Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว: 72 SEASONS จาก Metallica ความครบเครื่องของวงดนตรี ที่มีชีวิต หายใจในวงการดนตรีมาแล้ว 160 ฝน!!!

72 SEASONS/ Metallica
(Blackened Recordings/ Universal International Music)

“จิตวิทยา, ชีววิทยา และโหราศาสตร์ ล้วนมีหลักความเชื่อที่อิงพื้นฐานจากรอบระยะเวลา 7 ปี โดยทางจิตวิทยา คุณจะมีอาการคันหลัง 7 ปี (seven-year itch) ที่ว่ากันว่าคนเราจะเหินห่างจากความสัมพันธ์ที่เคยมีให้กัน หลังเวลาผ่านไปราว ๆ 7 ปี ในทางชีววิทยา มีความคิดที่เชื่อกันโดยทั่วไป (แม้จะไม่ใช่ความจริง) ว่า ทุก 7 ปี เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายของมนุษย์เรา จะมีการผลัดเปลี่ยนทุก และในทางโหราศาสตร์ มีทฤษฎีที่ว่า ทุก ๆ 7 ปี จะมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในจักรวาลที่มองไม่เห็น ที่ส่งผลต่อชีวิตของคนเรา”

ทั้งหมด ทั้งมวลที่ว่ามาคือ ข้อความย่อหน้าแรกของบทความในแอปเปิลมิวสิก ที่แนะนำอัลบัมชุดใหม่ล่าสุด งานชุดที่ 11 ของเมทัลลิกา “72 Seasons” ที่วงเพิ่งปล่อยออกมาในช่วงของวันสงกรานต์ ซึ่งทิ้งช่วงห่างจากงานชุดก่อนหน้า “Hardwired…to Self-Destruct” 7 ปีพอดิบพอดี

พอนำมาประกอบกัน ก็ราวกับจะบอกเป็นนัย ๆ (หรือชัดเจน ตามแต่จะตีความ หรือหาเหตุผลมาสนับสนุน) ว่า การกลับมาของวงดนตรีแธรช เมทัลอันดับ 1 ของโลกวงนี้ ครั้งนี้จะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นกันตั้งแต่ปกอัลบั้ม แบ็คกราวนด์สีเหลืองอ๋อย แบบสีลูกกวาดที่หากบอกกับคนที่ติดตามเมทัลลิกากันมาตั้งแต่ ‘Kill ‘Em All’ อัลบัมแรกเมื่อปี 1983 ว่าวันหนึ่งในอนาคตข้างหน้า พวกเขาจะใช้สีอย่างที่เห็นในงานชุดนี้เป็นสีปกอัลบัม คงไม่มีใครเชื่อ แถมยังเถียงคอเป็นเอ็น ด้วยน้ำเสียงไม่ต่างไปจากการคำรามร้องเพลง “Sad But True” ของเจมส์ เฮ็ตฟิลด์

ชื่ออัลบัม ‘72 Seasons’ มาพร้อมกรอบความคิด (คอนเซปต์) ที่ชัดเจนและน่าสนใจ ซึ่งเฮ็ตฟิลด์ ได้มาจากหนังสือที่อ่าน “72 seasons (หรือ 72 ฤดูกาล) เป็นระยะเวลา 18 ปีแรกของชีวิต ที่หล่อหลอมให้เราเป็นตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นตัวตนที่แท้จริง หรือลวงหลอก ช่วงเวลาของกรอบความคิดที่เราได้รับการบอกเล่าว่า ‘เราเป็นใคร’ จากพ่อ จากแม่ และเป็นไปได้ว่า บุคลิกภาพของเรา มีที่มาจากอะไรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเราในช่วงเวลานั้น ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจอย่างที่สุดของเรื่องนี้ก็คือ นี่เป็นการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ถึงแก่นของความเชื่อเหล่านั้น และการที่มันมีผลต่อการรับรู้ของเราในโลกทุกวันนี้ยังไง ประสบการณ์ในวัยผู้ใหญ่ของเราเยอะมากที่เป็นการทำซ้ำ หรือเป็นปฏิกริยาตอบสนองต่อประสบการณ์ในวัยเด็ก เหมือนเราเป็นนักโทษของวัยเยาว์ หรือทำลายพันธนาการต่าง ๆ ที่เรายึดมั่น ถือมั่นเอาไว้”

