Movie ReviewREVIEW

ดูมาแล้ว THE LAST DUEL เกียรติยศของสตรี ในการย่ำยีและปกป้องของบุรุษ กับทัศนคติของคนเพศเดียวกัน ****

หนึ่งในหนังสองเรื่องของผู้กำกับริดลีย์ สก็อตต์ ที่ออกฉายในปีนี้ (2564) ซึ่งทั้งสองเรื่องเปิดตัวฉายในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยเรื่องนี้ออกฉายก่อน ‘House of Gucci’ ที่บ้านเราวางโปรแกรมฉายปีหน้า ส่วนสหรัฐอเมริกาและหลาย ๆ ประเทศออกตัวกันไปพักใหญ่แล้ว โดยได้คำวิจารณ์แบบก้ำกึ่ง มีติมีชมสม ๆ กัน หากก็ได้เหลือเกินเรื่องเสียงฮือฮา ขณะที่รายได้ก็ถือว่าใช้ได้ สำหรับการเป็นหนังซีเรียส

และทำเงินมากกว่าหนังเรื่องนี้ที่ได้ชื่อว่าเป็นงานที่เจ๊งสนิท เมื่อเก็บรายได้ทั่วโลกแค่ราว ๆ 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยใช้ทุนสร้างไปถึงหลักร้อยล้าน แต่ถ้ามองในมุมคุณภาพของงาน รวมไปถึงคำชมที่หนังได้รับแล้ว เป็นคนละเรื่องกับรายรับของหนังเลยก็ว่าได้

ที่น่่าสนใจก็คือ งานสองเรื่องนี้ของสก็อตต์ มีที่มาจากเหตุการณ์จริงทั้งคู่ เรื่องหนึ่งสร้างจากหนังสือ The House of Gucci: A Sensational Story of Murder, Madness, Glamour, and Greed ของซารา เกย์ ฟอร์ดอน ที่ต้นทางเป็นเรื่องวุ่นวายในครอบครัวของโรดอลโฟ กุชชี ส่วนเรื่องนี้ดัดแปลงจากหนังสือ The Last Duel: A True Story of Trial by Combat in Medieval France ที่เขียนโดย เอริก เจเกอร์ ซึ่งเป็นเรื่องการดวลตัดสินคดีอย่างเป็นทางการหนสุดท้ายในยุคอัศวินของฝรั่งเศสเป็นที่มา

พอมาเป็นหนัง จากชื่อหนังสือยาว ๆ ด้วยคำขยายก็ต้องลดทอนหรือเปลี่ยนแปลงให้สั้นลง เพื่อความกระชับในการสื่อสาร เรื่องหนึ่งเหลือเพียง ‘House of Gucci’ อีกเรื่องก็ใช้ชื่อว่า ‘The Last Duel’ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ชัดเจน และเรียกความสนใจได้ดี

นอกจากจุดร่วมเดียวกันที่ว่ามา อีกอย่างที่หนังทั้งสองเรื่องแบ่งปันกันก็คือ การมีตัวละครหญิงเป็นศูนย์กลาง กับ ‘House of Gucci’ คนที่ชักใยอยู่เบื้องหลังความวุ่นวายในตระกูลกุชชีก็คือ ลูกสะใภ้ แพทริเซีย เร็จจิอานี และกับเรื่องนี้ มูลเหตุแห่งการดวลครั้งสุดท้าย ก็คือมาร์เกอร์ริต (โจดี โคเมอร์) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในหลาย ๆ ครั้งสำหรับการทำงานของสก็อตต์ ที่มีผู้หญิงเป็นตัวละครสำคัญ

มาร์เกอริต เป็นภรรยาของ ฌอง เดอ คาร์รูจส์ (แม็ตต์ เดมอน) ที่ถูกเพื่อนซึ่งกลายมาเป็นคู่ปรับ คู่ชิงดีชิงเด่นกัน ของคาร์รูจส์ – ฌาคส์ เลอ กริส (อดัม ไดรเวอร์) บุกเข้ามาข่มขืนถึงในบ้าน และเพราะเจ้านายของทั้งคู่ เคานต์ ปีแอร์ ดีอล็องก็อง (เบน แอฟเฟล็ก) ชอบและหนุนหลังเลอ กริสอยู่ ทำให้คาร์รูจส์นำคดีไปฟ้องร้องต่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 (อเล็กซ์ ลอว์เธอร์) ซึ่งนำไปสู่การดวลของพวกเขา ที่ไม่ต่างไปจากการโยนให้พระเจ้าตัดสิน

