Pacific Rim (2013): ณ จุดๆ นี้ นึกถึงหน้าไมเคิล เบย์ ไม่ออกแล้วจริงๆ (จร่ะ)
โดย เกรียนหนัง
ที่มา https://www.facebook.com/photo.php?fbid=209127509243583&set=a.113215048834830.20429.112834835539518&type=1&theater
ความมันส์ระดับอะดรีนาลีนพลุ่งพล่านทั่วสรรพางค์กายของ เกรียนหนัง หลังดูหนังเรื่องนี้จบมีอันต้องชะงักลง เมื่อเดินมาเข้าห้องน้ำแล้วได้ยินคนกลุ่มหนึ่งพูดว่าหนัง “โคตรเชย” ก่อนที่จะถูกมาย้ำต่อด้วยคนอีกกลุ่มในลิฟท์ ที่พูดพล่ามไม่หยุดในทำนองเดิมอีกว่า “หนังจบได้เช๊ยเชย..ไม่มีอะไรใหม่เลย กูดูแบบนี้มาตั้งไม่รู้กี่เรื่องแล้ว”
เกรียนหนังก็ได้แต่พิศวงสงสัยว่า แล้วไอ้ที่คนสองกลุ่มนี้คิดว่าเป็นหนังดี ไม่เชย และใหม่ นั้นมันคือหนังแบบไหนกัน (ฟ่ะ!!) แบบหุ่นยนต์เหาะเหิน วูบวาบฉับไว สีสันสวยงามเหมือนมิวสิควิดีโออย่างใน Transformer ของน้าไมเคิล เบย์หน่ะหรือ?
ถ้าเป็นแบบนั้น อันนี้ก็ต้องแล้วแต่ “รสนิยมใครรสนิยมมัน” แล้วหล่ะ และก็ขอบอกว่าใครที่คาดหวังอะไรเยี่ยงนั้น หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ตรงสเป็กของท่านเสียทีเดียว เพราะ Pacific Rim เป็นหนังว่าด้วยเรื่องของหุ่นยนต์ (บุโรทั่ง) ทุบกับเอเลี่ยนในบรรยากาศหม่นมืด โดยมีจุดขายเป็นฉากแอ็คชั่นที่เน้นการเคลื่อนไหวแบบเชื่องช้า ทว่า หนักหน่วง ดุเดือด และกดดันคนดูได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หนังเปิดฉากแบบแหกขนบของหนังเอเลี่ยน (สัตว์ประหลาด) บุกโลกประมาณหนึ่ง ที่ส่วนใหญ่แล้วกว่าจะเปิดตัวเอเลี่ยนก็ปาเข้าไปค่อนเรื่อง และกว่าที่มนุษย์กับเอเลี่ยนจะ “ฉะ” กันก็ท้ายเรื่อง แต่ใน Pacific Rim หนังรวบรัดสิ่งเหล่านั้นด้วยการทำให้คนดูเข้าใจอย่างรวดเร็ว ผ่านคำบอกเล่าของตัวพระเอกแบบสั้นๆ ในสองนาทีแรก แล้วก็จับมนุษย์กับเอเลี่ยนมาบวกกันเลยทันที
เอเลี่ยนในเรื่องนี้ถูกเรียกว่า “ไคจู” มันไม่ได้มาจากดาวอื่นบนท้องฟ้า แต่มันมาทางรอยแยกของเปลือกโลกใต้ทะเลลึก ซึ่งในอนาคตการบุกมาของเหล่าไคจู ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อีกต่อไป ผู้คนรับรู้การมีอยู่ของพวกมันจนเป็นเรื่องปกติ และเตรียมพร้อม คอยตั้งรับสถานการณ์ในลักษณะเดียวกับการเกิดภัยธรรมชาติ
มนุษย์ใช้เวลาหลายวันกว่าจะกำราบไคจูแต่ละตัวลงได้ (ด้วยเครื่องบินรบ) ก่อนที่ต่อมาจะได้คิดค้นอาวุธรูปแบบใหม่ขึ้น เป็นหุ่นยนต์ที่เรียกว่า “เยเกอร์” เพื่อใช้สยบอสูรร้ายเหล่านี้ โดยที่เยเกอร์จะถูกขับเคลื่อนโดยผู้บังคับสองคนที่ต้องเชื่อมจิตและความทรงจำเข้าด้วยกันอีกที
แต่ไม่นานนัก เหล่าไคจูก็สามารถพัฒนาขีดจำกัดได้มากขึ้นอีก จนเรียนรู้ที่จะเอาชนะหุ่นรบเยเกอร์ มนุษย์จึงหันไปสร้างกำแพงขนาดยักษ์ล้อมเมืองเอาไว้แทน ทำให้เยเกอร์และผู้บังคับหุ่นทั้งหมดถูกปลดระวาง ทว่า กำแพงที่เชี่อว่าปลอดภัยแน่นหนา กลับถูกไคจูเจาะทะลวงเข้ามาอย่าง่ายดาย หุ่นรบเยเกอร์จึงกลายเป็นความหวังเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่
โดยภาพรวมแล้ว กิลเลอร์โม เดล โทโร่ ตั้งใจทำหนังเรื่องนี้ออกมาให้เป็นความบันเทิงแบบตรงไปตรงมา ไม่มีความซับซ้อนทางเรื่องราวและเนื้อหาเท่าไหร่นัก เค้าโครงใหญ่ๆ ของหนังจึงเดินหน้าไปแบบง่ายๆ เน้นไปที่ความไหลลื่น ชวนติดตามของรายละเอียดปลีกย่อย ทั้งรูปแบบและเงื่อนงำในการบุกเข้ามาของเหล่าไคจู ทั้งตัวละครสมทบที่ล้วนแต่มีบทบาทกับการดำเนินเรื่อง และมาพร้อมอารมณ์ขัน รวมถึงปมในอดีตและความโรแมนติกแบบเบาๆ หลวมๆ ระหว่างตัวละครหลัก
