อ่านตอนแรกได้ที่ http://bit.ly/1gcMRKL อ่านตอนที่ 2 ได้ที่ http://bit.ly/1kpD3ms
แบบไม่มีปี่ไม่ขลุ่ย จู่ๆ บียอนเซ่ ก็ปล่อยอัลบั้มใหม่ Beyonce’ ออกมาโดยที่ไม่มีการทำการตลาดใดๆ เลย เกี่ยวกับอัลบั้ม ไม่มีสปอตโฆษณา ไม่มีการตัดเพลงซิงเกิล หรือทีเซอร์ กระทั่งข่าวคราวก็ไม่มี ผ่านทางไอทูนส์ สโตร์ โดยเธอคือป็อปสตาร์รายแรกที่ออกอัลบั้มด้วยวิธีการแบบนี้ ซึ่งทางเดอะ ลองแองเจลีส ไทม์ส ถึงกับบอกว่า บียอนเซ่ กำลังจะ “เปลี่ยนเกม”
[one_two][/one_two]
เดอะ ลอสแองเจลีส ไทมส์ พูดถูกแต่ไม่ทั้งหมด เมื่อมองไปถึงกิจกรรมที่บียอนเซ่ทำมาตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นการแสดงที่ซูเปอร์โบลว์, การทำงานเพลงให้หนัง The Great Gatsby, การไปร่วมงานในอัลบั้มหรือในเพลงของศิลปินรายอื่นๆ รวมไปถึง โฆษณาชิ้นต่างๆ ที่มีเพลงใหม่ประกอบนิดๆ หน่อยๆ เธอกำลังตัดคนกลาง และต่อสายตรงกับแฟนเพลงของตัวเอง และอัลบั้มก็คือบทสรุปของความตั้งใจของเธอ
“ฉันไม่อยากปล่อยงานออกมาแบบที่เคยทำ” เธอพูดเอาไว้ถึงการออกอัลบั้มนี้ “ฉันเบื่อกับการทำอะไรแบบนั้น ฉันรู้สึกว่าตัวเองสามารถพูดตรงๆ ไปยังแฟนเพลงได้ มีอะไรเยอะเแยะที่อยู่ระหว่างงานเพลง, ศิลปิน และแฟนเพลง”
ไม่ว่าจะเป็นจริงอย่างที่บอกหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่เห็นจากการตัดสินใจครั้งนี้ก็คือ ความสำเร็จ เมื่อมีรายงานในคืนแรกที่อัลบั้มวางขายในไอทูนส์ว่า “ระหว่างช่วงเที่ยงคืน – ตีสาม อัลบั้มชุดนี้ขายไปได้กว่า 80,000 โหลด” ด้วยราคาราวๆ 16 เหรียญ งานชุดนี้ทำเงินไปแล้วถึง 1.3 ล้านเหรียญ
ถ้าคิดว่าเยอะแล้ว นี่เป็นเพียงคำตอบแบบนุ่มๆ หากมองไปถึงเครื่องจักรสร้างกระแสที่เหนื่อยหอบเต็มที โดยเฉพาะคนที่เคยร้องเพลง Telephone กับบียอนเซ่ เลดี้ กาก้าใช้เงินไปถึง 25 ล้านเหรียญกับการโฆษณาอัลบั้ม ARTPOP ซึ่งหากมองกันที่ตัวเลข อัลบั้มชุดนี้คืองานคว่ำ อย่างที่หนังสือบิสสิเนสส์ วีค สรุปเอาไว้
“ถึงจะโหมกระหน่ำทุกทาง ARTPOP ก็ไม่วิ่ง อัลบั้มชุดนี้ขายไปแค่กว่า 250,000 ก็อปปี้ในสัปดาห์แรก ซึ่งน้อยกว่า Prism ของแคตี เพอร์รีที่ทำได้ 286,000 ก็อปปี้ และ 270,000 ก็อปปี้ ที่ Bangerz ของไมลีย์ ไซรัสทำเอาไว้ แล้วก็ต่ำกว่า 350,000 ก็อปปี้ ที่คาดกันก่อนวางจำหน่าย อินเตอร์สโคป ต้นสังกัดของกาก้า สูญเงินไปกับอัลบั้มชุดนี้มาก และก็มีข่าวลือที่ยังไม่ยืนยันว่า กำลังมีการเลิกจ้างพนักงาน”
และต่อให้อัลบั้ม Beyoncé ทำอะไรไปไม่ได้มากกว่านี้ โคลัมเบีย ต้นสังกัดของบียอนเซ่ ก็ไม่ได้หมดเงินไปกับการปั้นอัลบั้มจนเกินตัว และน่าจะทำให้พนักงานของบริษัทมีความสุข เมื่อสามารถกลับบ้านในช่วงวันหยุดยาวปลายปีได้โดยไม่โดนปลดออกจากงาน ยิ่งไปกว่านั้น หากมองไปถึงว่า ไม่มีใครที่ได้ฟังอัลบั้มชุดนี้ล่วงหน้า ซึ่งก็รวมถึงนักวิจารณ์ด้วย ทำให้ไม่มีเสียงลบ หรือบวกออกมา ทำให้ง่ายสำหรับการสร้างความตื่นเต้นจากแฟนเพลงพันธุ์แท้ของเธอ ที่บางทีอาจจะฟังแล้วก็ซื้องานของเธอต่อให้ได้คำวิจารณ์ในแง่ลบก็ตาม รวมไปถึงคนฟังทั่วๆ ไป ที่โดยปกติจะไม่เอาคำวิจารณ์มาตัดสินใจว่าควรจะฟังหรือไม่ฟังอัลบั้ม
พูดง่ายๆ อัลบั้มชุดนี้เป็นเหมือน การสุ่มเลือกของที่อยู่ในกล่อง โดยที่ไม่รู้ว่าข้างในนั้นจะเป็นอะไร แต่ความไม่รู้ก็คือ ความตื่นเต้น และใครละจะยอมพลาดโอกาสนั้น
(พรุ่งนี้มาดูกันว่า Beyonce’ ทำสถิติอะไรไว่้บ้าง และเพราะอะไรถึงทำได้ขนาดนั้น)
จากเรื่อง อัลบั้มใหม่ของ บียอนเซ่ จุดเปลี่ยนธุรกิจเพลง? (3) โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 19 ธันวาคม 2556