STRENGTH IN NUMB333RS / Fever 333
[333 Wreckords/ Roadrunner Records]
จากที่เคยรุ่งเรืองเฟื่องฟูในยุคหนึ่ง เคยเป็นดนตรีกระแสหลักในวงการเพลง ที่โดดเด่นด้วยการผสมผสานดนตรีร็อค หรือที่หนักกว่านั้นอย่างเมทัล มาผสมผสานกับแร็ป มีศิลปินที่ประสบความสำเร็จมากมาย โดยมีหัวแถวอย่าง Limp Bizkit หรือ Linkin Park ผ่านเข้ามาถึงปลายยุค 2000 ดนตรีที่เคยเป็นกระแสหลัก มีชื่อเฉพาะเรียกกันว่า นู-เมทัล ก็เจอกับสถานการณ์เดียวกันกับที่ศิลปินในแนวทางอื่นๆ เคยเป็น ความนิยมหดหาย ศิลปินล้มหายตายจากกันไป
แต่ไม่ได้หมายความว่าดนตรีในรูปแบบนี้จะตายสนิท หมดลมหายใจ และหนึ่งในการยืนยันที่เป็นรูปธรรมก็คือ การมาถึงของฟีเวอร์ 333 วงทรีโอจากแคลิฟอร์เนีย ที่ตั้งวงกันหมาดๆ เมื่อปี 2017 โดยสมาชิกทั้งสามมาจากสามวงดนตรี เจสัน อาลอน บัทเลอร์ จากวง Letlive, สตีเฟน แฮร์ริสัน มือกีตาร์ของวง Chariot และแอริก อิมโพรตา จากวง Night Verses
ปีถัดมาพวกเขาออกอีพี 7 เพลง Made an America (หาฟังได้ในแอปเปิล มิวสิก) ออกมาให้ฟังกัน ในแบบที่ประกาศตัวว่าฉันคือ ศิลปินนู-เมทัลเต็มตัว รวมทั้งแสดงให้เห็นอิทธิพลดนตรีจากศิลปินรุ่นพี่ที่เป็นผู้บุกเบิกดนตรีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการร่ายแร็ปที่ทำให้นึกถึงลิมพ์ บิซคิท หรือ Public Enemy ดนตรีมีทั้งหนักหน่วงในแบบ Rage Against the Machine หรือมีความเป็นป็อปแบบ ลิงคิน พาร์ค แต่ที่แตกต่างออกไปก็คือพลังในเพลงที่พวกเขานำเสนอ ที่ฟังสด เนื้อดนตรีที่ให้ความรู้สึกดิบ แรง
ทิ้งช่วงห่างจากอีพีเปิดตัว Made an America ได้แค่ปีเดียว ฟีเวอร์ 333 ก็ปล่อยอัลบัมเต็มๆ ชุดแรก Strength in Numb333rs ออกมาให้ฟังกัน และเป็นงานที่ตอกย้ำว่า พวกเขายังเดินต่อไปบนถนนสายนู-เมทัล หรือแร็ป-ร็อก ที่ดูเปลี่ยวเหงา หรือไม่มีใครใช้เดินกันมากนักในยามนี้
แต่ที่แตกต่างออกไปก็คือ การกลับมาพร้อมกับ 10 เพลงใหม่เอี่ยมอ่อง ฟีเวอร์ 333 และมาพร้อมกับโปรดัคชันที่เนี้ยบกว่าที่เคยเป็น ดนตรีซับซ้อน มีชั้นเชิงในการเรียบเรียง มีลูกเล่นหลากหลาย แต่ที่ต้องชื่นชมก็คือ ภายใต้ดนตรีที่ฟัง ‘ใหญ่’ และเต็มแน่น ฟีเวอร์ 333 ยังเก็บความดิบกับพลังที่เป็นเสน่ห์ของงานอีพีชุดแรกเอาไว้กับตัวได้ ไม่หายไปไหนเหมือนกับอีกหลายๆ วง หลายๆ ศิลปิน ที่โปรดัคชันที่ดี การทำงานที่ประณีตมากกว่าเดิม ทำให้ความกร้านในเนื้องานลดทอนลงไปด้วย
