Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว – WHERE THE LIGHT GOES เรื่องเล่าล้ำค่าจากผู้มีประสบการณ์

WHERE THE LIGHT GOES/ Matchbox Twenty
[Atlantic]

เป็นหนึ่งในวงโพสต์-กรันจ์ ที่ดังมาตั้งแต่ออกอัลบัมแรก Yourself or Someone Like You เมื่อปี 1996 โดยมีเพื่อน ๆ ร่วมยุคอย่าง เธิร์ด อายด์ ไบลนด์ส, เซไมโซนิก, คอลเล็กทีฟ โซล รวมถึงฟาสต์บอลล์ หรือโทนิก ซึ่งเป็นอีกเส้นทางการทำงานที่ต่างไปจากศิลปินโพสต์-กรันจ์อีกกลุ่ม เช่น บุช หรือ แคนเดิลบ็อกซ์ รวมถึง พัดเดิล ออฟ มัด เพราะไม่ได้อิงซาวนด์ดนตรีกรันจ์หนานัก ถึงจะยังใช้เสียงกีตาร์แตก ๆ แต่ตัวเพลงก็มีความเป็นพ็อปมากขึ้น โทนและบรรยากาศ ตลอดจนเรื่องราวผ่อนคลายกว่า ไม่ได้ก้าวร้าว เคียดขึ้ง หรือฟังอึกทึกเท่า

แต่ขณะที่เพื่อน ๆ ไม่น้อยหล่นหายไปตามการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยของดนตรี แม็ตช์บ็อกซ์ ทะเว็นตี ยังอยู่ เดินทางมาไกลกว่าอีกหลายวง ที่แม้จะมีซาวนด์ มีลายเซ็นชัดเจน มีเพลงฮิตเหมือน ๆ กัน ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะการแต่งเพลงของร็อบ โธมัส นักร้องนำ, มือกีตาร์ และมือคีย์บอร์ดส์ของวง ที่ฟังติดหู ทั้งท่วงทำนอง ทั้งฮุก มุมมอง เรื่องราวที่หยิบมาถ่ายทอด ก็น่าสนใจ บางครั้งก็กลายเป็นประเด็นพูดคุยกลางเมือง

เช่น “Push” หนึ่งในเพลงฮิตจากอัลบัมแรก ที่กลุ่มพลังหญิงมองว่าให้ร้ายสตรีเพศ เมื่อผู้ชายในเพลง ถูกคุกคามทางจิตใจและร่างกายจากหญิงสาวคนหนึ่ง ทั้งที่โธมัสนำเสนออีกมุมมองหนึ่งของความสัมพันธ์ ทั้งการตกหลุมรักและการเลิกรา โดยที่มาของผู้หญิงในเพลงก็คือ แฟนเก่าของเขาเอง หรือ “3AM” ที่โธมัสแต่งกับเพื่อน ๆ ก็เป็นเรื่องที่ได้แรงบันดาลใจจากการใช้ชีวิตอยู่กับแม่ที่ต้องต่อสู้กับโรคมะเร็ง

ซึ่งพอจะบอกได้ว่า เพลงของวงดนตรีวงนี้ยังมี ‘อะไร’ ที่สะกิดความรู้สึก หรือสะดุดต่อมความคิด นอกจากเป็นเพลงที่ ‘ทำงาน’

เสียงร้องของโธมัสเองก็มีเสน่ห์ จากเนื้อเสียงแบบศิลปินกลุ่มอเมริกันร็อค และทำได้ดีทั้งเพลงที่ต้องการความนุ่มนวล หรือความดุดัน การันตีด้วยการได้ร้องนำใน “Smooth” เพลงที่ทีแรกเขาแค่ร่วมแต่งเพื่อใช้ในอัลบัม Supernatural ของคาร์ลอส ซานตานา แต่พอได้ยินเสียงร้องไกด์ในเพลงนี้ของโธมัส คาร์ลอสถึงกับต้อง “เอาเสียงมาด้วย” และ “Smooth” ซิงเกิลแรกของ Supernatural ในปี 1999 ก็กลายเป็นเพลงฮิต ที่ไม่ใช่ฮิตธรรมดาแต่ว่าทั่วโลก โธมัสคว้ารางวัลแกรมมีถึง 3 ตัวจากเพลงนี้ และส่งให้ชื่อแม็ตช์บ็อกซ์ ทะเว็นตี ทั้งยังอยู่ในความสนใจ ทั้งเป็นที่รู้จักมากขึ้น

