ความโดดเด่นของชุด Mission: Impossible ก็คือการทำงานที่ทุ่มเทสุด ฉากแอ็คชันที่ระห่ำสุดๆ และกับหนังเรื่องที่หก Mission: Impossible – Fallout หนังจะทำทุกอย่างยกเว้นผ่อนคันเร่ง กับปฏิบัติการของอีธาน ฮันท์ที่ยากกว่าเดิม การถ่ายทำที่สาหัสกว่าที่เคย ที่มีทั้งฉากแอ็คชันบนเฮลิคอปเตอร์ที่ไม่เคยได้เห็นกันมาก่อน, การดิ่งพสุธาในระดับความสูงลิบลิ่ว ที่ต้องฝึกโดดกว่าร้อยครั้ง และฉากไล่ล่าบนหลังรถมอเตอร์ไซค์ ในสถานที่สำคัญๆ ของมหานครใหญ่ และฉากที่ทำให้ครูซต้องกระดูกข้อเท้าแตกจนการทำงานต้องหยุดชะงัก
ดิ่งพสุธาแบบ Halo Jump
ฉากแรกที่เรียกร้องการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ จากทีมงานของ Mission: Impossible – Fallout ก็คือ ฉากที่อีธาน ฮันท์ (ทอม ครูซ) ต้องกระโดดร่มแบบฮาโล (Halo Jump – ซึ่งผู้โดดต้องกระโดดลงมาให้ใกล้พื้นที่สุด ก่อนจะกระตุกร่ม) “สหรัฐอาหรับเอมิเรสท์ ให้เราถ่ายฉากนี้ (ที่ในเรื่องเป็นการโดดเหนือฟ้าปารีส ลงมาที่แกรนด์ พาเลส์) ที่ผมต้องโดดออกมาจากเครื่องซี-17 ได้” ครูซพูดพร้อมกับหัวเราะ “มันเลยมีอะไรอะไรบางอย่างบ้าบอคอแตกนิดหน่อย” การถ่ายทำฉากนี้ ทำให้เขาต้องกระโดดร่มถึง 150 ครั้ง ซึ่งรวมไปถึงในการฝึก เพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุดรวม 3 ช็อตไปใช้ในหนัง
“มันโหดแล้วก็ต้องใช้เทคนิคไม่น้อยเลย” เขานึกถึงการถ่ายทำฉากนี้ ที่เหมือนๆ ฉากไล่ล่าด้วยเฮลิคอปเตอร์ เมื่อความท้าทายอยู่ที่ต้องแสดงให้เห็นว่าเขาเล่นเต็มๆ ทั้งฉาก ผู้กำกับ สตีเฟน แม็คควอร์รีต้องลดการทำงานลงมาเหลือแค่สามช็อตแล้วตัดรวมกัน นั่นหมายความว่า “ทอมต้องแสดงอะไรออกมามากขึ้นในอากาศสำหรับการโดดหนึ่งครั้ง ซึ่งทำให้เขาต้องอยู่ใกล้พื้นมากๆ กว่าจะกระตุกร่มได้ เพราะฉะนั้นต้องมีการคำนวณความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นกับเขาให้น้อยที่สุด แต่เพราะไม่เคยดิ่งพสุธาในแบบที่ต้องมีการแสดงปฏิกริยาโต้ตอบกับคนอื่นๆ ในอากาศมาก่อน เขาต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด และเราก็ต้องมานั่งคิดวิธีถ่ายทำมันให้ได้ไปพร้อมๆ กัน”
