
ถ้าเป็นแฟนเพลงสากลในยุค 80 ชื่อของ อะ-ฮา (a-Ha) คือชื่อสามัญประจำบ้าน จากความฮิตของเพลงอย่าง “Take On Me”, “The Sun Always Sines on TV” สองซิงเกิลจากอัลบัมแรกของพวกเขา Hunting High and Low เมื่อปี 1985
ถึงแม้จะผ่านช่วงเวลาสุดยอดของตัวเองไปแล้ว เมื่อผ่านเข้าสู่ยุค 90 อะ-ฮาที่ประกอบด้วยมอร์เทน ฮาร์เค็ท (Morten Harket) ร้องนำ/ กีตาร์, แมกเน ฟูรูโฮลเมน (Magne Furuholmen) คีย์บอร์ดส์ และพอล แวคตาร์ (Paul Waaktaar-Savoy) ยังคงสร้างงานออกมาเรื่อยๆ แม้จะมีสะดุดอยู่บ้าง เมื่อพวกเขาประกาศแยกวงถึงสองช่วง ตอนปี 1994-1998 และ ปี 2007 – 2015 แต่ระหว่างนั้นสมาชิกของวง อย่าง ฮาร์เค็ท ก็มีงานเดี่ยวออกมาให้ฟังกัน ไม่ได้หายหน้าหายตาไปไหน
กับกระแสการกลับมาของเพลงเทคโน-ป็อป ที่ไม่ใช่แค่เพลงจากยุคนั้นมามีอิทธิพลใน “เสียง” ดนตรีของยุคนี้ แต่บทเพลงจากอดีตก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในจอภาพยนตร์ ที่เพลงจากยุค 80 ถูกหยิบมาใช้กันเรื่อยๆ ซึ่งก็ต้องมีเพลงของอะ-ฮารวมอยู่ด้วย เพราะพวกเขาคือหนึ่งในศิลปินที่สร้าง “เสียง” ของยุค 80 ขึ้นมา เช่นเดียวกับวงอย่าง Duran Duran ศิลปินเดี่ยวอย่าง มาดอนนา (Madonna) รวมไปถึง จอร์จ ไมเคิล (George Michael)
ล่าสุดหนังบิ๊กๆ สองเรื่องที่ออกฉายไล่ๆ กัน Ready Player One และ Deadpool 2 ต่างก็ใช้เพลง Take on Me ของอะ-ฮาทั้งคู่ เรื่องแรกใช้ประกอบหนังตัวอย่าง เรื่องหลังใช้ในหนัง กับฉากสำคัญของเรื่องตอนท้าย ที่บางการกระทำของตัวละคร ทาบทับกับบางภาพของมิวสิค วิดีโอเพลงนี้ที่ทำออกมาได้เริ่ดมากๆ ในยุคสมัยของมันพอดี แถม Take on Me ที่ได้ยินในหนัง Deadpool 2 ยัง เป็นเวอร์ชันอะคูสติค ฟังซึ้ง หวาน เจือปนไปด้วยความเศร้ามากกว่าเวอร์ชันเทคโน-ป็อป ที่ได้ยินกันจากต้นฉบับมากมาย กลายเป็นการตีความใหม่ ที่ให้อรรถรสต่างจากเดิม และสร้างมุมมองใหม่ให้กับเพลงได้ในทันที
ต้นทางที่มาของ Take on Me ฉบับนี้ก็คือ อัลบัมคู่ A-Ha: MTV Unplugged – Summer Solstice งานบันทึกการแสดงสดแบบอะคูสติคของวง ที่เดอะ ฮาร์เบอร์ ฮอลล์ ในโอเชียน ซาวนด์ เรคอร์ดิงส์ ที่เมืองกิสคา ประเทศนอร์เวย์ บ้านเกิดของพวกเขา เมื่อ 22-23 มิถุนายน 2017 ที่อะ-ฮาหยิบเอาเพลงถึง 21 เพลงมาเรียบเรียงใหม่ในแบบอะคูสติคได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง ในแบบที่แทบจะลืมตัวตนแท้ๆ ของเพลงเหล่านี้ไปเลยก็ว่าได้
ไม่ว่าจะเป็น “I’ve Been Losing You”, “Stay on These Roads”, “The Living Daylights” เพลงจากหนังเจมส์ บอนด์ชื่อเดียวกัน และขาดไม่ได้กับสองเพลงดังของวง แล้วก็มีเพลงพิเศษอย่าง “Sox of the Fox” เพลงเก่าของ Bridges วงดนตรีก่อนหน้าจะมาเป็นอะ-ฮา ของแวคทาร์-ซาวอยกับฟูรูโฮลเมน และ “Killing Moon” เพลงของ Echo and the Bunnymen ซึ่งเอียน แม็คคัลล็อค นักร้องนำของวงมาเป็นแขกรับเชิญร่วมร้องเพลงนี้ และ Scoundrel Day ร่วมกับอะ-ฮาด้วย
การได้ยินเพลงที่เคยมีเครื่องเคราอิเล็กทรอนิกส์เป็นเสียงหลัก กลายเป็นเพลงอะคูสติคแบบนี้ นอกจากจะทำให้ได้ความรู้สึก “สด”, “ใหม่” แตกต่างไปจากเดิมได้อย่างชัดเจนแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงชั้นเชิงความสามารถทางดนตรีของอะ-ฮาไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะเสียงร้องของฮาร์เค็ทที่เปลือยอารมณ์ได้มากกว่าที่เคยเป็น กับเสียงเปียโนของฟูรูโฮลเมนที่ฟังพลิ้วไหว หรือหากไม่ใช่ชั้นในเรื่องการเล่นดนตรี ก็คือการเรียบเรียงเพลง ที่วันนี้อะ-ฮากลายร่างเพลงเทคโน-ป็อป ให้กลายเป็นงานอะคูสติคเพราะๆ ได้อย่างลงตัว และไม่ขัดหู
ที่พอฟังเพลงทั้งหมดครบทั้งอัลบัม ก็พบคำตอบได้ในทันทีว่า เพราะอะไรทำไมพวกเขาถึงยังเป็นดาวค้างฟ้าจากยุค 80 มาจนถึงยุคนี้ได้อย่างที่เห็น….
โดย นพปฎล พลศิลป์ จากเรื่อง Summer Solstice งานปลดเปลื้องสรรพเสียงอิเล็กทรอนิกส์ของอะ-ฮา คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 18 พฤษภาคม 2561
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่