ขณะที่อิทธิพลดนตรีจากศิลปินรุ่นพี่ก็ถูกจับมาหลอมรวม ผสมผสานกันได้ลงตัวมากขึ้น ไม่ได้ให้ความรู้สึกแปลกแยกกันไปในแต่ละเพลงเช่นที่ได้ยินใน Made an America อย่าง “One of Us” ที่จับเอาการร้องประสาน การสร้างท่อนฮุค แบบลิงคิน พาร์ค กับความหนักหน่วงในแบบเรจ อะเกนส์ต เดอะ แมชีน รวมไปถึงความเกรี้ยวกราดในแบบ Korn มาเขย่ายำรวมกันได้เนียนสนิท
หรือ “The Innocent” หรือ “Coupe D’ETalk” ก็เหมือนการจับงานแบบลิงคิน พาร์คในยุคแรก ไปอยู่ในอีกระดับหนึ่ง
และไม่ใช่แค่มีด้านที่ดุดัน กระแทกกระทั้นให้สัมผัส ใน Strength in Numb333rs ฟีเวอร์ 333 ยังแสดงด้านที่นุ่มนวล ด้านที่เปราะบางออกมาให้เห็น ผ่านเพลงแบบ “Inglewood/3” ที่ท่วงท่าการร่ายแร็ปนั้น อาจจะทำให้นึกถึงเอ็มมิเน็ม เช่นเดียวกับเนื้อหาที่เป็นงานบัลลาด ว่าด้วยชีวิตของคนที่เกิดมาในสถานที่ที่ไม่น่าอภิรมย์นัก หากด้วยความนุ่มนวลของเพลง ดนตรีที่ฟังอบอุ่น เสียงร่ายที่เน้นความละมุนละไม เพลงนี้ก็ให้อารมณ์ความรู้สึกในแบบงานถวิลหาอดีต ก่อนที่จะนำไปสู่การระเบิดอารมณ์ในตอนท้าย ซึ่งเผยให้เห็นความอึดอัด กดดัน ที่ได้รับจากการอยู่ในแถบที่ซึ่งความเจริญ ความสว่าง ยากจะส่องถึงได้เป็นอย่างดี
เรื่องราวในเพลงอื่นๆ ของ Strength in Numb333rs ก็ไม่ใช่งานในทางรื่นรมย์สุขสม พวกเขาเลือกจะพูดถึงปัญหาสังคม, ความแตกต่างของสีผิว, เรื่องชนชั้น, การใช้ชีวิตในระดับล่างของสังคม ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล ไม่ใช่เรื่องที่น่าอภิรมย์ หรือสัมผัสได้ด้วยอารมณ์สุขสม แต่สารทั้งหมดที่วงสื่อออกมาก็ถูกคลี่คลายให้เข้าถึงได้ง่ายด้วยการทำเพลงที่มีความเป็นป็อป มีท่อนฮุค ที่ติดหู ที่เหลือก็อยู่ที่คนฟังแล้วว่า จะรับสารที่ฟีเวอร์ 333 ส่งออกมามากน้อยขนาดไหน
กับดนตรีที่พวกเขาสร้าง ทำก็ไม่ต่างกัน แม้จะมาในโครงสร้างเก่าๆ ที่หลายๆ คนคุ้นเคย และอาจจะรู้สึกว่ามัน ‘เอาท์’ ไปแล้วด้วยซ้ำ แต่ฟีเวอร์ 333 ก็ทำให้มีความร่วมสมัย มีความลงตัวจากการผสมผสานสิ่งต่างๆ ที่พวกเขารับเอามา และสร้างขึ้นมาใหม่ในแบบที่มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
หากไม่มองไปถึงอีพี Made an America หรือคิดซะว่าเป็นงานทดลอง มองกันที่งานชุดนี้ ให้ Strength in Numb333rs เป็นการเริ่มต้นนับหนึ่ง พวกเขาเริ่มต้นได้อย่างติดตาม ให้ความรู้สึกว่าเป็นของจริง ตัวจริง
ที่เหลือจากนี้ ก็อยู่ที่ว่าพวกเขาจะรักษาหรือเพิ่มระดับจากสิ่งที่งานชุดแรก สร้างขึ้นมาได้อย่างแข็งแรง แข็งแกร่งสมชื่ออัลบัมได้มากขนาดไหน ในงานชุดต่อไป…
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน 2562 ปีที่ 30 ฉบับที่ 5