ClassicFEATURESMovie FeaturesONE SHOT

ย้อนอดีต 25 ปี A Few Good Men เบื้องหลังฉากระดับตำนานของแจ็ค นิโคลสัน

เรื่องการลงโทษของทหารรุ่นพี่ที่มีต่อทหารรุ่นน้อง ที่เรียกว่า ‘ซ่อม’ กลายเป็นประเด็นสำคัญบนโลกโซเชียลมีเดียในบ้านเราอยู่พักใหญ่ และทำให้มีการหยิบเอาหนังเรื่อง A Few Good Men ของร็อบ ไรเนอร์ ซึ่งมีประเด็นที่คล้ายคลึงกันในบางส่วนมาพูดถึง

 
และหากชมหนังผู้กำกับรายนี้มาอย่างต่อเนื่อง จะพบว่า หนังของร็อบ ไรเนอร์ มักจะมาพร้อมกับประโยคสั้นๆ แต่คมคาย และกลายเป็นที่จดจำได้เสมอๆ ตั้งแต่ “ปรับให้อยู่ที่เลข 11” จากหนัง This Is Spinal Tap มาจนถึง “ผมอยากสั่งไอ้ที่เธอกิน” จาก When Harry Met Sally แล้วหากให้ลองนึกถึงประโยคเด็ดๆ แบบนี้จากหนังของไรเนอร์มาสัก 5 ประโยค ประโยคหนึ่งที่ต้องขาดไม่ได้ก็คอ “นายรับความจริงไม่ได้หรอก” ที่เขียนโดย แอรอน เซอร์กิน และตัวละครของแจ็ค นิโคลสัน พูดเอาไว้ในหนังดรามาขึ้นโรงขึ้นศาลที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ A Few Good Men ที่เปิดตัวฉายในอเมริกาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 1992 หรือเมื่อ 25 ปีก่อน

ซึ่งอีธาน อัลเทอร์ จาก Yahoo! Movies ได้เอาเรื่องราวของการถ่ายทำฉากนี้มาเล่า ในวาระที่ A few Good Men และฉากที่กลายเป็นตำนานฉากนี้ อายุครบ 25 ปี

นิโคลสันที่รับบทเป็นนายทหารผู้ได้รับความเคารพนับถือ นาวาเอก นาธาน เจสซัป ใช้คำพูดนี้ตอบโต้ทนายราชนาวี เรือโทแดเนียล คาฟฟี (ทอม ครูซ) หลังจากทนายหนุ่มแสดงความอวดดีต่อเขาออกมา ระหว่างการพิจารณาคดีการเสียชีวิตอย่างลึกลับของทหารนาวิกโยธินรายหนึ่งขณะประจำการในฐานทัพ กับการเขียนบทในระดับเยี่ยมยอดราวกับไวน์ที่ถูกหมักบ่มมาอย่างดีในสไตล์ของเซอร์กิน ทำให้ฉากนี้กลายเป็นหนึ่งในฉากที่ทรงพลังและยืนยงคงกระพันมานานกว่ากึ่งศตวรรษเข้าไปแล้ว แถมยังถูกนำไปล้อเลียนอย่างเป็นล่ำเป็นสันในหลายๆ สื่อ สารพัดสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นในการ์ตูน The Simpsons รวมไปถึงถูกใช้ในวิดีโอฝึกสอนการขาย

แจ็ค นิโคลสัน กับทอม ครูซในกองถ่าย A Few Good Men

ถึงเราจะชื่นชมประโยคที่ว่า “นายรับความจริงไม่ได้หรอก” ซึ่งถูกนำไปอ้างอิงพาดพิงมากขึ้นเท่าไหร่ นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ความชื่นชมที่มีก็เทียบไม่ได้กับความสนุกสนานที่นิโคลสันรู้สึกขณะที่พูดประโยคสำคัญประโยคนี้ขึ้นมาในตอนถ่ายทำ กับการพูดคุยกับร็อบ ไรเนอร์ เมื่อไม่นานมานี้ ผู้กำกับยังจดจำได้ดีว่า นักแสดงที่เข้าชิงออสการ์หนที่ 10 จากทั้งหมด 12 ครั้ง ในหนังเรื่องนี้ สุขสันต์หรรษาขนาดไหนกับการได้เล่นฉากนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นการตัดสินใจแสดงออกมาของเจ้าตัวเองอีกต่างหาก

“ก่อนเราจะเริ่มถ่ายฉากนี้ ผมถามแจ็คว่า อยากให้ผมถ่ายจากมุมมองของเขาก่อน หรือจะถ่ายให้เห็นปฏิริยาโต้ตอบของครูซก่อน ซึ่งเขาจะต้องอยู่นอกกล้อง” ไรเนอร์เผย ก่อนจะเล่าต่อว่าความต้องการแรกๆ ของนิโคลสันก็คืออยู่นอกกล้อง เพื่อที่จะได้มีเวลาซ้อมการแสดงส่งของตัวเอง

แจ็ค นิโคลสัน กับร็อบ ไรเนอร์ ระหว่างการถ่ายทำ A Few Good Men ในปี 1992

แล้วพอถ่ายจริงๆ สิ่งที่ปรากฏก็คือ นิโคลสันเก็บการแสดงที่ควรจะใช้เมื่ออยู่หน้ากล้องของตัวเองเอาไว้ไม่ได้ ทั้งที่เป็นการแสดงนอกกล้อง “ทุกครั้งที่เราถ่าย แจ็คทำได้อย่างสมบูรณ์แบบทุกช็อต” ไรเนอร์เล่า พร้อมกับเสียงหัวเราะ

