
LA LUNE / ส้ม มารี (สไปซี ดิสก์)
ได้ยินชื่อมานาน และได้ฟังผลงานเป็นระยะ ๆ มีคลิปถูกแชร์ให้เห็นต่อเนื่อง และหลาย ๆ เพลงเป็นงานที่ถูกพูด (โพสต์) ถึงหนาหู (ตา) จน ส้ม มารี หรือ มารี เออเจนี เลอเลย์ กลายเป็นชื่อที่คุ้นเคย และเผลอคิดว่าเธอมีอัลบั้มออกมาเป็นเรื่องเป็นราว เพราะด้วยแนวทางของงานนั้น ไม่ใช่ทางที่ต้องรสนิยมส่วนตัวสักเท่าไหร่ แต่ก็สัมผัสได้ว่า เธอเป็นนักร้องหญิงรุ่นใหม่ ที่เสียงร้องดีงาม ตัวเพลงเป็นงานพ็อปฟังสบาย ๆ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวพันกับความรัก ที่บางเพลงก็มีมุข มีมุมมองที่น่าสนใจ เช่น “กล่องสุ่ม” เรื่องของหญิงสาวที่เวลาเปิดกล่องสุ่มทีไร ก็กลายเป็นกล่องสุ่มเสี่ยง เมื่อเจอแต่ความไม่สมหวัง ไม่ได้เจอความรักที่เฝ้ารอ
หรือ “ยิ้มอ่อนและมองบน” ที่เอาคำติดของยุคสมัยมาเล่น จนเพลงเนื้อเศร้า ๆ ที่เล่าด้วยดนตรีที่ฟังลื่นไหล ให้อารมณ์เหมือนจิกกัด หรือเสียดสีในที
พอไล่เรียงดูผลงานเพลงไทยใหม่ ๆ เอาไว้ฟังอัปเดตเลยถึงบางอ้อ ที่ไม่ใช่อัลบั้มต่อจากรุ้งกินน้ำของอัสนี-วสันต์ ว่านักร้องหญิงที่ได้ยินผลงาน ได้ฟังเพลงคนนี้ เพิ่งมีอัลบั้มชุดแรก ‘La Lune’ ออกมาเมื่อ 7 พฤษภาคมนี่เอง
จากประวัติที่บันทึกไว้บนวิกิพีเดีย ส้ม มารี แจ้งเกิดจากเวทีประกวดของแอลจีตั้งแต่ปี 2551 และก่อนจะเป็นศิลปินในสังกัดสไปซี ดิสก์ ต้นสังกัดที่ส้ม มารีออกอัลบั้มชุดแรกของตัวเอง เธอเคยเป็นศิลปินในชายคาจีเอ็มเอ็ม แกรมมี ที่ข้อมูลก็ไม่ได้ระบุไว้ว่า มีผลงานอะไรออกมาบ้าง
กับ ‘La Lune’ จุดเด่นของส้ม มารีก็คือเสียงร้อง ที่ฟังแล้วทำให้นึกถึงศิลปินหญิงรุ่นพี่ในยุคที่วงการเพลงไทยยังมีค่ายใหญ่ไม่กี่ค่าย ไม่ว่าจะเป็น ทาทา ยังหรือแอนเดรีย สวอเรซ รวมไปถึง ลิเดีย ศรัณย์รัชต์ ในยุคแรก ๆ จากวิธีการทอดเสียง เทคนิคในการร้อง รวมถึงเนื้อเสียงที่มีความใกล้เคียงอยู่บ้าง แต่ที่น่าสนใจก็คือ หากฟังเผิน ๆ เสียงร้องของส้ม มารี ก็คือเสียงร้องแบบพ็อปที่ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน แต่เอาเข้าจริง ๆ มีลูกเล่นมากมายถูกสอดแทรกเข้ามาและทำได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการร้องในสไตล์อาร์แอนด์บี หรือการร่ายน่ารัก ๆ ที่การได้ดนตรีซึ่งเรียบเรียงแบบส่ง ‘เสียง’ ร้องเต็มที่ ก็ทำให้เสียงของเธอโดดเด่น และส้ม มารีก็ไม่ทำให้เสียของ
