ระยะเวลาบินจากสนามบิน ดอนเมือง, กรุงเทพฯ มาถึงสนามบินชางงี, ประเทศสิงคโปร์ อาจจะกินเวลาไม่นานนัก แต่ถ้ากรำศึกกับการงาน และมาไฟลท์ก่อนเที่ยงแบบนี้ ก็เผลอหลับลึกได้เหมือนกัน โดยเฉพาะหลังจากมีกระเพราไก่ร้อน ๆ มาเสิร์ฟ เข้าสูตรหนังท้องตึง หนังตาหย่อน จนกระทั่งกัปตันของสายการบินแอร์ เอเชียประกาศว่าอีกไม่กี่นาที การเดินทางไกล แต่กินเวลาแสนสั้นครั้งนี้จะจบสิ้นลง
แต่เอาเข้าจริงๆ การเดินทางของเราเพิ่งเริ่มต้น เปรียบง่าย ๆ ก็ราว ๆ เพิ่งแต่งตัวเสร็จ หยิบกระเป๋าเดินออกจากบ้าน โดยจุดหมายนั้น อยู่ที่คอนเสิร์ต ‘The 1989 World Tour’ ของสาวเก่งอีกคนของยุคนี้ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่ลงเวลาเอาไว้ในวันที่ 8 พฤศจิกายนหรือวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตรอบที่สองของเธอ ที่อินดอร์ สเตเดียม สิงคโปร์นี่แหละ อย่าไปคิดว่าเป็นที่หัวหมากเลยเชียว 😀
‘The 1989 World Tour’ เป็นทัวร์คอนเสิร์ตใหญ่ระดับเวิร์ลด์ ทัวร์หนที่สี่ ของสาวเบญจเพสรายนี้ และหากย้อนไปดูจำนวนอัลบัมที่เธอปล่อยออกมาตั้งแต่เข้าวงการ ซึ่งมีทั้งหมด 5 ชุด เห็นๆ กันเลยว่า นอกจากอัลบัมแรกเมื่อปี 2006 อัลบัมต่อจากนั้นตามด้วยทัวร์ทั่วโลกทุกครั้ง นั่นก็หมายความว่า เธอประสบความสำเร็จระดับโลกด้วยการออกอัลบัมแค่สองชุด ด้วยวัยเกิน 20 ปีมาไม่เท่าไหร่ โดยทัวร์ก่อนหน้านี้ของสวิฟต์ ก็คือ ‘Fearless Tour’ เมื่อปี 2009–10, ‘Speak Now World Tour’ ตอนปี 2011–12 และ ‘The Red Tour’ ในปี 2013–14 ที่บ้านเราเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ก่อนจะถูกยกเลิกไป และก็มาถึงคราวนี้
สิงคโปร์เป็นหนึ่งในสามประเทศของเอเชียที่ทัวร์ของสวิฟต์มาลง ที่แรกก็คือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นทัวร์หนนี้อีกด้วย หนูเทย์เล่นที่โตเกียว โดมไปสองรอบเมื่อเดือนพฤษภาคม จากนั้นก็ไปทัวร์อเมริกา, ยุโรป, อเมริกาเหนือ แล้วก็มาที่นี่ ซึ่งบัตรสองรอบรวมหมื่นแปดพันใบขายหมดเกลี้ยง เช่นเดียวกับทุกโชว์ก่อนหน้านี้ จบจากสิงคโปร์สวิฟต์จะไปเล่นที่จีน ประเทศที่ไม่ต้อนรับ Bon Jovi ถึงสามรอบ ก่อนจะปิดทัวร์ที่ออสเตรเลีย และนิว ซีแลนด์
