อาจจะไม่ใช่หนังภาคต่อที่ดูหรูหรา สุนัขเห่ามากนัก แต่ไป ๆ มา ๆ ชีวิตของหนังชุด ‘Evil Dead’ ที่ภาคแรก ‘The Evil Dead’ ซึ่งออกฉายตั้งแต่ปี 1981 โดยที่เรียกได้ว่าเป็นงานเกรด บีแท้ ๆ คุณภาพโปรดักชันอยู่ในระดับงานโฮมมูฟวีด้วยซ้ำ แต่กลับเป็นงานฮิตแบบคัลต์ แจ้งเกิดผู้กำกับ แซม ไรมี กับนักแสดง (และเพื่อน) บรูซ แคมป์เบลล์ ก็เป็นไปตามที่ชื่อไทยตั้งเอาไว้ ‘ผีอมตะ’ เพราะมาถึงทุกวันนี้ หนังเรื่องนี้ยังคงมีชีวิต และสานต่อเรื่องราวของตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นภาคต่อของแท้แบบพ่อ-แม่เดียวกัน คลานตามกันมา ‘Evil Dead II’ (1987), ‘Army of Darkness’ (1993), งานรีบูต ซึ่งกำกับโดยเฟเด อัลวาเรซ ‘Evil Dead’ (2013) ตามด้วยซีรีส์ ‘Ash vs. Evil Dead’ ที่มีให้ชมกัน 3 ฤดูฉาย ในความยาว 30 ตอน และล่าสุดมีข่าวว่าจะมีการทำเป็นแอนิเมชัน ซีรีส์
แล้วถ้ามองไปถึงจุดเริ่มต้นที่เป็นหนังสั้น ‘Within the Woods’ ‘Evil Dead’ ถือว่าลืมตามาดูโลกตั้งแต่ปี 1978 ซึ่งมาถึงวันนี้อายุก็ปาเข้าไป 45 ปี เป็นหนึ่งในหนังภาคต่อที่อายุยืนยาวไม่ใช่เล่น แถมไม่ใช่หนังชุด งานภาคต่อที่มีที่มาจากนิยายชุด หนังสือการ์ตูน หรือเป็นงานระดับบล็อคบัสเตอร์แต่อย่างใด
เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นกันชัดเจนว่า ถ้าของ “ดี” มีคนทำ “ถึง” ผู้ชมก็พร้อมจะเข้าถึงตัวงาน ไม่ว่าจะเป็นหนังแนวไหน หน้าตาเป็นอย่างไร
และหนังเรื่องใหม่จากงานชุดนี้ ‘Evil Dead Rise’ ก็ไม่ทำให้แฟน ๆ ต้องผิดหวัง ไม่เสียชื่อเสียงที่สร้างสมกันมาหลาย ๆ ทศวรรษ รวมถึงสามารถสานต่อเรื่องราวของ ‘Evil Dead’ ให้ขยับขยายออกไปจากที่เคยเป็นได้ไม่ยาก หากมองจากบทสรุปในตอนท้ายที่หนังทิ้งเอาไว้
ผู้กำกับที่ยังเป็นผู้เขียนบทของหนัง ลี โครนิน ถือเป็นมือใหม่สำหรับหนังจอใหญ่ เมื่อมีเครดิตแค่ ‘The Hole in the Ground’ หนังสยองปี 2019 ในมือเพียงแค่เรื่องเดียว หากก็เป็นงานที่ได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวก แล้วก็มีกำกับหนังสั้น กับทำซีรีส์โทรทัศน์ประปราย ซึ่งถ้ามองว่า ในทีแรกหนังถูกวางเอาไว้ว่าเป็นงานส่งตรงลงสตรีมิงเอชบีโอ แม็กซ์ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ กับการเลือกใช้ผู้กำกับที่ชื่อเสียงไม่มีใครรู้จักมากนัก ลงงบสร้างไม่มากไม่มาย นักแสดงก็ไม่ต่างจากผู้กำกับ เอาง่าย ๆ หากคลิกลิงก์เพื่อดูข้อมูลในวิกิพีเดียที่ว่าด้วยหนังเรื่องนี้ มีนักแสดงแค่ 3 คนเท่านั้น ที่มีลิงก์ไปหา ลิลี ซุลลิแวน เป็นนักแสดงออสเตรเลีย ที่แม้จะเล่นหนังใหญ่ไม่น้อย มีงานโทรทัศน์หลายเรื่อง แต่เกือบทั้งหมดก็คืองานในบ้านเกิด, อลิสสา ซุเธอร์แลนด์ ที่เป็นนักแสดงออสซีเหมือนกัน ดูดีกว่านิดหน่อย เพราะมีเครดิตการทำงานในฮอลลีวูดพอใช้ได้ โดยเคยมีบทเล็ก ๆ ใน ‘The Devil Wear Prada’ มีบทเด่น ๆ ในซีรีส์ ‘Vikings’ ของช่องฮิสทรี และซีรีส์ ‘The Mist’ รวมถึงได้เล่นซีรีส์ ‘Law & Order: Special Victims Unit’ อยู่ตอน- 2 ตอน ปิดท้ายด้วย มอร์แกน เดวีส์ ที่ก็เป็นนักแสดงจากดินแดนดาวน์อันเดอร์ เดวีส์ทำงานตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ๆ และจากเครดิตก็ถือเป็นนักแสดงมากฝีมืออีกคน เมื่อเคยเข้าชิงรางวัลทางการแสดงในบ้านเกิดอยู่หลายครั้ง
แต่หลังจากฉายรอบทดสอบ แล้วผลตอบรับที่ได้จากผู้ชมช่างน่าพึงพอใจเหลือเกิน ‘Evil Dead Rise’ ก็ “Rise” ได้อย่างที่ชื่อเป็นจริง ๆ เมื่อถูกยกระดับกลายมาเป็นหนังฉายโรงในที่สุด
ในแง่โครงเรื่อง ‘Evil Dead Rise’ ยังอยู่ในกรอบของ ‘Evil Dead’ ชัด คนกลุ่มหนึ่งไปพบคัมภีร์แห่งความตาย และสื่อบันทึกเสียงคำสวด เหมือนในหนังต้นฉบับ แล้วก็อุตริเปิดฟัง ที่กลายเป็นการปลุกชีพปีศาจร้าย ที่มาสิงสู่พวกเขาในเวลาต่อมา โดยเริ่มจากหนึ่งคน แล้วเป็นสอง สาม ขณะที่คนซึ่งยังมีลมหายใจก็ต้องพยายามหาทางรอด และหนทางที่จะกำจัดปีศาจร้าย ที่อยู่ในร่างของคนที่พวกเขาเคยรัก หรืออย่างน้อย เป็นที่รู้จักในเวลาเดียวกัน
โครนินเปิดเรื่องในแบบที่ชวนให้นึกถึงบรรยากาศของงานต้นฉบับ หนังผีสิงที่เหตุเกิดในบ้านพักกลางป่า โดยหนนี้สามหนุ่ม-สาวที่เข้าพักมีหนึ่งรายเห็นได้ชัดว่าถูกสิง และหนังก็จัดหนักซะตั้งแต่ตอนนี้ จนอดคิดไม่ได้ว่าจะเหลืออะไรให้เล่นอีก เมื่อฉากเปิดเรื่องมาซะขนาดนี้ หลังจากนี้ เรื่องราวย้อนกลับไปหาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 1 วันก่อนหน้า ถัดจากฉากเปิดที่เรื่องของหนุ่ม-สาวทั้งสามคนปิดลงอย่างสุดระทึก สยอง และแสดงถึงความน่าพรั่นพรึงของปีศาจร้าย ได้อย่างน่าตื่นตะลึง โดยภาพสุดท้ายของมันสามารถตรึงผู้ชมได้อยู่หมัด พร้อมทั้งแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของหนังชุดนี้ในที
เรื่องราวที่เกิดขึ้นนับจากนี้ ก็คือการพาสิ่งที่เป็นไปตามโครงสร้างที่คุ้นกันดีของหนังชุด ‘Evil Dead’ ไปสู่พื้นที่ที่แตกต่าง ที่เป็นการมอบความแปลกใหม่ให้หนังชุดนี้กลาย ๆ เพราะศูนย์กลางของเรื่องราวในคราวนี้ ไม่ใช่บ้านพักกลางป่าที่โดดเดี่ยวห่างไกลผู้คน แต่เป็นอพาร์ตเมนต์ที่กำลังจะถูกปิด ผู้เช่าต้องย้ายออกในเวลาอีกไม่นาน เบ็ธ (ซุลลิแวน) เทคนิเชียนสาวในวงดนตรี เดินทางมาหาเอลลี – พี่สาว (ซุเธอร์แลนด์) แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ใช้ชีวิตกับลูก ๆ 3 คน แดนนี (เดวีส์) ลูกชายคนโตที่สนใจการเป็นดีเจ, บริดเจ็ต (เอคอลส์) ลูกสาวคนกลาง และแคสซี (ฟิเชอร์) ลูกสาวคนสุดท้องที่อายุยังไม่ถึงวัยรุ่น ชีวิตของเอลลีเต็มไปด้วยปัญหาและความวุ่นวาย ทั้งการพยายามประคับประคองชีวิตที่ไม่มีสามีมาแบ่งเบาอีกต่อไป ทั้งเรื่องของการทำมาหากิน การเลี้ยงดูลูก ๆ ทั้งสามคน ที่ยังต้องบวกเรื่องการหาที่พักพิงใหม่เข้ามาด้วย