ตัวดนตรีเองก็มีส่วนทำให้นึกถึงศิลปินที่มาก่อน เมื่อเพลงพ็อปใส ๆ ขายเสียงร้องของส้ม มารี มีทางดนตรีที่ไม่ต่างจากรุ่นพี่ แม้หลัก ๆ จะเป็นพ็อปฟังเพลิน แต่ก็มีผสมอาร์แอนด์บีบ้าง, เป็นพ็อป-แดนซ์ที่มีบีทเบา ๆ บ้าง แต่อัปเดตให้ทันสมัยมากขึ้น ทั้งซาวนด์หรือการวางพาร์ตของแร็ปเข้ามา
แล้วก็มีงานที่เข้ายุคเข้าสมัยนิยมมากกว่า เช่น งานในทางของซินธ์-พ็อป หรือมีอิทธิพลของดนตรีในยุค ‘80s ที่นิยมกันอยู่ เข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะเสียงกีตาร์ในหลาย ๆ เพลง ไม่ว่าจะเป็นโซโลหรือลูกลิก หรือการปูเสียงซินธิไซเซอร์ในบางเพลง ที่สัมผัสได้ถึงกลิ่นไอของดนตรีนิวเวฟ
บางเพลง อย่าง “ติดอยู่ตรงนี้” ก็เป็นทางของดนตรีพ็อปในยุค ‘90s ที่บ้านเราศิลปินต่างประเทศที่เฟื่อง ๆ ในตอนนั้นคือ The Moffats หรือว่า M2M
ที่สำหรับคอเพลงไทยรุ่นเก่า ผู้ผ่านการเติบโตของวงการเพลงไทยมาตั้งแต่ยุค ‘80s การฟังเพลงของส้ม มารีให้อารมณ์ถวิลหาอดีตกลาย ๆ โดยมีเสียงร้องของเจ้าของอัลบั้ม กับสำเนียงดนตรีที่ทันสมัยขึ้นเป็นตัวระบุถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
บรรยากาศในอัลบั้ม แม้จะมีทั้งเพลงสุข เพลงเศร้า เพลงที่เฝ้ารอ ขอความหวัง แต่โดยรวม ๆ ก็เป็นงานที่สดใส มีสัมผัสของความสุข อย่างน้อย ๆ เมโลดีของเพลงก็สวย ลื่นไหล ชวนให้ฟัง เป็นงานเพลงเพราะ ที่ถือว่าเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ ‘La Lune’ เป็นงานที่ฟังเพลินอีกชุดหนึ่ง แต่หากคิดว่า จะมีแต่เพลงพ็อปในแบบวัยใส อัลบั้มชุดนี้ไม่ได้มีแค่นั้น หลาย ๆ เพลงเนื้อดนตรี ฟังดูโตกว่าหน้าตาแบบสอดแทรกอยู่ในความเยาว์วัย การใช้เสียงของส้ม มารีก็คล้าย ๆ กันเช่นกัน กลายเป็นการยกระดับให้กับเพลงและอัลบั้มกลาย ๆ และไม่ได้ไกลตัวคอเพลงกลุ่มเป้าหมายจนเกินไป
แต่ที่โตจนรู้สึกได้ และโดยส่วนตัวถือว่าเป็นงานโชว์ของ สำหรับอัลบั้มชุดนี้ก็คือ เพลงสุดท้าย “How Was Your Day” ที่เสียงร้องของส้มฟังเข้มข้นทั้งเทคนิค ทั้งอารมณ์ ดนตรีก็โตกว่าเพลงอื่น ๆ ซึ่งการวางเพลงนี้ปิดท้ายก็ทำให้ไม่ไปกวนเพลงอื่น ๆ ในอัลบั้มนัก และสำหรับการฟังแบบรื่นรมย์ ใส ๆ มาตลอด “How Was Your Day” ทำให้รู้สึก “หือ… อะไรนะ” มาปิดอัลบั้มได้สวย ๆ และรู้สึกถึง “ของ” ในตัวของส้ม มารี ที่น่าจะทำให้เธอมีระยะทางไปต่อได้อีกไกล
ไม่ได้จบลงตรงแค่ดวงจันทร์แน่นอน
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 33 ฉบับที่ 5 พฤษภาคม 2565
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่