ด้วยความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ ‘Fearless’ รวมไปถึงการทำงานเพลงที่เปลี่ยนทิศทางไปจากเดิม จากสาวคันทรี มาเป็นสาวป็อป จากน้องนาบ้านนามาเป็นสาวเมืองกรุง สวิฟต์ดูหมายหมั้นปั้นมือกับทัวร์หนนี้เป็นพิเศษ โดยใช้เวลาเตรียมการถึง 7 เดือนก่อนจะหมดเวลาไปกับการซ้อมดนตรีอีก 3 เดือน, 4 สัปดาห์คือเวลาของการซ้อมการทำงานในเรื่องเวที ซึ่งใช้เวลาสร้างราว ๆ 6-8 ชั่วโมง สำหรับการแสดงในอารีนา แต่ถ้าเป็นสเตเดียม เวลาก็ต้องมากขึ้นไปอีก แถมด้วยการซ้อมเรื่องเสื้อผ้าอีก 10 วัน
ขณะที่ทีมงานซึ่งต้องอยู่กับทัวร์ ก็มากถึง 146 คน แต่ส่วนใหญ่ก็ทำงานกับเธอมาตั้งแต่สมัยทัวร์ Fearless โน่น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะพอ เพราะยังต้องจ้างทีมท้องถิ่นอีกราว ๆ 125-150 คน เข้ามาเสริม
ถือว่าเป็นทีมทัวร์ที่ใหญ่ใช้ได้ แต่ผลตอบแทนที่ออกมาก็ถือว่าคุ้ม เพราะนับถึงแค่โชว์ก่อนหน้าจะมาเล่นที่สิงคโปร์ หักการแสดงที่อังกฤษ และลาส เวกัส ที่ไม่มีตัวเลขแจ้ง ‘The 1989 World Tour’ มีผู้ชม ถึง 1,982,076 คน ทำเงินถึง 217,437,974 เหรียญ โดยที่ไม่ต้องรอจบทัวร์ งานนี้ก็ทุบสถิติทัวร์ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ที่ทำเงินมากที่สุด แซงหน้า ‘The Red Tour’ ไปแล้วเรียบร้อย
จากสนามบินชางงี เข้าเมืองสิงคโปร์ การเดินทางโดยรถไฟฟ้าคือตัวเลือกที่ดีที่สุด ด้วยสนนราคาราวๆ 2.30 เหรียญสิงคโปร์ ขณะที่หากเป็นรถแท็กซี่ ก็น่าจะตกอยู่ที่ประมาณ 15 เหรียญโดยที่ยังไม่บวกค่าบริการต่าง ๆ เพราะแท็กซี่ที่นี่ จะมีชาร์จเพิ่มสำหรับการให้บริการช่วงเวลาเร่งด่วน หรือในกรณีอื่น ๆ
สำหรับคนที่เบี้ยน้อย หอยน้อย ค่าโรงแรมแพง ๆ อาจจะรับไม่ไหว โฮสเทลน่าจะเป็นคำตอบที่ใช่ ซึ่งที่พักในคราวนี้ เป็นไฟว์ สโตนส์ โฮสเทล แถวบูกิส พูดให้เฉพาะเจาะจงลงไปก็คือ ถนนบีช โรด ซึ่งเข้าท่าเข้าทางดี สะอาด ถึงในห้องรวม 10 คน จะแออัดไปสักหน่อยก็ตาม แต่ก็อย่างว่า กับการนอนไม่กี่คืน ก็ไม่ต้องไปคิดอะไรมากกว่า ที่นอนสบาย ๆ, ห้องน้ำ (รวม) สะอาด, มีวายฟายฟรี, อยู่ในย่านไปมาสะดวก และราคารับได้ ประมาณ 28 เหรียญสิงคโปร์ต่อคืน แถมมีห้องครัว ห้องอาหาร ครบ นอกจากนี้พนักงานก็ดูจะเต็มใจให้บริการกันดี (และ น่ารักด้วย)
ย่านบูกิสวันนี้ ดูไม่ต่างไปจากเดิมนักหากมองผ่าน ๆ แต่ถ้าลองเดินเข้าไปในตรอกซอกซอย ซึ่งปกติจะมีร้านอาหารจีนเรียงรายกันไป จะพบว่าบรรดาร้านปิ้งย่าง ต้มซุป เกาหลีเข้ามายึดครองเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็มีร้านไอศกรีมหิมะ อะไรประมาณนั้นแทรกเป็นระยะ ๆ ส่วนที่ห้างบูกิส จังชันก็ดูทันสมัยขึ้น แล้วกับยุคออนไลน์แบบนี้ มาถึงนี่แล้วก็คงต้องซื้อซิมของผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่นี่ใช้ โดยที่เหมาะสุด ๆ สำหรับคนอยู่สั้น ๆ ก็คือ 5 วัน 15 เหรียญสิงคโปร์ โทรได้ราว ๆ 500 นาที และส่งข้อมูลได้ประมาณ 500 เมกกะไบท์ ที่นิยมกันก็ยังคงเป็นซิงเทล ที่มีร้านให้บริการตั้งแต่ที่สนามบินชางงี