อัลบัมที่สอง Mad Season ทิ้งช่วงจากงานชุดแรกถึง 4 ปี โดยระหว่างนั้นวงยังอยู่ในความนิยม จนปล่อยซิงเกิลตีกินถึง 3 ปี งานชุดนี้ขึ้นอันดับ 3 ชาร์ตอัลบัม โดยมีเพลงฮิต อย่าง “Bent” ที่เป็นเพลงอันดับ 1 ในชาร์ต กับ “If You’re Gone” ที่หาก “Smooth” เป็นเพลงชาติตามผับ-คลับ-บาร์ในบ้านเรา เพลงนี้ก็คือเพลงสามัญประจำรายการวิทยุเพลงสากล เทียบกับงานชุดแรก เพลงของพวกเขาฟังต่าง ไอ้พ็อปยังพ็อปอยู่ แต่โทน-บรรยากาศ มันพ็อปหรือสะอาดกว่าเดิม แนวทางหลากหลายขึ้น เหมือนได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่แปลกไป รวมถึงเป็นงานเมนสตรีมกว่าที่เคย

More Than You Think You Are งานชุดที่ 3 ออกมาในปี 2002 แม็ตช์บ็อกซ์ ทะเว็นตีขยับตัวอีกครั้ง พวกเขามาเป็นร็อคเต็มตัว เพลงฟังกร้าน ๆ งานกีตาร์มีเสน่ห์เป็นพิเศษเมื่อเทียบกับงานก่อน ๆ เสียงของโธมัสเข้มขึ้น หลาย ๆ เพลงแสดงถึงความเก๋าในการทำงาน ที่ฟังดูเป็นรุ่นใหญ่ไปเลย เช่น “All I Need” หรือ “Hands Me Down” แม้เรื่องความสำเร็จจะทำได้ไม่ดีเท่าอัลบัม 2 ชุดก่อน หากก็ขึ้นถึงอันดับ 6 ในชาร์ตอัลบัม แล้วก็มีเพลงฮิต เช่น “Disease” ที่โธมัสแต่งกับมิค แจกเกอร์, “Unwell” และ “Bright Lights”

หลังออกอัลบัมชุดที่สาม มีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกในวง และคั่นด้วยการออกทัวร์โพรโมตอัลบัมรวมเพลง Exile on Mainstream ในปี 2007 ก่อนจะกลับมาออกอัลบัมชุดที่ 4 North ในปี 2012 ซึ่งในช่วงที่วงไร้อัลบัม ร็อบ โธมัสก็ปล่อยงานเดี่ยวให้ฟังถึง 2 ชุด

ดูเหมือนว่า แฟน ๆ รอคอยอยู่ North เปิดตัวด้วยอันดับ 1 ในชาร์ต และเป็นงานอันดับ 1 ชุดแรกของพวกเขาในสหรัฐอเมริกา ถึงจะทิ้งช่วงจากงานชุดก่อนหน้าเป็น 10 ปี แต่ North ก็สานต่อสิ่งที่เริ่มไว้จาก More Than You Think You Are ได้อย่างกลมกลืน จนพูดได้ว่า สถานภาพและที่ทางของแม็ตช์บ็อกซ์ ทะเว็นตี ชัดเจน มั่นคง และอยู่ตัว เพลง อย่าง “I Will” หรือ “English Town” ฟังสุขุม ลุ่มลึก “The Way” หรือ “Like Sugar” มีซาวนด์ดนตรีเข้าสมัย ส่วนซิงเกิลนำ “She’s So Mean” ที่เปิดมาด้วยเสียงกีตาร์เท่ ๆ ก็ฟังสนุกทั้งดนตรีที่ออกลูกกวน ๆ และเนื้อหาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ว่าด้วยการออกเดตกับสาวที่ไม่ใช่ จนตัวเองกลายเป็นตัวตลก

หลังจากนี้แม็ตช์บ็อกซ์ ทะเว็นตีมีกิจกรรมเป็นระยะ ๆ อย่าง ทัวร์กับวงที่แนวทางใกล้เคียงกัน ร่วมสมัยเดียวกัน อย่าง เคาน์ติง โครว์ หรือ เดอะ วอลล์ฟลาวเวอร์ส รวมถึง เดอะ จิน บลอสซอมส์