สำหรับฉากดิ่งพสุธาในหนังเรื่องอื่นๆ มักเป็นการติดกล้องโกโปรเข้ากับหมวกของนักแสดงหรือตากล้อง แต่กับเรื่องนี้ต้องการอะไรที่มากกว่านั้น “คุณคงไม่เคยเห็นคนกระโดดออกมาจากเครื่องบินพร้อมกับกล้องถ่ายภาพยนตร์แบบฟูลล์อ็อปชันมาก่อนซินะ” แม็คควอร์รี เล่า “งานนี้ตากล้องของเราถึงกับบอกว่า มันเหมือนกับ ‘การโดดจากเครื่องบินโดยมีทั่งผูกคอ’ ทำให้คอเขาเคล็ดไปพักใหญ่เลย”
ฉากไล่ล่าบนท้องถนนของปารีส
บางคนอาจคิดว่า เมื่อถ่ายยากๆ อย่าง ฉากเฮลิคอปเตอร์, ฉากกระโดดแบบฮาโลได้ ฉากขับรถมอเตอร์ไซค์ไล่กันในกรุงปารีส ก็น่าจะเป็นฉากขนมๆ แต่แม็คควอร์รีไม่คิดแบบนั้น มันเป็น “ฉากที่ยากโคตรๆ สำหรับการทำงานทุกรูปแบบ” ก่อนการถ่ายทำจะต้องออกแบบแขนจับกล้องที่สามารถจับภาพครูซให้ได้อย่างต้องการ แต่แค่ถ่ายทำวันแรกก็เหลว “ผมหันไปมองครูซ แล้วพูดว่า ‘เฮ้… เราจะทำยังไงกันดี?’” แม็คควอร์รีเล่า “เขามองไปที่นาฬิกาข้อมือ หันมาบอกผมประมาณว่า ‘เราก็ถ่ายใหม่ซิเพื่อน’ จากนั้นก็โดดขึ้นมอเตอร์ไซค์ขับออกไป” ฉากนี้ต้องออกแบบกันใหม่ในวันนั้น การทำงานที่ไม่เอาไหนของแขนจับ ทำให้พวกเขากลับไปใช้วิธีโบราณๆ “เราจบลงด้วยการทำงานที่เป็นมนุษย์มากขึ้น” แม็คควอร์รีบอก “มันไปได้ด้วยดีจนน่าประหลาดใจสุดๆ ตอนที่ถ่ายทำผมมองไปว่า.. ‘มันก็แค่ผู้ชายคนหนึ่งบนเบาะมอเตอร์ไซค์’ แต่พอมาดูตอนตัดต่อเข้าด้วยกัน คุณจะรู้สึกเลยว่า ‘พระเจ้า เขาถึงตายได้เลยนะนั่น และนี่เป็นคำแนะนำที่เกิดขึ้น เราไม่ควรถ่ายทำอะไรแบบนี้อีกแล้ว!’”
ฉากไล่ล่าด้วยเฮลิคอปเตอร์
การเกาะติดตัวละครวอลเกอร์ของคาวิลล์ โดยอีธาน ฮันท์ของครูซแบบหายใจรดต้นคอ ทำให้ผู้ชมได้การไล่ล่าด้วยเฮลิคอปเตอร์ ที่บินอยู่เหนือแนวเขาในนิว ซีแลนด์ (ที่เหตุการณ์ในเรื่องถูกใช้เป็นแคชเมียร์) ฉากใหญ่ตามสไตล์ของหนังชุดนี้ที่แม็คควอร์รีบอกว่า “ไปไกลกว่า และเหนือกว่าบรรดาสารพัดความท้าทายที่เคยเกิดขึ้นกับหนังเรื่องนี้ ด้วยความยาวที่ปรากฏอยู่บนจอจริงๆ”
ฉากนี้ทำให้ครูซต้องเรียนขับเฮลิคอปเตอร์ในหลักสูตรเร่งรัดเป็นเวลาถึงหนึ่งปีครึ่ง แล้วก็ต้องออกแบบริก (Rig แขนจับสำหรับอุปกรณ์ในถ่ายทำ) แบบพิเศษขึ้นมาเพื่อถ่ายให้เห็นว่า ที่อยู่ในห้องนักบินคือ ครูซ ตัวจริง “ผมจ้างคนมาสอนเรื่องการเคลื่อนไหวในเฮลิคอปเตอร์ด้วย” ครูซเล่า “จากนั้นเราก็ไปนิว ซีแลนด์ เพราะเป็นที่เดียวที่ให้ยอมให้เราถ่ายฉากนี้!” แต่แค่ขับเฮลิคอปเตอร์ได้ไม่ใช่ทุกอย่าง ยังมีงานประจำที่ครูซต้องทำอีก นั่นก็คือ การแสดง “ผมไม่ได้ขับเฮลิคอปเตอร์เฉยๆ นะ ผมยังต้องแสดงด้วย”
