ด้วยชื่อและการที่ตัวละครหลักเป็นนักฆ่าหญิง ไม่แปลกที่แว่บความคิดแรก หลังจากรับรู้เรื่องราวของหนังเรื่องนี้ จะทำให้นึกถึงงานแอ็กชัน 2 ภาคของเควนติน ทารานติโน Kill Bill
ขณะที่พอลงลึกไปถึงรายละเอียดบางส่วนของเรื่อง ที่ตัวละครเป็นนักฆ่ามีสังกัด มีองค์กรดูแล และไม่ได้มีแค่บริษัทเดียว หากมีหลากหลาย แล้วยังรวมตัวกันเป็นสมาคมหรือสหพันธ์ มีกฎในการทำงาน มีตำแหน่ง มีลำดับชั้น ไม่แปลกอีกเช่นกัน หากแว่บที่สองของความคิด จะทำให้นึกถึง เดอะ คอนติเนลตัล ศูนย์รวมนักฆ่าจากหนัง John Wick
แต่ก็เป็นอีกครั้ง ที่คนทำหนังชาวเกาหลีสามารถพาเนื้อหนังที่ดูซ้ำ ๆ มาปั้นยำเป็นงานที่ดูสนุก มีเสน่ห์เฉพาะตัวได้ ต่อให้นึกถึงงานอีกหลาย ๆ เรื่อง นอกจากสองเรื่องที่ว่ามาในตอนต้นก็ตามที
เพราะจริง ๆ แล้ว สิ่งที่หนังนำเสนอหรือเรื่องราวที่เป็นศูนย์กลางของ Kill Boksoon ไม่ใช่เรื่องราวการล้างแค้นของพวกมือสังหาร หรือสงครามนักฆ่า แต่เป็นความสัมพันธ์ของแม่กับลูกสาว ที่อยู่ภายใต้แนวทางหลัก ซึ่งเป็นงานแอ็กชัน ตลกร้าย ที่นำเสนอฉากบู๊ทั้งหลายได้อย่างมีสไตล์
กิลบ็อกซูน ตัวละครหลักของเรื่องที่ชื่อยังล้อกับชื่อหนัง เป็นนักฆ่าแม่เลี้ยงเดี่ยวของบริษัทเอ็มเค เอนต์ เธอใช้ชีวิตอยู่กับแจยอง – ลูกสาว ซึ่งบ็อกซูนที่บอกกับลูกว่าตัวเองทำงานบริษัทจัดอีเวนต์ เหมือนจะจัดการกับลูกสาวได้ไม่ดีเท่ากับการเป็นมือสังหารมือวางอันดับ 1 ของบริษัท ขณะที่ตัวแจยองก็ทำตัวห่างเหินกับแม่ และการที่ทั้งสองคนต่างเก็บตัว ปกปิดตัวเองเอาไว้ ก็ทำให้เหมือนมีขวางกำแพงระหว่างกัน ทั้งห่างเหิน ทั้งไม่ลงรอยกัน
แต่เมื่อรับงานที่อาจจะเป็นชิ้นสุดท้าย เพราะกำลังจะหมดสัญญาจ้างกับบริษัท และคิดจะอยู่บ้านดูแลลูกสาว โดยมีเด็กสาวนักฆ่ามือใหม่มาเป็นลูกมือ ส่วนเหยื่อก็เหมือนกับถูกใช้เป็นเครื่องมือของใครบางคน ทำให้บ็อกซูนตัดสินใจบางอย่าง ซึ่งเป็นการพาตัวเองไปสู่การเป็นเป้าสังหารของบริษัท ในช่วงเวลาเดียวกันแจยองก็มีปัญหาที่โรงเรียน เมื่อเพื่อนคนหนึ่งพยายามแบล็คเมลเธอ
มันก็กลายเป็นจุดพลิกผันในความสัมพันธ์ของแม่ลูกคู่นี้ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทั้งสองต่างเจอสถานการณ์ที่ย่ำแย่สุด ๆ
