FEATURESMusic Featuresดนตรีมีเหตุ

ตอนที่ 2 ของคำให้สัมภาษณ์ถึงเคิร์ท โคเบน และ In Utero ของคริสท์ โนโวเซลิค

เมื่อวานได้รับรู้ถึงชีวิตแบบอัตคัตของเนอร์วานา ที่ต้องไปเร่ขอเวลาของห้องซ้อมจากวงที่รู้จัก หรือไปซ้อมที่บ้านเพื่อนซึ่งมีห้องซ้อม ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมมากกว่า ซึ่งทำให้พวกเขามีงานเพลงออกมา “น้อย” กว่าที่ควรจะเป็น

นั่นหมายความว่า ห้องซ้อมคือจุดเริ่มต้นหลายต่อหลายเพลงของพวกเขา “บางเพลงเคิร์ทจะแต่งเก็บเอาไว้ เขาจะมาห้องซ้อมพร้อมกับมัน แล้วเราก็เล่นมันออกมา ช่วยกันทำ แล้วก็มีหลายๆ เพลงที่มาจากในห้องซ้อมเลย ซึ่งได้มาจากการแจมกัน ซึ่งจะใช้เวลาซ้อมด้วยกันสัก 2-3 ครั้ง แต่พวกมันจะเป็นแค่โครง จากนั้นก็เป็นเคิร์ท เขาจะมีมีริฟฟ์กีตาร์ แล้วก็ทำได้ดีมากๆ ในเรื่องการร้องเป็นวลีๆ ออกมา เขามักจะเขียนเนื้อร้องออกมาได้ในนาทีสุดท้ายเสมอๆ แต่เขาเจ๋งมาก เรื่องการร้องเป็นวลีๆ ในห้องซ้อม ในที่สุดเราก็ได้เพลงมาแล้วเพลงหนึ่ง ซึ่งเราจะยึดการเรียบเรียงตรงนั้นเอาไว้ เราจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไร เห็นได้จากหลายๆ เวอร์ชั่นของแต่ละเพลงที่เราเล่นกันสดๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราไม่เคยเปลี่ยนการเรียบเรียง เมื่อมันได้ มันก็จบ จากนั้นก็แค่เล่นออกมา”

[one_two][/one_two]

ดูเหมือนว่า เนอร์วานา ก็คือวงของเคิร์ท เขาทั้งร้อง ทั้งเขียนเนื้อร้องตั้งต้น วงเป็นแค่ทางเชื่อมเขากับโลก ”นั่นยุติธรรมดี ถูกสุดๆ เลยละ” คริสท์ตอบ และเขากับเดฟ ก็เป็นแค่ตัวช่วยในการเชื่อมโลกของเคิร์ท “เป๊ะ!!! ผมทำงานของผมไป ผมรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไรกับวง ตอนนี้ผมพอจะบอกได้เรื่องหนึ่ง ที่น่าจะเป็นการตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด เดฟ, แพ็ท และผม ไม่เคยเล่นด้วยกันเลยตลอด 20 ปีมานี้ จนกระทั่งปีกลาย ตอนเราทุกคนเข้าห้องอัดกับพอล แม็คคาร์ทนีย์ (ซึ่งเป็นการทำงานให้กับหนังเรื่อง Sound City ของกรอห์ล) ผมรู้สึกแบบ ‘โอ พระเจ้า’ ผมรักผู้ชายคนนี้จัง แล้วเขาก็เล่นกีตาร์มือซ้ายเหมือนเคิร์ท ตอนที่เขากำลังเล่นสไลด์ท่อนสำคัญ ผมก็เริ่มเล่น พยายามจับจังหวะ ในคีย์ ดี กับใช้เอ็ฟเฟ็คท์แร็ทเก่าๆ ที่ให้เสียงคำรามออกมา เดฟเล่นตรงนั้น ตรงนี้ก็เป็นแพ็ท นั่นก็พอล เขาส่งริฟฟ์มาที่ผม ผมเล่นรับ แล้วก็โยนบางอย่างกลับไปให้เขา แล้วเขาก็รับ

“ทุกอย่างเกิดขึ้นแบบฉับๆๆ แล้วเพลงนี้ (Cut Me Some Slack) ก็เป็นรูปเป็นร่าง มันกลายเป็นเพลงขึ้นมาได้ภายในเวลาแค่ชั่วโมงเดียว ผมมองไปที่เดฟ กับแพ็ท แล้วก็ไม่นึกถึงพอล ผมรู้สึก… ‘เราไม่ได้ทำแบบนี้ด้วยกันมานานมาก’ มันเหมือนกับเมื่อ 20 ปีก่อน เราเดินออกไปจากห้องนี้ แล้ววันนี้เราก็กลับเข้ามา และทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ในหนังพอลถึงกับพูดว่า ‘ผมไม่รู้ตัวเลยว่า ผมกำลังอยู่ในวงเนอร์วานา รียูเนียน…’”

ที่น่าสนใจก็คือ หลังเคิร์ทตาย ผู้คนเริ่มแกะปริศนาในเนื้อเพลงจากอัลบั้ม In Utero ทั้งๆ ที่บางเพลงเขียนเอาไว้ก่อนนานมากๆ ก่อนอัลบั้ม Nevermind ด้วยซ้ำ “ผมไม่เคยตีความเพลงเขาเลยสักเพลง” คริสท์ เผย “เคิร์ทก็ไม่เคยทำ เขาเขียนเนื้อร้องขึ้นมาอย่างรอบคอบ และมีบางอย่างที่ซ่อนเอาไว้ คุณตีความยังไงก็ได้ตามใจ ผมเคยเจอคนมาบอก ‘เพื่อน… ตอนที่ผมกำลังพักฟื้น ผมฟังเพลงของเนอร์วานาทุกวันเลย มันช่วยผมได้เยอะ’ นั่นก็เยี่ยมแล้ว ผมบอกคุณไม่ได้หรอกว่า เพลงนี้ เพลงนั้น มีความหมายยังไง

“กับเคิร์ท ผมควรจะเรียกเขาว่า กังหันลม ผมเคยบอกเขาแบบนั้น… มีครั้งหนึ่ง ผมถามเขาไป ‘นายได้ยินไหมว่าตัวเองเพิ่งพูดอะไรไป? นายพูดแย้งกับที่บอกเอาไว้เมื่อนาทีที่แล้ว’ เขาหัวเราะให้กับตัวเอง เพราะเขารู้ว่าทำอะไรไป เขาอยากเป็นร็อค สตาร์ แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็เกลียดมัน”

(พรุ่งนี้มาพบเรื่องราวตอนสุดท้าย)

จากเรื่อง ฟังคริสท์ โนโวเซลิค พูดถึง การทำงานของเคิร์ท โคเบน และความงดงามของอัลบั้ม In Utero 2 โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ 24 ตุลาคม 2556

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.