เฟร็ดดี เมอร์คิวรี นักร้องนำของวงควีน จากไปเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2534 นับถึงตอนนี้ก็ 25 ปีพอดิบพอดี แน่นอนว่าย่อมส่งผลอย่างแรงถึงวงควีน ที่ตอนนั้นมีสมาชิกเหลืออยู่ 3 คนคือ ไบรอัน เมย์ – กีตาร์, จอห์น ดีคอน – เบส และโรเจอร์ เทย์เลอร์ – กลอง เพราะเสียงของเฟร็ดดี รวมไปถึงความสามารถในการแต่งเพลง ทำเพลง คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ควีนเป็นควีน อย่างที่แฟนเพลงทั่วโลกรู้จักกัน
การขาดหายไปของเฟร็ดดีจึงยากจะหาคนมาทดแทน โดยวงพยายามหาคนมายืนตรงนี้โดยตลอด เพราะสมาชิกทุกคนยังมีไฟในการทำงาน ออกทัวร์ ทำเพลง ทำอัลบั้มกันต่อ จากแกรี เชอโรน สมาชิกของวงร็อค Extreme มาเป็นพอล ร็อดเจอร์ส นักร้องนำของ Bad Company วงร็อครุ่นใกล้ๆ กัน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันมากกว่าจะเป็นควีนที่มีพอล ร็อดเจอร์สเป็นนักร้องนำ ซึ่งก็ได้อัลบั้ม The Cosmos Rocks ที่เหมือนการผสมผสานกันระหว่างควีนกับแบด คอมพานี ออกมาชุดหนึ่ง กับอัลบั้มแสดงสดอีก 3 ชุด
ในแง่การทำงานดนตรี ถือเป็นความพยายามหาทางออกของควีน ในวันที่ไม่มีเฟร็ดดี ที่ผลตอบรับถึงจะไม่ค่อยดีนักแต่ก็ไม่เลวร้าย และทางวงก็คงเข้าใจแฟนเพลง ที่ต้องการควีนในแบบที่เป็นควีน ไม่ใช่ควีนที่ครึ่งๆ กลางๆ เมื่อพวกเขาออกทัวร์รอบใหม่ ก็ต้องหานักร้องใหม่ ที่มีหรือให้รู้สึกถึงความเป็นควีน และจบลงที่ อดัม แลมเบิร์ท นักร้องจากเวทีประกวดอเมริกัน ไอดอล หนุ่มไม่จริง ที่ตอนแรกหลายๆ คนอาจจะตั้งข้อกังขาไว้ในใจ ถึงชื่อชั้นว่าจะไหวไหม ก่อนจะเบาใจได้บ้าง เมื่อได้เห็นคลิปการแสดงของเขากับวงควีน หากก็ยังไม่สนิทใจ
และ 30 กันยายนที่ผ่านมาที่อิมแพคท์ อารีนา เมืองทองธานี แฟนเพลงควีนชาวไทยก็ได้เห็น ได้พิสูจน์กันเต็มๆ ตาว่า อดัม แลมเบิร์ทเป็นมวยแทนของเฟร็ดดี เมอร์คิวรีให้กับควีนได้ดีมาก-น้อยขนาดไหน
เมื่อได้ชมจนจบ… แม้จะเป็นชาวสีม่วงแบบเดียวกับเฟร็ดดี แต่สไตล์ของอดัม แลมเบิร์ทแตกต่างออกไป ขณะที่เสียงร้องของเฟร็ดดีมีทางของคลาสสิคัลในตัว ซึ่งเป็นจุดเด่นของทั้งเจ้าตัวเอง และของควีน เสียงของแลมเบิร์ทแม้จะไม่ได้โดดเด่น เยี่ยมยอดในแบบคลาสสิคัล หากก็ได้ความเข้มข้นในแบบร็อคเข้ามาแทนที่ เสียงแหบห้าว แตกพร่า ขับเน้นความดิบในแบบร็อคของควีนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แม้จะหย่อนความสละสลวยไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับค้านความรู้สึกมากมาย และกับความโดดเด่นแบบหนึ่งเดียวคนนี้ของเฟร็ดดี ก็ต้องยอมรับกันว่า หาใครมาแทนไม่ใช่แค่ยาก แต่อาจจะไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
การเอนเตอร์เทนคนดูก็ทำได้ดี มีอารมณ์ขันหยอกล้อเล่นกับผู้ชม ให้เกียรติ ยกย่อง สมาชิกที่อยู่บนเวที และไม่อยู่บนเวทีของควีน ในแบบรุ่นเล็กให้ความเคารพรุ่นใหญ่ ส่วนรุ่นใหญ่ก็ส่งเด็กกันเต็มที่ และทำให้โชว์นี้ไม่ใช่โชว์ของอดัม แลมเบิร์ท ร้องเพลงควีน ที่มีควีนแบ็คอัพ และไม่ใช่ควีนที่มีนักร้องนำรับเชิญชื่ออดัม แลมเบิร์ท แต่เป็นควีนในอีกมิติหนึ่ง ที่ยังทำงานกันเป็นทีมเวิร์ค ซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงที่มีการแทรกคลิปของเฟร็ดดี เมอร์คิวรีเข้ามา ที่การแสดงของควีน-แลมเบิร์ท และเฟร็ดดี สอดรับกันอย่างเนียนสนิท
โชว์อาจจะมีช่วงเว้นระหว่างเพลงที่นานไปนิด แต่โดยรวมๆ ก็ถือว่าไม่สะดุดอารมณ์ ตัวเพลงก็จัดเพลงฮิตๆ มาครบ ตั้งแต่เพลงในยุคแรกๆ ของวง มาจนถึงเพลงอมตะ We Are the Champion ที่เล่นปิดท้าย
โปรดัคชันแสง สี เสียง ของทีมงานในบ้านเราทำได้สมกับการแสดงของวงดนตรีระดับตำนาน ทำให้งานที่ผ่านการดีไซน์มาเป็นอย่างดีของทีมออกแบบงานแสดงของวง ดูอิ่มตา ส่วนคุณภาพเสียงก็อิ่มหู ขนาดนั่งในตำแหน่งที่มักจะได้คุณภาพไม่เต็มร้อย ยังรู้สึกดีกว่าหลายๆ คอนเสิร์ทที่ผ่านมา
และทำให้การร่วมงานกันของควีน และอดัม แลมเบิร์ท กลายเป็นวงควีนในอีกมิติหนึ่งที่ลงตัว และยอมรับกันได้ไม่ยากเลย
จากเรื่อง Queen และอดัม แลมเบิร์ท ส่วนผสมทางดนตรีในอีกมิติที่ลงตัว คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ โดย นพปฎล พลศิลป์ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่