บันทึกของผู้สัมภาษณ์: จริง ๆ คนต้องบอกว่า เป็นบันทึกของผู้ถูกสัมภาษณ์มากกว่า เพราะเป็นบทสัมภาษณ์ที่เรา ให้สัมภาษณ์กับคุณเพ็ญแข สร้อยทอง จากหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ เมื่อครั้งที่มีหนังสือรวมเล่มบทวิจารณ์ซาวนด์แทร็ก ‘เพลงในภาพ’ ออกขายเมื่อปี 2546
เป็นการคุยกันในร้านกาแฟร้านหนึ่งแถวสุขุมวิท แต่ก่อนหน้านั้น ช่างภาพของหนังสือพิมพ์ก็มาเก็บภาพเราไปก่อนแล้ว ที่ออฟฟิศบริษัทอาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่เราทำงานอยู่ เท่าที่จำได้ การพูดคุยวันนั้นเยอะยาวกว่านี้ และมีคุณอุ๋ย – ปณิฏา สุวรรณปาลจากโพสต์ ทูเดย์อีกคนที่นั่งพูดคุยด้วย
พอจะมีคอลัมน์สัมภาษณ์และเก็บตกบทสัมภาษณ์เก่า ๆ ที่เคยทำใน www.sadaos.com คิดอยู่ว่า จะเริ่มที่ใครดี “ก็เอาเราเองนี่ละวะ” จะไปเอาแมวที่ไหน…
กลับมาอ่านในตอนนี้ ถ้าถูกถามแบบนี้ในยุคนี้ หลาย ๆ คำตอบคงเปลี่ยนไปจากนี้ เพราะวัย วันเวลา และอะไรหลาย ๆ อย่างที่เข้ามาในชีวิต ทำให้คิดและมองต่างออกไป ซึ่งบางคำตอบก็ไม่ใช่แค่รายละเอียด
เพราะฉะนั้น… ตอนอ่านก็อย่าลืมว่า นี่เป็นการให้สัมภาษณ์เมื่อ 2 ทศวรรษก่อน มุมมองและประสบการณ์ต่าง ๆ ก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปเมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น
หลังจากจบการศึกษาจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นพปฎล พลศิลป์ เดินเข้าสู่แวดวงของคนทํางานนิตยสาร เริ่มจากการเป็นกองบรรณาธิการให้ กับนิตยสารดนตรี ที-คลับ ตามมาด้วยมิวสิค เอ็กซ์เพรส และก้าวขึ้นไปทําหน้าที่บรรณาธิการของนิตยสารแชนแนล [วี] แม็กกาซีน ก่อนจะออกมาทํางานเป็นนักเขียน นักวิจารณ์หนังและเพลง อิสระ เขานั้นนับเป็นฟรีแลนซ์ที่มีงานชุกที่สุดคนหนึ่งก็ว่าได้ ปัจจุบันผู้ชายวัย 34 ปีคนนี้ กลับเข้าทํางานเป็นพนักงานประจําให้กับบริษัทแห่งหนึ่งอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ทิ้ง “ จ๊อบ” ทั้งหลายแหล่ แถมยังมีแรงมากพอที่จะเข็นพ็อกเกตบุ๊กเล่มแรกในชีวิต ของเขาออกมาสู่แผง
แม้จะใช้ชื่อเดียวกันกับคอลัมน์หนึ่งในนิตยสารไบโอสโคป แต่จริงๆ แล้ว ก็เป็นเพียงความบังเอิญที่ไปพ้องกัน หนังสือเล่มที่ชื่อ ‘เพลงในภาพ’ คือ รวมบทวิจารณ์แนะนํา เพลงและดนตรีประกอบหนังจากคอลัมน์ซาวนด์แทร็ก รีวิวใน นิตยสารเอ็นเตอร์เทน ซึ่งนพปฎลเขียนเป็นประจํา มาตั้งแต่เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน
และในค่ำคืนหนึ่ง นพปฎล ได้พูดถึง หลาย ๆ มุมที่เกี่ยว เองกับหนังสือเล่มกะทัดรัดของเขาไว้
@ ความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้ ก่อนที่จะนํามาพิมพ์รวมเล่ม?
