FEATURESMusic FeaturesPerformance ReviewREVIEWดนตรีมีเหตุ

ความบันเทิงจากเจ้ายักษ์ตัวเขียว Shrek The Musical

หลายๆ คนน่าจะรู้กันดีว่า Shrek เป็นแอนิเมชัน ที่ว่าด้วยเรื่องของยักษ์ตัวเขียว ที่กลายเป็นฮีโรจำเป็น ที่เนื้อในของเรื่องราวยังเป็นเรื่องล้อเลียน เสียดสีบรรดาเทพนิยาย หรือนิทานเรื่องต่างๆ รวมไปถึงยังเป็นแอนิเมชันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของ ดรีมเวิร์คส์ แอนิเมชัน คว้ารางวัลออสการ์แอนิเมชันยอดเยี่ยม ที่นอกจากจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนถูกสร้างต่อมาอีก 3 ภาค Shrek ยังถูกนำไปสร้างเป็นละครเพลง เปิดทำการแสดงในบรอดเวย์อีกด้วย

โดยก่อนจะทำการแสดงที่บรอดเวย์ Shrek The Musical ทำการแสดงกันที่ซีแอตเติลในช่วงเวลาสั้นๆ และไปเปิดการแสดงที่บรอดเวย์ในเดือนธันวาคม 2008 แล้วก็ยุติการแสดงกันในเดือนมกราคม 2010 จากนั้นในปี 2010 ก็เริ่มออกทัวร์เปิดการแสดงทั่วอเมริกา ตามด้วยเปิดการแสดงที่เวสท์เอนด์, ลอนดอน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2011 – กุมภาพันธ์ 2013

และเมื่อวันที่ 1-5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ละครเพลง Shrek The Musical ฉบับที่เป็นการออกเดินทางเปิดการแสดงไปทั่วโลก ก็แวะเวียนมาให้ได้ชมกันถึงบ้านเรา ที่โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย

ซึ่งจริงๆ แล้วต้นทางก่อนจะมาเป็นละครเพลง Shrek The Musical ไม่ใช่แค่จากแอนิเมชันเรื่องดังที่ว่ามาข้างต้น แต่ยังมาจากหนังสือนิทานสำหรับเด็กของ วิลเลียม สตีก ที่ตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี 1990 ก่อนจะเป็นแอนิเมชันให้ชมกันถึง 11 ปี

โดยเรื่องราวในฉบับละครเวทีของ Shrek โดยหลักๆ แล้วก็ไม่ได้แตกต่างไปจากฉบับแอนิเมชันมากนัก แต่ในส่วนรายละเอียดแล้ว ต้องบอกว่ามีความแตกต่างกันพอสมควร โดยเฉพาะในเรื่อง ‘เสน่ห์’ สำคัญที่ทำให้แอนิเมชันมีความโดดเด่นจากเรื่องอื่นๆ นั่นก็คือ มุขเสียดสี ล้อเลียน เทพนิยาย นิทานต่างๆ ที่ถืงแม้จะไม่ได้หายหน้า หายตาไปเลย ยังมีให้เห็นในโครงเรื่องหลัก ลักษณะ และทัศนคติของตัวละคร รวมไปถึง แต่ก็ไม่ได้มีให้เห็นมากมายนัก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะขีดจำกัดของละครเวที ที่ทำให้เล่นกับงานในส่วนนี้ได้ไม่มาก เพราะกับฉบับแอนิเมชันแล้ว ฉากในอาณาจักฟาร์ ฟาร์ อเวย์ ล้วนเต็มไปด้วยมุขเสียดสีอย่างที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นป้ายโฆษณาต่างๆ ตลอดจนการให้เวลากับตัวละครบางตัวเป็นพิเศษ

แต่ก็อย่างที่บอก ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่มีน้อยกว่า ไม่ฟู่ฟ่าเท่า หากก็แลกมาด้วยงานเพลงสนุกๆ ที่ตัวดนตรีมีหลากหลายแนวให้ฟัง บ้างเป็นป็อป บ้างเป็นร็อค ซึ่งก็ทำให้ไม่รู้สึกน่าเบื่อ (เพราะอย่าลืมว่า ละครเพลงเรื่องนี้ พูดจาก ร้องเพลงกัน เป็นภาษาอังกฤษ) หลากหลาย เป็นไปตามสถานการณ์ และลักษณะของตัวละคร โดยทุกเพลงเป็นเพลงแต่งใหม่ เพื่อบอกเล่าเรื่องราว รวมไปถึงอารมณ์ ความรู้สึกของตัวละคร

โดยมีเพลง True Believer เป็นเพลงเดียวจากตัวหนัง ที่มามีบทบาทในละคร แต่ก็เป็นเพลงสุดท้าย หรือ Finale’ ของเรื่องนั่นเอง

การแสดงก็ออกมาดูสนุก เมื่อนักแสดงแต่ละคนสวมบทบาทได้อย่างมีสีสัน โดยเฉพาะเจ้าของบทลอร์ดฟาร์ควาร์ด ตัวร้ายของเรื่อง ที่ต้องคุกเข่าแสดงทั้งเรื่อง เพราะในเรื่องตัวละครตัวนี้สูงแค่ 3 ฟุต แต่เล่นได้มันส์มาก โดยใช้ท่าทางการแสดงของตัวเอง ที่ดูน่าจะเป็นข้อจำกัด มาทำให้ตัวละครตัวนี้ มีลูกเล่น ลูกล่อ ลูกชนที่หลากหลาย เป็นความจัดจ้านในส่วนของตัวละคร ที่ปรากฏตัวทีไร ก็เตรียมรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะรอเอาไว้ได้เลย อาจจะมีผิดท่าก็ดองกี้ ลาเหงาที่กลายมาเป็นเพื่อนของเชร็ค ที่หลังปรากฏตัวได้อย่างฉูดฉาด ก็ค่อยๆ จืดชืดลงไปบ้าง เมื่อเทียบกับตัวละครอื่นๆ ในเรื่อง

ส่วนมุขตลกต่างๆ แม้ส่วนใหญ่ดูจะเป็นมุขสำหรับเด็กๆ เน้นตลกท่าทาง แต่บางมุขก็ทำให้ผู้ใหญ่ยิ้มได้เช่นกัน และกลายเป็นความบันเทิงสำหรับครอบครัว แม้คนตัวเล็กของบ้านน่าจะอิน และแฮปปีมากกว่าก็ตามที

จากเรื่อง ความบันเทิงจากเจ้ายักษ์ตัวเขียว Shrek The Musical คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ โดย นพปฎล พลศิลป์ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 5 กรกฎาคม 2559

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านงานวิจารณ์หนัง และเพลง แบบนี้ ได้ด้วยการกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์กันไว้ก่อน ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.