แม้ตัวพล็อตจะทำให้รู้สึกว่า เป็นงานเพื่อความบันเทิงขนานแท้ แต่เอาเข้าจริง ๆ นี่ไม่ใช่งานที่ให้ความบันเทิงได้แบบงานมหาชน โดยเฉพาะหากตามเรื่องและสิ่งที่หนังนำเสนอไม่ทัน หรืออยู่ในสภาพเก็บไม่หมด เพราะนอกจากการเล่าเรื่องจะเดินหน้าไปเร็ว สารที่นำเสนอบางอย่างก็ไกลกว่าหน้าตาของหนัง ที่อาจจะคาดไม่ถึงจนไม่อินไปกับเรื่องราว
ที่ในชั่วแว่บหนึ่งก็ทำให้คิดถึง ‘Lucy’ ที่เปิดหน้าเป็นงานแอ็กชัน ขายความมันส์ เรื่องของหญิงสาวที่ยาบ้าทำให้กลายเป็นคนบ้าพลัง ก่อนจะหลุดไปสู่เรื่องของปรัชญา ความเชื่อ หาก ‘Everything Everywhere All at Once’ ไม่ถึงกับให้ความรู้สึกแปลกแยกเป็นหนังสองเรื่องที่แตกต่างกันแบบนั้น แม้จะแบ่งบทตอนออกเป็นสามภาค Everything, Everywhere และ All at Once ที่ต่างก็มีเรื่องราว หรือประเด็นของตัวเอง แต่ก็เชื่อมต่อกันได้อย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา, บรรยากาศ หรือว่าโทน
ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นว่าความบ้าคลั่ง ของไอเดียหรือจินตนาการของคนทำงาน มีกรอบ มีขอบเขต เค้าโครงชัดเจน เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ได้พลุ่งพล่านแบบงานเอามันส์ ที่เรื่องบางเบาหรือขายเอาแค่สไตล์ ส่วนเนื้อหาที่ว่าด้วยพหุจักรวาล ‘Everything Everywhere All at Once’ ก็มีลูกเล่น มีชั้นเชิงที่ต่างไปจากในพหุจักรวาลของมาร์เวล ‘Doctor Strange in the Universe of Madness’ ที่หมายความถึงการตีความเรื่องของการเดินทางไปยังพหุจักรวาลที่ผิดแผกจากกันได้เช่นกัน
หนังเป็นเรื่องของเอฟเวอลีน สาวใหญ่อเมริกัน-จีนเจ้าของร้านซักผ้าหยอดเหรียญ ที่ชีวิตต้องเจอกับความวุ่นวายสารพัด ทั้งเรื่องธุรกิจ เมื่อร้านของเธอถูกเรียกตรวจสอบบัญชี, เรื่องครอบครัวที่ต้องรับมือกับพ่อ – กงกง ผู้เรื่องมาก และจอย ลูกสาวที่ต้องการให้เธอและครอบครัวยอมรับเบ็กกี แฟนสาว หากที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ เวย์มอนด์ สามีต้องการหย่าขาดจากเธอ
ทุกอย่างเดินทางมาสู่จุดพลิกผันระหว่างไปที่สำนักงานกรรมสรรพากร เวย์มอนด์จากอีกจักรวาลหนึ่งปรากฏตัวขึ้น ขอให้เธอทำตามคำขอเพื่อช่วยปกป้องจักรวาลทั้งหมดจากโจบุ ทาปูกิ วายร้ายที่มีพลังจากโจบุ ทาปูกิในทุก ๆ จักรวาลรวมกัน ที่ต้องการทำลายจักรวาลนี้ ซึ่งทำให้โชคชะตาของเอเวอลีนและทุกคนในครอบครัวของเธอต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ตัวหนังจากที่เป็นงานดรามาปัญหาครอบครัว และความสัมพันธ์ของสมาชิกในบ้าน ตลอดจนความแตกต่างของคนสองรุ่น ก็แปรเปลี่ยนเป็นงานไซ-ไฟ แล้วเมื่อตัวเอเวอลีนและเวย์มอนด์ต้องรับมือการตามล่าของโจบุ ทาปูกิ บรรยากาศของหนังกำลังภายใน งานแอ็กชันการต่อสู้ด้วยมือเปล่าก็เข้ามาปกคลุม ขณะที่การเดินทางไปสู่อีกจักรวาลหนึ่งในช่วงท้ายก็เต็มไปด้วยกลิ่นไอของงานแฟนตาซี
แม้จะเต็มไปด้วยแนวทางที่หลากหลาย ‘Everything Everywhere All at Once’ สามารถผสมผสานความแตกต่างเหล่านั้นเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว ในเวลาเดียวกันก็มีสัมผัสของงานเบาสมอง จากกระบวนการกระโดดไปสู่พหุจักรวาล ที่ไม่ต่างไปจากการเข้าสิง, ดรามาจากเรื่องราวความสัมพันธ์ในครอบครัว และโรแมนซ์จากความรักของตัวละครในอีกจักรวาล รวมถึงเป็นงานล้อเลียนหนังเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘Ratatouille’, ‘The Matrix’ กระทั่งงานของหว่องกาไว แล้วเมื่อพูดถึงพหุจักรวาล หนังก็เหมือนล้อไปกับ ‘Doctor Strange in the Universe of Madness’ ในคราวเดียวกัน เมื่อนอกจากจะมีความ ‘คลั่ง’ ในระดับที่หนักหน่วงกว่าแล้ว ยังไปได้ลึกกว่า แล้วอย่าลืมว่า ผู้อำนวยการสร้างของหนังเรื่องนี้ ก็คือพี่น้องรุสโซ ผู้กำกับหนัง ‘Avengers’ สองเรื่องสุดท้าย