“คนที่สํานักพิมพ์เขาอ่านงานของผมในเอ็นเตอร์เทนอยู่ แล้วก็ติดต่อมาขอรวมเล่ม ตอนแรกผมก็เชื่อว่า หนังสือเล่มนี้มันไม่น่าจะขาย ขนาดว่า หนังสือของนักวิจารณ์ดัง ๆ ที่เขียนดีกว่าเรา ออกมาแล้วก็ไม่ประสบความสําเร็จ แล้วตลาดเราก็แคบลงมาอีก เพราะว่าของเราเป็นแค่ซาวนด์แทร็ก แล้วเราก็ไม่ได้เป็นคนมีชื่อเสียงอะไร ก็ถามสํานักพิมพ์เขานะว่า แน่ใจเหรอ ที่จะพิมพ์งานของผม
“บังเอิญว่า คนที่สํานักพิมพ์เขาอ่านคอลัมน์ของผมอยู่ประจํา เขาชอบ อยากรวม แล้วตอนนั้นผมก็คิดที่จะรวมบทความ แล้วทำเป็นหนังสือทำมือ สักร้อยหรือสองร้อยเล่มออกมาขาย พอเขาเสนอมา เราก็เลยคิดว่า มันคงจะไม่เสียหายอะไร เพราะถ้าหากเราไปทำเอง มันก็ต้องเสียเวลาจัดหน้าหรืออะไรต่าง ๆ ทางสํานักพิมพ์เขาก็จะจัดการให้หมด”
@ เลือกเรื่องที่จะน่ามารวมอย่างไร แล้วบทความที่นำมารวมเล่ม ผ่านการเขียน หรือว่าเรียบเรียงใหม่ก่อนหรือเปล่า?
“ตอนที่เขียนลงในนิตยสาร มันจะเป็นลักษณะว่า เกิดจากหัวแล้วก็ลงไปมือเลย ได้ไม่ได้กรองอะไรมาก คิดอะไรได้ เขียน มันไม่เหมาะกับการรวมเล่ม เพราะว่าอารมณ์มันค่อนข้างเยอะ แล้วก็เป็นอารมณ์ในขณะนั้นด้วย บางเรื่องก็มีอะไรตกหล่นบ้าง จนรู้สึกว่า เขียนใหม่ดีกว่ามั้ง (หัวเราะ) แต่ถ้าจะเขียนใหม่ อารมณ์มันก็คงจะไม่ได้อย่างที่เขาต้องการ ก็เลยเอาแค่อีดิต (Edit) ให้มันลงตัว
“นอกจากนั้น ผมยังเป็นคนที่เขียนหนังสือยาว บางเรื่องก็เลยต้องมาตัดให้มันพอดี สํานักพิมพ์เขาค่อนข้างจะให้อิสระในการเลือกเรื่องที่จะนํามารวม ความจริงเขาจะนําต้นฉบับไปพิมพ์เลย โดยไม่ต้องแก้ด้วยซ้ํา แต่ว่าเราเป็นคนขอเอง ผมเป็นคนเลือกบทความที่จะนํามารวมเองด้วย โดยเลือกจากเรื่องที่เราชอบเป็นหลัก แล้วก็คิดว่า คนที่คิดอยากจะซื้อหนังสือเล่มนี้ก็คงคิดว่า เราเป็นไกด์ แล้วเราก็คิดว่า งานบางชุดเราอาจจะชอบมาก แต่ถ้าฟูมฟายเกินไปหรืออคติเกินไป เราก็ไม่นํามารวม มันจะต้องมีสมดุลระหว่างอารมณ์กับสิ่งที่เป็นจริง ๆ
“ถ้าเป็นงานสกอร์ ส่วนหนึ่งชอบที่ตัวคอมโพสเซอร์เป็นหลัก เลือกที่งานดี แล้วก็มีความแปลกใหม่เป็นหลัก คอมโพสเซอร์หลายๆ คนที่เขียนถึงอยู่ในหนังสือเล่มนี้ คนก็อาจจะรู้จักอยู่แล้ว เราพยายามที่จะแนะนําคนอ่านว่า นอกจากคนนี้จะเคยทํางานแต่ในลักษณะนี้ เขายังทํางานในลักษณะอื่น ๆ ได้ด้วย
“นอกจากนี้ เหตุผลที่เลือกงานบางชุดมาเขียนถึง ก็เพราะคิดว่า น่าจะมีคนได้ฟังด้วย เพราะมันมีงานบางชุดที่ดีแล้วน่าจะได้ฟัง งานที่เลือกมาส่วนใหญ่หาฟังง่ายครับ เพราะคิดถึงคนฟังในระดับเมนสตรีมเป็นหลัก”
@ ในการทํางานวิจารณ์ซาวนด์แทร็ก จําเป็นไหมที่ต้องดูหนังด้วย หรือว่าฟังแต่อัลบัมอย่างเดียวก็ได้?
