
หลังเจอกับเมนคอร์สหนัก ๆ มา 2-3 เรื่องติด ไม่ว่าจะเป็น Spider-Man: No Way Home ที่เป็นงานมาร์เวลในชายคาโซนี, Doctor Strange in the Multiverse of Madness หรือจะนับรวม Eternals ไปด้วยก็ได้ แต่อย่างไปเหมารวมงานในจักรวาลของไอ้แมงมุมอย่าง Venom หรือ Morbius Thor: Love and Thunder เลยไม่ได้ต่างจากงานพักเบรก ดูจะเน้นความบันเทิงเต็มที่ จนเรื่องราวของธอร์อ่อนไปแล้วเมื่อเทียบกับหนังนำเดี่ยวของตัวละครอื่น ๆ ในจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล
หนังเริ่มเรื่องแบบต่อจากที่ทิ้งท้ายไว้ใน Avengers: Endgame มาติด ๆ ธอร์ไปผจญภัยกับพวกผู้พิทักษ์จักรวาล วัลคีรีไปดูแลนิวแอสการ์ด ที่พักพิงของชาวแอสการ์ดบนโลกมนุษย์ เรื่องราวของธอร์ถูกนำมาเล่าขานให้เด็ก ๆ ที่นี่ได้รับรู้ และในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน กอร์ร์ ผู้ศรัทธาในเทพ ที่สูญเสียลูกสาวไปเมื่อเทพไม่ได้นำพาให้ความช่วยเหลือ และมองเห็นเป็นเรื่องสนุก ก็ได้ครอบครองดาบเนโครซอร์ด และใช้จัดการกับเหล่าทวยเทพทั้งหลาย
และซิฟก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น เธอส่งสัญญาณให้ธอร์รับรู้ ทำให้เขาต้องแยกจากกลุ่มผู้พิทักษ์จักรวาล เพื่อมาช่วยซิฟ ซึ่งแจ้งกับธอร์ว่า นิวแอสการ์ดคือเป้าหมายต่อไป
เมื่อเดินทางมาถึงธอร์ก็ได้พบกับเซอร์ไพรส์สำคัญ เมื่อค้อนโมลเนียร์ตกไปอยู่ในมือของเจน ฟอสเตอร์ ที่กลายเป็นไมตีธอร์ ซึ่งออกมาทำหน้าที่ปกป้องนิวแอสการ์ดร่วมวัลคีรี เมื่อเด็ก ๆ ในนิวแอสการ์ดถูกอร์ร์ลักพาตัวไป ทำให้ธอร์, ไมตีธอร์, วัลคีรี และคอร์ก ต้องร่วมทีมกันเพื่อหาทางช่วยเหลือพวกเขาจากมือของผู้สังหารทวยเทพ – กอร์ร์
ธอร์เรื่องที่สี่เริ่มต้นได้อย่างสนุก มาพร้อมอารมณ์ขัน เรื่องราวเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว โครงเรื่องเป็นไปตามสูตรสำเร็จของหนังมาร์เวล มีหลาย ๆ เหตุการณ์เกิดขึ้น ที่อาจรู้สึกหรือไม่รู้สึกว่าเกี่ยวข้องกัน หากท้ายที่สุดทั้งหมดก็บรรจบกันเป็นหนึ่งเดียว แต่ที่ผิดแผกจากเรื่องก่อนก็คือ หนังแบ่งแยกเป็นสองส่วนชัดเจน ไม่่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จากครึ่งแรกที่เป็นงานบันเทิงเบา ๆ มีอารมณ์ขัน ครึ่งหลังกลับเคร่งขรึมกว่า ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะตัวภาพที่เป็นโทนขาว-ดำ ที่เป็นไปด้วยสถานการณ์บังคับ เมื่อเรื่องเกิดขึ้นบนดวงดาวที่ปราศจากสีสัน แต่ด้วยตัวเรื่องที่จริงจังมากขึ้น จากเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นความรักของหนุ่มสาว ความรักของพ่อกับลูก ที่เมื่อรวมกับงานด้านภาพแล้ว ในช่วงครึ่งหลังที่เป็นโหมดแอ็กชันของเรื่อง หนังดูหม่นกว่าที่ช่วงแรก ๆ ชัดเจน
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ตัวเรื่องจะเข้มข้นมากขึ้น เพราะไป ๆ มา ๆ หนังพาอารมณ์ไปได้ไม่สุดทาง ทั้งสองความสัมพันธ์ จนอดเสียดายงานในส่วนหลังไม่น้อย เมื่อได้นักแสดงอย่าง คริสเตียน เบลมารับบท การตีความตัวละครออกมา ดูน่ากลัวและมีเรื่องของความเศร้าอยู่ข้างใน การดีไซน์ภาพลักษณ์ตัวละครก็ออกมาดี แต่เมื่อหนังมีเวลาให้ตัวละครน้อยไป ความซาบซึ้ง หรือเข้าถึงตัวละครก็เลยไปไม่ถึงไหน ส่วนเรื่องความรักของธอร์กับเจน ที่อุตส่าห์ได้นาทาลี พอร์ตแมนกลับมาก็ดูเบาบางจนไม่รู้สึกประทับใจ
แม้จะมีประเด็นที่น่าสนใจให้คิดต่อ อย่างเรื่องการเมินเฉยของเหล่าทวยเทพ ต่อคำร้องขอของผู้คน รวมไปถึงความไม่ใส่ใจกับทุกข์ภัยที่กำลังมาถึง เพราะยังคงอิ่มเอมกับความสุข ที่สามารถแตกหน่อต่อยอดความคิดไปได้ในหลาย ๆ แง่มุม ชัดเจนและเป็นแกนที่จับต้องได้ จากประสบการณ์ที่กอร์ร์ได้รับ และการแสดงออกของซุส ซึ่งถือเป็นส่วนที่ดีส่วนหนึ่งของหนังได้ เช่นเดียวกับการใช้เพลงประกอบ ที่จัดเพลงของ Guns N’ Roses อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ใส่เพลงดัง ๆ ของวงมาเกือบครบ ไม่ว่าจะเป็น “Welcome to the Jungle” ที่ใช้เปิดเรื่อง, “Paradise City” กับฉากเปิดเมืองนิวแอสการ์ด รวมถึงท่อนโซโลของ “November Rain” ที่ทำให้ฉากแอ็กชันตอนท้ายดูอลัง เร้าใจ แล้วก็ไม่ได้นำมาใช้เพราะอารมณ์ดนตรีได้ เมื่อความหมายนัยของเพลงก็สอดรับกับเรื่องและภาพ
จนรู้สึกว่าหากขาดหายสรรพเสียงเหล่านี้ไป ความบันเทิงของ Thor: Love and Thunder ก็คงลดหย่อนลงไปไม่น้อย
ด้วยตัวช่วยอย่างที่เห็น ก็พอจะทำให้งานที่รู้สึกเหมือนเป็นหนังคั่นเวลา หรืองานพักเบรกจากความวุ่นวายในสารพัดมัลติเวิร์ส ของจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวลเรื่องนี้ มีอะไรที่น่าจดจำขึ้นมาบ้าง แม้จะไม่มากเท่าความรู้สึกเสียดาย เมื่ออะไรหลาย ๆ อย่างเสียของก็ตามที
นพปฎล พลศิลป์
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่