อาจจะดูว่า หนังเป็นเรื่องของผู้ชายที่มีตัวละครฝ่ายหญิงเป็นเพียงกุญแจสำคัญ แต่กับการนำเสนอเรื่องราวของสก็อตต์ มาร์เกอริตไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่นั้น หากยังเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นสถานภาพของสตรียุคนั้น (หรืออาจจะรวมถึงยุคนี้) ผ่านการปฏิบัติที่เธอได้รับจากคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน การเล่าเรื่องก็ทำได้อย่างน่าติดตาม ด้วยการแบ่งเรื่องราวออกเป็นสามเรื่อง จากมุมมองของตัวละครแต่ละคน จากคาร์รูจส์-เลอ กริส และมาร์เกอริต ในแบบเดียวกับงานคลาสสิก ‘Rashomon’ ที่ทำให้ได้เห็นมุมมอง ความคิดของแต่ละคน ที่มีต่อเหตุการณ์ ตลอดจนความรู้สึกที่พวกเขามีต่อกันและกัน รวมถึงตัวตนในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้ความคิดและการกระทำของแต่ละรายมีความหนักแน่น สมเหตุสมผล กับสิ่งที่แสดงออกและตัดสินใจในเวลาต่อมา

ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากเพื่อนมาเป็นศัตรูของคาร์รูจส์และเลอ กริส ความกล้าของมาร์เกอริตที่เปรียบได้กับผู้หญิงหัวก้าวหน้าในยุคนั้น อ่านหนังสือ พูดได้หลายภาษา มีความสามารถในเรื่องของการบริหาร ผ่านการร่ำเรียนหนังสือ ไปถึงความไม่น่าเชื่อถือของเธอในสายตาของคนอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดล้วนถูกห่อหุ้มด้วยมุมมองที่มีต่อสตรีเพศ โดยเฉพาะในกลุ่มของชนชั้นผู้นำเพศชาย ที่พวกเธอไม่ต่างไปจากเครื่องบำบัดความใคร่ เป็นเครื่องเล่นสนุกในงานเลี้ยง หรือไม่ก็เป็นแค่เครื่องผลิตทายาทสำหรับคนชั้นสูง ที่การเป็นคุณหญิง หรือราชินี ก็เพียงพอแก่ฐานะแล้ว

ที่คำบอกของเลอ กริสต่อมาร์เกอริตหลังเสร็จกิจ รวมถึงการปฏิบัติที่สามีทำกับเธอหลังรับรู้เรื่องราว หรือการที่เธอไม่ได้รับบทบาทใด ๆ ในบ้าน จนกระทั่งสามีต้องออกไปรบ ก็ตอกย้ำความเป็นวัตถุทางเพศ หรือบทบาทของสตรีในยุคนั้นได้อย่างชัดเจน

กระทั่งการนำคดีไปสู่การดวลตัดสินของคาร์รูจส์ เอาเข้าจริง ๆ ก็เป็นไปเพื่อกำจัดศัตรู และปกป้องเกียรติของตัวเองมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะหากเขาพ่ายแพ้ก็แค่ถูกสังหารในสนามประลอง ส่วนสิ่งที่มาร์เกอริตต้องเผชิญคือ ถูกจับเปลื้องผ้า กล้อนผม เฆี่ยนประจานกลางเมือง ก่อนถูกเผาทั้งเป็น

โดยอย่าลืมว่า องค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เกิดการพิจารณาคดีก็คือ การโพนทะนาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วบ้าน ทั่วเมือง ซึ่งไม่ต่างไปจากการประจาน หรือสร้างความอื้อฉาวให้กับชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องเจอกับเรื่องเลวร้ายในชีวิต แล้วต้อง ‘ขาย’ สิ่งเหล่านี้เพื่อให้ตัวเองได้รับความเป็นธรรม

ยังมีความเชื่อที่ ‘ผิดๆ’ อย่าง การตั้งท้องจะไม่เกิดขึ้น หากฝ่ายหญิงไม่มีความสุขกับการร่วมเพศ ก็เป็นการตอกตรึงเพศหญิงให้ไม่สามารถขยับเขยื้อนอะไรได้ยิ่งขึ้นไปอีก

ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ กับคนในเพศเดียวกัน ก็ไม่ใช่ทุกคนจะเชื่อในสิ่งที่มาร์เกอริตพูด ไม่ใช่ทุกคนที่จะมองว่าการลุกขึ้นมาต่อสู้ของเธอเพื่อเกียรติของตัวเอง เป็นสิ่งที่ควรกระทำ กระทั่งกับเพื่อนสนิทก็คลางแคลงใจกับการถูกข่มเหงของมาร์เกอริต กระทั่งกับผู้หญิงที่ใกล้ชิดบางคนก็มองว่าการลุกขึ้นมาของเธอคือปัญหา ที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้าน แทนที่จะเงียบ ๆ จากนั้นก็ให้ทุกอย่างปิดฉากจบลงด้วยตัวเองไป เพราะตัวเธอก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเจอกับเรื่องเหล่านี้มาก่อน

