แอนิเมชันไอ้แมงมุมเรื่องแรก ภายใต้การสร้างสรรค์ของผู้กำกับ-เขียนบท ฟิล ลอร์ด ที่เคยจับมือกับคริสโตเฟอร์ มิลเลอร์ ช่วยกันทำให้หนังตัวต่อเลโกกลายเป็นงานที่ลุ่มลึก ถือเป็นงานระลอกต้น ๆ เกี่ยวกับการเดินทางข้ามจักรวาลไปมาของตัวละครในจักรวาลภาพยนตร์ของมาร์เวล
ใน ‘Spider-Man: Into the Spider-Verse’ ผู้ชมจะได้เห็นการข้ามมิติมารวมตัวกันไอ้แมงมุมจากจักรวาลต่าง ๆ ที่แต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัวผิดแผกกันตามที่มา ซึ่งเป็นเสน่ห์หนึ่งของหนังเรื่องนี้ ที่ตัวเรื่องก็มีจุดพลิกผันยากคาดเดา มากเซอร์ไพรส์ เล่าเรื่องได้สนุก มีครบอารมณ์ขัน, โรแมนซ์, แอกชัน ความซาบซึ้ง ประทับใจ มีประเด็นที่หนักหนาแบบเดียวกับที่พบหาได้จากหนังไอ้แมงมุมฉบับคนแสดงในเวอร์ชันต่าง ๆ
งานโปรดักชันก็เยี่ยมยอด ใช้ศักยภาพการเป็นแอนิเมชัน และงาน ‘ลายเส้น’ ได้อย่างเต็มที่ พร้อมนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาบวก จนเป็นงานที่ดูโดยอารมณ์ก็สนุก ชมด้วยใจได้ก็มีความสุข รับรู้ผ่านการมองเห็นก็ตื่นตา เรียกว่าเป็น แอนิเมชัน คลาสสิก ได้ในทันทีที่ออกฉาย และไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่จะกลายเป็นงานรางวัลเมื่อฤดูประกาศรางวัลมาถึง
ไม่มีชื่อให้เห็นนะซิ แปลก!!
ความสำเร็จทั้งคำวิจารณ์-รายได้ และรางวัล การเป็นงานที่มีความแข็งแรงของ แบรนด์ (Brand) ชัดเจน ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์เช่นกัน ที่ไมลส์ โมราเลสหรือไอ้แมงมุมในโลกรหัส 1610 จะกลับมาห้อยโหนโจนทะยานอีก อย่างน้อยก็ 2 ครั้ง
หาก ‘Spider-Man: Across The Spider-Verse’ เรื่องราวไม่ได้เริ่มที่โลกและชีวิตของไมลส์ แต่เป็นที่โลกรหัส 65 ซึ่งเกว็น สเตซีที่ยังคิดถึงไมลส์ ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างอึดอัด ทั้งการไม่รู้สึกว่าตัวเองเข้ากับใครหรือมีใครที่เข้ากับเธอได้ ทั้งต้องปกปิดไม่ให้พ่อรู้ว่าเธอเป็นแมงมุมสาว ขณะที่พ่อหมายหัวซูเปอร์ฮีโรสตรีรายนี้เอาไว้ ด้วยเข้าใจว่าเธอฆ่าปีเตอร์ ปาร์เกอร์ของโลก 65 ที่เป็นตัวร้าย เมื่ออยากมีพลังพิเศษเหมือนเธอ
แต่หลังเผชิญหน้ากับวัลเฌอร์ แบบเรเนสซองส์จากจักรวาลอื่น และเผยความจริงกับพ่อ เกว็นได้พบมิเกลและเจสสิกา สองแมงมุมที่มาจัดการวัลเฌอร์จากอีกจักรวาล เจสสิกาเสนอให้มิเกลพาเธอไปร่วมสังคมแมงมุม (Spider-Society) ซึ่งเขารับปาก หากก็ไม่ค่อยเต็มใจนัก