ทีมผู้ชมจากเมืองไทยที่จะได้ดูน้องเทย์แบบตัวเป็น ๆ จริง ๆ แล้วมีสองทีม ทีมหนึ่งก็คือทีมที่จะได้ดูในวันที่ 8 ส่วนอีกทีมก็ดูกันในวันนี้ โดยเป็นทีมใหญ่ของยูนิเวอร์แซล มิวสิค ซึ่งจัดการเรื่องบัตรคอนเสิร์ตครั้งนี้ให้เราด้วยนั่นแหละ (ขอขอบคุณมา ณ ที่นี่ไปด้วยเลย) ที่นอกจากจะได้ชมโชว์แล้ว ก็ยังได้เจอกับน้องเทย์ตัวเป็น ๆ เพื่อมอบรางวัลแผ่นเสียงทองคำ โดยผู้บริหารของค่ายในบ้านเราและน้อง วี – ไวโอเล็ต วอเทียร์ หรือเจ๋ จาก ‘ฟรีแลนซ์.. ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ’ ที่ใครๆ รู้จักดี แล้วก็มีผู้โชคดีอีกหนึ่งท่าน เข้าไป Meet & Greet กับเจ้าของคอนเสิร์ต ก่อนที่การแสดงจะเริ่มต้น
เพราะแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สวิฟท์มาเล่นที่นี่ที่เดียว ตัวแทนของยูนิเวอร์แซลแถวนี้เลยบินมามอบรางวัลแผ่นเสียงทองคำ, แผ่นเสียงทองคำขาว ให้กันครบ ด้วยความที่น้องขายดีแบบทั่วถึง กิจกรรมของน้องวันนี้ไม่ใช่แค่นี้ เพราะยังมี Meet & Greet กับผู้โชคดีจากเจ้าของประเทศตบท้าย
แม้ธุรกิจคอนเสิร์ตจะบูม ศิลปินระดับท็อป ๆ มาเล่นอย่างต่อเนื่อง แต่กับคอเพลงแบบโอลด์-สคูล ที่มีอารมณ์หื่นยามเสพเสียงดนตรี เพราะต้องสัมผัสลูบคลำอ่านปกซีดีไปมาพร้อมๆ กับการฟังเพลง สิงคโปร์อาจไม่ใช่สวรรค์เหมือนเคย ร้าน HMV ที่เคยเป็นตึก แล้วเหลือแค่บางส่วนเมื่อหลายปีก่อน สูญพันธุ์แล้วเรียบร้อย ขณะที่ร้านซึ่งใช้พนักงานสาว ๆ และสวยมากอย่าง All That CD Shop ที่เคยมีร้านแถว ๆ ถนนออร์ชาร์ดอยู่ร้านหนึ่ง (หากจำไม่ผิด) ก็ไม่มีให้เห็น แต่ลองเช็คจากกูเกิล ก็เจอว่ามีอยู่ที่มารินาเบย์ กับในห้างเกรท เวิร์ลด์ แถว ๆ ออร์ชาร์ดนั่นแหละแทน เอาไว้มีโอกาส จะแวะไปเยี่ยมเยียนดูก็แล้วกัน แต่จากที่เห็นในเว็บไซต์ ร้านพยายามปรับภาพลักษณ์ตัวเองไปอีกระดับ โดยวางตัวเป็นร้านแบบไฮ-เอนด์ และไฮโซ ซึ่งเป็นการยกระดับคนที่ฟังและซื้อซีดีให้เป็นคนฟังเพลงในอีกระดับไปด้วย ก็ไม่รู้ว่าประสบความสำเร็จขนาดไหน แต่จากสภาพตลาดซีดีในสิงคโปร์ที่ถือว่าจบไปแล้วก็ยังได้ ร้านก็ถือว่ายังยืนหยัดอยู่ได้ด้วยวิธีการทำการตลาดแบบนี้