ซึ่งบางที หากจะตั้งชื่อภาษาไทยให้กับงานชุดนี้…

‘18 ฝน’ ก็คงจะเข้าทีไม่น้อย

ปกอัลบัม ‘72 Seasons’ ก็รับกับกรอบความคิดที่ว่า เมื่อสิ่งที่ปรากฏบนแบ็คกราวนด์สีเหลืองอ๋อยก็คือ เศษซากสิ่งของสารพัดที่ถูกใช้ และมีในชีวิตของเราตั้งแต่ลืมตามาดูโลกจนถึงอายุ 18 ปี ไม่ว่าจะเป็น เปลของทารก, ของเล่นเด็ก, นาฬิกาปลุก, สเก็ตบอร์ด, ตุ๊กตุ่น-ตุ๊กตา, แว่นตาหลากหลายสไตล์, ดัมเบล, กีตาร์ ไปจนถึงกระป๋องน้ำอัดลมจดเบียร์

ที่ตอกย้ำความเป็นงานคอนเซปต์อัลบัมของ ‘72 Seasons’ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

โดยเรื่องราวที่เป็นไปในช่วงชีวิตที่หล่อหลอมให้เราเป็นเรา อย่างที่เห็นตั้งแต่ปีที่ 19 ของชีวิตในงานชุดนี้ ไม่แปลกเลยที่จะเต็มไปด้วยด้านที่หม่นมืด มากด้วยความเจ็บปวด มากกว่าจะเป็นด้านที่สว่าง เต็มไปด้วยความสุข เมื่อชีวิตคนแต่ง (เนื้อ) เพลงหลัก และยังเป็นเสียงร้องของวง ที่ได้เห็นหลังจากตกอยู่ในสปอตไลต์ ไม่ได้สวยงาม หรือเต็มไปด้วยความรื่นรมย์สักเท่าไหร่ ซึ่งนั่นก็บอกได้กลาย ๆ ว่า สิ่งที่หล่อหลอมเขาตลอด 72 ฤดูนั้น ไม่น่าจะเป็นความหรรษา หรือว่าด้านที่สดใสสักเท่าไหร่

อย่างที่บางส่วนของเนื้อเพลงในท่อนแรกของ “72 Seasons” เพลงชื่อเดียวกับอัลบัม ที่ถูกตัดเป็นซิงเกิลที่ 4 จากงานชุดนี้ ว่าเอาไว้ “Feeding on the wrath of man…” หรือ “Time haunted by the past.” และ “But what is done is done and done. Look back. Psychotic. No chance before this life began”

นี่คือเรื่องราวของผู้ชาย ที่ชีวิตเป็นรูปเป็นร่างด้วยความ “โกรธแค้น”

เพลงอื่น ๆ ในอัลบัมก็ชวนให้รู้สึกไม่แตกต่างกันนัก เมื่อมี “สัมผัส” ในทิศทางเดียวกันตั้งแต่ชื่อ อย่าง “Shadows Follow”, “Screaming Suicide”, “Sleepwalk My Life Away”, “You Must Burn!”, “Crown of Barbed Wire”, “Chasing Light”, “If Darkness Had a Son” หรือว่า “Too Far Gone?”

เมื่อลงลึกไปถึงเนื้อหา หลาย ๆ เพลงก็เป็นอย่างที่คิด เช่น หากความมืดมีลูกชาย คน ๆ นั้น ไม่ใช่ใคร ฉันเอง ใน “If Darkness Had a Son”, “Crown of Barbed Wire” บางอย่างที่ต้องแบกเอาไว้ ต่อให้ดูยิ่งใหญ่ หากก็เป็นความเจ็บปวด และทุกข์ทน เฉกเช่นการสวมมงกุฏหนามที่เต็มไปด้วยสนิม ซึ่งทิ่มแทงเนื้อหนัง จนหลั่งเลือด

