
จากบทหนึ่งในหนังสือ Mafia Queens of Mumbai: Stories of women from the ganglands ของ เอส. ฮุสเซน ซาอิดี ที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2011 ซึ่งเป็นเรื่องของผู้หญิง 13 คน ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวพันกับเรื่องอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในมุมไบ ที่ว่าด้วยชีวิตของคังคุไบ คาเฐียวดี หญิงสาวที่ถูกแฟนหนุ่มนำมาขายในซ่องนางโลมที่ย่านกามธิปุระ แล้วไต่เต้าจากการเป็นโสเภณีไปเป็นแม่เล้า และแม่พระของผู้คนในย่านนั้น ไม่ว่าจะเป็นโสเภณี หรือว่าบรรดาเด็กกำพร้าจรจัด ความพยายามจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ของเธอ นำไปสู่การได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเยาวหราล เนห์รู ของอินเดียในเวลาต่อมา
ไม่ทราบว่าเรื่องราวในหนังสือ ที่เป็นบทตอนของเธอเล่าเอาไว้อย่างไร แต่หนังของผู้กำกับแสนเจย์ ลีลา บันสาลี ที่ร่วมเขียนบทกับอัตคาร์ชินี วาชิชธาด้วย เปิดเรื่องด้วยเด็กสาวคนหนึ่งที่ถูกนำมาขายตัวแต่ไม่ยอมรับแขก จนต้องตามคังคุไบมาให้คำปรึกษา ที่พาย้อนกลับไปหาความเป็นมาแต่หนหลังของคังคุไป ตั้งแต่ยังเป็นคงคา เด็กสาวมีความรู้ อ่านออกเขียนได้ ในครอบครัวมีฐานะ และหนีตามรามนิก แฟนหนุ่มมาบอมเบย์ ด้วยหวังจะได้เป็นดารา หากกลับกลายถูกนำมาขายในซ่องบนถนนกามธิปุระ
คอหนังไทยที่อายุพ้นวัย 50 ไปแล้วสักระยะ อาจจะรู้สึกคุ้น ๆ เพราะคลับคลากับเรื่อง ‘เทพธิดาโรงแรม’ ที่ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล นำนิยายของณรงค์ จันทร์เรืองมาขึ้นจอ ให้วิยะดา อุมารินทร์ รับบทมาลี หญิงสาวที่ถูกหลอกมาขาย โดยลวงว่าจะพาไปเป็นดารา แต่ท้ายที่สุด เธอกลับกลายเป็น “มาลี กระหรี่ที่สวยที่สุดในโลก” แทน
เพราะชีวิตมีทางเลือกไม่มากนัก หากได้กลับบ้านคนที่บ้านใช่ว่าจะยอมรับเธอเหมือนที่เคยเป็น ทางออกของคงคามีแค่ขายตัวหรือตาย และเธอก็เลือกทางแรก ที่ทำให้ตัวเองกลายเป็นคังคุ ชื่อที่แขกคนที่บอกเธอว่า ชีวิตเธอจะไม่ได้อยู่เพียงแค่นี้ ตั้งให้ เธอเป็นดาวของบ้านโคมแดงหลังนี้ในเวลารวดเร็ว แต่การรับแขกที่เป็นลูกน้องมาเฟียใหญ่ในกามธิปุระ คือจุดพลิกผันสำคัญในชีวิตคังคุ ส่งให้เธอได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนในกามธิปุระมาจนถึงทุกวันนี้ ได้เป็นคนในข่าว ได้ขึ้นหน้าปกนิตยสาร ราวกับดารา อาชีพที่เธอฝันถึงเมื่อจากบ้านมา แม้รายละเอียด และสาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้นจะแตกต่างกันมากมาย
เรื่องราวของ ‘Gangubai Kathiawadi’ ไม่ผิดเพี้ยนจากหนังอัตชีวประวัติทั่วไป ไม่มีอะไรที่พลิกแพลงในแง่การเล่าเรื่อง ทุกอย่างดำเนินไปไม่ซับซ้อน นำเสนอสิ่งที่ตัวละคร คังคุไบ คาเฐียวดี แม่เล้าหรือเจ้าของสถานบริการ ‘ทำ’ ทั้งการปฏิบัติต่อผู้อยู่ในการดูแลแตกต่างจากคนอื่น ๆ การต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงที่ทำมาหากินในกามธิปุระ และพร้อมช่วยเหลือหญิงสาวที่เข้ามาอยู่ที่นี่โดยไม่เต็มใจ รวมถึงบรรดาเด็กกำพร้าและเด็กจรจัด ที่จะเรียกเธอว่าเป็นแม่พระในย่านนี้ก็คงใช่