“หลังผ่านไปสัก 2-3 เทค ผมบอกว่า ‘แจ็ค บางทีคุณต้องเก็บๆ แรง เผื่อเวลาที่คุณอยู่หน้ากล้องบ้างนะ’ เขาตอบกลับมาว่า ‘ร็อบ คุณไม่เข้าใจ… ผมชอบเล่นฉากนี้’” ไรเนอร์บอกไปอย่างนั้นก็เพราะกังวลว่านิโคลสันจะเก็บการแสดงที่เจ๋งที่สุดไว้เมื่อถึงเวลาไม่ได้ แต่นักแสดงระดับเทพของวงการก็พิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องไปอยู่หน้ากล้องในตอนท้าย เขาก็มีทีเด็ดให้เสมอ “พอกล้องไปจับที่เขา เขาก็ให้การแสดงที่เป๊ะระดับเดียวกับที่ตอนที่อยู่นอกกล้อง ซึ่งมันเป็นการแสดงที่เจ๋งสุดๆ ในทุกครั้ง”

นอกจากนี้ไรเนอร์ยังได้เห็นด้านที่เป็นนักเขียนบท ที่เป็นอีกด้านหนึ่งของนิโคลสัน เมื่อทั้งคู่กลับมาร่วมงานกันอีกใน The Bucket List ตอนปี 2007 หรือหลังจาก A Few Good Men 15 ปี ซึ่งเป็นหนังเบาสมองของคนสูงวัยที่แสนนุ่มนวล ว่าด้วยชายชราสองคน (นิโคลสันกับมอร์แกน ฟรีแมน) จัดการทำทุกอย่างที่พวกเขาต้องการทำในชีวิตให้เข้าที่เข้าทางจนได้ในที่สุด ขณะที่กำลังเผชิญหน้ากับจุดจบของตัวเอง

ในช่วงก่อนจะกลายเป็นดาราดังในฮอลลีวูด นิโคลสัน ทำงานทั้งเป็นนักแสดงและเขียนบท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังเกรดบี ในยุค 60 อย่าง Flight to Fury และหนังคัลท์ คลาสสิคของวง the Monkees เรื่อง Head และเขาก็นำเอาประสบการณ์ในช่วงนั้นมาใช้ในกองถ่ายของไรเนอร์ “ทุกๆ เช้า ผมจะไปที่รถเทรลเลอร์ของแจ็ค เราจะทบทวนฉากที่เราจะถ่ายทำกันในวันนั้นซ้ำไปซ้ำมา เพื่อให้มันออกมาดีขึ้น การทำงานกับเขาเพื่อปรับแต่ละฉากในแต่ละวัน ถือเป็นการเริ่มต้นการทำงานที่ดีมากสำหรับผม เราไม่ได้ทำอะไรแบบนี้ด้วยกันบ่อยนักใน A Few Good Men เพราะแอรอน เซอร์กินเขียนบทที่มหัศจรรย์ให้เราแล้ว แต่แจ็คก็เป็นนักเขียนบทด้วย เขาเขียนบทหนังมาเยอะเหมือนกันนะ”

ในตอนนั้นไรเนอร์ไม่รู้เลยว่า บทใน The Bucket List จะเป็นบทนำบทสุดท้ายของนิโคลสัน อีกสามปีต่อมา ในปี 2010 เขาเล่นบทสมทบประกบกับรีส วิเธอร์สปูน, โอเวน วิลสัน และพอล รัดด์ ในหนังเรื่อง How Do You Know ของเจมส์ แอล บรูคส์ นั่นคือหนังใหญ่เรื่องสุดท้ายของนิโคลสัน เพราะหลังจากนี้เขาก็พักงานยาว

แต่วันหยุดของเขาก็อาจจะสิ้นสุดในไม่ช้าไม่นาน เมื่อนิโคลสันเข้าชื่อเป็นหนึ่งในนักแสดงนำของ หนังรีเมค Toni Erdmann ซึ่งต้นฉบับเป็นหนังเยอรมัน เข้าชิงออสการ์หนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ที่เป็นงานเบาสมองว่าด้วยความสัมพันธ์ของพ่อกับลูกสาว ที่เขียนบทโดยลีนา ดันแฮม และเจนนี คอนเนอร์ โดยมีคริสเตน วิกเป็นนักแสดงนำร่วม

และหนึ่งในคนที่รอคอยการกลับมาของนิโคลสันก็คือ ไรเนอร์ “ผมหวังว่าเขาจะกลับมา เขาเป็นหนึ่งในนักแสดงอเมริกันที่เยี่ยมยอดที่สุดตลอดกาล” ซึ่งแน่นอนว่า เราทุกคนรับความจริงนี้ได้หมด

จากเรื่อง ย้อนอดีต 25 ปี A Few Good Men ถึงฉากระดับตำนานของแจ็ค นิโคลสัน​ โดย ฉัตรเกล้า นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1246 ปักษ์หลังธันวาคม 2560

What is your reaction?

Excited
1
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Classic

Comments are closed.