
RESURRECTION / Zweed n’ Roll
(วอร์นเนอร์ มิวสิก)
แม้จะมีอัลบัมชุดนี้ ‘Resurrection’ เป็นแค่งานชุดที่สอง แต่เส้นทางการทำงานดนตรีของ ซวีดเอ็นโรลล์ ยาวไกลไม่น้อย จากการเป็นวงดนตรีของนักศึกษาดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่รวมตัวกันเพื่อเล่นดนตรีกลางคืน ขายความสามารถของตัวเองตั้งแต่ยังใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย แล้วก็มีซิงเกิลแรก “ธันวาคม “ออกมาในปี 2555 ซึ่งเป็นการเปิดตัวได้อย่างสะดุดหู ด้วยดนตรีที่มีลักษณะเฉพาะตัว โดยเฉพาะเรื่องของซาวนด์และบรรยากาศของเพลง ที่แตกต่างจากงานเพลงไทยส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นความหม่นซึม หรือบรรยากาศที่รู้สึกล่องลอย เคลิบเคลิ้ม ที่สัมผัสได้ถึงอิทธิพลของดนตรีบริต-ป็อป
ที่หากจำเพาะเจาะจงลงไป ก็ชี้ไปได้ที่งานจากวงอย่าง Radiohead หรือว่า The Cranberries
ถึงไม่ใช่งานในแบบที่ถูกใจคนฟังเพลงในวงกว้าง แต่ซวีดเอ็นโรลล์ก็สามารถสร้างแฟนเพลง หรือผู้ติดตามของตัวเองได้ โดยเฉพาะความสำเร็จของ “ช่วงเวลา” ที่เรียกได้ว่าเป็นเพลง ‘ดัง’ ของพวกเขา ซึ่งหากเอามาตรฐานความนิยมของการสัมผัสเสียงเพลงในยุคนี้เป็นหลัก
หลังมิวสิกวิดีโออย่างเป็นทางการของเพลงนี้ อัพโหลดขึ้นยูทิวบ์เมื่อราว ๆ 4 ปีก่อน ตอนนี้ยอดวิวก็ผ่าน 65 ล้านไปแล้วเรียบร้อย ทั้ง ๆ ที่เป็นงานของศิลปินอินดี และเป็นงานที่ดนตรีนั้น ไม่น่าจะโดนจริตคอเพลงไทยส่วนใหญ่มากนัก
อัลบัมชุดแรกของซวีดเอ็นโรลล์ ‘I’m 20’ หรือชื่อเต็ม ๆ ‘I’m 20, It’s all the best I can do.’ ออกมาในปี 2561 บ่งบอกตัวตนของพวกเขาชัด ทั้งดนตรี ทั้งเรื่องราว ที่ทำให้ตัวงานโดดเด่นขึ้นมา โดยหลัก ๆ คือเรื่องของซาวนด์และบรรยากาศ ที่ดึงผู้ชมให้จมไปกับเรื่องราวที่พวกเขานำเสนอ แม้ในมุมหนึ่งก็อาจจะรู้สึกเนิบเนือยไปกับเพลงของซวีดเอ็นโรลล์ได้เช่นกัน แต่หากจูนอารมณ์ตรงคลื่นกับสิ่งที่พวกเขานำเสนอแล้ว ความเนิบเนือยก็อาจเปลี่ยนเป็นความเคลิบเคลิ้ม ล่องลอยไปกับเสียงและเรื่องราวในเพลงได้ไม่ยาก
ที่นอกจากซาวนด์ของศิลปินรุ่นใหม่ ๆ อย่างเรดิโอเฮด หรือว่าเดอะ แครนเบอร์รีส์ ที่สัมผัสได้ บางเพลงอย่าง “Another Dimension” พวกเขาเหมือนจะไปไกลกว่านั้น เมื่อรับรู้ถึงกลิ่นไอของวงดนตรีรุ่นใหญ่กว่า เก่ากว่า อย่าง Pink Floyd
อัลบัมชุดที่สอง ‘Resurrection’ ของซวีดเอ็นโรลล์ออกมาไล่ ๆ กับวาระครบรอบ10 ปีของการปล่อยซิงเกิลแรก “ธันวาคม” ชื่อชุดชวนคิดให้เหมือนมีนัยในการตีความ โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาหายหน้าไปเกือบ ๆ 4 ปี การกลับมาครั้งนี้ก็ไม่ต่างไปจากการเกิดใหม่ ในขณะเดียวกันยังเป็นการทำงานภายใต้กับค่ายเพลงใหญ่ วอร์เนอร์ มิวสิก เป็นครั้งแรก ที่ทำให้มีสัมผัสของการเริ่มต้นอีกครั้งอยู่ในที
