Movie ReviewREVIEW

ดูมาแล้ว: TOP GUN: MAVERICK จิตวิญญาณแห่ง ‘80s เพื่อนพ่อ เพื่อนลูก การเติบโตของยุคสมัย และอดีตขบถหนุ่ม

เพียงแค่ฉากเปิด ก็ทำให้ผู้ชมที่เคยสัมผัสหนังต้นฉบับเมื่อปี 1986 ถึงกับยิ้มในใจ เหมือนได้เจอเพื่อนเก่าหรือใครบางคนในความทรงจำ ที่ห่าง ๆ กันไปนาน จากท่อนอินโทรที่รับกับการโคจรของดวงดาวที่ลอยมาอยู่เหนือภูเขาที่เป็นตราบริษัทพาราเมานต์ เครดิตเปิดเรื่องของทีมงานและนักแสดงบนพื้นสีดำ ที่ใช้แบบอักษรเหมือนเดิมเป๊ะ กับคำบรรยายเกริ่นถึงโครงการฝึกบินของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ที่บรรดานักบินเรียกว่า โครงการ ท็อปกัน ซึ่งปรากฏเป็นคำสุดท้าย ชัด ๆ TOP GUN

ที่ค่อย ๆ มีคำว่า Maverick ปรากฏขึ้นมารับ

ถือเป็นการย้ำเตือนความจำ หรือปลุกอารมณ์เก่า ๆ ได้ชะงัด และถ้ายังไม่พอ หนังรับลูกต่อด้วยฉากฝูงบินบนเรือบรรทุกเครื่องบินที่ขึ้นจากรันเวย์ พร้อม ๆ กับ “Danger Zone” หนึ่งในเพลงฮิต และอีกสัญลักษณ์สำคัญจากหนังเมื่อปี 1986 ที่ช่วยขยายความรู้สึกได้เจอเพื่อนเก่าไปในคราวเดียวกันว่า แม้เวลาจะผ่านไปขนาดไหน “แ_่ง… เหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยนเลยว่ะ”

เหมือน ๆ กับ ‘Matrix: Resurrections’ ที่เริ่มด้วยความทรงจำเก่า ๆ ก่อนพาเข้าสู่เรื่องราวใหม่ ๆ และที่ไม่ต่างกันก็คือ ทั้ง ‘Top Gun: Maverick’ และ ‘The Matrix: Resurrections’ ต่างพยายามพาตัวเองไปสู่ทิศทางใหม่ หากที่แตกต่างก็คือ ขณะที่หนังของพี่-น้องวาชอว์สกีเลือกที่จะเปลี่ยนโทนของหนัง ให้มีอารมณ์ขันมากขึ้น รวมถึงพูดถึงหนังที่มาก่อนในเชิงเสียดสี ก่อนจะพาเรื่องกลับไปสู่การผจญภัยในลูปเดิม เช่นที่ปรากฏให้เห็นตอนท้าย แต่ด้วยตัวละครที่ถึงเป็นคนเดิม ๆ แต่มุมมอง บุคลิกภาพก็พูดไม่ได้ว่า เป็นอย่างที่เคยเป็น

โจเซฟ โคซินสกีที่กำกับ ‘Top Gun: Maverick’ เลือกทำในสิ่งที่แตกต่าง หนังยังอยู่ในบรรยากาศเดิม ๆ โทนที่คุ้นชิน ฉากจำทั้งหลายของต้นฉบับ ถูกนำเสนอ (ใหม่) ในแบบให้ความสำคัญ เช่นที่เคยเป็นในหนังเรื่องแรก ไม่ใช่แค่ฉากธรรมดา ๆ ฉากหนึ่งในหนังเรื่องใหม่ ที่น่าสนใจก็คือ ตัวละครไม่ใช่แค่เป็นคนเดิม แต่เพิ่มเติมคือมีพัฒนาการจากสิ่งที่เคยเป็น มีบาดแผลของความผิดพลาดจากอดีต จากอุปนิสัย ทำให้ตัวละครสำคัญของเรื่อง “โต” ขึ้น และหนังก็เช่นเดียวกัน