11 ปีหลัง North พวกเขาก็กลับมาด้วยงานชุดที่ 5 Where the Light Goes ซึ่งเป็นอัลบัมแรกของแม็ตช์บ็อกซ์ ทะเว็นตี ที่ไม่มีแม็ตต์ เซอร์เลติกเป็นโพรดิวเซอร์ โดยคนที่รับหน้าที่นี้ก็คือ สองสมาชิกวง ไคล์ คุกกับพอล ดอเซ็ตต์ และเกร็กก์ วัตเทนเบิร์ก ที่ร่วมโพรดิวซ์เพลงอันดับ 1 ของเทรน “Hey, Soul Sister” หนึ่งใน 57 เพลงที่ทำยอดขายระดับเพชร, ร่วมแต่ง-ร่วมโพรดิวซ์เพลงดังของดอก์หทรี “It’s Not Over” และโพรดิวซ์เพลงฮิตทั่วโลกของไฟว์ ฟอร์ ไฟติง “Superman (It’s Not Easy)”

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ส่งผลกับตัวเพลงของแม็ตช์บ็อกซ์ ทะเว็นตี ที่รู้สึกได้ชัดเจน เพราะตัวงานฟังสว่าง คลี่คลาย อยู่ในโทนที่เจิดจ้า สดใส มีความเป็นพ็อปทั้งในเรื่องของซาวนด์ดนตรี บรรยากาศ มากกว่าที่เคยเป็นมา ถ้าฟังแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก ก็อาจจะนึกถึงเพลงของศิลปินที่วัตเทนเบิร์กเคยร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น เทรน, ไฟว์ ฟอร์ ไฟติง หรือเดอะ เกรต บิก เวิร์ลด์ รวมถึงวง อย่าง วันรีพับลิก จนอาจนิยามง่าย ๆ ได้ว่าเป็นงานพ็อป-ร็อคสำหรับคอเพลงผู้ใหญ่

กับแฟน ๆ ที่ชอบซาวนด์ที่เคยได้ยินของวง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นเนื้อเป็นหนังมากกว่าการทำเพลงที่พ็อปกว่าเดิม เพิ่มเติมความเป็นเนสตรีมร็อคมากขึ้น รวมถึงหลากหลายมากกว่าที่เป็น ตอนวงเดินทางจากงานชุดแรก Yourself or Someone Like You มาสู่ Mad Season โดยฟังร่วมยุคทันสมัย ซาวนด์ดนตรีฟังกระฉับกระเฉง เนื้องานมีความสด รู้สึกถึงพลังใหม่ ๆ มีความเคลื่อนไหว ไม่ได้จมอยู่กับตัวตนเดิม ๆ กระทั่งเสียงของร็อบ โธมัสก็ต่างออกไปเช่นกัน

ที่นอกจากจะกลบภาพเดิม ๆ ของวง ที่ดูเป็นร็อครุ่นใหญ่ไปแล้วได้บ้าง ความโดดเด่นในการทำเพลงพ็อป เมโลดีติดหู ฮุกโดน ๆ ของพวกเขายังชัดเจนขึ้น ชนิดที่ถ้าแก๊งแม็ตช์บ็อกซ์ ทะเว็นตีรับงานแต่งเพลงอาชีพจริง ๆ จัง ๆ ก็อาจทำให้ไรอัน เท็ดเดอร์ เบอร์ต้น ๆ สำหรับการทำเพลงพ็อป-ร็อคยุคนี้ มีสะดุ้งสะเทือนอยู่เหมือนกัน

ถึงเพลงจะถูกปั้นให้ย่อยง่าย เข้าถึงง่าย เข้ายุคเข้าสมัย เนื้อหา-เรื่องราวว่ากันในด้านบวกเป็นหลัก แต่ความคมคายของมุมมอง การหยิบจับเรื่องราวมาเล่น ยังเข้มข้น มีทิศทาง แล้วก็โตตามวัย ทุกเพลงในงานชุดนี้จะว่าไปก็คือ การบอกเล่าประสบการณ์โดยคนที่ผ่านโลก เติบโตมามาก

เพลงที่เป็นชื่ออัลบัม โธมัสแนะนำให้รู้จักคนที่เป็น ‘แสงสว่าง’ ให้ชีวิต ซึ่งเจ้าตัวไม่รู้ถึงความสำคัญที่มีด้วยซ้ำ โดยไม่จำเป็นต้องหมายถึงคนรัก แต่เป็นใครก็ได้ที่ทำให้ชีวิตมีความหวัง

และแสงสว่าง ก็คือสิ่งที่สัมผัสได้จากหลาย ๆ เพลงในงานชุดนี้ ทั้งที่มาในรูปแบบของกำลังใจ เป็นทางออก เป็นคนที่อยู่ข้าง ๆ รวมถึงความเชื่อ และศรัทธา