เรื่องราวแต่ละบท แต่ละตอนเป็นไปตามที่ชื่อหนังว่าเอาไว้ จากที่ต้องรับมือกับสารพัดสิ่งที่ประเดประดังเข้ามาในตอนแรก Everything เอเวอลีนต้องกระโดดไปยังจักรวาลต่าง ๆ เรียนรู้พลังจากตัวเองในจักรวาลเหล่านั้น รวมถึงความเป็นไปของพวกเธอใน Everywhere ก่อนทุกอย่างจะคลี่คลายกลายเป็นหนึ่งเดียวกันใน All at Once เมื่อเอเวอลีนเรียนรู้ว่า จะรับมือหรือจัดการกับปัญหาแต่ละอย่างได้อย่างไร บางอย่างไม่ได้ต้องการการแก้ไข หากต้องใช้การยอมรับ บางอย่างต้องการแค่การใส่ใจ ไม่ใช่การมองข้าม ที่นอกจากเรื่องราวความสัมพันธ์ และชีวิตของตัวละครแล้ว หนังยังมีแง่มุมในทางปรัชญา หรือความเชื่อบางอย่าง แทรกสอดในเนื้อเรื่อง ที่กลมกลืนกับเนื้อหาได้เนียนสนิท ไม่ได้แปลกแยก เช่นที่เคยเห็นจากงานอย่าง ‘Lucy’ กับการถูกนำเสนอในเชิงอุปมา-อุปมัยกับ ‘เบเกิลรวมรส’ (Everything Bagel) ที่โจบุ ทาปูกิ สร้างขึ้น เช่นเดียวกับความคิดในการทำลายล้างเพื่อรีเซ็ต ที่ไม่ต่างไปจากธานอส หรือว่าชีวิตของผู้คน ที่ล้วนติดอยู่ในลูปหรือวังวนบางอย่าง ที่ถูกตอกย้ำผ่านการตรวจสอบบัญชี กิจการซักรีดที่เครื่องซักผ้าก็เป็นวงกลม และแน่นอนเบเกิล
นอกจากไอเดียของเรื่อง การนำเสนอของหนัง ที่ทำออกมาได้สุด ๆ ‘Everything Everywhere All at Once’ ยังได้การแสดงที่สนุกไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น มิเชลล์ โหยว ที่ในที่สุดฮอลลีวูดก็ได้ใช้งานเธอเป็นเรื่องเป็นราวสักที เช่นเดียวกับรุ่นใหญ่ เจมส์ ฮง กับบทที่เป็นชิ้นเป็นอัน เจมี ลี เคอร์ทิส ที่ตอกย้ำการเป็นนักแสดงหญิงระดับหัวแถวของหนังเบาสมอง ที่เล่นได้มันส์และสุดโต่งสุดขั้ว ที่มีเหตุผลสนับสนุนทั้งจากการแสดงในหนังเรื่องนี้ และงานก่อน ๆ หน้า เช่น ‘True/ Lies’ หรือ ‘A Fish Called Wanda’ และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ การขึ้นจอของ(อดีต) ไอ้หนูคีฮุยควานจาก ‘Indiana Jones and the Temple of Doom’ และ ‘The Goonies’ ที่เป็นการกลับมาได้อย่างสวยงาม จากคุณภาพการแสดงที่เปิดโอกาสให้เขาได้เล่นทั้ง ตัวละครดรามา, แอ็กชัน, เบาสมอง และโรแมนซ์ในคราวเดียวกัน
หนังอาจจะเดินหน้าไปอย่างฉับไว อธิบายเงื่อนไขต่าง ๆ ของเหตุการณ์หรือตัวละครเร็วไปบ้าง แต่ความลงตัวจากการผสมผสานแนวทางต่าง ๆ ความเข้ากันของจินตนาการอันพลุ่งพล่านกับสารที่ดูจริงจัง แม้อาจจะไม่สัมผัสถึงสารของหนังได้แบบเต็มที่เต็มร้อย แต่อย่างน้อยก็ไม่น่าจะทำให้พลาดการแปรเปลี่ยนความบ้าคลั่งในช่วงแรก ๆ กลายเป็นความอบอุ่น หรือการเปลี่ยนผันจากหนังที่ว่าด้วยชีวิตผู้หญิงคนหนึ่ง กลายเป็นเรื่องของแม่กับลูกในตอนท้าย
อาจฟังดูไม่ค่อยเข้ากันนัก แต่กับการเล่าเรื่องของหนัง มันเดินทางมาถึงจุดสุดท้ายได้แบบเนียนสนิท และลื่นไหลเหลือเกิน
โดย นพปฎล พลศิลป์
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่