แม้จะรู้สึกถึงการทำซ้ำของฉากจำทั้งหลายที่เรียงรายกันต่อเนื่อง หากก็รู้สึกได้ถึงการยกย่อง ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง ไปถึงการบิดมอเตอร์ไซค์แข่งกับเครื่องบินที่กำลังทะยานจากรันเวย์, การร้องเพลงร่วมกันในบาร์, การเล่นกีฬาของหนุ่ม ๆ ริมหาด ที่กลายเป็นฉากเกย์ ๆ, กระทั่งห้องเรียนทฤษฎีก็แทบไม่เปลี่ยน แถมการเปิดตัวมาเวอริกกับนักบินในโครงการ ก็คลับคลากับเคลลี แม็กกิลลิสเมื่อครั้งกระโน้น, บ้านช่องของผู้คน ที่แม้ตัวละครหลักฝ่ายหญิงจะไม่ใช่คนเดิม หากบอกว่านางมาเช่าบ้านต่อจากเคลลี แม็กกิลลิสก็เชื่อ, ฉากบินผ่านหอบังคับการให้เจ้าหน้าที่ในนั้นต้องสะดุ้ง, คู่ปรับของตัวเอก ยังดูเหมือนจะเป็นตัวร้ายแต่ก็ไม่ใช่ เกลียดก็เกลียดไม่ได้ เป็นตัวละครที่น่าหมั่นไส้ แล้วที่สำคัญมี “เสน่ห์” ให้รักไม่ต่างไปจากตัวละครหลัก

เสน่ห์ สิ่งสำคัญของงานต้นฉบับ ซึ่งในแง่คุณภาพของเรื่องและบท ประเด็น ไม่ได้อยู่เหนือบรรดางานในยุคเดียวกันนัก กับเรื่องของคนที่ไม่ได้อยู่ในกรอบระเบียบ ที่พยายามเป็นส่วนหนึ่งของระบบ แต่ด้วยแนวคิดที่เป็น “ขบถ” ทำให้ยากจะได้รับการยอมรับ เหมือนนักเต้นจากเมืองใหญ่ที่มาใช้ชีวิตในเมืองบ้านนอก ที่แทบถูกปกครองโดยผู้นำศาสนา ใน ‘Footloose’, หญิงสาวนักเต้นระบำในบาร์ที่ฝันอยากเป็นนักบัลเลต์ และทำงานตอนกลางวันของผู้ชาย ใน ‘Flashdance’, กระทั่ง ทอม ครูซเองก็เคยเล่นหนังที่ตัวละครมาในบล็อกเดียวกัน อย่าง ‘All the Right Moves’

แต่ด้วยเสน่ห์ของนักแสดงที่มีมากกว่าหนึ่ง การวางบุคลิกตัวละครได้อย่างน่าสนใจ เรื่องราวที่ไม่ซับซ้อน การใช้องค์ประกอบด้านอื่น ดนตรีประกอบ มุมกล้อง การตัดต่อ ที่บางครั้งไม่ต่างไปจากภาพในหนังโฆษณา และแน่นอน มิวสิกวิดีโอ มาช่วย ทำให้เสน่ห์ของหนังไม่ได้เป็นเรื่องวูบวาบชั่วคราว เพราะนอกจากจะช่วยให้เข้าถึงผู้ชมได้อย่างง่ายดาย ‘Top Gun’ ยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของหนังยุค ‘80s และ ‘Top Gun: Maverick’ ก็เก็บเกี่ยวสิ่งเหล่านั้นมาใส่ในเรื่องได้ครบถ้วน

ในขณะเดียวกัน หนังบอกเอาไว้เป็นนัย ๆ เหมือนกันว่า แค่ดูคล้ายไม่ใช่เหมือนเดิม อย่าง การขับรถมอเตอร์ไซค์แข่งกับเครื่องบินที่ไปคนละทิศ หรือการบิดสถานการณ์ของตัวละคร

สิ่งที่เป็นความแตกต่างและเติบโตของหนังนอกจากวัยของผู้คน ก็คือวิธีคิด มุมมอง มาเวอริกยังจมอยู่กับความรู้สึกผิดที่ทำให้กูสต้องจากไป แม้นิสัยจะยังไม่เปลี่ยน ซึ่งย้ำตั้งแต่ฉากขึ้นบินทดสอบตอนเปิดตัว แต่ลึก ๆ เขาก็รู้ว่า นั่นคือความผิดพลาดของชีวิต ที่ทำให้ตัวเองพลาดอะไรต่าง ๆ ไปมากมาย ความก้าวหน้าทางอาชีพที่ไปไม่ถึงไหน เมื่อถูกเตะโด่งจากผู้บังคับบัญชาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนชีวิตยากจะลงเอยกับใคร แถมยังจองหองอย่างที่เคยเป็น แต่ไม่ได้พองออกมาเต็มตัวเหมือนวันวาน ยังดีที่ได้เพื่อนดี อดีตคู่ปรับที่กลายเป็นวิงแมนและผู้บังคับบัญชา คนที่เชื่อมือเขามาทั้งชีวิต ไอซ์แมน คุ้มกะลาหัว ซึ่งหากเป็นมาเวอริกที่ย้อนหลังไปสัก 20-30 ปีก็คงไม่ยี่หระ แต่มาเวอริกในอีก 30 ปีต่อมา รู้สึก และในตอนท้ายเขาก็คลี่คลายตัวเองได้มากกว่านั้น เมื่อขอบคุณคนเป็น