นอกจากพนักงานขายจะสวยระดับพรีตตีบ้านเราอาย ความรู้เรื่องเพลงก็ไม่ขี้ไก่ ออล แธ็ท ซีดี ช็อป ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ
ค่อนข้างเซอร์ไพรส์เหมือนกัน กับผู้ชมของเทย์เลอร์ สวิฟต์ เพราะที่วาดภาพเอาไว้น่าจะเป็นอายุราว ๆ 20อัป เป็นกลุ่มเพิ่งจบมหาวิทยาลัย ไปจนถึงคนทำงานยุคต้น ๆ เมื่อดูจากความสำเร็จของเธอที่เริ่มตั้งแต่เป็นสาวคันทรี ไล่มาจนถึง ‘Red’ แต่กลายเป็นว่า เธอมีแฟนเพลงเป็นวัยละอ่อน ที่ดูหน้าตาแล้วน่าจะราว ๆ ม. ต้น, ม. ปลาย ของบ้านเราหนาตาเหลือเกิน ซึ่งก็ทำเอาพื้นที่ด้านหน้าอินดอร์ สเตเดียมวันนี้เต็มไปด้วยเสียงเจี้ยวจ้าว ส่วนการเดินทางมาที่นี่ในวันนี้ สะดวกสบายกว่าตอนมาดู ดัฟฟี เมื่อหลายปีก่อนเยอะ เพราะไม่ต้องลงสถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดแล้วเดินยาวมาอีกแล้ว เพราะมีสถานีรถไฟฟ้าถึงในสปอร์ตฮับ เดินต่ออีกไม่กี่ร้อยเมตรก็ถึงอินดอร์สเตเดียม สบายกว่าเดิม ดูแล้วบ้านเราน่าจะเอาเยี่ยงอย่างบ้าง เพราะสถานที่จัดงานใหญ่ ๆ โต ๆ ทั้งหลาย ดูเหมือนไม่ใส่ใจเรื่องการเดินทาง การขนคนกันเลย ทำให้เวลาจะไปงานกันแต่ละทีต้องเสียเวลากันครึ่งค่อนวัน
พื้นที่ในฮอลล์ อาจจะมีว่างอยู่บ้าง แต่ก็เรียกได้ว่าเต็มทุกที่นั่งเพราะแหว่ง ๆ ไม่กี่ที และบัตรก็ประกาศไปแล้วว่า โซลด์เอาท์ ที่ว่าง ๆ ก็คงไม่พ้นเจ้าตัวอาจยังไม่เข้ามาหรือไม่มาเลย ซึ่งก็มีเพียงน้อยนิด แล้วทุกที่นั่งจะมีกำไลข้อมือซิลิโคน ที่ส่งแสงออกมาได้ติดไว้ที่พนัก เข้าใจว่าน่าจะให้คนดูใส่ เพื่อร่วมกับกิจกรรมบางอย่างบนเวที
ผ่านเวลาแสดงตามที่ลงไว้ในบัตรสักราว ๆ 5-10 นาที แอนเดรีย การ์ดเนอร์ สวิฟต์ คุณแม่ของน้องเทย์ ก็เดินมาทักทายผู้ชมตามตรงที่นั่งด้านซ้ายของเวที ซึ่งก็ละแวกเดียวกับที่เรานั่งนี่ละ และได้เสียงกรี๊ดดังสนั่น ที่หากย้อนไปดูประวัติของเธอ บางทีคุณแม่ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอมาเล่นคอนเสิร์ตที่นี่เป็นประจำ เมื่อเคยใช้ชีวิตที่นี่ถึง 10 ปี และพ่อหรือคุณตาของสวิฟท์ก็ทำงานปรุไปหมดในแถบอาเซียนของเรา
คุณแม่เดินทำหน้าที่พบปะประชาชนแทนลูกสาว ได้ระยะทางจากหน้าเวทีฝั่งซ้ายมาถึงแถวกลางๆ ของผู้ชมได้ไม่เท่าไหร่ ‘The 1989 World Tour’ ก็ได้ฤกษ์สตาร์ท เมื่อสวิฟต์ขึ้นเวที เริ่มต้นความบันเทิงด้วย “Welcome to New York” ปรากฏตัวในชุดฟรุ้งฟริ้ง ๆ ดูน่ารักสวมแว่นกรอบขาว พร้อมแดนเซอร์ชุดใหญ่ แล้วกับไฟในสเตเดียมที่ดับมืด มีเพียงแสงสว่างจากบนเวที กำไลข้อมือซิลิโคนที่ข้อมือของผู้ชมก็เปล่งแสงระยิบระยับเหมือนหมู่ดาวที่หนาแน่นบนท้องฟ้าสีดำสนิทยังไงยังงั้น
