FEATURESMusic Features

ความเป็นมากว่าจะเป็นเพลง “Never Gonna Give You Up” ของริค แอสท์ลีย์

ซิงเกิล “Never Gonna Give You Up” ของริค แอสท์ลีย์ ศิลปินจากเกาะอังกฤษปล่อยออกมาในวันที่ 27 กรกฎาคม 1987 ในฐานะซิงเกิลแรกจาก Whenever You Need Somebody อัลบัมแรกของแอสท์ลีย์ ที่ไม่ใช่แค่นำทางให้อัลบัมชุดนี้เท่านั้น แต่หลังเป็นเพลงอันดับ 1 บนเกาะอังกฤษถึงห้าสัปดาห์และเป็นซิงเกิลขายดีที่สุดที่บ้านเกิดของแอสท์ลีย์ “Never Gonna Give You Up” ก็กลายเป็นเพลงอันดับ 1 ถึง 25 ทั่วโลก ร่วมถึงสหรัฐอเมริกา ตามด้วยการเป็นซิงเกิลของศิลปินอังกฤษยอดเยี่ยมในงานบริท อวอร์ดส์ปี 1988

และนี่คือเรื่องราวความเป็นมาของเพลงนี้ จากปากคำของสองบุคคลสำคัญ ริค แอสท์ลีย์ เจ้าของเสียงร้อง และพีท วอเทอร์แมน โปรดิวเซอร์ร่วมและผู้แต่งเพลงนี้ ที่เดฟ ซิมป์สันนำมาบันทึกไว้ในคอลัมน์บนเว็บไซท์ theguardian.com

ริค แอสท์ลีย์ “ผมเคยเป็นมือกลองในวง FBI วงที่มีเสียงกีตาร์กร๋องๆ แกร๋งๆ ในนืวตัน-เลอ-วิลโลว์ส, แลนคาเชียร์ หลังจากที่เริ่มแต่งเพลงได้ 2-3 เพลง ผมก็กลายเป็นนักร้องนำ และโปรดิวเซอร์ พีท วอเทอร์แมน ไปเห็นผมในการแสดงที่คลับสำหรับหนุ่มๆ ในวอร์ริงตันเข้า เขาได้ยินเสียงร้องของผมแล้วบอกว่า ‘ผมสามารถทำเพลงกับเด็กคนนั้นได้’

“ผมได้เซ็นสัญญา แต่ภายในเวลาไม่กี่เดือน สต็อค-เอทเคน-วอเทอร์แมน (ทีมทำเพลงที่ประกอบด้วย ไมค์ สต็อค, แม็ทท์ เอทเคน และพีท วอเทอร์แมน) เริ่มมีเพลงงานอันดับ 1 หลายเพลง ผมเลยถูกเก็บไว้ก่อน บางคนในทีม บางทีอาจจะเป็นพีทแนะนำว่าผมน่าจะมาอยู่ลอนดอน เพื่อจะได้มีอะไรทำและพวกเขาสามารถจับตาดูผมได้ ผมเลยมาพักที่แฟล็ทของพีท ทุกเช้าเราจะไปสตูดิโอด้วยกัน และเขาจะพกโทรศัพท์เคลื่อนที่ขนาดยักษ์ในยุค 80’s เพื่อเจรจาต่อรองสัญญา ส่วนผมก็ทำงานในสตูดิโอ ชงชาบ้าง ทำแซนด์วิชบ้าง แล้วก็เฝ้าดูทีมเอสเอดับเบิลยู (SAW: Stock-Aitken-Waterman) ทำเพลงของพวกเขา

“โดยปกติ พีทจะเป็นคนแนะนำชื่อเพลงขึ้นมา แล้วก็ให้ตัวอย่างของเพลงในแบบที่เขาต้องการกับแม็ทท์และไมค์ แม็ทท์จะเล่นกีตาร์แล้วทั้งคู่ (กับไมค์) ก็เล่นคีย์บอร์ดส์ได้ดีมากๆ พีทไม่ใช่นักดนตรี แต่เขาเคยเป็นดีเจ และรู้ว่าอะไรที่ใช้ได้กับฟลอร์เต้นรำ เขาจะบอกว่า ‘ผมบอกพวกคุณไม่ได้ว่าเพราะอะไร แต่นั่นมันมีอะไรผิดพลาดนิดหน่อย’

“พวกเขาปล่อยซิงเกิลที่ร้องโดยผมกับลิซา คาร์เทอร์ ในนาม Rick and Lisa ซึ่งไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรเลย จากนั้นพวกเขาก็ได้เครื่องตัวอย่างของ ซินธิไซเซอร์ แฟร์ไลท์ ที่ถูกส่งมาให้ ผมเป็นคนช่วยพวกเขาแกะมันออกจากกล่อง ผมยังจำตอนที่ไมค์เอาคอร์ด “Never Gonna Give You Up” ใส่เข้าไปในเครื่องได้ ผมกำลังชงชาตอนที่พวกเขากำลังทำโปรแกรมเพลง เอียน เคอร์นาวเป็นคนวางแทร็คพื้นฐาน ไมค์ร้องเมโลดีให้ผมฟัง แล้วผมก็เข้าไปในห้องแล้วก็ร้อง เขาเป็นโปรดิวเซอร์ที่เขี้ยวแต่เขาอยากให้ตัวเองเป็นแบบนั้น ผมเป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่ร้องเพลงในผับและคลับมา

