถึงเพื่อน’ งานชุดแรกเมื่อปี 2530 ที่แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องยอดขาย หากก็ทำให้พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ กลายเป็นที่รู้จัก ได้นับหนึ่งในฐานะศิลปินที่มีอัลบั้มเป็นของตัวเอง และมีเพลงฮิตในวงการมาถึงทุกวันนี้ อย่าง “ถึงเพื่อน” หรือ “เรียนและงาน” ที่เจ้าตัวยังหยิบมาร้องมาเล่นบนเวทีอยู่เรื่อย ๆ

ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่แตกต่างจาก ‘เสือตัวที่ 11’ งานชุดต่อมาอย่างลิบลับ เมื่ออัลบั้มชุดนี้ทำยอดขายได้ไม่แพ้ผลงานของศิลปินป็อป มีเพลงดังยกชุด โดยมีเพลงในทางโรแมนติก อย่าง “ตลอดเวลา” กับเพลงที่มีเนื้อหาเชิงปลอบใจ เช่น “เหงา” เป็นหัวหอกสำคัญ ที่ต่างได้รับความนิยมในระดับที่พูดได้ว่าเป็นเพลงอมตะทั้งของวงการเพลงไทย และของเจ้าตัว โดยเฉพาะ “ตลอดเวลา” ที่นอกจากจะเป็นเพลงประจำตัวของเจ้าของอัลบั้มแล้ว ยังเป็นเพลงที่สร้างนิยามหรือจำกัดความตัวเขา ว่าเป็น “ศิลปินเพลงรักเพื่อชีวิต” อีกด้วย

หลังจากนั้นสถานภาพในการทำงานของพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ก็อยู่บนเส้นทางที่มั่นคง มีเพลงฮิตอย่างต่อเนื่อง อัลบั้มขายดี ได้ทำเพลงละคร ตลอดจนเพลงถูกนำไปใช้ประกอบโฆษณาสินค้า ความสำเร็จที่ได้รับมากถึงขนาดสามารถปล่อยอัลบั้มบันทึกการแสดงสดออกมา ซึ่งไม่ใช่เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ สำหรับศิลปินในบ้านเรา ส่วนตัวเองก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินเพื่อชีวิตรุ่นที่ 3 ต่อจากศิลปินสายทางเดียวกันรุ่นก่อน ๆ อย่าง คาราวาน และคาราบาว

มาถึงวันนี้ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ มีอัลบั้มออกมามากมาย ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ยาวนานถึง 35 ปี ไม่ต่ำกว่า 20 ชุด ผ่านการทำงานกับค่ายเพลงน้อยใหญ่สารพัด จากรถไฟดนตรี ไปถึงแกรมมี เอ็ม สแควร์ โซนี และวอร์นเนอร์ มิวสิกในปัจจุบัน โดย ‘35 Years Kampee’ คืองานชุดล่าสุด ที่ชื่ออัลบั้มก็บอกชัดเจนว่า เป็นงานที่ออกมาในวาระครบ 35 ปีการทำงานในวงการเพลงของเจ้าตัว ซึ่งเมื่อต้นปีก็มีคอนเสิร์ตใหญ่ในวาระนี้ไปแล้ว โดยตอนนั้นพงษ์สิทธิ์ปล่อย “Toyland” เพลงใหม่ที่ทำสำหรับอัลบั้มนี้ ออกมาให้ฟังในเวลาไล่ ๆ กัน เป็นเพลงแรก

แล้วก็ส่งเพลงใหม่ ๆ ตามออกมาไม่ขายสายในเวลาต่อมา อาทิ “จอมโจร, Pt. 2”, “พวกเขา พวกเรา” หรือ “มือของแก” ที่นอกจากจะทำให้ตัวอัลบั้มที่ยังไม่วางขายไม่หลุดจากกระแส แม้คอนเสิร์ตใหญ่จะผ่านไปแล้ว ก็ยังแสดงให้เห็นว่า ใน ‘35 Years Kampee’ แฟน ๆ จะได้ฟังอะไรจากพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ในวัย 50 กว่า ในวันที่ชั่วโมงบินของการทำงานมีมากกว่า 3 ทศวรรษ

ไม่ว่าจะผิดหวังหรือสมหวังกับงานชุดนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้จาก ‘35 Years Kampee’ และเป็นความโดดเด่นของอัลบั้ม ไม่พ้นเรื่องการถ่ายทอดอารมณ์ลงมาในงาน ทั้งผ่านดนตรี เนื้อหา และเสียงร้อง รวมถึงซาวนด์ของงาน แม้ความหนักแน่นในทางร็อคของบางเพลง การใช้เสียงร้องที่ดุดัน เข้มข้น ถ่ายทอดสิ่งที่รู้สึก คิด ออกมาแบบเต็มอารมณ์ คำร้อง ภาษา ที่ตรงไปตรงมา อาจทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกว่าพงษ์สิทธิ์ในขวบวัยนี้ ห้าวและกร้าวกว่าวันเก่า ทั้งที่จะว่าไปแล้ว เป็นเรื่องความชัดเจนในการแสดงออก การเผยมุมมองออกมาตรง ๆ จนบดบังความนุ่มนวล อ่อนหวาน แบบที่พงษ์สิทธิ์ คำภีร์เคยนำเสนอในงานเพลงจากอดีต และแฟน ๆ คุ้นเคยซะมากกว่า

