สัมภาษณ์บันทึก: ความสนุกอย่างหนึ่งของการทำนิตยสารที-คลับก็คือ การสร้างความลำบากในการทำงานให้ตัวเอง 😀 เมื่อพี่เรศ-เยาวเรศ เอี่ยมเจริญ ไม่นิยมการสัมภาษณ์ศิลปินแบบ ตามฤดูกาล หากจะเป็นตามฤดูกาลจริง ๆ ก็จะมีการวางคอนเซ็ปต์มาว่า… จะเป็นประเด็นอะไร และเมื่อวางไว้ว่าเป็นเรื่องของการประกวดดนตรี ก็จะมาคิดกันว่าสัมภาษณ์ใครบ้าง คำถามเป็นยังไง ที่ในยุคนั้น (เลขพ.ศ. 30 นำ) จะมีเวทีของโค้กและเวทีของเคพีเอ็น ที่มีรูปแบบการจัดแตกต่างกัน เราได้ผู้บริหาร (หรือผู้จัดงานทั้งสองงาน) ละ และเมื่อพูดถึงศิลปินล่ะ จะเป็นใครดี?
ตอนนั้นสามหนุ่มเบเกอรีกำลังฟอร์มบริษัทขึ้นมา โดยมีพี่เอื้อง – สาลินี ปันยารชุน เป็นหัวเรือใหญ่ในเรื่องการประชาสัมพันธ์ซึ่งด้วยความคุ้นเคยกับพี่เรศ พี่เอื้องมักจะพูดถึงค่ายเบเกอรีให้ฟังอยู่บ่อย ๆ โดยศิลปินที่กำลังทำงานกันอยู่ก็คือ โมเดิร์น ด็อก แชมป์งาน โค้ก มิวสิค อวอร์ดส์ ปี 2535 และคำตอบว่า ศิลปินจะเป็นใครดี ก็คือ บทสัมภาษณ์นี้ ที่น่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ถ้าไม่ใช่แรก หลังเข้าค่ายเบเกอรี ก็น่าจะเป็นแรก ๆ เพราะในตอนนั้น ค่ายยังไม่เปิด เพลงของพวกเขายังไม่มี ในช่วงเวลาที่วงการเพลงไทย กำลังรอความทันสมัยของพวกเขามาเขย่าวงการ
วงดนตรีที่ชนะเลิศการประกวดจากเวทีต่าง ๆ โดยมากมักจะแยกย้ายสลายวงเมื่อการประกวดจบสิ้นลง แต่กับ โมเดิร์น ต็อก เจ้าหมาทันสมัย หลังจากชนะเลิศ โค้ก มิวสิค อวอร์ดส์ ปี 2535 แล้ว พวกเขายังรวมตัวกันอยู่อย่างเหนียวแน่น และคงจะมีผลงานออกมาในไม่ช้า วันอันรุ่มร้อนจึงไม่สามารถยุติการเดินทางของ เราเพื่อไปพบปะพูดคุยกับพวกเขาได้
จุดเริ่มต้นของโมเดิร์น ด็อก จะว่าไปแล้วก็มาจากนักร้อง นำที่ชื่อ ปอร์ช-ธนชัย อุชชิน นิสิตคณะครุศาสตร์ ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั่นเอง
“ผมอยากทำวงเจ๋ง ๆ เท่ ๆ สักวง เพราะตัวเองก็ฟังเพลงฝรั่งมาเยอะ รู้สึกว่าทําไมเมืองไทยไม่มีวงไทยแบบนี้มั่ง เห็นมีแต่ศิลปินเดี่ยว หน้าตาดี เลยไปรวบรวมสมัครพรรคพวกมา เราฟอร์มวงกันก่อนแข่งแค่ 3 วันเอง มีแกนหลักคือผม โป้ง (ปวิณ สุวรรณ- ชีพ) เล่นกลอง มี บ๊อบ (สมอัตถ์ บุณยะรัตเวช) มือ เบส ทีนี้มันยังไม่ครบไง โป้งเลยไปเอาเพื่อนที่สถาปัตย์ชื่อ เมธี (เมธี น้อยจินดา) มาเล่นกีตาร์ ผมก็ไปเอา แน่น เพื่อนที่เรียนครุศาสตร์เอกดนตรีมาเล่นคีย์บอร์ดส์