“เวลาเขียนซาวนด์แทร็กนี่ต้องดูหนังไปด้วย ฟังเพลงไปด้วย เพราะถ้าเราไม่ดูหนังเลยเนี่ย โอกาสที่มันจะเพี้ยนไปจากในหนังนี่เป็นไปได้สูง อย่างน้อยอารมณ์มันก็จะไม่ได้ อย่างหนังบางเรื่องนี่วัยรุ่นจ๋าเลย แต่ซาวนด์แทร็ก เป็นเพลงรุ่นแฟรงก์ ซิเนตราหมด ถ้าหากว่าเราเขียนโดยไม่ดูหนังเลย เราก็จะเขียนได้แต่มุมมองเดียวว่า นี่คือ อัลบัมรวมเพลงเก่า แต่ถ้าดูหนังเราก็รู้ว่า พ่อพระเอกพ่อนางเอกชอบเพลงพวกนี้ แล้วก็เลยเปิดให้ลูกฟัง แล้วเขาก็จําฝังใจนํามาเปิดให้แฟนในยุคปัจจุบันฟัง อะไรอย่างนี้
“ที่บอกว่าชอบนี่ รวม ๆ กันนะ ระหว่างชอบหนังกับชอบเพลง บางชิ้นที่เขียนถึง อาจจะไม่ชอบหนังเลย แต่ว่าชอบอัลบัมเพราะว่ามีคอนเซ็ปต์”
@ คิดว่า คุณค่าของ หนังสือรวมเล่มบทวิจารณ์ อยู่ตรงไหน?
“อย่างน้อยที่สุด คนที่ซื้อหนังสือเล่มนี้ไป ก็คือการซื้อมุมมองของคน ๆ หนึ่งไป อาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ แล้วผมก็อยากให้คนได้ฟังงานบางชิ้น เช่น งานสกอร์ประกอบภาพยนตร์บางเรื่อง ซึ่ง ในบ้านเราไม่ค่อยจะนิยมฟัง แล้วในท้ายเล่มเป็นการแปลบทความที่แนะนํา 100 ซาวนด์แทร็กที่ดีที่สุดรวมอยู่ด้วย มันก็อาจจะมีคุณค่าขึ้นบ้าง
“หนังสือเล่มนี้ โดยความตั้งใจแล้ว อยากให้เป็นไกด์บุ๊ก ถ้าพูดถึงเรื่องเพลงเราก็ได้ระดับหนึ่งนะ แต่ว่าเรื่องสกอร์ มีคนที่เก่งกว่าเราอีก เราไม่ได้เก่งมาก พอจะเขียนได้ เพราะฉะนั้น เราเลยไม่ได้คิดว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นตํารา เพียงแต่ว่า เราอยากให้คนเห็นคุณค่าของงานดนตรีประกอบหนังบ้าง นอกจากนั้น เพลงและ ดนตรีมันก็บอกถึงยุคสมัยของตัวหนังอีกด้วย”
@ คนดูหนังบางคนไม่เห็นคุณค่าของดนตรีประกอบหนังอย่างนั้นใช่ไหม?