พีท วอเทอร์แมน

“เราถ่ายวิดีโอกันในโบสถ์เก่าๆ ใกล้ๆ แถวเวสท์เวย์ของลอนดอน เสื้อผ้าในวิดีโอทุกชุดเป็นของผมทั้งนั้น ไม่มีสไตลิสท์ ผมจับๆ ของสารพัดยัดใส่กระเป๋าเอา ผมชอบเพลงนี้มากๆ ผมจำได้ว่าตัวเองคิดแบบ ‘ผมคงจะไปดิ้นกับเพลงนี้แน่ๆ ถ้าไปดิสโกเธคแถววอร์ริงตัน’ ผมคิดว่ามันฟังเหมือนเพลงฮิท แล้วขณที่ที่วันหนึ่งตอนผมกำลังชงชา วันต่อมาผมก็ได้ขึ้นอันดับ 1”

พีท วอเทอร์แมน “ผมไปที่มองค์ส โซเชียล คลับ โดยรถเฟอร์รารีสีเงิน แล้วไม่ต้องไปนึกถึงรถเฟอร์รารีสีเงินหรอก ผมคิดว่ามีใครในวอร์ริงตันเคยเห็นรถเฟอร์รารีมาก่อนด้วยซ้ำ ตอนนั้นผมไม่สบายแล้วก็มีไข้ เลยบอกกับคนเฝ้าประตูว่า ‘ผมจะเข้าไปสัก 20 นาทีนะ แล้วจะกลับไปนอนละ’ แต่ผมดันหยุดดูการแสดงในคืนนั้น ผมคิดว่าเสียงของริคมันเจ๋งมาก การเคลื่อนไหวของเขาก็คล่องแคล่ว เขาทำให้ผมนึกถึงแวน มอร์ริสัน

“ผมบอกกับผู้จัดการของเขา ‘ผมไม่ชอบวงนะ ไม่ชอบเพลงด้วย แต่ผมจะเซ็นสัญญากับนักร้อง’ เราจับริคใส่ในโครงการฝึกอบรมของรัฐบาลสำหรับกลุ่มเยาวชนที่มีโอกาส ผมอยากให้เขาเข้าใจอุตสาหกรรมดนตรี และเป็นศิลปินตัวจริง เขาชงชาขณะที่ศิลปินอย่าง Bananarama, Mel and Kim และ Dead Or Alive ทำเพลง มันเป็นการอาบเขาจนชุ่มโชกราวกับฟองน้ำ เสียงของเขาแข็งแรงซึ่งการจะหาเพลงสักเพลงที่เหมาะกับมันไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยอะไรบางอย่าง เขาเป็นคนที่ดีเกินไป

“ผมจะไปไหนกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อเกย์เนอร์มาแทบทั้งชีวิต แล้วเช้าวันหนึ่งผมเพิ่งวางสายจากเธอในตอนที่ริคโผล่เข้ามาแล้วบอกว่า ‘คุณคงไม่กำลังจะยอมแพ้เธอนะ (You’re never going to give her up)’ มันกลายเป็นคำที่ติดอยู่ในหัวผม ไม่นานหลังจากนั้นเราก็ไปทำงาน โดยอยู่ในรถจากัวร์ของผม และโทนี เบล็คเบิร์นก็เปิดเพลงของซีบิลล์ (ศิลปินอาร์แอนด์บีชาวอเมริกัน) ขึ้นมา รูปแบบของเสียงไฮ-แฮ็ทมันคลิกผมทันที ทันใดนั้นผมก็รู้ว่าผมกำลังจะทำอะไร ผมเข้าไปในสตูดิโอแล้วบอกว่า ‘ผมได้ชื่อและไอเดียของเพลงมาเพลงหนึ่ง สำหรับริค’ แม็ทท์และไมค์เป็นคนทำงานส่วนใหญ่ของเพลง “Never Gonna Give You Up” เราเปลี่ยนคีย์เพื่อให้ริคได้ร้องเสียงสูงขึ้น และมันใช้ได้ เรามิกซ์แล้วมิกซ์อีก จากนั้นเราก็ลืมทุกอย่างเกี่ยวกับมันแทบจะในทันที

“ในวันแกะกล่องของขวัญปีนั้น ผมกำลังรู้สึกเบื่อๆ อยู่ที่บ้าน ก็เลยไปที่สตูดิโอ เราดึงเสียงร้องของริคออกมา แล้วก็ทำเพลงเวอร์ชันใหม่ขึ้นมา แต่ก็ลืมเอาไว้ กระทั่งวันหนึ่งมีใครบ้างคนเอามันมาเปิดในการประชุม แล้วทุกคนก็…. ‘นี่มันอะไรเนี่ย?’ และที่เหลือก็คือประวัติศาสตร์

“มันกลายเป็นเพลงอันดับ 1 ในทุกๆ ประเทศ รวมถึงอเมริกา แต่เพราะริคดูเป็นเด็กหนุ่มใครๆ เลยคิดว่าเขาไม่ใช่คนที่ร้องเพลงนี้จริงๆ สถานีวิทยุเรดิโอวัน ถึงกับโทรไปหาเขาที่โรงแรมในสก็อทแลนด์ แล้วให้เขาร้องสดๆ จากห้องน้ำกันเลย”

นอกจากจะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม “Never Gonna Give You Up” ยังกลายเป็นเพลงป็อปอมตะอยู่ยงคงกระพันมาจนถึงทุกวันนี้ ในปี 2018 นิตยสารไทม์ เอาท์จัดเพลงนี้อยู่ในอันดับที่ 33 ของ 50 เพลงยอดเยี่ยมจากยุค ’80s รวมทั้งถูกนำไปคัฟเวอร์โดยศิลปินมากมายอีกหลายต่อหลายครั้ง

โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง ความเป็นมากว่าจะเป็นเพลง “Never Gonna Give You Up” ของริค แอสท์ลีย์ คอลัมน์ หรรษา-วันจันทร์ HAPPY MONDAY หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 30 มีนาคม 2563

[one_half][/one_half][one_half_last][/one_half_last]

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.