World War Z (2013): สงคราม..เกาะกระแสซอมบี้
โดย เกรียนหนัง
ที่มา https://www.facebook.com/photo.php?fbid=201857986637202&set=a.113215048834830.20429.112834835539518&type=1&theater
เกรียนหนังค่อนข้างชอบนิยายเรื่องนี้ของแม็กซ์ บรูกส์ เอามากๆ ซึ่งต้องบอกเพิ่มเติมอีกซักนิดว่า ด้วยตัวเนื้อเรื่องของ World War Z นั้นไม่ได้แปลกใหม่อะไร เป็นเรื่องราวการแพร่ระบาดของไวรัสที่ทำให้คนกลายเป็นซอมบี้แบบที่เราเคยพบมาจากหนัง หรือหนังสือทั่วๆ ไปนี่แหละ
แต่มันมาโดดเด่นเอาก็ตรงวิธีการเล่าเรื่อง ที่คุณพี่แม็กซ์ บรูกส์ แกไอเดียบรรเจิด และเล่าเรื่องออกมาได้เก๋จริง อะไรจริง คือพี่แกเล่าออกมาในสไตล์ Mockumentary (เรื่องเชิงสารคดีปลอมๆ) ซึ่งถ้าจะให้ขยายความเพิ่มเติมอีกนิดสำหรับคนที่ไม่ได้อ่านหนังสือ ก็คือ พี่บรูกส์แกสมมุติขึ้นมาว่าได้เกิดไวรัสระบาดและทำให้คนกลายเป็นซอมบี้ จนลุกลามไปทั่วทุกมุมโลก กระทั่งกลายเป็นการสู้รบใหญ่โตระหว่างคนกับซอมบี้ ก่อนจะจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายมนุษย์
ซึ่งหลังสงครามสงบลงเรียบร้อยแล้ว พี่บรูกส์ก็สมมติต่อไปอีกขั้นว่าแกได้เดินทางไปพูดคุยกับผู้รอดชีวิตจากหลากหลายอาชีพ หลากหลายประเทศทั่วโลก และได้บันทึกเหตุการณ์จากปากคำของผู้คนเหล่านี้ออกมาเป็นบทสัมภาษณ์ ก่อนจะรวบรวมออกมาเป็นหนังสือบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ (ปลอมๆ) ในชื่อ World War Z
เมื่อเปิดอ่าน มันจะเหมือนเราได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ คนนั้น คนนี้ คนโน้น ซึ่งมีทั้ง นักลักลอบขนคน หมอค้าอวัยวะเถื่อน พ่อค้าขายยาเถื่อน ทหาร นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ และอีกมากมาย ที่เหมือนกับคนเหล่านี้เอาเหตุการณ์ที่ตัวเองได้ประสบมานั่งเล่าให้ฟังย้อนหลังว่าตอนนั้นเจออะไรบ้าง เกิดอะไรขึ้น และรอดมาได้ไง
โดยเนื้อเรื่องจะแบ่งเป็นท่อนๆ ไปโดยปริยาย ตามแต่ว่าเป็นบทสัมภาษณ์ของใคร และอยู่ส่วนไหนของโลกในเวลานั้น แต่พอเราอ่านจนจบแล้ว ไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ และเรื่องราว มันจะต่อกันเอง จนทำให้เราเห็นภาพรวมทั้งหมด ว่าที่สุดแล้วเหตุการณ์สงครามล้างโลกระหว่างมนุษย์กับซอมบี้ มันเป็นไงมาไง เริ่มต้นจากที่ไหน ลุกลามอย่างไร และสิ้นสุดยังไง
ก็ต้องยกนิ้วให้กับไอเดียแจ่มๆ ของคุณพี่แม็กซ์ บรูกส์ แกหล่ะที่เอาเรื่องเก่าๆ เดิมๆ มาเล่าด้วยวิธีการสร้างสรรค์จนกลายเป็นความ “สดใหม่” ขึ้นมาได้อีก
