Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว MUSIC TO BE MURDERED BY: SIDE B งานภาคต่อหรือเก็บตก ที่ไม่ควรคาดหวัง ของเอ็มมิเน็ม

MUSIC TO BE MURDERED BY: SIDE B/ Eminem
[Shady/ Aftermath/ Interscope Records]

“ณ.บัดนี้ อัลบัมชุดนี้เป็นสิ่งเพิ่มเติมทางดนตรี เพื่อให้คุณฟังด้วยความพึงพอใจ แทร็คต่อไปของเรา ถูกออกแบบมาเพื่อกลบเสียงพลั่ว ดนตรีที่ถูกกลบฝัง”

คำพูดเปิดอัลบัมชุดใหม่ของเอ็มมิเน็ม Music to Be Murdered By: Side B ที่เป็นเสียงของอัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อค ผู้กำกับภาพยนตร์เจ้าของงานคลาสสิกมากมาย อาทิ Psycho, The Birds, North by the Northwest ว่าเอาไว้ ซึ่งเป็นการย้ำว่า งานชุดนี้คืองานที่สานต่อจากสิ่งที่เอ็มมิเน็มเริ่มเอาไว้จาก Music to Be Murdered By ที่ออกมาเมื่อต้นปี 2020 ที่ชื่ออัลบัม, ภาพปก และคอนเส็ปท์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอัลบัมพูดของอัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อคและเจฟฟ์ อเล็กซานเดอร์ เมื่อปี 1958 ชุด Alfred Hitchcock Presents Music to Be Murdered By

แล้วก็เป็นอย่างที่คำพูดเปิดหัวว่าเอาไว้ Music to Be Murdered By: Side B เป็นงานที่สร้างความพึงพอใจได้จริงๆ อย่างน้อยๆ ในเรื่องดนตรี ก็อยู่ในข่ายที่ฟังเพลิน ลื่นไหล และสนุกกว่า Music to Be Murdered By อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะแฟนๆ ที่ไม่ใช่สายฮิพ-ฮ็อพ, แร็ปแบบฮาร์ดคอร์

งานชุดก่อน นอกจากความป็อป ติดหูจะดร็อปไป เพลงส่วนใหญ่ก็ไม่ได้กระตุกหูอะไรมากนัก หากจะมีที่ทำให้ทึ่งได้อย่าง “Godzilla” แต่ก็เป็นความตื่นหูจากการโชว์สปีดแร็ประดับเทพ ด้วยความเร็ว 10.65 พยางค์ต่อวินาที ที่ตอนนั้นถือว่าเป็นการแร็ปที่เร็วที่สุดในโลก แต่ที่น่าสนใจกลับเป็นเนื้อหา เรื่องราวในเพลง ที่มีทั้งเรื่องเล่าของตัวเอง ประเด็นทางสังคม กัด-จิก-หยิก-ตี ผู้คน ที่หากรับรู้เรื่องราวที่ถูกนำมาร่ายก็คงอินได้ไม่ยาก โดยท่าทีของเอ็มมิเน็มเป็นไปในทางหยอกๆ กวน Teen มีอารมณ์ขันในแบบตลกร้าย มากกว่าจะเคร่งเครียด จริงจัง เข้ากับโทนของอัลบัมที่มีลักษณะของงานเสียดสี หรือล้อเลียนตั้งแต่แรกเห็น

แล้วก็แสดงให้เห็นมุมมองของเจ้าตัวที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องภายในครอบครัว ที่ดูคลี่คลาย เหมือนกับเข้าใจสิ่งที่พ่อ-แม่ของตัวเอง ‘ทำ’ หรือ ‘เป็น’ มากขึ้น

มาถึง Music to Be Murdered By: Side B นอกจากชื่ออัลบัมจะย้ำความเกี่ยวพันกับงานที่ออกมาก่อนหน้าชัดเจน ภาพปกอัลบัมก็มาในอารมณ์เดียวกัน กับการฟังในบริการสตรีมิง อัลบัมจะถูกร้อยกับงานชุดแรก เป็นอัลบัมแบบดีลักซ์ เปิดหน้าด้วย 16 เพลง (หรือแทร็ค) ของอัลบัมนี้ แล้วปิดท้ายด้วย 20 เพลงของ Music to Be Murdered By ซึ่งฟังรวมกันยาวเหยียดเกือบๆ สองชั่วโมง