หนังเติมความหลากหลายของเรื่องราว ความฉูดฉาดในแง่มุมต่าง ๆ เสริมลงมา ไม่ว่าจะเป็นความรักของเธอกับช่างตัดเสื้อหนุ่ม ที่เป็นส่วนโรแมนซ์ของหนัง เป็นความนุ่มนวล อ่อนหวาน และยังใช้ย้ำถึงความเสียสละของคังคุไบในภายหลัง ที่ส่งการเป็นแม่พระของเธอให้โดดเด่นยิ่งขึ้น
เรื่องการปฏิบัติที่เธอได้รับจากทางบ้าน ซึ่งทำให้กามธิปุระคือสถานที่แห่งเดียวที่คังคุไบได้รับการยอมรับ กลายมาเป็นเหตุเป็นผลที่ว่า ทำไมเธอถึงต้องทุ่มเทสุดตัวเพื่อผู้คนในย่านนี้
มีการต่อสู้ทางการเมือง เมื่อคังคุไบลงสมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ได้เจอคู่ปรับ อย่าง ราเซียไบ ซึ่งนั่งเก้าอี้นายกเทศมนตรีมาหลายสมัย ที่หนังสร้างตัวละครรายนี้ราวกับเป็นปีศาจร้าย เป็นคู่ต่อกรที่ยากเอาชนะ
ท้ายที่สุด คังคุไบต้องต่อสู้กับสถาบัน เมื่อโรงเรียนในย่านกามธิปุระหาทางย้ายซ่องนางโลมทั้งหลายออกไป ที่กลายเป็นการพาเธอไปพบเยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีของอินเดียในตอนนั้น
หากภายใต้ความหลากหลายของเรื่อง แม้จะน่าติดตาม แล้วก็มีบทสนทนาสวย ๆ มีคำพูดที่สามารถนำไปใช้เป็นคำคมมากมาย การคลี่คลายสถานการณ์ต่าง ๆ ของหนังกลับดูง่ายดาย การเล่าเรื่องเป็นตอน เป็นบท จนหนังเหมือนจะถึงจุดพีกของเรื่องอยู่หลายหน ต่อให้วางสถานการณ์ที่ใหญ่โตที่สุดเป็นไคลแม็กซ์ แต่การผ่านสถานการณ์ที่พาอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่หลายครั้ง ไม่แปลกที่จะรู้สึกเนิบเนือยขึ้นมา เพลงที่ใส่เข้ามาก็ใช่ว่าจะถูกจังหวะลงตัวกับการเล่าเรื่องไปทุกเพลง แม้จะมองว่าเป็นลายเซ็นเป็นของที่ต้องมีในงานบอลลีวูด แต่ถ้าไม่ถูกที่ถูกทาง จังหวะอารมณ์ไม่ได้ ต่อให้ฟังเพราะ เนื้อหารับกับเรื่อง ก็เป็นสิ่งที่ทำให้หนังยืดยาวไปโดยใช่เหตุ ถึงเพลงใน ‘Gangubai Kathiawadi’ ไม่ได้ยาว และมีจำนวนมากเท่าเพลงในหนังบอลลีวูดส่วนใหญ่ก็ตาม
งานโปรดักชันที่ดูดี สวย ทั้งภาพ ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม มีเสน่ห์ ชวนให้เพริดไปกับเรื่องราวและสิ่งที่เห็นบนจอได้ไม่ยาก หลายฉากหลายสถานการณ์ถูกปั้นให้ดู ‘สวย’ หรือ ‘ยิ่งใหญ่’ เกินกว่าเรื่อง ซึ่งด้วยมายาของหนัง อาจพาคิดไปไกลถึงว่า นี่คือชีวิตที่มีสีสัน ดูดี พาให้หนังคลับคลาจะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ เมื่อมีด้านเดียวของคังคุไบถูกแบให้เห็นชัด ๆ นอกจากภาพลักษณ์ที่ดูดี คือด้านของการเสียสละ ทำเพื่อคนอื่น ๆ ถึงในความเป็นจริง ผู้คนในกามธิปุระยังให้ความเคารพนับถือเธอ จากสิ่งที่เธอทำมาจนถึงทุกวันนี้ เห็นได้จากการมีรูปภาพหรือรูปปั้นของคังคุไบติดและตั้งในร้านรวงต่าง ๆ
แต่อย่าลืมว่ายังมีอีกด้านที่ควรจะเผยให้เห็น (บ้าง) เมื่อคังคุไบคือคนในโลกใต้ดิน ประกอบอาชีพสีดำๆ พัวพันกับมาเฟียใหญ่ แต่สัมผัสของการก่ออาชญากรรม หรือกระทำสิ่งผิดกฎหมายร้ายแรง หรือว่าด้านมืดของเธอ กลับเผยให้เห็นเพียงบางเบา และถูกละเลยไปในเวลาอันรวดเร็ว
ผู้กำกับ: แสนเจย์ ลีลา บันสาลี เขียนบท: แสนเจย์ ลีลา บันสาลี, อัตคาร์ชินี วาชิชธา จากเรื่องของ เอส. ฮุสเซน ซาอิดี นักแสดง: อาเลีย บัตต์, ฉันทนุ มาเฮชวารี, วิเจย์ ราซ, อินทิรา ทิวารี, ซีมา พาฮวา
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 33 ฉบับที่ 5 พฤษภาคม 2565
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่