แต่เมื่อกลายมาเป็นหนัง วิธีการเล่าเรื่องที่ว่านี้กลับไม่สามารถนำมาใช้ได้ หรือถ้าจะใช้ มันก็อาจจะทำได้ แต่ผู้สร้างคงเล็งเห็นแล้วว่ามันเป็นความยุ่งยากที่หนักหนาอยู่ไม่ใช่น้อย และก็สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้หนังซับซ้อนเกินเหตุ ยากต่อการควบคุม กระทั่งอาจจะกลายเป็นความล้มเหลวไปในท้ายที่สุด เลยเลือกเส้นทางง่ายๆ ด้วยการแก้ไขเสียใหม่ เป็นการเล่าเรื่องทั้งหมดผ่านมุมมองของคนๆ เดียว คือ เจอร์รี่ เลน (แบรด พิตต์) พนักงานในสหประชาชาติ
ความพิเศษในลีลาการนำเสนอไม่เหมือนใครที่เคยมีในฉบับนิยาย ซึ่งเป็นทั้งจุดแข็ง และสร้างความแปลกใหม่โดดเด่นให้กับเรื่องราว เลยสูญหายไปจนหมดสิ้นในฉบับของหนัง และก็ไม่แปลกเลย หากดูจนผ่านครึ่งเรื่องไปแล้วจะพบว่า World War Z ฉบับหนัง มันเป็นหนังซอมบี้ระบาดระดับพื้นๆ กับความบันเทิงระดับกลางๆ ที่มีดาราใหญ่เป็นตัวชูโรงเท่านั้นเอง
โดยมีส่วนดีที่ถือเป็นความน่าพึงพอใจ ก็คือ การสร้างบรรยากาศความโกลาหลวุ่นวาย ที่ถือว่าหนังให้ภาพตรงจุดนี้ได้ค่อนข้างน่าตื่นตา แต่ก็อีกนั่นแหละ ความโกลาหลวุ่นวายที่เป็นฉากเด็ดระดับไฮไลท์ ล้วนถูกตัดมากระหน่ำฉายซ้ำในตัวอย่างไปแทบหมดแล้ว และมีอยู่แค่นั้นจริงๆ ส่วนที่เหลือในหนังก็เป็นเพียงการ ไล่ล่า หลบหนี ต่อสู้ ระหว่างคนกับซอมบี้ ในสถานที่ปิด (ตึก เครื่องบิน ฯลฯ) ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็น เดจาวู ที่ีมาจากหนังซอมบี้เรื่องอื่นๆ
และยิ่งเมื่อพินิจพิเคราะห์ลึกลงไปแล้วพบว่า การระบาดของซอมบี้ใน World War Z ไม่ได้มีชั้นเชิงหรือนัยยะทางเนื้อหาที่ซ่อนเร้นให้ขบคิดอะไรเลย ไม่มีการเสียดสีความเป็นมนุษย์ การลุกฮือทางชนชั้น หรือ วาระทางการเมืองใดๆ แต่เป็นแค่การระบาดเฉยๆ ที่เกิดขึ้นและจบลง เพื่อให้เกิดเป็นเรื่องราวผจญภัยอันน่าตื่นเต้น สนองตอบความบันเทิงล้วนๆ เพียงมิติเดียว
เมื่อบวกกับการดำเนินเรื่องที่ยิ่งหนังเดินหน้าไปมากเท่าไหร่ ความตื่นเต้น และแรงดึงดูด ยิ่งลดลงไปเรื่อยๆ ก่อนจะจบลงดื้อๆ ง่ายๆ ยิ่งทำให้หนังกลายเป็นความธรรมดาที่ขาดการตกผลึกทางอารมณ์ และเนื้อหาไปอย่างน่าเสียดาย
สุดท้ายเลยคิดได้ว่าหนังเรื่องนี้ถูกทำออกมาด้วยจุดประสงค์เพียงอย่างเดียว คือ ฉกฉวยประโยชน์จากกระแสซอมบี้ที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จนกลายเป็นอีกหนึ่ง Pop Culture ของโลกภาพยนตร์ไปแล้วในยุคนี้
คะแนน : สามดาวจ้า
(หนังเข้าฉายแล้ว ดูได้เพลินๆ สำหรับคนที่เป็นแฟนคลับหนังซอมบี้ และเป็นความบันเทิงระดับมาตรฐานกลางๆ ที่ไม่ผิดหวังสำหรับคนดูหนังทั่วไป)