
ดอกไม้ที่กลับมา / ธนพร แวกประยูร
[ใบชา Song]
หลังจากฟังเนื้อเสียงร้องดี ๆ จากศิลปินสาวบอกเล่าเรื่องราวความรักที่เต็มไปด้วยอารมณ์แบบงานเมโลดรามา เมื่อความรักที่ถูกเล่ามาเป็นบทเพลง เนื้อหาช่างบีบคั้น กดดัน เหลือเกิน เมื่อมีทั้งเรื่องถูกคนรักนอกใจ โดนคนใกล้ตัวหักหลัง เจอคนที่ใกล้ชิดทรยศ ที่บางครั้งบางคราวก็ตั้งคำถามเอากับอีกฝ่ายว่าจะเลือกใครเป็นคนในชีวิต มานานพักใหญ่
แม้จะเป็นเสียงร้องที่ดี อารมณ์ได้ ความรู้สึกใช่ ถ่ายทอดความเจ็บปวด อารมณ์แค้น ตลอดจนความผิดหวังออกมาได้อย่างชัดเจน แต่ดูเหมือนความแข็งแรงของคอนเซ็ปต์ที่วางเอาไว้ นอกจากจะทำให้เรื่องราวของเพลง เหมือนจะมีเพียงแค่มุมมองในเรื่องความรักที่ต้องช่วงชิง เอาคืน หรือประกาศตัวเป็นเจ้าของแล้ว ยังทำให้เจ้าของเสียงร้องรายนี้ กลายเป็นตัวแทนของศรีภรรยา หรือว่าหญิงสาวที่ถูกทำร้ายโดยคนที่เธอไว้ใจ ไม่ว่าจะเป็นคนรักหรือเพื่อน และ (อาจจะ) ไม่น่าร้องเพลงในแง่มุมความรักแบบอื่น ๆ หรือในอารมณ์ที่แตกต่างให้ได้ยิน
แต่แล้วก็มีเสียงร้องหวาน ๆ กับเรื่องราวความรักที่อบอุ่น สอดแทรกเข้ามาในอัลบั้มชุดพิเศษของเธอในปี 2546
“รักเธอนะ เธอให้ความมั่นใจ เพราะเธอนะ ทำให้ฉันมีแรงใจ ไม่กลัวความมืดมิด ไม่กลัวคืนไหน ๆ ถ้ารู้ว่าข้างกายจะมีเธอ”
ที่ไม่ใช่แค่เรื่องราวจะแตกต่างจากที่เสียงร้องของเธอเคยรับใช้ เมื่อหนนี้เธอพูดแทนใจของผู้หญิงคนหนึ่ง ในยามเจอใครบางคนที่รู้สึกว่าใช่ ซึ่งไม่ได้จบแค่เป็นที่รัก หากยังควรค่ากับการเป็นคู่ชีวิต เสียงร้องของเธอยังแตกต่าง แน่นอนว่าอารมณ์ ความรู้สึกยังมาครบ แต่เป็นอารมณ์ในขั้วตรงข้าม ไม่ได้แข็งกร้าว กลับอ่อนโยน อบอุ่น เต็มไปด้วยความรู้สึกดี ๆ กลมกลืน ลงตัวกับดนตรี ที่ละเมียดละไม และ “สวยงาม”
ถ้าจำไม่ผิดนั่นคือ ครั้งแรกที่ปาน ธนพร แวกประยูร เผยเสียง “สวย” ของเธอออกมาให้ได้ยิน
แล้วก็ตามด้วยการแสดงให้เห็นว่า ถ้าจะร้องเพลงสนุก ๆ มีอารมณ์ขัน เธอก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน กับอัลบั้ม ‘หนุ่มบาว-สาวปาน’ ในอีก 2 ปีต่อมา
และปี 2551 อัลบั้มรวมเพลงเก่า ที่นำมาเรียบเรียงใหม่ให้ศิลปินรุ่นใหม่ถ่ายทอด ‘Siam Songbook’ ธนพรก็เผยศักยภาพอีกด้านให้รับรู้ กับ “ลมหวล” ที่ดนตรีเรียบเรียงได้ประณีตบรรจง มีลูกล่อลูกชนขนาดไหน เสียงร้องของธนพรก็ทำได้ไม่แพ้กัน ทั้งความละเอียดของเสียง ทั้งลูกเล่นที่ใส่เข้ามา