เราก็มาคิดอยากให้วงมันแปลกเลยไปชวนเพื่อนผู้หญิงที่เรียนครุศาสตร์ดนตรี เอกวอยซ์ มาเป็นคอรัสอีก 2 คน ตอนประกวดก็มีกัน 7 คน ตอนนี้แน่นเขาก็ออกไปทํางานกับแกรมมี่ เขาไม่มีเวลาที่จะมาทําตรงนี้ด้วย คอรัสก็เป็นแบบเฉพาะกิจประกวดเสร็จก็แยกย้ายกันไป”
ถ้าพูดถึงวงดนตรีที่เท่ในตอนนี้คงไม่มีวงดนตรีประเภทใด เท่ไปกว่าวงอัลเทอร์เนทีฟ โมเดิร์น ด็อกก็เล่นเพลงในแนวทางนี้ ซึ่งต่างจากวงอื่น ๆ บนเวทีประกวดที่โดยมากจะเล่นกันในแนวฟิวชันแจซ
“เราฟอร์มวงกันแค่ 3 วัน มันกระทันหันมาก ผมเลยแจกเพลงเลย ไม่มาถามความเห็นกันแล้ว เป็นเผด็จการก็ว่าได้ พอดีทุกคนเคยฟัง ก็เลยโอเค. เอาเลย มันส์ดี วงที่เข้าถึงรอบชิงส่วนใหญ่ก็เล่นฟิวชันกัน อ้อ! มีอยู่วงหนึ่งจากหอการค้าที่มือกีตาร์ไปอยู่วง บิ๊กกัน (อภิสิทธิ์ พงศ์ชัยสิริกุล หรือเอก – แบล็กเฮด) เขาเล่นโพรเกรสสีฟ ก็ไม่รู้นะว่าทําไมเขาชอบเล่นฟิวชัน อย่างปี 34 ผมไปดูมีแต่ฟิวชันทั้งนั้น อาจเป็นเพราะมันละเอียดใน เรื่องการเล่นดนตรีแต่ละชิ้นมั้ง”
ความหวังในตอนแรกของโมเดิร์นด็อก พวกเขาไม่ได้หวังอะไรไปมากกว่าได้มันส์บนเวทีหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “เราไม่ได้คิดว่าจะมาถึงตรงนี้นะ หวังแรกสุดคืออยากทําวง แล้วอยากจะเล่นเพลงที่มันหนวกหูบนเวทีจุฬา เล่นเพลงที่มันสนุก มันส์ ต่างจากที่เขาเล่นกัน แต่ปรากฏว่าเขาดันไปใช้เวทีใต้ถุนตึกหอพักชายอีก ผมเสียอารมณ์เลย แต่รอบสุดท้ายก็ได้เล่นสมใจ”
“ตอนประกวดเราไม่ใช่วงที่เล่นเก่งที่สุด คู่แข่งของเราในวันนั้นผมรู้สึกว่าเขาเก่งกว่าเราหมดเลย แต่เราไม่กลัวเพราะว่าเราไม่เหมือนเขาอยู่แล้ว และดนตรีมันวัดไม่ได้หรอก ว่าใครเก่งกว่าใคร แต่ละสไตล์มันก็มีดีของมัน เราแค่ขึ้นไปเล่นเพลงของเราให้สนุกก็พอแล้ว แต่ผมก็คิดนะว่าจะทํายังไงให้มันประสบความสําเร็จ เลยมาคิดมาทําอะไรกันให้มันน่าสนใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนําเสนอในตัวรูปแบบของวง ผมมีคอรัส ผมทําเพอร์คัสชันกันเอง บางเพลงผมก็นำทรอมโบนมาผสมอย่างเพลง ‘Give It Away’ มันไม่มีคีย์บอร์ดส์ ผมก็ให้เจ้าแน่นเป่าทรอมโบนซะ มันเป่าได้นี่ แต่เป่าแบบไร้กฎเกณฑ์ เป่าตามอารมณ์ เราจะเน้นอารมณ์มาก เพลงที่เล่น ผมก็เอามาเรียงให้คนที่ไปดูเขาฟังแล้วเกิดอารมณ์ต่อเนื่อง เหมือน ๆ คอนเสิร์ตนั่นแหละ”