ใน “No Other Love” ที่แต่งโดยพอล ดอเซ็ตต์กับดีนา คาร์เตอร์ เป็นเรื่องการจับมือกันเพื่อเอาชนะความสัมพันธ์ที่มีปัญหา เมื่อต่างไม่พร้อมมีความรักให้คนอื่นอีกแล้ว, “Selling Faith” อีกรูปแบบของการหาทางออก เมื่อใครคนหนึ่งยอมรับความผิดพลาดและแก้ไข แต่ถ้าพังทะลายลงไปแล้ว ในสายตาของคนที่ผ่านมาเยอะ ก็ถึงคราวที่ต้องยอมรับหรือหาใครสักคนที่ตกในสถานการณ์เดียวกันเพื่อทำความเข้าใจ เช่นใน “One Hit Love” และ “Warm Blood” ตามลำดับ

บางเพลง แสงสว่าง คือการให้ความเชื่อมั่นกับใครบางคน ที่ส่งต่อเป็นความเชื่อมั่นในตัวเองของคน ๆ นั้น ใน “Hang on Every Word”, บางครั้งก็เป็นความเชื่อในมิตรภาพ ที่อุปมาอุปมัยได้ว่าเป็นความศรัทธา ซึ่งจะอยู่กับเราไม่ว่าช่วงเวลาไหนของชีวิต เช่นที่ได้ยินจาก “Friends”

ที่พอเป็นเรื่องของการใช้ชีวิต ถ้อยคำที่ใช้และเรื่องราวก็ฟังดูอ่อนโยน เป็นคำเตือน คำแนะนำจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ที่ด้วยอายุอานามของวง ช่วยให้ฟังดูน่าเชื่อถือ เข้าปาก

ไม่ว่าจะเป็นการอย่าด่วนตัดสินใครแค่จากด้านที่มองเห็น เพราะคนเรามีหลายด้าน ใน “Don’t Get Me Wrong”, อย่ากลัวการออกไปรับรู้ชีวิตนอกหน้าต่าง กล้าที่จะออกไปใช้ชีวิตในโลกกว้าง ที่โธมัส, ดอเซ็ตต์ และวัตเทนเบิร์ก แท็คทีมกันใน “Wild Dogs (Running in a Slow Dream)”, ส่วน “Queen of New York City” ก็คือคำเตือนถึงเสน่ห์อันเย้ายวน น่าหลงใหลของเมืองใหญ่ (หรือ หญิงสาว) ที่แม้จะไม่เข้าใจหรือเข้าไม่ถึง ก็ทำให้เพริดไปกับมัน (หรือเธอ) ได้ง่าย ๆ

แต่ที่เป็นท็อปปิงของอัลบัม ก็คือ 2 เพลงนี้ ที่หลาย ๆ คนอาจได้เห็นภาพตัวเองจาก 2 ช่วงวัย “I Know Better” กับ “Rebels”

ในเพลงแรก คนวัยผ่านร้อนหนาวมานาน พยายามขวางหรือเตือนคนอีกรุ่น จากการทำผิดพลาดแบบเดียวกัน ส่วนเพลงหลังที่เป็นเรื่องก้าวพ้นวัย (Coming of Age) ก็คือการมองขบถในวันนี้ ด้วยสายตาคนที่เคยเป็นขบถมาก่อน ที่รู้แล้วว่าความคิดหรืออุดมการณ์ต่าง ๆ ผ่านมาแล้วก็เลยไปเมื่อเวลาเดินหน้า และไม่ได้ช่วยจัดการปัญหาในวันที่เติบใหญ่ แถมอาจทำให้เกิดปัญหาด้วยซ้ำไป

มาถึงตรงนี้ การเปลี่ยนแปลงในภาคดนตรีของแม็ตช์บ็อกซ์ ทะเว็นตี บางทีก็เป็นเรื่องดีกับสารที่พวกเขาสื่อ เพราะกับคนที่โตมาด้วยกัน เรื่องเล่านี้อาจเป็นแค่คำปรารภเบา ๆ แต่กับคนฟังในอีกรุ่น ก็อาจเป็นเรื่องเล่าที่ล้ำค่าโดยผู้มีประสบการณ์ ถ้าพวกเขาฟัง และคงจะดีกว่า เหมาะสมกว่า หากจะสื่อสารผ่านพาหนะที่คนรุ่นหลังเข้าถึงและคุ้นเคยดีอยู่

เพราะกับคนรุ่นนี้ คงต้องเป็นแสงไฟแอลอีดี ไม่ใช่หลอดไส้หัวโต ที่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำให้เห็นแจ้งสว่างจ้าได้อย่างที่ต้องการหรือเปล่า

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 34 ฉบับที่ 5 มิถุนายน 2566

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.