ไมลส์ในโลก 1610 ก็วุ่นวายกับชีวิตประจำวัน ที่เต็มไปด้วยความคาดหวังของพ่อและแม่ แล้วยังจมอยู่กับการจากไปของเกว็น ส่วนชีวิตในฐานะซูเปอร์ฮีโร เขาต้องรับมือสป็อต วายร้ายที่จุดดำบนร่างเป็นช่องทางไปสู่มิติต่าง ๆ และเป็นเป้าหมายที่มิเกลต้องการจัดการ โดยให้เกว็นมาสังเกตการณ์ความเป็นไปของสปอต แต่เธอก็อดมาพบไมลส์ไม่ได้ ทั้งที่เจสสิกาสั่งห้ามเอาไว้ จนเกิดเรื่องใหญ่โตตามมา เมื่อไมลส์แอบตามทั้งคู่ที่ไล่ล่าสปอตถึงมุมบัตตัน เมืองในโลกรหัส 50101 ซึ่งทั้งสามคนกับไอ้แมงมุมอินเดียและไอ้แมงมุมพังก์ ร่วมกันต่อสู้กับสปอตที่มีพลังในตัวเพิ่มมากขึ้น จนเมืองได้รับความเสียหายอย่างหนัก ขณะที่สมาชิกของสังคมแมงมุม มาเคลียร์ความเสียหายที่นี่ ไมลส์, เกว็น, เจสสิกา, อินเดีย และไอ้แมงมุมพังก์ก็เดินทางไปยังสังคมแมงมุมบนโลกรหัส 928 ที่นี่มิเกลเผยความจริงกับพวกเขาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในมุมบัตตันนั้นหนักหนาในระดับทำให้พหุจักรวาลเสียหาย เมื่อ ‘ปม’ ร่วมกันของเหล่าไอ้แมงมุมในทุกจักรวาล ได้รับผลกระทบจากการกระทำของไมลส์ ซึ่งเจ้าตัวยังได้รับรู้ว่าการเป็นไอ้แมงมุมของตัวเอง ไม่ใช่แค่ทำให้เขาเป็นคนนอกของคนทั่วไปเพราะมีพลังพิเศษในตัว แต่ยังทำให้เขาเป็นคนนอกของสังคมแมงมุม รวมถึงจักรวาลของตัวเองด้วยเช่นกัน
จากเรื่องที่ (ดู) เหมือนจะมีแค่การตามล่าสปอต ตัวร้ายที่แสบเอาเรื่องตามจักรวาลต่าง ๆ ‘Spider-Man: Across The Spider-Verse’ ยกระดับความซับซ้อนมากขึ้น เมื่อตัวละครไปมีส่วนร่วมอยู่ในหลาย ๆ เหตุการณ์ ตัวละครศูนย์กลางก็ไม่ได้มีแค่ไมลส์ หากยังมีเกว็น ที่ยังมีเรื่องส่วนตัวให้สะสาง ทั้งที่เกี่ยวพันกับไมลส์ และสิ่งที่เป็นไปในจักรวาลของเธอเอง
ไม่ใช่แค่นี้ เพราะลอร์ด, มิลเลอร์ และเดวิด คัลลาแฮนที่ร่วมกันเขียนบท ใส่ความยุ่งเหยิงเพิ่มเติมมาอีก เมื่อไมลส์ตัดสินใจกลับมายังโลกของตัวเอง เพื่อทำสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ‘ปม’ ที่เขามีร่วมกับมนุษย์แมงมุมคนอื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคน ‘บริสุทธิ์’ มากมาย แต่ด้วยอะไรบางอย่าง ทำให้บางทีเขาอาจทำอย่างที่ต้องการไม่ได้ ส่วนเกว็นที่ถูกขับจากสังคมแมงมุม ก็ร่วมทีมกับเพื่อน ๆ ที่เธอรู้สึกว่าเข้ากับเธอได้และเธอเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา เพื่อหาทางช่วยไมลส์
หนังทิ้งท้ายเอาไว้ตรงนี้ ในแบบที่ผู้ชมต้องเก็บกวาดให้เคลียร์สะอาดกันในหนังเรื่องที่สาม ‘Spider-Man: Beyond The Spider-Verse’ โดยต้องแบกข้อมูล รายละเอียดมากมายเอาไว้ในความทรงจำ เพราะด้วยความซับซ้อนของเรื่องและพล็อต ‘Spider-Man: Across The Spider-Verse’ ไม่ใช่แค่เยอะเงื่อนปม ประเด็น ไม่ใช่เพียงมากความสัมพันธ์ที่ตัวละครมีต่อกัน แต่สิ่งละอันพันละน้อย ระดับรายละเอียดยังมีให้เก็บมากมาย
