แอนิเมชัน พิกซาร์ที่ปล่อยให้ชมทางดิสนีย์พลัสมาตั้งแต่ต้นปี 2565 แต่ปีนี้ถูกนำมาฉายในโรงภาพยนตร์ ที่ในหลาย ๆ ประเทศคือ ครั้งแรก ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะกับการชมบนจอใหญ่ มันให้อรรถรส ได้อารมณ์มากกว่า เต็มตาเต็มหูทั้งภาพและเสียง ช่วงเวลาที่เข้าฉายก็เข้ากับเหตุการณ์ เมื่อลงโรงกันในช่วงวันตรุษจีนพอดิบพอดี
เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในครอบครัวชาวจีน ที่ประกอบด้วยพ่อแม่และลูกสาวรวม 3 ชีวิต ซึ่งประเด็นเป็นที่มองเห็นกันก็มีทั้งความสัมพันธ์ของคนต่างรุ่น ที่พอจะพูดรวม ๆ ได้ว่า เติบโตมาในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้ด้วยเช่นกัน แล้วก็มีเรื่องการเติบโตจากวัยหนึ่งไปสู่อีกวัยหนึ่ง รวมถึงรายละเอียดปลีกย่อย อย่าง ทัศนคติ-มุมมองของวัยรุ่น แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ตัวตนของตัวเอง!!!
ตัวเอกของเรื่องคือ เหมยลี่ เด็กสาววัย 13 ปี ที่ต้องปฏิบัติตัวตามกรอบระเบียบที่แม่ – หมิงลี่วางเอาไว้ และปกปิดตัวตนของตัวเองในยามอยู่กับเพื่อน ๆ อย่าง ความคลั่งไคล้บอยแบนด์ 5 ชีวิตที่ชื่อ 4*Town ไม่ให้แม่รับรู้ แต่แล้ววันหนึ่งก็เกิดเรื่องราวแปลก ๆ ขึ้น เมื่อเธอตื่นขึ้นมาร่างกายของเธอกลับเปลี่ยนเป็นแพนด้ายักษ์สีแดง ทำให้เหมยลี่เพยายามหาทางคืนกลับสู่ร่างเดิม ก่อนที่จะรับรู้ว่า… นี่คือความลับบางอย่างที่ครอบครัวของเธอปกปิดเอาไว้
หนังเหมือนจะชูประเด็นการเติบโตในครอบครัวตะวันออกโดยทั่วไป ที่ความห่วงใยมักจะแปรเปลี่ยนเป็นการบีบบังคับ ตีเส้นทางเอาไว้ให้เด็ก ๆ เดินตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นสิ่งที่แม่ของเหมยลี่ทำกับเธอ จนชีวิตเด็กสาวเชื้อสายจีนที่เติบโตในตะวันตกรายนี้ แทบไม่มีโอกาสเป็นตัวของตัวเอง ยกเว้นเวลาอยู่กับเพื่อน ๆ ที่มากันแบบตัวละครในยุค โว้ก (Woke) มิเรียม สาวทอมเชื้อสายยิว, ปรีญา ที่มีเชื้อสายอินเดีย และ แอบบีย์ ที่มีเชื้อสายเกาหลี ที่ยังสอดแทรกเรื่องชีวิตวัยรุ่นในโรงเรียน ที่มีแอบปิ้งหนุ่มที่เข้าตา ที่อาจจะกลายเป็นเรื่องเม้าท์ดัง ๆ ในโรงเรียนได้ไม่ยาก
และไอ้เจ้าความที่พยายามตีกรอบชีวิตให้กับลูก ก็ทำให้เหมยลี่ตกเป็นเป้าของเพื่อน ๆ ปากมากจนได้ ซึ่งไม่ต่างไปจากในชีวิตจริง ที่ความพยายามปกป้องลูกของพ่อ-แม่นั้นหลาย ๆ ครั้ง กลับทำให้สถานการณ์ที่ลูกเผชิญย่ำแย่ไปกว่าเดิม แล้วก็ยังมีเรื่องความแตกต่างระหว่างวัย อย่าง รสนิยมที่ผิดแผกกันของแม่กับลูก เรื่องสังคมตะวันออกที่ในบ้านจะมีคนที่เป็นใหญ่เพียงคนเดียว ซึ่งใน ‘Turning Red’ ก็คือ หมิงลี่ ที่ทำให้ตัวสามีไม่ต่างจากช้างเท้าหลัง แต่ในคณะเดียวกัน เมื่อถึงวาระของการชุมนุมครอบครัว มันก็ว่ากันตามอาวุโส
หนังผสมผสานประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างกลมกลืน และที่สำคัญทุกอย่างล้วนขับเน้นเรื่องของ “ตัวตน” ให้เด่นชัด ซึ่งหลัก ๆ ถูกนำเสนอในเชิงอุปมาอุปมัยผ่านตัวหมีแพนด้าแดงยักษ์ของเหมยลี่ ที่แทนได้ทั้งการเติบโตตามวัยของตัวละคร ความสับสน อารมณ์อันแปรปรวนของวัยรุ่น หรือเป็นการแสดงตัวในอีกแง่มุมหนึ่งเพื่อให้คนอื่น ๆ ยอมรับ หากที่สำคัญที่สุดคนที่ต้องยอมรับมันให้ได้ ไม่ใช่ใครอื่น ก็คือ ตัวเราเอง หนังจับประเด็นนี้ได้อยู่หมัด ทั้งจากตัวเหมยลี่ และจากตัวพ่อของเธอ ที่เห็นได้ชัดว่ามี “อะไร” มากกว่าที่เห็น แต่เลือกจะเป็นในแบบที่แสดงออกมา ที่อาจเรียกว่า เป็นการยอมรับบทบาทของตัวเองในครอบครัว เพื่อทำให้ทุกอย่างคลี่คลาย หรือดำเนินไปได้ด้วยดี ก็คงได้
แล้วก็ยังมีที่ยิบย่อยสอดแทรกมาเป็นระยะ เช่น ตัวตนของบอยแบนด์ห้าชีวิต แต่ชื่อเป็นเลข 4 หรือรสนิยมดนตรีของเด็กจอมป่วนที่ไม่เข้ากับตัวตนที่แสดงออกมา
ซึ่งล้วนตอกย้ำเรื่องของ “ตัวตน” ในแอนิเมชันเรื่องนี้ให้โดดเด่นชัดเจนยิ่งขึ้น
แม้จะเดินหน้าด้วยการวางศูนย์กลางที่ตัวละครเด็ก แต่เมื่อบทสรุปสุดท้ายมาถึง คนที่หนังสื่อสารด้วยเสียงที่ดังที่สุด กลับเป็นผู้ใหญ่ ที่พอเติบโตขึ้นก็มักลืมสิ่งที่ตัวเองเคยเป็น เคยทำ แถมยังดูแลลูก ๆ ด้วยมุมมองของผู้ใหญ่ หรือพยายามไม่ให้เกิดความผิดพลาดอย่างที่ตัวเองเคยเจอ นำไปสู่การตีกรอบหรือบีบบังคับพวกเขา จนเกิดความขัดแย้งในครอบครัวตามมา
สารต่าง ๆ ที่แข็งแรงทำให้ ‘Turning Red’ เป็นแอนิเมชันที่ไม่ธรรมดาอีกเรื่องของพิกซาร์ และตอกย้ำลายเซ็นหรือเสน่ห์ของพวกเขา ในการทำงานที่เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี มีแง่คิดให้กับคนทั้งสองรุ่น ต่อให้ช่วงแรกเรื่องราวอาจจะเหมือนงานครอบครัวทั่วไป ที่เด็กเพลินได้มากกว่า และไม่น่าจะมีของพอทำให้ผู้ชมผู้ใหญ่ใจอุ่น แต่ไป ๆ มา ๆ ก็เป็นไปตามสูตรของพิกซาร์ ที่มาขยี้ผู้ใหญ่ในตอนท้าย
ถึงจะไม่ได้รู้สึกสดใหม่ ประหลาดใจ และประทับใจเหมือนงานก่อน ๆ หน้า แต่ก็ต้องยอมรับว่า สูตรของพิกซาร์มันก็เป็นสูตรที่เข้มข้น และเหนือกว่าสูตรสำเร็จโดยทั่ว ๆ ไปในท้องตลาดเหมือนเคย
โดย นพปฎล พลศิลป์
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่