“คนดูหนังบางคนอาจจะหลงลืมไปว่า บทพูดในหนังนี่ มันมาทีหลังดนตรีประกอบอีก ในยุคหนังเงียบ หนังไม่ต้องมีบทสนทนา แต่ว่ามีดนตรีประกอบ ดนตรีไม่ใช่สิ่งที่ควรมองข้าม อย่างในวงการหนังหรือละครไทยนี่ เขาก็ไม่ได้ให้ความสนใจ กับตรงนี้เท่าไหร่นะ ละครที่เราได้ดูทุกวัน นี่ก็ยังเอาสกอร์หนังฝรั่งบางเรื่องมาใส่เฉย ๆ ขณะที่ค่าตัวดาราเพิ่มขึ้น ค่าตัว ผู้กํากับเพิ่มขึ้น แต่ว่าค่าตัวคนทําดนตรีประกอบหนังหรือละครนี่ไม่เคยเพิ่มขึ้น ตรงนี้มันดูเหมือนจะเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่เหลืออยู่ แล้วเขาเจียดมาให้ ทั้ง ๆ ที่ดนตรีมีส่วนสําคัญ กับหนังมาก ลองคุณไม่ใส่ลงไป คนดูไม่ถึง 10 นาที ก็ ออกจากโรงแล้ว ผมคิดว่า หนังเรื่องหนึ่ง เพลงและภาพมันสําคัญพอ ๆ กัน”
@ สกอร์ของหนังบางเรื่องโดยตัวมันเองก็มีคุณค่าหรือน่าฟัง แม้ว่าจะไม่ต้องไปประกอบกับภาพในหนัง
“มีเยอะครับ โดยเฉพาะงานที่มันค่อนข้างโรแมนติก หรือ คล้าย ๆ กับไลต์ มิวสิก มันนวด ๆ เนิบๆ อย่าง Heaven and Earth ของ คิทาโร่ (Kitaro)อย่างเนี่ย มีดนตรีประกอบหลาย เรื่อง ที่ไม่จําเป็นต้องดูหนังก็ฟังได้”
@ เพลงหรือดนตรีประกอบหนังมียุคสมัยของมันหรือเปล่า?
“มันก็บอกได้นะครับยุคสมัย อย่างเมื่อก่อนก็จะเป็นออเคสตราเพียวร์ ๆ ยุคเก่า ๆ ก็จะเป็นพวกโรแมนติก ก่อนหน้าจะถึงยุค 80 ก็จะมีช่วงสั้น ๆ ที่ดนตรีเป็นไซคีเดลิก หรือช่วง 80 ก็จะไม่ค่อยใช้เครื่องสายหรือไม่ใช้เครื่องดนตรีออเคสตราจริง ๆ มันเป็นยุคของพ่อมดซินธิไชเชอร์ อย่างยาน แฮมเมอร์ (Jan Hammer) อะไรพวกนั้น แล้วก็มียุคที่เป็นเพลงดิสโก ตอนจอห์น วิลเลียมส์ (John Williams) ทำ Star Wars ดัง คนก็กลับมาหาออเคสตรากัน แล้วก็มาถึงยุคที่เป็นเหมือนมิวสิกวิดีโอ อย่าง Top Gun มันก็เหมือนกับ มิวสิกวิดีโอ เป็นเพลงประกอบภาพ ถ้าฟังเพลงอย่างเดียวก็ธรรมดา หนังเรื่องนี้ใครๆ ก็ดา แต่ว่าจริง ๆ แล้ว มันเป็นหนังที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมหนัง มันทําให้รู้ว่า มิวสิกวิดีโอสามารถที่จะร้อยเป็นเรื่องได้ หากว่า คุณมีวิธีการที่แน่นอน บทที่หลวมไม่สําคัญเท่าไอเดียหรือว่าสไตล์”
@ งานรวมเล่มในสไตล์นี้ชื่อเสียงของเจ้าของ จะมีส่วนช่วยในการขายหรือไม่?