หลังเปิดเรื่องได้อย่างมีสไตล์ ด้วยฉากการปฏิบัติภารกิจของบ็อกซุน ที่ไม่ใช่แค่งานด้านภาพจะสวย คิวบู๊ดูดี ผู้กำกับ-เขียนบท บยุนซังฮยุน ที่หนังเรื่องก่อน The Kingmaker ทำให้เขาได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมของแพ็คซัง อะวอร์ดส์ ส่วนตัวหนังก็เป็นตัวแทนเกาหลีเข้าชิงรางวัลออสการ์เมื่อปีที่ผ่านมา (2022) ยังแนะนำทั้งตัวละคร ทั้งตัวหนังให้คนดูรับรู้ไปพร้อม ๆ กัน ผ่านการแสดงออกของบ็อกซูนและเหยื่อที่เธอต้องจัดการ โดยมีลูกเล่นในการเล่าเรื่อง ที่ถูกอธิบายในเวลาต่อมาว่า เป็นการมองหาจุดอ่อน-จุดแข็งของศัตรู ของกิลบ็อกซูน
เรียกว่าบอกได้ครบ นี่คืองานแอ็กชัน ที่มาพร้อมอารมณ์ขันกวน ๆ ในทางของหนังตลกร้าย เสียดสี ตัวละครหลักของเรื่องก็ร้าย แสบ และแซ่บ สมกับเป็นตัวละครในงานทำนองนี้ แล้วยังแทรกสถานการณ์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของบ็อกซุนกับแจยอง ระหว่างชมข่่าวที่กลายมาจุดเปลี่ยนของทั้งคู่หลังจากนี้เข้ามา โดยไม่ขัดกับอารมณ์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเปิดให้รับรู้ สิ่งที่จะกลายเป็นประเด็นหลักของหนังเข้ามาได้อย่างลงตัว เนียนสนิทไปกับเรื่องราว
การสอดแทรกสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้เข้ามา เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Kill Boksoon “ลึก” กว่าการเป็นหนังแอ็กชัน และ “กว้าง” กว่าการเป็นหนังชีวิตนักฆ่าแม่เลี้ยงเดี่ยว เมื่อบ้างก็ช่วยขยับขยายตัวตนของตัวละครให้ชัดเจนมากขึ้น บ้างก็ทำให้เรื่องมีประเด็น และมุมมองมากกว่าเดิม บ้างก็ช่วยเติมอารมณ์ขันให้หนัง โดยเฉพาะแง่มุมเชิงเสียดสี เย้ยหยัน
ไม่ว่าจะเป็น องค์กรนักฆ่าแต่ดันมามีกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการดำเนินงาน หากที่สุดแล้ว มันก็คือกฎที่ไม่ใช่กฎ เมื่อคนที่พร้อมละเมิดก็คือ คนที่ตั้งกฎขึ้นมา การฝึกมือสังหารที่ไม่ต่างไปจากการฝึกพ็อปไอดอล แถมยังมีการโคฟ (Cover) สถานการณ์จริง รวมถึงสถานภาพของบ็อกซูนที่ราวกับซูเปอร์สตาร์ในวงการคนฆ่าคน รวมถึงสังคมของพวกนักฆ่า หรือพวกผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนหรู ที่ดูไม่ต่างกัน เมื่อล้วนพยามยามมีหน้ามีตาในแวดวงของตัวเอง ไล่ไปจนถึงการยอมรับเรื่องรักร่วมเพศในสังคมเกาหลี