ส่วนเบ็ธเองก็ใช่ว่าชีวิตจะปลอดโปร่ง เมื่อเธอตั้งท้องอ่อน ๆ
ในวันที่เธอมาถึง เกิดเหตุแผ่นดินไหว จนทำให้ประตูทางเข้าห้องลับในลานจอดรถใต้ดินที่ถูกปิดตาย เปิดออก แดนนีที่พบสถานที่แห่งนี้พอดีตัดสินใจเข้าไปสำรวจด้วยความอยากรู้อยากเห็น โดยไม่สนใจคำทัดทานของน้อง ๆ สิ่งที่ได้พบก็คือ แผ่นเสียงสามแผ่นกับสมุดบันทึกที่เหมือนเป็นคัมภีร์อะไรบางอย่าง ที่เดาได้ไม่ยากว่า เขาจะเก็บมาที่ห้อง และแน่นอนเปิดฟัง ที่กลายเป็นการเปิดคาถาปลุกปีศาจร้ายให้กลับมาสู่โลกอีกครั้ง และเหยื่อที่ตกเป็นเครื่องมือของมันในครั้งนี้ก็คือ เอลลี ซึ่งทำให้น้องสาวและลูก ๆ ที่อยู่ในอพาร์ตเมนต์ห้องเดียวกันราวกับอยู่ในนรก เพื่อนร่วมชั้นของเอลลีในอพาร์ตเมนต์แห่งนี้ ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างกัน ที่พักของพวกเขาและเธอกลายเป็นสถานที่สุดหลอน ขังทุกคนเอาไว้ไม่ให้ไปไหนได้ เพราะแผ่นดินไหวทำให้ลิฟต์เสียหาย บันไดหนีไฟถูกตัดขาด พวกเขาต้องหาทางเอาตัวรอดให้ได้ในสภาพที่ตกเป็นแมว ในเกมปิดประตูตีแมว
หากไม่นับสถานที่ และตัวบุคคล ที่เป็นของใหม่ ‘Evil Dead Rise’ มีครบสูตรของหนังชุดนี้ และรวมไปถึงของหนังสยองขวัญทั่ว ๆ ไป ตัวละครช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งลี้ลับที่มีพลังมากกว่า อยู่ในสถานที่จำกัด ดูแล้วไม่มีทางออก แต่เพราะการเล่าเรื่องที่โยนสถานการณ์ต่าง ๆ ใส่เข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง มีจังหวะจะโคน ก็ทำให้หนังสนุก ลุ้นระทึก การใช้สถานที่ซึ่งแตกต่างไปจากที่คุ้นเคยของหนังชุดนี้ เป็นอพาร์ตเมนต์ในเมืองใหญ่ และใช้ตัวละครเด็ก ๆ ไม่ใช่ผู้ใหญ่ หรือกลุ่มวัยรุ่นอย่างเคย ก็ช่วยให้หนังมีความสด หรืออาจจะเรียกได้ว่าแปลกตากว่าที่ผ่าน ๆ มาก็พอได้ โดยเฉพาะการเป็นตัวละครน่ารำคาญของเด็ก ๆ ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกละล้าละลัง ใจหนึ่งก็ห่วงใย อีกใจก็แบบ… เรื่องมาก สร้างปัญหาแบบนี้ ตาย ๆ ไปก็ดีนะ ซึ่งถ้าเป็นตัวละครผู้ใหญ่ ก็อาจจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
ตัวสถานที่ถูกใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ตาแมวที่ประตูทำให้ภาพของผู้คนที่ปีศาจร้ายเข้าสิง ดูหลอนกว่าบานประตูลงห้องใต้ดิน เมื่อรู้สึกถึงความบิดเบี้ยว และวิปริตยิ่งกว่า อาวุธสังหาร ก็เป็นข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน ที่อยู่ใกล้ตัวใกล้มือ จนผู้ชมอาจมองสิ่งของต่าง ๆ ในครัวเรือนแตกต่างไปจากที่เคย