ซึ่งถ้าได้ชมการแสดงสดของพงษ์สิทธิ์ ก็คงรู้ว่าการตีความเพลงเก่าของเจ้าตัวเองบนเวที ก็มีอารมณ์ และการแสดงออกที่แตกต่างจากวันวาน และเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ได้ยิน ได้ฟังในงานชุดนี้ โดยตัวอย่างในเรื่องนี้ชั้นดี ก็คือ “กันและกัน” เพลงรัก อบอุ่น ที่สัมผัสชัดเจนถึงความเป็นพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ 35 ปีนี้กับ 35 ปีก่อน ว่าแตกต่างกันอย่างไร

ไม่หวานแต่ยังซึ้ง ไม่นุ่มนวลแต่อบอุ่น ไม่สละสลวยแต่ยังคงสวยงาม

เป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามวัยและประสบการณ์ เมื่อชีวิตผ่านอะไรมากขึ้น คิดแบบมองโลกอยู่กับความเป็นจริงมากกว่าที่เคย

ตัวดนตรีก็ดิบ และเต็มที่ในเรื่องอารมณ์ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะบรรดาเพลงทางร็อค อย่าง “Toyland” หรือ “จอมโจร Pt.2.” ที่เพลงแรกคือมุมมองที่พงษ์สิทธิ์มีต่อเรื่องราวการเมืองในบ้านเรา ที่ไป ๆ มา ๆ ก็วนเวียนอยู่ในลูปเก่า ๆ วังวนเดิม ๆ เหมือนเป็น ของเล่น (Toy) ของเหล่าผู้มีอำนาจ ส่วนเพลงหลังก็คือ การบันทึกอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย เรื่องของโจรบุกปล้นร้านทองแล้วหวังจะหนีข้ามไปฝั่งเมียนมาร์ ที่นอกจากดนตรีจะหนักแน่น เข้มข้นสมกับเนื้อหา เสียงร้องของพงษ์สิทธิ์ ก็รับกับดนตรี และความตรงไปตรงมาของคำร้อง ที่เขียนแบบนายภาษา อย่าง “ชักปืนยิงประตู กระจกร่วงกรูผู้คนผวา ขาสั่นยืนเด๋อด๋า แข้งขาอ่อนแรงไม่มีแรงเดิน” ซึ่งสามารถสร้างภาพให้คนฟังมองเห็นได้ชัดเจน

งานคันทรี ร็อคสนุก ๆ “2 พ.ย. 2565” ก็ไม่ต่างไปจากเพลงแฮปปีเบิร์ธเดย์ให้ตัวเอง ก็มีอารมณ์แบบงานเล่นสด เป็นดนตรีเล่นในงานปาร์ตีที่ฟังเป็นกันเอง ผ่อนคลาย

หรือ “พวกเขา พวกเรา” อีกเพลงที่เป็นเรื่องมุมมองในทางการเมือง ที่ยังกินความไปถึงเรื่องของความแตกแยก แบ่งฝักฝ่ายได้ในอีกหลาย ๆ สถานการณ์ ซึ่งไม่ว่าจะเห็นต่างกันอย่างไร มีจุดหมายที่ผิดแผกกันแค่ไหน จนกลายเป็น “พวกเขา” ต่างก็ยังเป็น “พวกเรา” ที่ใช้ชีวิต กิน อยู่ บนแผ่นดินเดียวกัน พงษ์สิทธิ์บอกเล่าเพลงนี้ออกมาด้วยความนุ่มนวล อบอุ่น และด้วยเสียงร้องที่สัมผัสถึง “ความเข้าใจ”

โดย “6 ต.ค. 2565” เรื่องราวโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในจ. หนองบัวลำภู เป็นเพลงที่พงษ์สิทธิ์ถ่ายทอดอารมณ์สองด้านที่แตกต่างและขัดแย้งกันออกมาได้อย่างโดดเด่นที่สุด ลงตัวกับเนื้อหา และเป็นไปตามสถานการณ์ในเพลง จากความรู้สึกผ่อนคลายในตอนแรก แปรเปลี่ยนเป็นความเกรี้ยวกราด โกรธ และโศกเศร้าในช่วงต่อมา ที่เป็นการตอกย้ำแรง ๆ ให้เห็นว่า เขาเป็นศิลปินที่ “เล่น” และ “นำเสนอ” อารมณ์ ความรู้สึกออกมาได้ดีเพียงใด

ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นลายเซ็นของตัวเองเท่านั้น หากยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เพลงของพงษ์สิทธิ์ฟังดู “จริง” และ “จริงใจ” เสมอมา ไม่ว่าจะในงานเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคม การแสดงอารมณ์โรแมนติก ให้กำลังใจ หรือเผยมุมมองที่มีต่อเรื่องที่ทั้งใกล้ตัว และไกลตัว

พอรวมกับภาษาที่เรียบง่าย หากมีสัมผัสของคำที่ช่วยให้ฟังลื่นหู สวยงาม การเล่าเรื่องที่มีที่มาที่ไปชัดเจน และถูกถ่ายทอดด้วยเมโลดีที่มีความเป็นป็อป

ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด กับการที่วันนี้พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ยังคงยืนได้อย่างสง่าผ่าเผย ทั้งบนเวที ในวงการเพลง และแน่นอนในใจของแฟนเพลง

โดย นพปฎล พลศิลป์
จากคอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 34 ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2566

ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.