นอกจากสิ่งเหล่านี้ที่ทำให้ผู้หญิงหลาย ๆ คน เลือกจะเงียบ และปล่อยให้เรื่องราวผ่านไปแล้ว อีกองค์ประกอบหรือมุมมองหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจของพวกเธอ ก็เป็นเรื่องของความเป็นแม่ ซึ่งมาร์เกอริตเองก็เจอกับปัญหานี้เช่นกัน เมื่อเธอตั้งท้องระหว่างดำเนินคดี แล้วก่อนการดวลจะเกิดขึ้นเธอก็ให้กำเนิดทายาท ซึ่งทำให้ต้องตั้งคำถามกับตัวเองตามมาว่า การตัดสินใจที่เธอทำลงไป มันสมควรหรือไม่ เมื่ออาจจะทำให้ลูกกำพร้าทั้งพ่อและแม่ ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการบีบให้ผู้หญิงหลาย ๆ คนเลือกที่จะเงียบ เลือกที่จะนิ่ง ต่อความไม่เป็นธรรมที่เธอได้รับ

บทที่เขียนโดย นิโคล โฮลอฟเซเนอร์ (เจ้าของรางวัลบทยอดเยี่ยมของอินดิเพนเดนท์ สปิริต อวอร์ดส์ และเข้าชิงออสการ์จากหนังผู้หญิง ‘Can You Ever Forgive Me?’) กับสองคู่หูที่คว้าออสการ์จาก ‘Good Will Hunting’ เบน แอฟเฟล็กกับแม็ตต์ เดมอน นำเสนอประเด็นต่าง ๆ ได้ชัดเจน บ้างอาจจะเป็นรายละเอียดให้ได้เก็บ บ้างก็ยกขึ้นมาพูดอย่างจริงจัง การแบ่งเรื่องราวเป็นสามบท ก็ทำให้ตัวหนังดูน่าติดตาม เมื่อตัวละครแต่ละรายต่างก็มีแง่มุมความคิดที่แตกต่างกันไป ตามความเชื่อ ตามสภาพแวดล้อมที่เป็นไปในยุคนั้น แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ สถานภาพที่ผู้หญิง ได้รับและเป็นไป

ซึ่งบางคนอาจรู้สึกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนั้น น่าจะเป็นการสมยอม หรือเป็นเรื่องที่ควรปล่อยผ่านจริง ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ และหนัง (รวมถึงครูปรีชา) ก็บอกเอาไว้ชัด ‘ความจริงมีหนึ่งเดียว’ ผ่านชื่อตอนของตัวละครรายหนึ่ง

ไม่ใช่เพียงความเข้มแข็งของบท การเล่าเรื่องที่มีชั้นเชิง ‘The Last Duel’ ยังเข้มข้นด้วยการแสดงที่อยู่ในระดับท็อปฟอร์มทุกคน จากหนังเบา ๆ ของไรอัน เรย์โนลด์ส ‘Free Guy’ โจดี โคเมอร์ ให้การแสดงที่ยกระดับไปอีกหลาย ๆ ขั้นในหนังเรื่องนี้ ที่แสดงให้เห็นว่า เธอเล่นดรามาหนัก ๆ ได้ ฝ่ายชาย แม็ตต์ เดมอน กับ อดัม ไดรเวอร์ ขับเคี่ยวกันได้อย่างถึงพริกถึงขิง หากที่เป็นสีสันก็คือ เบน แอฟเฟล็ก ที่เล่นได้อย่างน่าหมั่นไส้ และฉายความเจ้าเล่ห์ กะล่อนออกมาได้ทุกครั้งที่ปรากฏตัว

หนังจบลงในแบบที่ผู้ชนะกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เพราะไม่ต่างไปจากการได้รับการันตีความถูก-ผิดผ่านการตัดสินของพระเจ้า ส่วนผู้แพ้ร่างที่ไร้ลมหายใจก็ถูกปฏิบัติอย่างเลวร้าย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของศาสนาในยุคนั้น ที่กลายเป็นกลไกหนึ่งในการปกครองบ้านเมือง และดูแล้วในเรื่องของการตัดสินคดีความต่าง ๆ มันก็ไม่ใช่สิ่งที่เรียกได้เต็มปากว่าเที่ยงธรรม หรือมีเหตุมีผล โดยเฉพาะกับเพศหญิง

เมื่อศาสนาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กดสตรีเพศเอาไว้ ไม่ให้หือหรืออือยามเกียรติของพวกเธอถูกย่ำยี เพราะกับเพศชาย หากไม่มีความเกี่ยวพันกับเกียรติและศักดิ์ศรีของพวกเขา มีหรือที่จะก้าวเข้ามายุ่ง และกับเพศหญิงด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหาย หรือใครที่ได้รับรู้เรื่องราว มันก็ดีกว่าที่จะเงียบเพื่อให้เรื่องจบไป เพราะการอ้าปากออกมา เธอไม่ใช่แค่รบกับคนรอบข้าง แต่อาจจะต้องต่อสู้กับศาสนา จนความเงียบที่ว่ากลายเป็นการย่ำยี หรือซ้ำเติมคนเพศเดียวกันในท้ายที่สุด

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์​ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 32 ฉบับที่ 12 มกราคม 2564

เป็นกำลังใจให้ www.facebook.com/Sadaos ด้วยการสนับสนุนทางการเงิน ได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วส่งสลิปการโอนมาที่ shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนคำขอบคุณให้ผู้สนับสนุนที่โชคดีเป็นประจำทุกเดือน

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
1
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Movie Review

Comments are closed.