หลังคำพูดเปิดอัลบัมของอัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อค เอ็มมิเน็มเริ่มงานเพลงด้วย “Black Magic” ที่ได้สกายลาร์ เกรย์ มาร่วมงาน ที่ให้บรรยากาศแบบมนต์ดำตามชื่อเพลง จากเสียงร้องล่องลอยของเกรย์ เพลงเป็นงานลูกผสมฮิพ-ฮ็อพ – ป็อป การร่ายที่มาพร้อมเมโลดีบนบีทที่ฟังเนิบๆ สลับกับฮุคแบบป็อป เรื่องราวว่าด้วยสิ่งยั่วยวน ความเลวร้ายต่างๆ ล้วนอยู่รายรอบตัวเรา ไม่ต่างไปจากมนต์ดำ หรือพวกแวมไพร์ ที่นอกจากจะฟังเพราะด้วยดนตรี ก็ยังสนุกกับคำเปรียบเทียบเปรียบเปรยของเอ็มมิเน็ม ที่มีหยอกนิดกัดหน่อย แบบ “We wake up, break up, make up like Maybelline/ Now she’s all made up like make-believe” หรือ “I been plannin’ this day for weeks/ But I can’t tell if I’m ‘wake or ‘sleep/ But if this is actually happenin’, “sucker for pain”/ I’m stuck in this radioactive pattern/ But her by her motherfuckin’ hair’s/ All I “imagine draggin'” (Dragon)” “Black Magic” ปิดด้วยเสียงกรีดร้องของหญิงสาว ตามด้วยเสียงขุดดิน หลังเนื้อร้องสุดท้าย “Look down, there’s mud on my Nikes/ Shovel at my side, blood on my mic/ Now wake up to Music To Be Murdered By like—“ ขาดเสียง ทำให้เพลงนี้ไม่ใช่แค่เพลงแรกของอัลบัม แต่ยังนำเข้าสู่เรื่องราวของ Music To Be Murdered By: Side B อย่างเป็นทางการ

“Alfred’s Theme” เพลงต่อมา ดึงบรรยากาศเก่าๆ จากงานของเอ็มมิเน็มกลับมา ด้วยบีทที่คุ้นเคยทั้งสปีดและซาวนด์ ปรุงแต่งด้วยซาวนด์ดนตรีแปลกๆ ที่แทรกมาตามช่องว่างของบีท “Tone Deaf” พูดถึงการดิสส์ (Diss) ในวงการฮิพ-ฮ็อพ มากับบีทน่ารักๆ เนื้อหามีอารมณ์ขันแสบๆ ด้วยการแกล้งเป็นคนหูหนวก พูดแต่เรื่องของตัวเอง เพราะอีกฝ่ายก็ใส่ไม่มีหยุด จนกว่าจะสอยเอ็มมิเน็มได้ “I can’t understand a word you say (I’m tone-deaf)/ I think this way I prefer to stay (I’m tone-deaf)/ I won’t stop even when my hair turns grey (I’m tone-deaf)/ ‘Cause they won’t stop until they cancel me (Yeah, yeah)” ขยับไปใน “Zeus” เอ็มมิเน็มก็เล่นชาวบ้านบ้าง เมื่อเนื้อหาพุ่งเป้าไปที่ แมชีน กัน เคลลี และทาเคชิ ซิกตีไนน์ ที่เคยมีคดีกับเขามาก่อน แต่เพลงนี้ที่ได้ไวท์โกลด์มาร่วมงาน ตัวดนตรีฟังละเมียดนวลหูกว่า

“Book of Rhyme” ดนตรีฟังดิบ อารมณ์แบบงานโอลด์สคูล เน้นการร่ายกับบีท รับเรื่องราวที่ว่าด้วยการทำงานของตัวเองในโลกที่เปลี่ยนไปพอดี “Favorite Bitch” มีทายดอลลาไซน์มาร่วมงาน ซึ่ง Bitch ไม่ได้หมายถึงผู้หญิง แต่เป็นอุปมาอุปมัยหมายถึงดนตรีฮิพ-ฮ็อพ ที่ทั้งเอ็มมิเน็ม ทั้งทายดอลลาไซน์ ต่างบอกเล่าความรู้สึกและสิ่งที่ได้รับจากดนตรีแนวทางนี้ ซึ่งมีทั้งผิดหวัง สมหวัง สุขและทุกข์ เพลงฟังมีเสน่ห์ด้วยการร่ายและร้องประสานที่นุ่มนวล คล้ายๆ กับเพลงต่อมา “Guns Blazing” หากดนตรีในเพลงหลัง ฟังลึกลับ และเซ็กซีมากกว่า เข้ากับเนื้อหาที่ว่าด้วยผู้หญิงของดร. เดร ที่ร่วมงานกับเอ็มมิเน็มในเพลงนี้ และตัวเจ้าของอัลบัม ที่ต่างก็ทำให้พวกเขาเจ็บปวดด้วยกันทั้งคู่