ถือเป็นงานที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน กล้าหาญ และสร้างสรรค์สุดขั้ว ในแบบที่หลอกคนดูอยู่พักใหญ่ กินเวลาเกินกว่าครึ่งเรื่องของหนังที่ยาว 2 ชั่วโมงกว่าเกือบครึ่ง ถึงเผยตัวตนจริง ๆ ของตัวเองออกมา เมื่อไมลส์เดินทางมาถึงสังคมแมงมุม หากก็มีกุญแจสำคัญที่เกี่ยวพัน ความเป็นมาที่โยงใยกับเหตุการณ์ก่อนหน้า ที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกันอย่างเหนียวแน่น
การเล่าเรื่องที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว แทรกสลับด้วยฉากแอ็กชันใหญ่ ๆ เป็นระยะ ๆ หนังมีเวลาอธิบาย หรือย้ำสิ่งที่ผู้ชมควรโฟกัสไม่มากนัก นี่คืองานที่ผู้ชมต้องทำงานหนัก หากอยากเก็บเกี่ยวความบันเทิงจากเรื่องและพล็อต ที่มีจุดพลิกผันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่นใหญ่ เช่น ประเด็นจริง ๆ ของหนัง หรือเรื่องหลอกผู้ชมง่าย ๆ แต่ก็ยังได้ผล อย่าง การส่งตัวละครไปอยู่ผิดที่ผิดทาง ซึ่งไม่ได้เล่นแค่กับคนที่นั่งในโรงภาพยนตร์ แต่ยังสนุกกับตัวละครด้วยกัน ตลอดจนเรื่องเล็ก ๆ ที่เป็นคำตอบให้กับบางอย่าง ที่เมื่อเห็นในตอนต้นเหมือนไม่มีอะไร ก่อนกลายเป็นของที่ชงแล้วตบได้สวย ๆ ในช่วงท้าย
แต่ถ้าตามไม่ทัน หรือเก็บได้ไม่มาก แถมทำรายละเอียดหล่นหายไปเยอะแยะ ก็น่าจะพอสนุกได้กับบรรดาฉากแอ็กชัน ที่ใช้ศักยภาพของการเป็นงานแอนิเมชันได้แบบสุด ๆ เมื่อดูตื่นตา เต็มไปด้วยความฉูดฉาดจัดจ้านของไอเดีย รวมถึงมีลูกเล่นมากมาย
อารมณ์ขันที่แซมเข้ามา หลาย ๆ มุกไม่ใช่เรื่องฮาอย่างเป็นสากล เมื่อเป็นมุกส่วนตัวของตัวละคร หรือมีที่มาจากลักษณะเฉพาะของพวกเขา ซึ่งคนที่หัวเราะหรือยิ้มออกก็คงเป็นแฟนานุแฟนของ ‘Spider-Man’ ผู้ชมในกลุ่มนี้นอกจากไปกันได้กับอารมณ์ขันส่วนใหญ่ของหนัง ก็คงสนุกได้อีกระดับจากการเผยที่ีมาของสถานการณ์ในเรื่องหรือตัวละครบางราย ว่าหยิบมาจากหนังสือการ์ตูนเล่มไหน หน้าปกเป็นอย่างไร ที่ปล่อยให้เห็นในสถานการณ์ที่ต้องตรงกัน
งานด้านภาพไม่ใช่เพียงออกมาเยี่ยมในฉากแอ็กชัน การเล่าเรื่องก็ขยับไปอีกจากภาคแรก เมื่อกล้าใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่มีทั้งการแบ่งเฟรม การใช้ช่องใส่ตัวอักษรแบบหนังสือการ์ตูน ซึ่งน่าจะพอคุ้น ๆ กันดีอยู่ รวมถึงการออกแบบตัวละคร การใช้เทคนิคในการวาดภาพแยกจักรวาลของแต่ละคน เช่น โลกของเกว็นใช้เทคนิคสีน้ำ ที่นอกจากแยกโลกของตัวละครแล้ว ยังช่วยสร้างความน่า ‘ตื่นตา’ เสริม ‘เสน่ห์’ โดยมีลักษณะของงานศิลป์ในที ดนตรีประกอบก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่าง เหตุการณ์ในมุมบัตตัน (ซึ่งชื่อมาจากมุมไบกับแมนฮัตตัน) ก็มีอิทธิพลดนตรีอินเดียในเนื้องาน หรือการใช้เพลงฮิปฮ็อป กับอาร์แอนด์บีในช่วงเวลาที่ไม่เหมือนกัน