ว่ากันที่เรื่องของผลงาน เพลงใน ‘Resurrection’ มีลายเซ็นของซวีดเอ็นโรลล์ ที่เห็นกันตั้งแต่อัลบัมแรกครบ พวกเขายังพาคนฟังล่องลอย เคลิ้บเคลิ้ม หรือดิ่งจมไปกับเพลงต่าง ๆ ที่เหมือนกับมีไอฟุ้ง ๆ ห่อหุ้มเอาไว้ ถึงเนื้อหาส่วนใหญ่จะหม่น จมอยู่กับความผิดหวัง แต่ที่ต่างออกไปก็คือ หลาย ๆ เพลงใน ‘Resurrection’ ฟังคลี่คลาย มีงานที่เรียกได้ว่า ‘สนุก’ ให้สัมผัสมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “เพียง (Nightmare)” ที่ดนตรีฟังคลี่คลาย รู้สึกโปร่งอารมณ์ หรือ “อยู่ (You)” ที่นอกจากบีทคึกคัก สนุก รุกเร้า ยังมาพร้อมซาวนด์ร็อกเข้มข้นกว่าที่เคยเป็น
“ทุกวัน (Tookwan)” เปรียบได้กับงานบริต-ป็อปฝั่งสว่าง ดนตรีสดใส รองรับเสียงร้องที่ล่องลอยได้อย่างลงตัว
“โลกใบเก่า (Tired)” เพลงที่ถูกตัดเป็นซิงเกิล เป็นงานบัลลาด เข้าถึงง่ายจากเมโลดีที่ฟัง ‘สวย’ เช่นเดียวกับ “อยากมีความหมาย (Empty)” อีกซิงเกิลจากงานชุดนี้ แม้จะมีอารมณ์แบบคุ้น ๆ เคย ๆ จาก ‘I’m 20’ แต่ก็รับรู้ได้ถึงความแตกต่างของซาวนด์ ที่ฟังละเมียดขึ้น ความประณีตในเรื่องการบันทึกเสียง การเรียบเรียงเสียงประสานก็สวยงาม ทำให้เพลงหม่น ๆ ของพวกเขา กลายเป็นความเศร้าซึมที่สะสวย เป็นความทึมทึบที่มีเงาจาง ๆ ของความสุขให้สัมผัส ซึ่งมองได้ว่า พวกเขาไม่พยายามกดคนฟังให้ดิ่งไปกับเรื่องราวเศร้า ๆ, การขลุกอยู่กับความผิดหวัง, ชีวิตที่ไม่สามารถขยับไปไหนได้ จนเกินไป และก็ต้องให้เครดิตกับการเรียบเรียงดนตรี ที่ทำให้รู้สึกแบบนั้นได้จริง ๆ ผ่านลูกเล่นเล็กๆ น้อย ๆ ที่แสดงถึงความละเอียดในการทำงาน
เช่น เสียงกีตาร์ใน “Lightning In The Sky” ที่เป็นอย่างชื่อเพลงว่าเอาไว้จริง ๆ
เสียงกีตาร์หลอน ๆ ล่องลอยของ “Stars” ที่ทำให้เกิดความสวยงามอย่างประหลาด เมื่อได้ยิน
ในงานชุดนี้ พวกเขาไม่บี้ หรือขยี้จนเกินงาม
อีกหลักฐานหนึ่งที่นำมาใช้เป็นเหตุผลได้ก็คือ ซวีดเอ็นโรลล์ไม่ได้เล่าแค่เรื่องที่ปราศจากความหวัง หรือหนักอึ้งไปด้วยความอ้างว้าง อย่างน้อย ใน “เรา (US)” พวกเขาก็ยื่นความรักรสหวานในแบบซวีดเอ็นโรลล์ให้สัมผัส เป็นความโรแมนติกที่มีรูปแบบเฉพาะตัว อาจจะไม่สมหวังเปี่ยมสุขสุด ๆ แต่ก็ไม่ใช่งานที่จมอยู่กับความทุกข์แสนหดหู่
หรือ “Fighter” อีกหนึ่งเพลงร็อก ก็คือเพลงสร้างความหวัง ให้กำลังใจกับทุกคนที่เป็นนักสู้ ‘ชีวิต’
จาก ‘I’m 20’ มาถึง ’Resurrection’ อัลบัมชุดนี้ให้ความหมายของการฟื้นชีพอย่างที่ว่าเอาไว้จริง ๆ แล้วยังเป็นการกลับมามีชีวิตที่แข็งแรง เต็มไปด้วยพลัง โดยที่ไม่ได้ลืมตัวตน หรือสิ่งที่ทำให้ผู้คนรู้จักกับพวกเขา หากเนี้ยบ และเติบโตด้วยเช่นกัน
และบางที การเริ่มทำความรู้จักกับพวกเขาด้วยอัลบัมชุดนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อมองในเรื่องของ “ความลงตัว”
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 33 ฉบับที่ 2 มีนาคม 2565
สนับสนุนเราได้ที่ -:> https://facebook.com/becomesupporter/Sadaos/ หรือที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วส่งสลิปการโอนมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนคำขอบคุณ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่