หลังต้อนรับคนดูเข้าสู่นิว ยอร์ก สวิฟท์ก็ต่อด้วยความสนุกจาก “New Romantics” แล้วก็ตามด้วยเพลงฮิตจาก ‘1989’ – “Blank Space” โดยเพลงในการแสดงวันนี้ ว่ากันยาวเหยียดทั้งหมด 16 เพลง หากก็น้อยกว่าเมื่อวานเพลงหนึ่ง และน้อยกว่ามาตรฐานไป 2 เพลง แน่นอนว่าเพลงจาก ‘1989’ มีมากที่สุดถึง 13 เพลง, ‘Red’ มีสองเพลงคือ “I Knew You Were Trouble” และ “We Are Never Ever Getting Back Together” ซึ่งต่างถูกจับมาแต่งตัวใหม่ ให้เข้ากับโชว์และเพลงจาก ‘1989’ ที่มีความเป็นป็อป เน้นดนตรีสังเคราะห์ชัดเจน เพลงแรกกลายเป็นเพลงอิเล็กทรอนิกส์บีตหนัก ๆ ขณะที่เพลงหลังก็กลายเป็นเพลงร็อคเต็มตัว อีกเพลงที่เหลือก็คือ “Love Story” จาก ‘Fearless’ ที่ก็เรียบเรียงใหม่เช่นกัน
จากชื่อโชว์บอกได้ชัดเจนอยู่ว่า งานนี้เพลงจาก ‘1989’ คือแกนหลัก และถ้ายังไม่พอ ก่อนหน้าทัวร์จะเริ่มต้น สวิฟต์เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทม์เอาไว้ “เพลงที่เล่น หลัก ๆ มาจากอัลบัม ‘1989’ ฉันฝันถึงทัวร์นี้เอาไว้หลายสิ่ง คุณลองนึกถึงรูปร่างหน้าตาเพลงของฉันก่อน ๆ นี้ รวมไปถึงองค์ประกอบในการทำงาน มันจะมีกลองสด, อะคูสติคกีตาร์, กีตาร์ไฟฟ้า แล้วก็เบสสด ๆ แล้วพอมาเป็น ‘1989’ ส่วนใหญ่จะเป็นซินธ์, กลองโปรแกรม แล้วมีเสียงซินธ์ออกมาเป็นแผง ใช้เบสคีย์บอร์ด อัดทับเสียงร้องหลาย ๆ ชั้น ฉันมีวงดนตรีที่ใหญ่มาก เรามีราว ๆ สัก 14 คน เพื่อที่คนดูจะได้สัมผัสกับอารมณ์แบบเล่นสดมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเติมเข้ามาในเพลง แล้วก็มีเรื่องราวมากกว่าเดิม รวมไปถึงมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ถึงกับฟังหนวกหู หรือแน่นเกินไปหรอกนะ”
มองจากรายชื่อเพลงที่นำมาเล่น รวมถึงการไล่เรียงเพลง ‘The 1989 World Tour’ แข็งแรงใช้ได้ โดยเฉพาะเมื่อได้สัมผัสสด ๆ เริ่มด้วยเพลงแรกที่เส้นกราฟอารมณ์อยู่ในระดับเกือบจะสูงสุด แล้วก็พาอารมณ์คนดูไปถึงจุดพีค ก่อนจะไล่ลงมาถึงจุดที่เป็นการผ่อนคลาย กับ “You Are in Love” ที่มีแค่สวิฟต์กับอะคูสติคกีตาร์ และจากตรงนั้น เธอก็แช่อารมณ์คนดูอยู่พักใหญ่ก่อนที่จะปรับไล่ขึ้นมาอีกครั้ง จนไปถึงพีคสุดท้ายด้วยเพลงสั่งลา “Shake It Off”
กับการแสดงสดเมื่อเซ็ทเพลงแข็งแรง ก็ถือว่ามีกำไรแล้วตั้งแต่เริ่มต้น…