แต่อย่าเผลอไผลคิดไปว่า ชีวิตในระยะเวลา 18 ฝนของเมทัลลิกา (หรือจะอนุมานว่าเป็นของเฮ็ตฟิลด์เพียงลำพัง ก็น่าจะพอไหว) คงปราศจากความหวัง ไร้แสงสว่างปลายอุโมงค์ให้เห็น เพราะยังมีแง่มุมด้านบวก หรือความพยายามดิ้นรนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทนให้รับรู้ แม้สัมผัสจะพร่าเลือน หรือต้องต่อสู้อย่างหนักหนาสาหัสเต็มที

จากความพยายามวิ่งหนีเงาดำอันมืดมิดใน “Shadow Follow” – “Seething. Fast breathing. Nightmares grow. On I run. Still my shadows follow. On I run. But still my shadows follow” ไปถึงการไล่ตามแสงสว่าง ที่ไม่ต่างจากความหวังของ “Chasing the Light” – “Struggle on, ’cause without darkness. Without darkness, there’s no light.” – หากไม่มีความมืด ก็ไม่มีแสงสว่าง ถ้าไร้ความทุกข์ทน ก็คงไม่รู้ว่าความสุขเป็นเช่นไร

การเรียกร้องให้ใครสักคนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ปลุกให้ตื่นจากภวังค์ หรือความจำเจของชีวิต ใน “Sleepwalk My Life Away” หรือหาทางสำรวจตัวเอง มองชีวิตที่เป็นในทุกด้าน ใน “Room of Mirrors”

นอกจากจะเป็นไปตามคอนเซปต์ที่วางเอาไว้ เฮ็ตฟิลด์ยังทำให้เรื่องราวที่หม่น ทึม เคร่งเครียด กลายเป็นเรื่องเล่าที่คมคายในเรื่องภาษา ด้วยการเปรียบเทียบเปรียบเปรย ที่ไม่ได้ซับซ้อนมากมายเกินเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็น แสงสว่างกับความมืด ใน “Chasing The Light”, มงกุฏหนามขึ้นสนิมของ “Crown of Barbed Wire”, การเป็นบุตรแห่งความมืดมิด ใน “If Darkness Had a Son” หรือ “Sleepwalk My Life Away” ที่บ่งบอกสภาพการใช้ชีวิตที่เป็นได้อย่างดี

แล้วอะไรล่ะที่เป็นการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นกับการทำงานของวงในรอบ 7 ปี

คำตอบอยู่ที่สิ่งที่ได้ยิน ที่ไม่ต้องพยายามทำความเข้าใจ หรือลงลึกไปมากกว่านั้น เป็นสัมผัสแรกจากการเลือกอัลบัม ‘72 Seasons’ จากบริการสตรีมิงสักเจ้า แล้วก็กด “Play” เมื่อเมทัลลิกาไม่ได้พยายามประนีประนอมกับเนื้อหาที่หนักหนา หรือผ่อนคลายความหม่นมืด ด้วยการใช้ดนตรีที่นุ่มนวล (ในแบบของพวกเขา) ที่ทางวงมักทำอยู่บ่อย ๆ หลังประสบความสำเร็จจาก ‘… And justice For All’

ทั้ง 12 เพลงในงานชุดนี้กดดันคนฟังเต็มที่ ทั้งเรื่องราว ทั้งดนตรี แล้วก็ว่ากันยาว ๆ ไม่มียั้ง กระทั่งเพลงที่ถูกตัดเป็นซิงเกิล หากมองข้ามซิงเกิลแรกของอัลบัม “Lux Æterna” ที่เป็นเพลงที่สั้นที่สุดในงานชุดนี้ออกไป สามซิงเกิลที่เหลือ “Screaming Suicide”, “If Darkness Had a Son” และเพลงที่เป็นชื่อชุด มีความยาวตั้งแต่ 5.30 นาทีไปถึง 7.39 นาที โดยที่ “Inamorata” เพลงปิดท้ายอัลบัม ก็ยาวถึง 11 นาทีกว่า และได้ชื่อว่าเป็นเพลงที่ยาวที่สุดของเมทัลลิกาในตอนนี้