ฉากเสียว สยองทั้งหลายเป็นไปตามยุคสมัย ที่งานในยุคใหม่จะยกระดับความรุนแรงขึ้นไปอีก ที่อาจทำให้ถึงกับจิกเบาะได้สบาย ๆ สำหรับใครที่มีจุดตายกับอาวุธบางชนิด หรือการกระทำบางอย่าง ความถึงเลือดถึงเนื้อก็เป็นไปตามมาตรฐานหนังชุดนี้ ที่ใช้คำว่า หนัง “เลือดท่วมจอ” ได้อย่างเต็มปาก โดยเฉพาะฉากไคลแม็กซ์ตอนท้าย ที่ภาพราวกับถูกย้อมด้วยสีแดงของเลือด ตัวละครหน้าตาเปรอะเปื้อนไปด้วยของเหลวสีแดง เช่นเดียวกับแอช วิลเลียมส์ ในหนังต้นฉบับ กับเมีย อัลเลน ในงานรีบูต
ดูแล้ว เห็นแล้วอาจถึงกับพลอยเอียนสีแดง และหยุดกินลาบเลือด ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก ไปได้หลาย ๆ วัน
นอกจากสร้างความแปลกใหม่ให้เกิดขึ้นกับเรื่องราวที่อยู่ในกรอบของหนัง ‘Evil Dead’ สำเร็จ โครนินเก็บฉากกิมมิคของหนังมานำเสนอได้ครบ แล้วก็มีมุมที่ถือว่าทำได้ดีกว่างานรีบูต ซึ่งหนังเรื่องนั้นก็ไม่ได้ออกมาย่ำแย่อะไร นั่นก็คือ การใส่อารมณ์ขันประหลาด ๆ มุกพิลึก ๆ ที่หนังของเฟเด อัลวาเรซไม่ได้เก็บมาด้วย ทั้งที่เป็นเสน่ห์หนึ่ง หรือเป็นลายเซ็นของหนังต้นฉบับ ที่ไม่ได้หมายถึงอารมณ์ขันจากโปรดักชันราคาถูก หรือจากการแสดงที่ไม่ใช่งานระดับมืออาชีพ
เรื่องราวที่ถูกทิ้งท้าย ทั้งในเรื่องของสถานที่ และตัวละคร การที่คัมภีร์ซึ่งแดนนีกับน้อง ๆ ค้นพบ ถูกนำเสนอว่าเป็นเพียงหนึ่งคัมภีร์แห่งความตาย ที่มีอยู่สามเล่ม ‘Evil Dead Rise’ เปิดทางสำหรับการสานต่อเอาไว้โล่งโจ้ง ใครก็ตามที่มารับงานต่อ สามารถพาเรื่องคัมภีร์แห่งความตายขยับขยายไปได้อีกไกล ไม่ว่าจะเป็นตัวเรื่อง การเล่าเรื่อง สถานที่เกิดเหตุ และตัวละคร โดยไม่น่าจะยากเย็น
ประเด็นอยู่แค่ว่า ตัวเรื่องจะน่าสนใจ และเล่าออกมาได้สนุกสนานขนาดไหน เพราะกับงานทั้งหมดของหนังชุดนี้ ตั้งแต่หนังใหญ่ของไรมี 3 เรื่องแรก ซีรีส์โทรทัศน์ หนังรีบูตของอัลวาเรซ และเรื่องนี้ ทุกเรื่องไม่มีตกมาตรฐาน อาจจะมีขาดตรงนั้นบ้าง แต่ตรงนี้ก็มีดีพอจะกลบเกลื่อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ‘Evil Dead’ กลายเป็นผีอมตะ มีชีวิตมาได้จนถึงปัจจุบัน โดยที่ยังคงความเป็นงานสยองเกรดบี เสน่ห์ และลายเซ็นเดิม ๆ ที่ทำให้แฟน ๆ รักเอาไว้ได้
กำกับภาพยนตร์: ลี โครนิน บทภาพยนตร์: ลี โครนิน จากตัวละครของแซม ไรมี นักแสดง: ลิลี ซุลลิแวน, อลิสสา ซุเธอร์แลนด์, มอร์แกน เดวีส์, แกเบรียลล์ เอคอลส์, เนลล์ ฟิเชอร์
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 34 ฉบับที่ 4 พฤษภาคม 2566