FEATURESMusic Features

ย้อนตำนานน้องรักหักเหลี่ยมโหด ไมเคิล แจ็คสันฉกลิขสิทธิ์เพลงของ The Beatles

เมื่อพูดถึงไมเคิล แจ็คสัน ราชาเพลงป็อป ที่หากวันนี้ยังมีชีวิตอยู่ จะอายุปาเข้าไป 57 ปีแล้ว โดยเฉพาะเรื่องของการใช้เงินใช้ทอง หลายๆ คนอาจจะคิดว่าเขาเป็นหนึ่งในศิลปินที่ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย หมดไปกับการซื้อบ้านหลังโต สร้างสวนสนุกส่วนตัว ไหนจะบรรดาสิงสาราสัตว์อีกต่างหาก ซึ่งเห็นได้ชัดจากการใช้ชีวิตในช่วงหลายปีก่อนเสียชีวิต แจ็คสันต้องตกเป็นหนี้เป็นสินมหาศาล จนเสียที่ดินกว่า 2,800 เอเคอร์ของเนเวอร์แลนด์ ไหนจะต้องเอาทรัพย์สินส่วนตัวออกมาประมูลอีกต่างหาก

แล้วหลังจากเสียชีวิต ผู้ดูแลทรัพย์สินของเขา ก็ยังต้องวุ่นกับเรื่องบริหารจัดการหนี้กันแบบไม่รู้จักจบจักสิ้น โดยมีรายงานเมื่อราวๆ ปลายปี 2014 ว่า บริษัทที่ดูแลสินทรัพย์ของแจ็คสัน ตกเป็นหนี้ภาษีถึง 505 ล้านเหรียญ และยังมีค่าปรับอีก 197 เหรียญ

แต่ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ทรัพย์สินฟุ่มเฟือย เมื่อวันที่ 6 กันยายน 1985 ไมเคิล แจ็คสันก็ได้ทำการซื้อทรัพย์สินที่มีมูลค่าราคา และเป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุด นั่นคือการซื้อลิขสิทธิ์เพลงของเดอะ บีเทิลส์ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในการทำธุรกิจดนตรีครั้งประวัติศาสตร์ และเป็นหนึ่งในการทำธุรกิจของแจ็คสันเพียงไม่กี่อย่าง ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายาม, ความเฉลียวฉลาด และความอดทนของเขา ขณะที่เรื่องราวก็แสดงให้เห็นถึงความ ‘เขี้ยว’ ในการเอาธุรกิจมาผสมผสานกับความเป็นเพื่อน และวันนี้เราจะไปย้อนดูความเป็นมาในครั้งนั้นกัน

แต่ก่อนอื่น คงจะต้องทำความรู้จักกับ การพิมพ์เพลง หรือ Music publishing กันก่อน โดยการพิมพ์เพลงจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในเพลงที่ถูกประพันธ์ขึ้น อย่างเพลง Yesterday แม้จะได้รับการบันทึกเสียงโดยเดอะ บีเทิลส์ แต่คนที่ประพันธ์เพลงก็คือ เล็นนอน และแม็คคาร์ทนีย์ (ที่ตอนหลังมีการค้นพบว่า จริงๆ แต่งโดยแม็คคาร์ทนีย์ เพียงคนเดียว) ซึ่งในปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องที่รู้กันโดยทั่วไปว่า คนแต่งเพลงจะเป็นเจ้าของเพลง และจัดการเรื่องการอณุญาตให้เอาเพลงไปใช้ในที่ต่างๆ แต่ในช่วงแรกๆ ของธุรกิจดนตรี บรรดาศิลปินที่ใสซื่อทั้งหลาย ซึ่งก็รวมถึงเดอะ บีเทิลส์ด้วย ต่างเซ็นสัญญามอบลิขสิทธิ์ให้คนอื่นไปโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยทั้งจอห์น เลนน็อน และพอล แม็คคาร์ทนีย์ ต่างก็เสียสิทธิ์ในการดูแลการพิมพ์เพลงของตัวเองไปตั้งแต่ปี 1969 ผ่านการเซ็นสัญญาที่มีลูกตุกติกและคลุมเครือ ถึงแม้ทั้งคู่จะยังได้ค่าโรยัลตี ที่จ่ายให้กับนักแต่งเพลงก็ตามที

มาถึงปี 1981 ไมเคิล แจ็คสัน กับพอล แม็คคาร์ทนีย์ กลายมาเป็นเพื่อนซี้ต่างวัยกัน ทั้งคู่ร่วมกันทำงานเพลงที่กลายเป็นฮิตอันดับ 1 อย่าง “Say Say Say” ที่ด้านบีของซิงเกิลเป็นเพลงชื่อประหลาดๆ อย่าง Ode to a Koala Bear”

ในคืนหนึ่ง แจ็คสันแวะไปที่บ้านของแม็คคาร์ทนีย์ นั่งโอภาปราศรัยกันไปตามประสา และแทนที่จะคุยอวดถึงเรื่องรถแต่งสวยๆ หรือว่าขวดไวน์แพงๆ แม็คคาร์ทนีย์กลับเมาท์ถึงเรื่องเพลงที่เขาซื้อลิชสิทธิ์มาไว้ในมือ ไม่ว่าจะเป็นเพลงของบัดดี ฮอลลี หรือเพลงละครบรอดเวย์