ตอกย้ำให้รู้กันถ้วนทั่วว่า ผู้หญิงคนนี้ครบเครื่องจริง ๆ ในเรื่องของการร้องเพลง
แต่ดูเหมือนว่า โอกาสที่จะได้สัมผัสกับศักยภาพของธนพร ที่นอกเหนือจากคอนเซ็ปต์ที่ถูกจัดวางไว้ให้โดยครีเอถีฟของต้นสังกัด จะมีไม่มากนัก เพราะดูจะให้น้ำหนักกับเรื่องของการขาย ส่งผลให้ผลงานที่ทำออกมา กลายเป็นการเพลย์เซฟมากกว่าเพลย์เสี่ยง เพราะเธอเป็นได้ก็เพียงหญิงสาวที่หวง “คน” และ “ความ” รัก กับสาวปานที่สานต่อจากงานที่ทำกับคาราบาวเท่านั้น
ฟาสต์ฟอร์เวิร์ดมาถึงปัจจุบัน… ไม่น่าเชื่อว่าจะต้องใช้เวลายาวนานถึงเกือบสองทศวรรษ จาก “ดวงไฟในคืนแรม” และ 14 ปีจาก “ลมหวน” ถึงจะได้ฟังเสียงร้องที่สวยเหลือเกินของธนพรได้แบบเต็ม ๆ จากอัลบั้มชุดนี้ ‘ดอกไม้ที่หายไป’ งานที่เรียกได้ว่าเป็นการกลับมาของธนพร แวกประยูร เพราะนี่คือ สตูดิโออัลบั้มที่เป็นงานเพลงใหม่ชุดแรกของเธอในรอบ 10 ปี หากมองว่า งานชุดสุดท้าย “The One and Only” ที่มีเพียง 5 เพลงเป็นอัลบั้ม
และการกลับมาด้วย ‘ดอกไม้ที่หายไป’ ก็ถือว่าคุ้มกับการรอคอย เมื่อมาพร้อมกับเสียงร้องและงานดนตรีที่แตกต่างไปจากที่เคยได้ยินจากธนพรอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เปิดอีกด้านของนักร้องหญิงรายนี้ให้รับรู้เต็ม ๆ รวมถึงส่งให้งานชุดนี้เป็นการกลับมาพร้อมกับความสดใหม่ ที่สามารถปลุกหูให้ตื่นได้ทุกครั้ง เมื่อแต่ละเพลงดังขึ้น จากเพลงที่ 1 ไปถึง 2-3-4 จนเพลงสุดท้าย
ด้วยงานดนตรีในแบบลูกกรุง ที่นำเอาดนตรีในเส้นทางนี้ที่ต่างยุคต่างสมัย มาผสมผสานรวมกันได้อย่างกลมกลืน ทั้งบรรยากาศแบบสุนทราภรณ์ ทั้งอารมณ์แบบงานลูกกรุงยุคท้าย ๆ พร้อมกับมีสัมผัสของดนตรีร่วมสมัยจากการเรียบเรียง และการใช้เสียงร้องของธนพร ที่ไม่ติดอยู่กับนักร้องลูกกรุงยุคไหนเพียงคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นลูกกรุงในแบบของเธอ ถึงเหมือนจะจับอิทธิพลที่ธนพรน่าจะรับมาได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็น ดาวใจ ไพจิตรหรือจินตนา สุขสถิตย์ แต่ท้ายที่สุด เนื้อเสียง เทคนิคที่ใช้ ก็มี “ตัว” ชัดเจน