ตัวละครก็ขยับขอบเขตไปอีก มีความเป็นมนุษย์ในตัว เติบโตขึ้นตามวัย ซึ่งทำให้ต้องรับมือกับความคาดหวังของผู้ใหญ่ที่เพิ่มขึ้นจากเดิม การปกปิดชีวิตบางด้านของตัวเองจากคนรอบข้าง และที่โดดเด่นที่สุด การเป็นคนนอก ที่ความเป็นซูเปอร์ฮีโรทำให้พวกเขาแตกต่างจากคนทั่วไป และกับบางคน ความเป็นมาก็ทำให้ตัวเองเป็นคนนอกในโลกของคนนอกอีกที
ส่วนความสัมพันธ์ของพ่อกับลูก ก็คือความซาบซึ้ง และความประทับใจของหนัง ที่ทำงานอย่างได้ผล
บางมุมมอง บางความคิดของตัวละคร ก็ทาบทับกับตัวละครใน ‘Spider-Man’ ฉบับคนแสดง อย่าง การตัดสินใจของไมลส์ ที่วิธีคิดเหมือนปีเตอร์ ปาร์เกอร์ของฮอลแลนด์ ในหนังใหญ่ภาคล่าสุด ซึ่งตอกย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นฉบับไหน ชีวิตของไอ้แมงมุมก็เต็มไปด้วยความซับซ้อน มีความหม่นทึมทั้งในตัวเองและการใช้ชีวิต
การเป็นงานที่สุดสร้างสรรค์ไม่ว่าจะในแง่มุมไหนแบบนี้ นอกจากต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยว ความกล้าหาญ และความทะเยอทะยานของคนทำงาน ผู้ชมก็ต้องใช้สิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกัน ประมาณว่าถ้าชะตากรรมของไมลส์ โมราเลส เหนื่อยแค่ไหน ชีวิตของเกว็น สเตซีที่เป็นเจ้าของหนังอีกคนรันทดเพียงใด คนดูก็ต้องพยายามและหม่นหมองไม่แพ้กัน เพื่อที่จะ ‘Across The Spider-Verse’ ให้สำเร็จ
แม้จะเยี่ยมและ ‘ยาก’ ทั้งในการสร้างงานและการชม แต่ผลลัพธ์ก็คุ้มค่า ถึงในแง่ของงานเพื่อความบันเทิงแท้ ๆ อาจไม่ถึงกับเต็มร้อย แต่ในเรื่องการเป็นงานพาณิชย์ ‘ศิลป์’ นี่คือภาพยนตร์ที่ทำให้การรอคอยการมาถึงของ ‘Spider-Man: Beyond The Spider-Verse’ มากด้วยความคาดหวังที่สูงลิบลิ่ว
ผู้กำกับ: โจอาคิม ดอส ซานโตส, เคมป์ พาวเวอร์ส, จัสติน เค.ธอมป์สัน ผู้เขียนบท: ฟิล ลอร์ด, คริสโตเฟอร์ มิลเลอร์, เดวิด คัลลาแฮม โดยมีที่มาจาก มาร์เวล คอมิกส์ นักแสดง: (ให้เสียง) ชามีก มัวร์, ไฮลี สไตน์เฟลด์, ไบรอัน ไทรี เฮนรี, ลูนา ลอเรน เวเลซ, เจก จอห์นสัน, เจสัน ชวาร์ตซ์แมน, อิสซา แร, คาแรน โซนี, แดนียล คาลูยา, ออสการ์ ไอแซ็ก
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 34 ฉบับที่ 5 มิถุนายน 2566
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่