หนังไล่เรียงลำดับความสำคัญของทั้งหมดออกมาได้ค่อนข้างดี ไม่สับสน ก่อนที่จะลงมือทุบคนดูแบบจังๆ ด้วยฉากแอ็คชั่นสเกลใหญ่ อันเป็นจุดขายและทีเด็ดตัวจริงเสียงจริงของหนัง ซึ่งงานนี้ต้องยกนิ้วมือนิ้วเท้าให้ทั้ง 20 นิ้วไปเลยในความละเอียดประณีต ไม่ว่าจะจากงานซีจี หรือ ฝีมือกำกับภาพระดับออสการ์ของ กิลเลอร์โม่ นาวาร์โร่ ที่แทบทุกฉากล้วนสามารถสะกดคนดูให้อ้าปากค้าง ตะลึงพรึงเพริดไปกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้า
และอย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่าความมันส์สะใจจากการห้ำหั่นของหุ่นยนต์ กับ เอเลี่ยนในหนัง Pacific Rim ไม่ได้อยู่ที่ความรวดเร็วหวือหวา แต่อยู่ที่ความกระแทกกระทั้นหนักหน่วง ตามความสมจริงจากขนาดอันใหญ่มหึมาของหุ่นยนต์กับแรงโน้มถ่วง (ของโลก) ซึ่งไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าแอ็คชั่นหน่วงๆ สโลว์ๆ แบบนี้ กลับให้ผลลัพธ์ที่สามารถทำให้เราสัมผัสได้ถึงความรุนแรง คุกรุ่นด้วยอารมณ์เดือด จนต้องลุ้นระทึกไปกับเรื่องราวได้ดีกว่างานแอ็คชั่นประเภทที่นำเสนอแบบเร็วๆ มั่วๆ เสียอีก
อีกส่วนที่ถือว่าโดดเด่นและช่วยให้หนังที่สุมเสี่ยงต่อการออกมาเป็นการ์ตูนแบบนี้ สามารถกลายเป็นหนังแอ็คชั่นไซไฟสุดมันส์แบบที่เห็นได้ ก็คือ เรื่องของการคุมบรรยากาศในหนัง ที่ต้องชื่นชมว่า กิลเลอร์โม เดล โทโร่ ยังเป็นผู้ช่ำชองไม่แพ้ใคร โดยเฉพาะหนังในโทนมืดๆ ดาร์กๆ นี่ของถนัดเขาหล่ะ
หลายคนที่รู้จัก กิลเลอร์โม จะรู้ดีว่าเฮียเขาบ้าสัตว์ประหลาด เอเลี่ยนอย่าง ไคจู จึงถูกให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ไม่ใช่เรื่องของดีไซน์อันวิจิตรพิศดาร แต่ในแง่ของการสร้างความลึกลับน่าพรั่นพรึงให้เกิดขึ้นในตัวตนของมัน ที่ถือว่า กิลเลอร์โม ทำได้สำเร็จ ตลอดทั้งเรื่อง การปรากฏตัวของ ไคจู จึงสามารถดูดสายตาไปจากคนดูได้มากกว่าหุ่นยนต์เสียอีก
ขณะเดียวกันบรรยากาศอึมครึมแฉะชื้นฝนตกพรำๆ อยู่ตลอดเวลาในเรื่อง นอกจากจะให้ความรู้สึกหม่นหมอง หดหู่ ชวนสิ้นหวังได้ดีแล้ว เมื่อตัดเข้ากับแสงสีปรี๊ดปร๊าดจากหลอดไฟนีออนยามค่ำคืนยังให้สเน่ห์แบบเดียวกับบรรยากาศของหนังอย่าง Blade Runner
นับว่าเป็นโชคดีของคนดูที่ กิลเลอร์โม บอกปัด The Hobbit: An Unexpected Journey เพื่อมาทำหนังเรื่องนี้ แม้ว่าที่สุดแล้วจะเป็นเพียงงานที่มาเพื่อตอบสนองความบันเทิงให้กับคนดูแบบเพียวๆ ก็ตามที แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นหนังที่ขาดตกบกพร่องอะไรไป ในเมื่อหนังมันสามารถวิ่งไปในเส้นทางที่มันเลือกจะเป็นได้แบบสุดลิ่มทิ่มประตู
เมื่อทำได้ขนาดนี้ ถ้าเกรียนหนังยังจะหาเรื่องขุดคุ้ยเอาจุดบงพร่องนั่นนี่ (ซึ่งมีอยู่บ้าง) มาติติงเพื่อหาเรื่องลดดาว ลดคะแนน ก็ดูจะเป็นนักดูหนังที่ “หัวหมอ+ใจแคบเกินไป” หล่ะ ว่าแล้วก็ขอยกดาวทั้งห้าดวงใส่พานถวายงามๆ ตรงหน้าตักอวบๆ ของเฮียกิลเลอร์โม เดล โทโร่ ไปเลย และณ จุดๆ นี้ ขอบอกว่าเกรียนหนังนึกถึงหน้าน้าไมเคิล เบย์ ไม่ออกแล้วจริงๆ จร่ะ
คะแนน : ★★★★★
PS. ดูไอแม็กซ์จอใหญ่ๆ ไปเลยไม่ต้องลังเล และหลังเอนด์เครดิตมีต่ออีกนิดอย่าเพิ่งลุก