เรื่องราวของอัลบั้มในเพลง ที่เกือบทั้งหมดเป็นฝีมือของบรรณ สุวรรณโนชิน ผู้เป็นแทบทุกอย่างของใบชา Song แสดงลายเซ็นของตัวเองออกมาแจ่ม ๆ ทุกเพลง มีอารมณ์ขันสอดแทรกข้างใน อย่าง “จำเป็นรัก” เพลงเปิดอัลบั้ม ก็เป็นเรื่องของคนปากแข็ง ที่โทษทุกอย่างไปเรื่อยว่าเป็นปัจจัยให้ต้อง “จำเป็นรัก” แต่ไม่ยักกะโทษตัวเอง ภาษาสามารถนำคำเก่า ๆ ที่ไม่ค่อยมีใครใช้ในเพลงแล้วทุกวันนี้ มาใช้ได้ในแบบไม่ได้รู้สึกตลก ผิดหู หรือผิดที่ผิดทาง ไม่ต่างไปจากงานหลาย ๆ ชุดของไบชา Song ที่ต้องให้เครดิตกับการเรียบเรียงดนตรี การใช้เสียงร้อง ที่ผสมกลมกลืนกับคำ จนเพลงฟังไหลลื่นอย่างที่ได้ฟัง
ชนิดที่ไม่ต้องพูดถึงความเนี้ยบ และละเอียดของดนตรี ที่ถือเป็นอีกลายเซ็นของสังกัดเพลงรายนี้อยู่แล้ว
นอกจากเพลงบรรเลงปิดท้าย มีสามเพลงที่ไม่ใช่ฝีมือของบรรณ “ไฟเสน่หา” กับ “รักฝังใจ” ที่แต่งโดย ว.วัชญาน์ เนื้องานเป็นไปตามมาตรฐานของอัลบั้ม มีทางของสุนทราภรณ์ผสมกับดนตรีลูกกรุงยุคหลัง ๆ ภาษามียุคสมัยชัด ดนตรีมารับได้พอดิบพอดีเช่นเดียวกับเสียงร้องของธนพร
ส่วนเพลงที่เหลือ “ดวงตาสวรรค์” ที่แต่งโดยศักดิ์ศิริ มีสมสืบ นี่คือเพลงโชว์ของ ‘ดอกไม้ที่กลับมา’ ก็ว่าได้ การเรียบเรียงมีเสน่ห์เหลือเฟือ ด้วยจังหวะดนตรีที่แตกต่าง เหมือนเป็นเพลงที่มีสองภาค สองตอนอยู่ในเพลงเดียว อาจจะรู้สึกขัด ๆ หูในช่วงแรก ๆ แต่ท้ายที่สุดก็หลอมรวมกันได้กลมกลืน จนลงได้อย่างชื่นมื่น
โดยส่วนตัวกับครั้งแรกที่ได้ฟังเพลงนี้ พอจบปุ้บก็ต้องกดปุ่มย้อนฟังซ้ำอีกครั้งปั้บ เพราะช่างกระตุกหูเหลือเกิน
แม้จะรู้สึกถึงความ “สด” – “ใหม่” จากธนพร แต่ในอีกมุมหนึ่งของ ‘ดอกไม้ที่กลับมา’ กับคนที่คุ้นเคยกับเพลงเก่า ๆ ในยุคทองของเธอ ย่อมรู้สึกแปลกแปร่งหูอยู่บ้าง เพราะความแตกต่างที่มีไม่ใช่น้อย
แต่ถ้าชอบงานที่มีความละเอียด ละเมียดละไมของดนตรี เสียงร้องที่ประณีต สวย ต่อให้ไม่รู้สึกว่าเป็นเพลงเพราะ ตามนิยามอย่างที่เข้าใจโดยทั่วกัน หากทุกเพลงในงานชุดนี้ เรียกว่าเป็นเพลงเพลิน เพลงฟังได้อย่างเต็มปาก
ที่ได้ยินแล้ว รู้สึก “รื่นรมย์” มากกว่า “ระเริง” ชัดเจน
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 33 ฉบับที่ 9 ตุลาคม 2565
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่