และก็เช่นเดียวกับตัวอัลบัม ที่เนื้องานตั้งใจเป็นป็อป อารมณ์เรโทรนิด ๆ ตัวเจ้าของงานก็พยายามพรีเซนต์ตัวเองให้เป็นป็อปสตาร์เต็มที่ โดยเฉพาะการเต้นร้อง-เต้นรำ ลีลาท่าทางให้ออกมาดูเซ็กซีอยู่บ้าง แต่เอาเข้าจริง ก็ขัด ๆ เขิน ๆ มากกว่า โดยเฉพาะรูปร่างของเธอที่สูงโปร่ง ไม่ได้มีทรวดทรงอกเอวเว้าโค้งลึกสูงให้ได้เห็นมากมายนัก กับบางคนอาจจะดูน่ารำคาญ แต่หลาย ๆ ครั้งก็เหมือนดูเด็กสาวที่พยายามโตเกินวัย หากไม่ได้มีอคติ หรือคิดอะไรมาก ก็ดูน่ารัก โก๊ะกังดี เป็นสาวเปิ่น ๆ ที่ดูไปยิ้มไปกับเธอได้
จะว่าไปแล้วมาดสาวร็อคแบบที่เธอแสดงให้เห็นใน “We Are Never Ever Getting Back Together” ดูจะเข้าทีมากกว่า แล้วหากสังเกต สวิฟต์มักจะดูดีเสมอยามที่เธอมากับเครื่องดนตรี อย่างในเพลงที่ว่า ซึ่งเธอสะพายกีตาร์ ใส่ชุดหนัง โชว์ลีลาแบบร็อคเกอร์ หรือจะเป็นกีตาร์ อะคูสติคแบบ “You Are In Love” ขณะที่สวิฟต์กับเปียโนใน “Wildest Dreams” ก็ถือว่าเยี่ยม มาถึงตอนนี้ก็เลยทำให้อยากดูโชว์ในยุคที่เธอยังสะพายกีตาร์ขึ้นมาครามครัน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ดูกันอีกไหม
เรื่องโปรดัคชัน ไม่ต้องห่วง เพราะนี่คือโชว์ระดับเวิร์ลด์ ทัวร์ ของต้องมาเต็ม คิวการแสดงเป๊ะ โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่เปลี่ยนแทบทุกเพลง จะปล่อยให้เกิดเดด แอร์ยาว ๆ บนเวทีทุกครั้งที่เปลี่ยนชุดก็คงไม่ได้ ถึงเลี่ยงไม่พ้นทุกครั้ง แต่ก็เกิดกันแค่ชั่วเวลาเพียงนิดเดียว และแทบไม่เสียจังหวะอะไร ส่วนช่วงเปลี่ยนยาว ๆ ก็มีการคลิปเพื่อน ๆ เจ้าของงาน อย่างวง Heim, เซเลนา โกเมซ, คารา เดลาวีญจน์ มาเมาต์ถึงเธอให้ฟัง ซึ่งก็มีแค่สองช่วง โดยอีกช่วงเป็นคลิปของสวิฟต์ทักทายแฟน ๆ พร้อมแมวตัวโปรด ที่เล่นมุกปิดท้ายด้วยการคำประกาศทำนองว่า “ไม่มีแมวตัวไหนถูกทำร้าย หรือได้รับบาดเจ็บจากการถ่ายทำ”
ที่น่าสนใจก็คือโชว์นี้ เป็นโชว์ที่ใช้จอด้านหลังเวทีแบบปูเต็ม ทำให้บรรยากาศบนเวทีดูแน่น ไม่ดู “ราคาถูก” แบบหลาย ๆ โชว์ ที่ให้ความรู้สึกเว้า ๆ แหว่ง ๆ ที่ด้านข้าง แสง สี อาจจะธรรมดาหากก็เยี่ยมในระดับมาตรฐาน โดยไฮไลท์สำคัญคือ แคตวอล์ค หรือรันเวย์ ตามแต่จะเรียกกัน ที่ทอดยาวเข้าไปในกลุ่มคนดู ยกขึ้นได้สูงระดับตึก 2 ชั้น เท่านั้นยังไม่พอ ยังหมุนซ้าย-ขวา หน้า-หลัง ไปได้ 360 องศาอีกต่างหาก ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสก็สวิฟต์อย่างใกล้ชิดทุกฝั่ง และการใช้งานก็หยิบมาได้จังหวะ เพราะเป็นช่วงผ่อนหนัก ๆ ของโชว์ ซึ่งทำให้คนดูไม่เนือยไปตามดีกรีอารมณ์ที่ลดลง