แต่เมื่อประดามีเหล่านี้เป็นสิ่งละอันพันละน้อย ที่หยดหยอดเข้ามาเป็นระยะ ๆ ทำให้ความฉูดฉาดมันไม่บาดตาบาดใจนัก แล้วก็ง่ายสำหรับการถูกมองข้าม จนไม่รู้สึกถึงความ “พิเศษ” ที่อยู่ใน หนัง จนดูเหมือนว่านี่ก็แค่งานแอ็กชันดาด ๆ ที่ฉากบู๊ สวยเท่ หากตัวเรื่องออกย้วย ๆ ถ้ามองเป็นงานแอ็กชัน ขายสไตล์ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว Kill Boksoon เป็นมากกว่านั้นอยู่แล้ว ยังดีที่หนังมีฉากแอ็คชันใหญ่ ๆ ดูสวยแทรกเป็นระยะ ๆ ไม่งั้นก็อาจรู้สึกว่า นี่คืองานที่หนืดเนือย เมื่อหน้าหนังเปิดมา ว่าเป็นงานเลือดเดือดขนาดนั้น จนทำให้เกิดความคาดหวังตามมา
เรื่องราวความสัมพันธ์แม่ลูก ซึ่งต่างปกปิดตัวตนของตัวเองต่อกันและกัน จนกลายเป็นการก่อกำแพงกั้นขวางความสัมพันธ์ ที่เป็นแกนและแก่นของหนัง ก็แข็งแรงและสามารถเทียบเคียงกันได้แบบพอดิบพอดี ราวกับจะเปรียบให้เห็นว่า ชีวิตผู้คนไม่ว่าจะเป็นวัยไหน ต่างก็สามารถเจอหรือมีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในชีวิต ที่ฝายหนึ่งปกปิดอาชีพที่แท้จริงของตัวเอง อีกฝ่ายก็ปกปิดรสนิยมทางเพศเอาไว้ แล้วจุดพลิกผันที่พาไปเจอสถานการณ์เลวร้ายก็ไม่ต่างกัน ฝ่ายแรกคือเพื่อน ๆ ในบริษัทและตัวองค์กรบริษัท ส่วนฝ่ายหลังก็คือเพื่อน ๆ และคนรักในโรงเรียน
ชีวิตของบ็อกซูนก็ย้อนแย้งไม่น้อย เมื่อจัดการกับงานยาก ๆ ที่ต้องเสี่ยงชีวิตได้ง่าย ๆ แต่การใช้ชีวิตกับลูกสาวกลับเป็นเรื่องที่ตรงกันข้าม ที่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับชีวิตจริง ๆ ของผู้คนได้มากมาย คนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องหน้าที่การงาน แต่ดันทำได้ไม่ดีในเรื่องการบริหารครอบครัว หรืออาจจะเรียกได้ว่า ล้มเหลวเลยด้วยซ้ำ สำหรับในบางกรณี
จากหน้าตาที่ดูเป็นงานแอ็กชันเอามันส์ Kill Boksoon นอกจากจะเป็นหนังแอ็กชัน ขายสไตล์ ที่คิวบู๊ดูฉูดฉาด มีอารมณ์ขันเสียดสีแสบ ๆ เป็นเสน่ห์ และมีแก่นเป็นเรื่องชีวิตครอบครัว ที่ไม่ใช่แค่ทำให้ตัวเองมีมิติ มีความลึก เท่านั้นแล้ว ปมประเด็นตรงนี้ที่หนังนำเสนอ บางทีทำได้สนุก และดูดีกว่าหนังดรามาว่าด้วยความสัมพันธ์ในครอบครัวแท้ ๆ หลาย ๆ เรื่อง ด้วยซ้ำไป
ซึ่งกลายเป็นการยกระดับ สร้างความแตกต่างให้กับตัวเองได้ในคราวเดียวกัน
กำกับ: บยุนซังฮยุน เขียนบท: บยุนซังฮยุน นักแสดง: จอนโดยอน, ซอลคยุงกู, คิมซีอา, อีแจวุก, อีซม, คูคโยฮวาน ทาง: เน็ตฟลิกซ์
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 34 ฉบับที่ 8 ตุลาคม 2566
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่