ทอม ครูซขึ้นจอด้วยบทนี้ใน 30 (กว่า) ปีให้หลังสมกับเป็นบทสร้างชื่อ ที่ทำให้เขา “ใหญ่” มาได้จนถึงทุกวันนี้ ด้วยบุคลิกภาพที่ยังทำให้นึกถึงมาเวอริกคนเดิม ชายหนุ่มที่ระเบิดยิ้มฉีกปากเห็นฟันขาวถี่ยิบ อัปเดตด้วยเค้ารอยของกาลเวลาปรากฏเด่นชัด ไม่ใช่ฉบับหน้าเด้งแบบครูซในบทอีธาน ฮันต์ และรู้สึกได้เลยว่า หากทอม ครูซคืออีธาน ฮันต์ มาเวอริกก็คือทอม ครูซ ตัวละครที่รวมหลอมกับตัวเขาเช่นเดียวกับผู้คนจากหนังเรื่องสำคัญในชีวิต ‘Jerry MaGuire’ หรือ ‘Risky Business’

นักแสดงคนอื่น ๆ ก็ทำได้ดี ไมลส์ เทลเลอร์กับบทรูสเตอร์ลูกชายกูสที่บาดหมางกับมาเวอริก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่พ่อต้องเสียชีวิตเพราะเขา แต่มีอะไรที่มากกว่านั้น ซึ่งตอกย้ำการเติบโตของมาเวอริกเด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการเสียสละ การเป็นคนรักเพื่อน-เป็นคนที่เพื่อนรัก-เจ้านายเกลียด ที่คงเดาได้ว่า จากที่เคยเป็นเพื่อนพ่อ ก็กลายมาเป็นเพื่อนลูก หน้าตาเทลเลอร์รับกับแอนโธนี เอ็ดเวิร์ดส์ ที่เล่นเป็นกูสตอนนั้นเหลือเกิน จนภาพการเล่นเพลง “Great Ball of Fire” ของรูสเตอร์ ไม่ทำให้แค่มาเวอริกเท่านั้น ที่นึกถึงวันชื่นคืนสุขเก่า ๆ ของเขา

กลุ่มนักบินสมทบที่มาเข้าโครงการ ถึงบทจะไม่เยอะแต่ก็ขึ้นจอแล้วจดจำได้ โดยเฉพาะเกล็นน์ พาวเวลล์ ที่เทียบได้กับไอซ์แมนในยุคนี้ แต่ด้วยลีลาที่กวน_ีน และยียวนมากกว่า เป็นตัวละครที่ผู้ชมเกลียดก็มีอะไรดี ๆ ในตัว จะรักก็น่าหมั่นไส้เกินไป สองผู้บังคับบัญชา จอห์น แฮมม์และชาร์ลส์ พาร์เนลล์ ก็คือตำรวจเลว-ตำรวจดีแบบเดียวกับไมเคิล ไอออนไซด์และทอม สเคอริตต์ในหนังภาคแรก

บรรยากาศ โทน ทุกอย่างแทบยกมาจากหนังต้นฉบับ ที่หากบอกว่า โทนี สก็อตต์ฟื้นมากำกับก็เชื่อ เพลงประกอบก็ไม่ใช่เพลงตามยุคสมัย เป็นเพลงร็อกเก่า ๆ ที่หากหยิบเพลงอะไรก็ได้จากภาคแรก นอกจาก “Danger Zone” มาใส่ก็เข้ากันได้พอดีแน่ ๆ “Top Gun Anthem” ยังเป็นส่วนสำคัญของหนัง ทั้ง ๆ ที่เป็นทางดนตรีเดิม ๆ ร็อกสกอร์ ที่ซินธิไซเซอร์กับกีตาร์ลีดรุกรับกัน เพลงใหม่ที่ใส่เข้ามาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หนึ่งคืองานบัลลาดร็อก ที่มีความเป็นพ็อปของเลดีกากา อีกเพลงคืองานพ็อปมีกลิ่นร็อกจาง ๆ ของ OneRepublic