“ไม่น่าจะมีผลนะ หนังสือของผมเอง คิดว่าคนซื้อส่วนใหญ่ก็คงจะเป็นแฟนคอลัมน์มากกว่า เราก็ไม่ได้เป็นคนมีชื่อเสียง สำนักพิมพ์เราก็เล็ก แต่คิดว่าหนังสือเล่มนี้ อาจจะบังเอิญมีคนอื่น ๆ ที่ชอบซาวนด์แทร็กหยิบขึ้นมาดูบ้าง อ่านแล้วก็ได้รับแรงบันดาลใจ อะไรกับหนังสือเล่มนี้บ้าง”
ทั้งหมดที่เขาว่ามานั้น คงจะมีพื้นฐานมาจากความคิดส่วนตัวที่ว่า “ภาพยนตร์ที่ไม่มีเสียงดนตรี ก็เหมือนคนที่ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก และไม่ต่างจากโลกที่ไม่มีความลึก ซึ่งเป็นประโยคที่เขาโปรยไว้หน้าปกหนัง แต่ถ้า หากอยากรับทราบมุมมองความคิดของ นพปฎล พลศิลป์ ที่มีต่อทั้งเพลงและ ภาพในแบบลึกซึ้งกว่านี้ ก็คงต้องไปลองติดตามอ่าน “เพลง ในภาพ” ของเขาดูกันเอาเอง
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2546)
(ข้อมูลหนังสือ: เพลงในภาพ / นพปฎล พลศิลป์ ผู้เขียน: นพปฎล พลศิลป์ สำนักพิมพ์: แสงพระอาทิตย์ พิมพ์ครั้งที่ 1: มีนาคม 2546 บรรณาธิการ: อุษณีย์ สิริภักดี ปก: นนทพัฒน์ วัฒนพฤกษ์ หมายเลขประจำหนังสือ: ISBN 974-90894-9-9)
ขอแถมท้ายด้วยการให้ความเห็นเรื่อง “หนังสารคดีดนตรีที่น่าสนใจ” กับ เซ็กชัน ไลฟ์สไตล์ ของ www.postoday.com ที่ลงไว้เมื่อ 1 พฤษภาคม 2559 โดยคุณเพ็ญแข สร้อยทอง (https://www.posttoday.com/lifestyle/429589)
“หากจะถาม นพปฎล พลศิลป์ นักวิจารณ์อิสระนิตยสารสีสันและเอ็นเตอร์เทน เจ้าของเพจ facebook.com/Sadaos สารคดีเพลงในดวงใจของเขาต้องเป็นเรื่องนี้
Sound City (ปี 2013) หนังสารคดีเรื่องแรกในฐานะผู้กำกับของ เดฟ โกรห์ล แห่งเนอร์วานาและฟูไฟเตอร์ส
“ว่าด้วยองค์ประกอบที่เป็นมนุษย์ในเรื่องของดนตรี การสูญหายของศิลปะในการบันทึกเสียงแบบอะนาล็อก และประวัติศาสตร์จากห้องบันทึกเสียง” จากที่ไม่มีใครรู้จัก กลายมาเป็นห้องอัดเสียงที่ยิ่งใหญ่คือ “ซาวด์ ซิตี้” ในซาน เฟอร์นาโด วัลเลย์ สหรัฐ “ซึ่งเคยเป็นบ้านของตำนานนับไม่ถ้วน ทั้งยังเคยเป็นพยานของประวัติศาสตร์ เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของโลกร็อกแอนด์โรลล์ และเป็นความลับของโลกดนตรีร็อกที่ถูกเก็บไว้อย่างดีที่สุด”
ห้องอัดซาวด์ ซิตี้ เปิดเมื่อปี 1969 และได้ชื่อว่าเป็นห้องอัดระดับสุดยอดในยุคนั้น เป็นแหล่งกำเนิดผลงานเพลงคลาสสิกในโลกของร็อกแอนด์โรลล์หลายต่อหลายชุด ก่อนที่เทคโนโลยีเดินหน้าไป และอุปกรณ์ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในกระบวนการบันทึกเสียง แต่ซาวด์ ซิตี้ ก็ยังยืนยันความเป็นอะนาล็อกของตัวเองไว้ได้ เดฟ โกรห์ล กับเพื่อนๆ ของเขาเคยทำงานของพวกเขาที่นี่ และเนอร์วานาก็ทำให้ห้องอัดแห่งนี้โด่งดัง แต่เทคโนโลยีก็มีพลังยากจะต้านทาน ทำให้ห้องบันทึกเสียงทั่วโลกเริ่มปิดประตูของตัวเองลงไป รวมทั้งซาวด์ ซิตี้ด้วย
จากที่เคยเป็นหนึ่งคนซึ่งทำงานที่ซาวด์ ซิตี้ และเมื่อเห็นรายชื่อของศิลปินซึ่งเคยมาอัดเสียงกันที่นี่ เดฟคิดจะทำหนังสั้นเกี่ยวกับที่นี่เพื่อโพสต์บนยูทูบ แต่หลังจากได้ศึกษาลงลึกทำให้โครงการของเดฟพัฒนาไปเป็นหนังสารคดีขนาดยาว ที่สำหรับเขา “หนัง Sound City สำหรับผมคืองานชิ้นสำคัญที่สุดในชีวิต และผมหวังว่าคุณจะรู้สึกแบบเดียวกัน”
ลองไปหามาชมดู แล้วค่อยตอบว่า คุณจะรู้สึกแบบเดียวกันกับเขาหรือไม่
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่