“She Loves Me” เป็นอีกเพลงที่ว่าด้วยเรื่องผู้หญิงในชีวิตของเอ็มมิเน็ม แต่หนนี้เป็นการตั้งคำถามว่า ท้ายที่สุด เธอรักที่เขาเป็นเขา หรือรักสิ่งที่เขาทำได้

“Gnat” เป็นเรื่องปัจจุบันทันด่วน โควิด-19 ที่ว่าไว้ถึงการระบาดของไวรัสตัวนี้ได้อย่างเห็นภาพ “They come at me with machine guns (At me with machine guns; brr)/ Like trying to fight off a gnat” เพราะจากที่เป็นไปในสหรัฐอเมริกา ผู้คนต่างติดเชื้อและเสียชีวิตราวกับโดนปืนกลกราดยิง ก่อนที่จะร่ายกันยาวๆ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งแต่โควิด-19, การเหยียดผิว ใน “These Demons” ที่รายละเอียดดนตรีฟังฉูดฉาดจากท่อนแยกของ เอ็มเอเจ ที่มาร่วมงาน รวมไปถึงบีทในบางช่วง

“Higher” เอ็มมิเน็มพูดถึงการทำงานของตัวเอง ที่มาไกลกว่าที่คาดเอาไว้ และไม่รู้ว่าจะไปต่อได้ถึงไหน แต่ทุกครั้งที่เขาคิดว่าตัวเองแตะเพดานแล้ว ก็ยังขยับไปได้อีกทุกครั้ง โทนดนตรีมาแบบเอ็มมิเน็มอย่างที่คุ้นเคย “Killer” พูดเรื่องคล้ายๆ กัน ว่าด้วยความสำเร็จที่ได้รับ ซึ่งตัวเองไม่ต่างจากนักฆ่าที่ทำทุกอย่างเข้าเป้า ร่ำรวยมีเงินถุงเงินถัง

Music to Be Murdered By: Side B ปิดอัลบัมด้วย “Discombobulated” ที่ร่ายแร็ปในแบบงานยุคเก่าๆ แต่เนื้อหาไปทางสัพเพเหระ ชวนสับสนเหมือนชื่อเพลง เมื่อเอ็มมิเน็มทั้งพูดถึงแร็ปเปอร์คนอื่นๆ ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง จนเหมือนเป็นเพลงแถม หรือเพลงที่ไม่มีที่ทางของตัวเอง หากยังดีที่ดนตรีในเพลงนี้ แม้ไม่ถึงกับมีเสน่ห์ติดอกติดใจมากมาย แต่ก็ฟังเพลินๆ ได้จากบีทและท่วงทำนองที่ไหลไปตามการร่าย

นั่นก็คือเสน่ห์สำคัญของ Music to Be Murdered By: Side B ดนตรีที่ฟังได้เรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ อาจจะมีไฮไลท์เล็กๆ แทรกเป็นระยะๆ จากเนื้อเพลงบ้าง จากฮุคเก๋ๆ บ้าง หรือจากซาวนด์แปลกๆ ในเนื้องาน ซึ่งหากเทียบกับอัลบัมที่เป็นต้นทางแล้ว ถือว่าฟังได้ลื่นหูกว่า แม้จะยังขาดพลัง หรือความแรงที่ทำให้รู้สึกได้ถึงการก้าวไปข้างหน้าแบบเป็นเรื่องเป็นราวของเจ้าของอัลบัม

แต่ถ้าว่ากันที่เรื่องความคมคายของเรื่องราว Music to Be Murdered By ให้ได้เยอะกว่า เมื่อหลายๆ เพลงที่แสดงให้เห็นถึงมุมมองที่ไม่ใช่โตขึ้น แต่ ‘แก่’ กว่าเดิมของเอ็มมิเน็ม

ซึ่งถ้ามองแบบกลางๆ ชื่ออัลบัมนี้ ก็แสดงออกอย่างชัดเจน กับความเป็นงาน Side B เต็มที่ก็คืองานภาคต่อ หรือเก็บตก เป็นงานทำเอาสนุก หรือออกมาให้ฟังสนุก ไม่ควรไปขอหรือคาดหวังอะไรมากกว่านั้น

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 32 ฉบับที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.