ความแตกต่างระหว่าง Push และShove
PUSH AND SHOVE
No Doubt
[Interscope]
ด้วยความที่เป็นอัลบั้มชุดแรก นับตั้งแต่ Rock Steady เมื่อปี 2001 (ไม่นับอัลบั้มรวมฮิต) ที่กว่าจะออกมา เกวน สเตฟานี นักร้องนำของวงก็ปล่อยอัลบั้มเดี่ยวที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามมาคั่นกลางถึง 2 ชุดไหนจะให้กำเนิดทายาทระหว่างนี้อีกด้วยซ้ำ
ไม่แปลกที่สื่อต่างๆ จะมองว่า Push and Shove เป็น Comeback Album ของวง เพราะแม้จะไม่มีข่าวออกมาอย่างเป็นทางการว่า โน เดาบท์ แยกวง แต่การเป็น อยู่ คือ ของเธอและพวกเขาในช่วงที่ผ่านมา ก็พอจะทำให้แฟนๆ หวั่นไหวอยู่เหมือนกันว่าจะไม่มีโอกาสได้เจอกับ พวกเขากับเธออีก แต่แล้วในที่สุด โน เดาบท์ ก็กลับมาพร้อมกับทีมงานชุดเดิม และ…
แม้จะเรื้อเวทีไปนาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สนิมจะเกาะเกวน สเตฟานี, โทนี่ คาเนล, แอเดรียน ยัง และทอม ดูมอนท์ และก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะเก่า เอาท์ และเชยไปจากวงการเพลงในยุคนี้ ที่ทุกอย่างมาเร็ว ไปเร็ว
เพลงของพวกเขายังฟังสนุก แข็งแรง มีพลัง จัดเต็ม มาครบ ไม่ว่าจะเป็นทางเดิมๆ ที่แฟนๆ คุ้นเคยอย่าง สกา หรือว่าดนตรีป็อปยุค 80 ที่น่าจะเป็นการพกติดตัวมาโดยนักร้องนำสาวจากสมัยที่ดอดไปทำอัลบั้มเดี่ยว แต่ที่ขาดไป หรือถือว่าเป็นความไม่ลงตัวก็คือโทนของอัลบั้ม ที่ถูกตัดแบ่งเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน ระหว่างครึ่งแรกและครึ่งหลังของอัลบั้ม
ในครึ่งแรกโน เดาบท์ เปิดตัวด้วย Settle Down เพลงซิงเกิ้ลที่ความยาวปาเข้าไป 6 นาทีนั้น ที่พวกเขาปล่อยมาครบ พลัง ความสด เซนส์ป็อป และอารมณ์ขัน เหมือนการทักทายเริ่มต้น บอกว่าพวกเขากลับมาแล้ว ในแบบที่ไม่ได้อ่อนแรง หรืออ่อนล้า จัดว่าเป็นการเปิดตัวที่ดีไม่น้อย ตามด้วย Looking Hot เพลงที่มีนัยเสียดสี บรรดาพวกคนที่ชอบสอดส่อง ชีวิตของคนสวย คนดัง ทั้งหลาย ที่ถูกตัดเป็นซิงเกิ้ลที่ 2 ก็ผสมผสานสกา-ร็อค และอิเล็กทรอนิกส์เข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน แล้วก็เป็นงานที่ถือว่าเป็นงานโชว์ทางดนตรี ที่ส่วนตัวแล้วถือว่าเหนือกว่า Settle Down อยู่หนึ่งระดับ กับเพลงที่เป็นชื่ออัลบั้ม Push and Shove ซึ่งมีเมเจอร์ ลาเซอร์ และศิลปินเร็กเก้ จาไมกัน – บิวซี่ ซิกนัล มาร่วมงานนั้น ถือว่าเต็มกว่าเยอะ ดนตรีฟังซับซ้อน มีมูฟเมนท์หลากหลาย และย้อนให้เห็นรากดนตรีของวง ไม่ว่าจะเป็น สกา, พังค์ หรืออิเล็กทรอนิกส์ แบบครบเครื่อง
ครึ่งหลัง ตัวเพลงเป็นทางป็อปมากกว่าเดิม ความหนักแน่นแบบร็อค จังหวะที่ฉับไว คึกคักลดลง หลายๆ เพลงอย่าง Undercoverให้ความรู้สึกเหมือนเป็นงานเดี่ยวของเกวน สเตฟานีมากกว่าจะเป็นงานจากโน เดาบท์ แล้วไม่ทำให้รู้สึก “ว้าว!” อย่างที่ครึ่งแรกของอัลบั้มทำได้ แต่หลายๆ เพลงในช่วงนี้ ก็มีความเป็นป็อปมากพอที่จะเป็นซิงเกิ้ล ที่ 3-4 หรือ 5 ถ้าตัดกันไหว เพราะเพลงน่าจะเข้าถึงคนฟังในวงกว้างได้ง่ายกว่า ไม่ว่าจะเป็น บัลลาด ป็อป ช้าๆ Undone ที่ใช้เครื่องสายมาเติมความสวยงาม หรือเพลงเนื้อหาดีๆ แบบ Dreaming the Same Dream
ถ้าไม่คิดเทียบกับงานในครึ่งแรกของอัลบั้ม เพลงในครึ่งหลังของ Push and Shove ก็เป็นงานป็อปที่น่าสนใจ มีเสน่ห์ มีความเป็นโน เดาบท์อยู่ในตัว เช่น Sparkle เพลงเร็กเก้-ป็อป ฟังซึ้งแบบงานบัลลาด แต่เมื่อนำไปเทียบ กับความแข็งแรง หนักแน่น ที่ครึ่งแรกมีมากกว่า ก็ทำให้ครึ่งหลังของอัลบั้มฟังเนือย เฉื่อย กว่าเยอะ
มองในแง่ดี คิดซะว่าเป็นคอนเซ็ปท์ของงาน ครึ่งแรกของอัลบั้มก็คือการ Push ส่วนครึ่งหลังก็ว่าเป็น Shove ซึ่งถึงจะคล้าย แต่ก็ไม่ใช่เหมือนสำหรับการกระทำสองแบบที่ว่า
เป็นอัลบั้มกลับมา ที่มีเพลงจัดเต็ม แต่อัลบั้มกลับจัดไม่หนัก เป็นงานกั๊กๆ จัดว่าเพลย์เซฟยังไงไม่รู้
โดย นพปฎล พลศิลป์ จากนิตยสาร สีสัน ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 ตุลาคม 2555