เมื่อได้รับชัยชนะ ก็ไม่แปลกอะไรที่พวกเขาจะได้รับการทาบทามจากบรรดาค่ายเทปต่าง ๆ โดยเฉพาะปอร์ชถึงกับเคยถูก เสนอให้เป็นศิลปินเดี่ยว
“มีคนมาติดต่อผมให้เป็นศิลปินเดี่ยว พูดตรง ๆ เลยไอ้เรื่องธุรกิจนี่ผมก็อยากได้นะ แต่มาคิดดูแล้ว ถ้าเราไม่ทําก็ ไม่มีใครทำแล้ว ขนาดเราไฟแรงขนาดนี้ เรายังยอมแพ้ ผมก็กลับมาทำกับเพื่อน ๆ โดยที่ยัง ไม่รู้เลยว่าจะไปรอดหรือเปล่า เพียงแต่ว่าการที่เราชนะเลิศ นี่มันก็ทําให้เราคุยได้ง่ายขึ้น เพราะมีเครดิตมาแล้ว หากไม่ชนะอาจจะต้องดิ้นรนกันมากกว่านี้”
วันที่เราไปพูดคุย โมเดิร์น ด็อก พวกเขากําลังขะมักเขม้น กับการทํางานในอัลบัมแรกซึ่งหากมองย้อนไปในอดีตจะพบว่า มีวงดนตรีไม่กี่วงในโลกธุรกิจทางดนตรีของบ้านเราที่ผ่านเวทีการประกวดโดยได้รางวัลชนะเลิศมาก่อน
“เมืองไทยนี่แปลกอยู่อย่าง ไม่รู้จะประกวดไปทําไม ประกวด เสร็จจบ เสียดายนะอุตส่าห์ฟอร์มวงกันมาแทบตาย ผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เลยเอาตรงนี้มาเป็นประโยชน์ในการที่เราจะก้าวจะทำอะไรต่อไป บางทีนะผมว่าอาจไม่มีใครช่วยเขาด้วย เพราะถ้าไม่ช่วยตัวเอง พวกเราก็คงจะแยกย้ายกันไป เรียนคณะใครคณะมันไปนานแล้ว”
อีกไม่นานการประกวดวงดนตรีเยาวชน โค้ก มิวสิค อวอร์ดส์ 2537 ก็จะเริ่มขึ้นอีกครั้ง ไม่ว่าใครจะชนะหรือแพ้ เวทีนี้ก็จะยังเป็นเวที สําหรับคนรุ่นใหม่เหมือนที่เคยเป็น “เวทีนี้ค่อนข้างแคบเพราะมีเรื่องของสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หากเปิดกว้างกว่านี้ก็ คงจะได้วงที่เจ๋งกว่านี้เยอะ แต่มันก็เป็นเวทีที่ เปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ การที่เราจะประสบความสําเร็จได้เราควรจะหาตัวเราเองให้เจอ หาสไตล์ที่เป็นเรา มีจุดยืนที่แน่นอน หาจุดพิเศษที่ เรามีอยู่แล้วเอาออกมา แล้วก็ลุยเลย” ผลของการลุยที่โมเดิร์น ด็อก ว่า คงเห็น เป็นรูปร่างชัดเจนในไม่ช้า
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ Music Scene นิตยสารที-คลับ ฉบับที่ 23 พฤษภาคม 2537 (1994)
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่