การใช้งานในเพลงสุดท้าย “Shake It Off” ที่สวิฟต์กับแดนเซอร์เต้นกันสะบัด ขณะที่ทางเดินที่ว่า ยกขึ้นหมุนไปมา ก็ทำให้ผู้ชม ‘ฟิน’ กันได้เต็มที่
มาถึงตรงนี้อย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับ ก็คือ ‘รัศมี’ ของสวิฟต์ ที่จับและโดดเด่นจริง ๆ การดีไซน์โชว์ที่ให้เธอต้องเปลี่ยนรูปลักษณ์แทบทุกเพลง แสงสีที่ใช้ซึ่งเปลี่ยนไปในแต่ละเพลงก็ขับเน้นความเป็น ‘สตาร์’ ของเธอเต็มที่ เมื่อคนดูต้องจับตาอยู่ที่เธอ รอดู และสนุกกับการได้ลุ้นว่าเมื่อไฟบนเวทีดับ แล้วสว่างอีกครั้งจะได้พบกับสวิฟต์ในรูปลักษณ์แบบไหน แม้เรื่องความเซ็กซีที่เธออยากเป็นอาจจะไม่ได้ แต่ในเรื่องการปลุกเร้าคนดู การร้องเพลง และการเป็นนักดนตรีของเธอ เทย์เลอร์ สวิฟต์ไม่มีตกหล่น
คงไม่ผิดถ้าจะบอกว่า ความสำเร็จของ ‘The 1989 World Tour’ เกิดขึ้นจาก ตัวเพลงของเธอ, การวางเพลงในโชว์ และที่สำคัญ การแสดงของเธอที่สามารถเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างได้สำเร็จ
และทำให้เธอเอาชนะความท้าทายกับการเดินสายทั่วโลกหนนี้ ที่เน้นการแสดงในอารีน่าและสเตเดียมเป็นหลัก ได้อย่างราบคาบ “ความท้าทายสำหรับการแสดงในสนามกีฬาก็คือ ทำให้คนดูในแถวบนสุด รู้สึกว่าพวกได้ใกล้ชิด ได้มีประสบการณ์ส่วนตัว” สวิฟท์พูดเอาไว้
แม้จะไม่ได้นั่งในจุดนั้น แต่เชื่อว่า เธอทำสำเร็จแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็คืนนี้ ที่อินดอร์ สเตเดียม, สิงคโปร์
(ขอบคุณการเดินทางจาก แอร์ เอเชีย, ความบันเทิงในการชมคอนเสิร์ตโดย ยูนิเวอร์แซล มิวสิค)
THE 1989 World TOUR (8th NOVEMBER 2015) Indoor Stadium, Singapore SETLIST: 1. “Welcome to New York” 2. “New Romantics” 3. “Blank Space” 4. “I Knew You Were Trouble (Remix)” 5. “I Wish You Would” 6. “How You Get the Girl” 7. “I Know Places” 8. “You Are in Love (Acoustic)” 9. “Clean” 10. “Love Story (1989 Remix)” 11. “Style” 12. “Bad Blood” 13. “We Are Never Ever Getting Back Together (Rock Remix)” 14. “Wildest Dreams (Contains an element of “Enchanted”)” 15. “Out of the Woods” 16. “Shake It Off”
โดย นพปฎล พลศิลป์ นิตยสารสีสัน ธันวาคม 2558
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์หรือกดติดตามเพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่