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม็คคาร์ทนีย์ เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเองในอดีต ขณะที่แจ็คสันก็สังเกต และจดจำเอาไว้ เขาฟังอย่างตั้งใจ และปฏิบัติการบางอย่างก็เริ่มต้นขึ้น และทำให้เกิดแผลลึกกินใจกับแม็คคาร์ทนีย์มาจนถึงทุกวันนี้

ตลอดช่วงเวลาสี่ปี ตั้งแต่ปี 1981 – 1985 ราชาเพลงป็อปเริ่มหว่านเงินซื้อสิทธิ์ในการพิมพ์เพลงเป็นว่าเล่น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ในการพิมพ์เพลง “Runaround Sue” เพลงอันดับ 1ในอเมริกา และเพลง “The Wanderer” ของ Dion

แล้วในที่สุด ก็เป็นเพลงของ the Beatles ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลยในตอนนั้น เมื่อบรรดาเพลงต่างๆ ของเดอะ บีเทิลส์ ตกเป็นของมหาเศรษฐีชาวออสเตรเลียน ชื่อ โรเบิร์ท โฮล์มส์ อะ คอร์ท (Robert Holmes à Court) ซึ่งไม่ใช่คนที่รักใคร่คนอเมริกันอะไรมากมาย แล้วก็ไม่ได้เร่งรีบอยากจะขายสิทธิ์ในเพลงต่างๆ ด้วย แต่ในท้ายที่สุด แจ็คสันก็ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ โดยแลกกับเงิน 47.5 ล้านเหรียญ และคอนเสิร์ทส่วนตัว 1 รอบที่เพิร์ธ มหาเศรษฐีออสเตรเลียนรายนี้ ขายสิทธิ์ทุกเพลงที่มีอยู่ในมือให้กับแจ็คสัน ยกเว้นเพลง “Penny Lane” ซึ่งเขามอบให้เป็นของขวัญกับลูกสาว ที่มีชื่อเดียวกันกับเพลง

น่าจะเป็นเรื่องที่คาดเดากันได้ว่า การซื้อลิขสิทธิ์เพลงของเดอะ บีเทิลส์ จะทำให้มิตรภาพของแจ็คสันและแม็คคาร์ทนีย์จบสิ้นลง ตอนที่มีคนบอกความเป็นมาล่าสุดเรื่องนี้ให้ฟังตอนปี 2009 แม็คคาร์ทนีย์แค่นหัวเราะออกมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บาดแผลยังคงไม่หายไปไหน เขายังเจ็บปวดกับเรื่องราวในครั้งนี้อยู่

กับเวลา 30 ปีที่ผ่านไป สิ่งที่ได้จากเรื่องนี้ก็คือ การลงทุนในครั้งนั้นของแจ็คสัน เพิ่มพูนมูลค่าเป็น 1 พันล้านเหรียญ และน่าจะเป็นสินทรัพย์ที่อยู่ยงคงกระพันได้นานที่สุด นอกเหนือไปจากงานในการบันทึกเสียงของตัวราชาเพลงป็อปเอง ที่สำคัญยังน่าจะเป็นหนึ่งในของสำคัญที่ทำให้การบริหารทรัพย์สินต่างๆ ของแจ็คสันดำเนินต่อไปได้ รวมไปถึงแสดงให้เห็นว่าราชาเพลงป็อปที่ใช้เงินเละๆ เทะๆ รายนี้ มีความคิดมากกว่าที่คนอื่นๆ มองๆ แม้เขาจะไม่ระมัดระวังเลยในเรื่องการผสมผสานการทำธุรกิจกับมิตรภาพ

ทว่า ในท้ายที่สุด คนที่หัวเราะเป็นคนสุดท้ายก็คือ แม็คคาร์ทนีย์ เมื่อกฏหมายในเรื่องลิขสิทธิ์ปี 1976 ประกาศใช้ ซึ่งระบุว่า สิทธิ์ในการพิมพ์เพลงจะต้องกลับไปเป็นของผู้แต่งอีกหลังเวลาผ่านไป 56 ปี ซึ่งนั่นหมายความว่า เลนนอนกับแม็คคาร์ทนีย์ (หรือหากทั้งคู่เสียชีวิต จะตกไปเป็นของผู้ดูแลทรัพย์สิน) จะได้เพลงของตัวเองกลับมาอยู่ในมืออีกครั้ง ตั้งแต่ปี 2018 และจะค่อยๆ ทยอยกลับมาเรื่อยๆ จนหมดสิ้นในปี 2026

และในตอนนั้น หวังว่าบรรดาทายาท ผู้ดูแลทรัพย์สินของพวกเขา จะไม่ทำอะไรโง่ๆ แบบบรรพบุรุษขึ้นมาอีก

จากเรื่อง ย้อนตำนานน้องรักหักเหลี่ยมโหด ไมเคิล แจ็คสันฉกลิขสิทธิ์เพลงของ The Beatles โดย นพปฎล พลศิลป์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 15-16 กันยายน 2558

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.