กระทั่งเอฟ-14 ทอมแค็ต เครื่องบินหลักของหนังภาคแรก ที่ยุคนี้เรียกว่าเครื่องสังคโลกก็กระดาก ยังมีบทบาท “สำคัญ” ในหนังได้ แม้จะเป็นการแถและเหลือเชื่อ แต่แฟน ๆ ที่ดูกันมาตั้งแต่ยังไม่ทำบัตรประชาชนไม่มีใครส่ายหน้า แต่ถ้ามองไปไกลว่า หนังจะเป็น สัญลักษณ์ของยุค 2020s เช่นเดียวกับที่ ‘Top Gun’ เป็นสำหรับยุค ‘80s ‘Top Gun: Maverick’ คงไปไม่ถึงตรงนั้น เต็มที่ก็คงเป็นการตอกย้ำสำคัญถึงพลังดาราของทอม ครูซ และตัวอย่างของการทำงานที่มีเสน่ห์ มีบุคลิกเฉพาะตัวที่แข็งแรงพอจะโอบอุ้มโครงเรื่องที่ไม่ได้สดใหม่ และเบาบางได้เป็นอย่างดี

ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย หนังขึ้นจอได้ตื่นเต้นกว่าเดิม ช่วยให้ภารกิจที่ง่ายดายในเรื่องดูสนุก ฉากบินต่อสู้ในระยะประชิดแบบดวลเดี่ยว (Dog Fight) ลุ้น และกระตุ้นอะดรีนาลีนเต็ม ๆ ถึงจะคาดเดาบทสรุปได้ ยิ่งชมบนจอใหญ่ไอแม็กซ์ นอกจากภาพจะเต็มตา ระบบเสียงก็อุ้มโอบจนตื่นหู

เรื่องราวที่ไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่มีเงื่อนไขวุ่นวาย จะว่าไปก็เป็นโครงเรื่องแบบเดิม ๆ ที่เป้าหมายของหนังไม่ได้อยู่ที่ภารกิจ แต่เป็นเรื่องการเติบโต เรียนรู้ชีวิตของตัวละคร จากเงาความสำเร็จของพ่อ มาเป็นบาดแผลจากการสูญเสีียเพื่อนรัก นิสัยใจคอแย่ ๆ ที่รู้ตัวหากก็ไม่ยอมเปลี่ยน แต่บางคราวก็เป็นเรื่องดี ถ้าใช้อย่างถูกที่ถูกเวลา และจะว่าไปแล้ว หนังยังมีอะไรมากกว่าให้ตั้งคำถามหรือรับรู้ ไม่ว่าจะภารกิจท้าตาย ที่บางครั้งก็ต้องเลือกระหว่าง ต้องรอดกับต้องได้ แต่ที่เป็นความโดดเด่นก็คือ การพูดถึงความแตกต่างของยุคสมัย, เรื่องของคนและเครื่องจักร, วิวัฒนาการที่เปลี่ยนไป ที่บอกเป็นนัย ๆ ตั้งแต่กฏในบาร์ที่ว่า “อย่าวางมือถือไว้บนโต๊ะ” และสังเกตดี ๆ หนังแทบไม่มีกิจกรรมทางมือถือสักเท่าไหร่ ที่มีก็เป็นเพราะสุขภาพของนักแสดงก็ว่าได้

เรื่องเทคโนโลยีของเครื่องจักรที่ทำให้คนหมดค่า คือประเด็นใหญ่ที่โอบคลุมหนังเอาไว้ โดยคนอาจไม่รู้สึก ทั้งที่เป็นปมสำคัญที่ผูกอยู่กับการปฏิบัติการทางทหาร เมื่อมีโดรน มีระบบนำทาง ที่ไม่มีขีดจำกัดทางด้านกายภาพ (และจิตใจ) ให้ใช้งาน คนก็ไร้ความสำคัญ หากท้ายที่สุดสิ่งเหล่านั้นก็มีขีดจำกัดของตัวเอง เช่นที่หนังแสดงให้เห็น จนต้องใช้บริการคน อย่าง มาเวอริก และบรรดานักบินฟ้าเหนือฟ้าทั้งหลาย

ใช่ที่อนาคตในการทำสงครามของกองทัพ ไม่ได้อยู่ที่คน และกระทั่งมาเวอริกผู้ดื้อรั้นก็ยังยอมรับ แต่ก็อย่างที่ตัวละครบอกเอาไว้ “ยังไม่ใช่วันนี้”

และนั่นก็ทำให้หนังที่เหมือนเป็นการถวิลหาอดีตมีประเด็นทางสังคมที่ร่วมสมัย ไม่ใช่แค่ว่าด้วยเรื่องของคน เป็นงานที่เต็มไปด้วยกลิ่นไอจากยุค ‘80s ที่พาอดีตมามีชีวิตอยู่ในปัจจุบันได้อย่างสง่าผ่าเผย

โดย นพปฎล พลศิลป์

ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
1
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Movie Review

Comments are closed.