“ทุกฉากที่เห็นผมในเฮลิคอปเตอร์ ผมอยู่ที่นั่นจริงๆ” คาวิลล์คุย บทใน Fallout ทำให้เขาโกนหนวดเพื่อไปถ่ายซ่อมหนัง Justice League ไม่ได้ “ผมอยากเล่นฉากเสี่ยงตายมากกว่านี้” เขาเอ่ยขึ้น “การทำงานกับทอม มันทำให้ผมเกี่ยวข้องกับการทำงานสตันท์มากขึ้น หนังเรื่องหน้าที่ผมเล่น ผมสามารถเดินเข้าฉากแล้วบอกว่า ‘เฮ้… เพื่อน ผมเล่นหนัง Mission: Impossible มานะ ผมเล่นฉากบู๊ด้วยตัวเอง เพราะงั้นตอนนี้นายต้องให้ฉันเล่นฉากสตันท์เองแล้วล่ะ’”
เวลาในการทำงานก็เป็นตัวสร้างความกดดันให้เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี เมื่อแสงในแต่ละวันจะหมดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นการทำงามท่ามกลางภูเขา ทำให้ต้องเผื่อเวลาบินกลับที่พักอย่างปลอดภัย ขณะที่แม็คควอร์รีก็ต้องลอยอยู่บนฟ้าเหมือนนักแสดง เพื่อควบคุมการถ่ายทำ “ผมอยู่ในเฮลิคอปเตอร์ดูจอภาพจากกล้องห้าตัวในเวลาเดียวกัน โดยไม่สามารถให้เล่นกลับไปกลับมาได้” เขาเล่า “ลองนึกภาพตัวเองกำลังกำกับหนัง จ้องจอภาพ 5 จอ แล้วก็มีเสียงคุยสัก 10 เสียงในหู โดยไม่รู้เลยว่าตัวเองอยู่ที่ไหนในมิติทั้งสาม แถมเคลื่อนที่ด้วยความเร็วราวๆ 100 ไมล์ต่อชั่วโมง พยายามตามติดทอม เพราะถ้าเขาไปไกลกว่าคุณ ทั้งเสียงที่ได้ยินทั้งภาพจากจอก็จะหลุดหายไป และคุณก็จะบินไปเหมือนคนตาบอด เราทำแบบนี้กันทุกวันตลอด 6 สัปดาห์ ต่อมอะดรีนาลีนถึงกับน้ำหยดเลยทีเดียว”
ฉากกระโดดข้ามตึกในลอนดอน
แต่ฉากที่ดูง่ายๆ อย่างการกระโดดจากหลังคาตึกหนึ่งไปอีกตึกหนึ่งในลอนดอน กลับทำให้ครูซเจ็บหนักจนต้องพักกอง เมื่อเขาไปกระแทกกับตึกตรงข้ามอย่างจัง แล้วต้องห้อยต่องแต่งโดยที่เท้าไม่แตะพื้น “ตอนตัวโดนเข้ากับตัวตึก ผมรู้ทันทีว่าขามันหัก” ครูซบอก “ผมรู้สึกว่า… ‘โอเค… ฉันต้องจบฉากนี้ละ’” และภาพที่เกิดขึ้นก็ได้ปรากฏอยู่ในหนัง ซึ่งเพ็กก์เอง ตอนนี้ก็ยังไม่กล้าดูภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “โคตรสยองเลย” เขาเผย “เท้าของเขาขนานไปกับหน้าแข้ง มันน่ากลัวมาก ในแง่การทำงาน ฉากนี้ออกมาเจ๋งมาก โคตรดีเลย ถึงผมจะชอบที่มันมีฉากนี้ในหนัง และเราก็เอาไปตัดใส่หนังตัวอย่าง ซึ่งพวกประหลาดๆ ก็อาจจะมาดูเพราะอยากเห็นข้อเท้าทอมหัก แต่ผมไม่ใช่คนพวกนั้นแน่ๆ”
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่