อารมณ์ของเพลงก็แตกต่าง บนความคุ้นเคยจากริฟฟ์กีตาร์แรง ๆ หนัก ๆ มีช่องว่างให้เคิร์ต แฮมเม็ตต์ ได้ขยี้นิ้วอย่างเมามันส์กว่าที่เคย จนได้ท่อนโซโลที่บดเคี้ยวโน้ตได้อย่างละเอียดทุกเม็ดออกมา เช่นใน “If Darkness Had a Son” หรือ “Too Far Gone?” ซึ่งเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะมีให้ได้ยินเพียงบางเบาในงานยุคหลังของเมทัลลิกา โดยเฉพาะนับตั้งแต่อัลบัม ‘Load’ ซึ่งกับแฟนเก่า ๆ ที่ผูกพันกันมายาวนาน บรรยากาศดนตรีของ ‘72 Seasons’ น่าจะทำให้นึกถึงงานยุคแรก ๆ ของพวกเขา ตลอดจนเหล่าวงแธรช เมทัลที่เริ่มต้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ริฟฟ์กีตาร์เข้ม ๆ ภาคริธึมแน่น ๆ ตัวเพลงที่ใส่กันเต็มที่ ลากยาวแบบไม่สนใจการเป็นมิตรสหายกับคลื่นวิทยุ

หาก ‘72 Seasons’ มีซาวนด์ที่อิ่มและสมบูรณ์กว่า การเรียบเรียงดนตรีพาความหนักหน่วงล้อไปกับเมโลดีที่เคลื่อนไหวได้กลมกลืน เป็นงานที่ในความดุดัน มีความป็อปเจือเข้ามาได้เนียน ๆ ทั้งในท่วงทำนอง ทั้งท่อนฮุคที่ทำงาน เสียงกีตาร์ในหลาย ๆ เพลง ฟังแปลก-แตกต่างจากที่เคย ถือเป็นเสน่ห์กระแทกหูอีกอย่างของอัลบัม ซาวนด์กลองก็รับช่วงต่อจากที่ทำเอาไว้ดีในงานชุดก่อนหน้า โดยตัวอย่างที่ชัดเจน และเป็นความลงตัวที่เหลือเกินของสิ่งที่ต่าง ๆ ที่ว่ามา สามารถหาฟังและสัมผัสได้จาก “Sleepwalk My Life Away”

ส่วนที่ถือว่าเป็นท็อปปิงที่ดูแพง และมีค่ามากที่สุดของ ‘72 Seasons’ ก็คือ งานของเมทัลลิกายังฟังสด เต็มไปด้วยพลัง มีไดนามิค จนไม่รู้สึกว่านี่คือ วงดนตรีที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาร่วม ๆ 4 ทศวรรษ ซึ่งชีวิตคงไม่ต้องพิสูจน์อะไรแล้ว แต่พวกเขายังไม่แสดงถึงความล้า หรือว่าโรยราให้เห็นผ่านเสียงเพลง และไม่มีความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งไอเดียสารพัด สารพันที่เลอะ ๆ เทอะ ๆ

ถึงจะเต็มไปด้วยความหม่นมืด มีแสงสว่างเพียงวิบไหวในเนื้อหา ความสะใจ ความมันส์ ที่ ‘72 Seasons’ มอบให้ สามารถกระตุ้นให้อยากระเบิดความรู้สึกปะทุอารมณ์ไปกับทุกเพลงที่ได้ยินไม่ยากเลย ถือเป็นความบันเทิงแบบดาร์ก ๆ บนดนตรีอันหนักหน่วง ที่ระดับการทำงานของต่อมอะดรีนาลีนที่เพลงในงานชุดนี้กระแทกกระทั้นให้เกิดขึ้น ย่อมถึงสุดขีดคลั่งกว่านี้แน่ กับการได้ยินจากเวทีคอนเสิร์ต

นี่ละความครบเครื่องของวงดนตรี ที่นับจากอัลบัมชุดแรก พวกเขามีชีวิต หายใจในวงการดนตรีมา 160 ฝนเข้าไปแล้ว!!!

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 34 ฉบับที่ 4 พฤษภาคม 2566

ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์หรือกดติดตามเพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.