
ด้วยวัย 90 ปี จอร์จ มาร์ติน (คนซ้ายสุดในภาพ พอล แม็คคาร์ทนีย์ – กลาง และริงโก สตาร์ร์) ที่รู้จักกันดีในฐานะโปรดิวเซอร์อัลบั้มหลายต่อหลายชุดของเดอะ บีเทิลส์ ที่ได้สมญานามว่า เต่าทองตัวที่ห้า กลายเป็นตำนานอีกคนที่ลาลับจากโลกไปในปีนี้
โดยคนที่เผยแพร่ข่าวนี้ออกมาเป็นคนแรกก็คือ ริงโก สตาร์ร์ มือกลองของเดอะ บีเทิลส์นั่นเอง ผ่านทางทวิตเตอร์ “ขอให้พระเจ้าอำนวยพร จอร์จ มาร์ติน” สตาร์ร์ โพสท์ข้อความนี้ขึ้นในดึกคืนวันอังคารที่ผ่านมา (8 มีนาคม) “ขอความสงบและความรักแด่จูดีและครอบครัวของเขา ด้วยรัก ริงโกและบาร์บารา, จะคิดถึงจอร์จตลอดไป”
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะมีหลายๆ คนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘บีเทิลส์คนที่ห้า’ แต่ถ้าให้ระบุลงไปจริงๆ คนที่เหมาะสมกับฉายานี้ที่สุดก็คือ มาร์ติน โปรดิวเซอร์ที่ไม่ใช่แค่คนเซ็นสัญญาบันทึกเสียงกับสี่เต่าทองเป็นคนแรกในปี 1962 แต่ยังทำงานร่วมกับพวกเขามายาวนาน ในงานดนตรีชิ้นสำคัญๆ ส่วนใหญ่ที่เดอะ บีเทิลส์บันทึกเสียงเอาไว้ตลอดเวลาไม่ต่ำกว่า 8 ปีหลังจากนั้น ตั้งแต่เพลง “Love Me Do” ไปจนถึงงานอีกหลายต่อหลายเพลงที่แอบบีย์ โรด
“จอร์จ มาร์ติน ทำให้เราเป็นอย่างที่เราเป็นในสตูดิโอ” จอห์น เล็นนอน กล่าวในปี 1971 “เขาช่วยเราพัฒนาการพูดการจา การใช้ภาษากับนักดนตรีคนอื่นๆ”
มาร์ตินเกิดเมื่อ 3 มกราคม 1926 ที่ไฮก์บิวรี ในลอนดอน และเริ่มต้นเรียนเปียโนตั้งแต่อายุยังเด็ก แต่ในปี 1943 เขาก็ไปเป็นทหารในสังกัดของราชนาวี เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 พอสงครามสงบ มาร์ตินมาทำงานให้แผนกดนตรีคลาสสิคัลของบีบีซี ก่อนจะย้ายไปทำงานกับค่ายเพลงอีเอ็มไอ ซึ่งงานส่วนใหญ่ที่เขาทำในตอนนั้นก็คือ ดูแลการผลิตการบันทึกเสียงงานเบาสมองของปีเตอร์ เซลเลอร์ส, ดัดลีย์ มัวร์ และเบอร์นาร์ด คริบบินส์ ที่ล้วนเป็นตำนานในวงการตลกของเกาะอังกฤษ
จนต้นปี 1962 มาร์ตินก็ได้พบกับเดอะ บีเทิลส์ ซึ่งมีแฟนให้การติดตามบ้างแล้วในหลายๆ พื้นที่ของเกาะอังกฤษ แต่ยังไปไม่ถึงไหนในเรื่องของสัญญาบันทึกเสียง และไบรอัน เอ็ปสไตน์ผู้จัดการของสี่เต่าทองได้ตกลงกับมาร์ตินที่ทำงานกับอีเอ็มไอ ว่าจะส่งเดโมเทปของพวกเขามาให้ฟัง
“งานที่พวกเขาทำกัน พูดกันแบบสุภาพๆ นะ ไม่มีอะไรที่โดนเลย” มาร์ติน เขียนเอาไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำเรื่อง All You Need Is Ears ที่ตีพิมพ์ในปี 1979 “ผมเข้าใจดี ถ้าใครได้ยินแล้วอยากจะปิดมันซะ แต่มันมีคุณภาพเสียงบางอย่างที่ไม่ธรรมดา เป็นความดิบที่ผมไม่เคยเจอมาก่อน แล้วก็ยังรวมไปถึงเรื่องที่ว่า มีมากกว่า 1 คนที่กำลังร้องเพลงอยู่”
เขาตัดสินใจให้โอกาสทางวง โทรตามหนุ่มๆ ให้ไปเจอกันที่ห้องอัดเสียงแอบบีย์ โรด ในวันที่ 6 มิถุนายน 1962 เพื่อทำการทดสอบ เด็กหนุ่มทั้งสี่ดีใจกันสุดๆ สำหรับโอกาสบันทึกเสียงงานของตัวเอง โดยมีเพลงที่เสร็จเรียบร้อยแล้วก็อย่าง “Love Me Do” และ “P.S. I Love You” แน่นอนว่า มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนระหว่าง มาร์ตินที่ตัดผมตัดเผ้าเรียบร้อย แต่งตัวสะอาดสะอ้าน มีอายุมากกว่า กับบรรดาเด็กๆ ที่ดูมอมๆ แล้วพอมาร์ตินถามว่าพวกเขามีปัญหาอะไรกับการำงานไหม จอร์จ แฮร์ริสันก็โพล่งขึ้นมา “เอ่อ… มี… อย่างแรกเลยนะ ไทของคุณน่ะ” แต่พวกเขาก็ให้ความเคารพมาร์ติน ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่พวกเขาไล่พีท เบสท์มือกลองออกจากวง หลังจากมาร์ตินแนะนำว่าเขาไม่เหมาะกับวง
อีกหลายสัปดาห์ต่อมา มาร์ตินก็เซ็นสัญญากับเดอะ บีเทิลส์ ซึ่งเป็นสัญญาอัดแผ่นเสียงครั้งแรกของวง และพอพวกเขากลับมาทำงานพร้อมมือกลองคนใหม่ – ริงโก สตาร์ร์ เพื่ออัดเสียงเพลง “Love Me Do” แม้มาร์ตินจะไม่รู้สึกว่าเป็นการหักคอ แต่ก็ยืนกรานว่าสตาร์ร์ต้องไปเล่นแทมโบลีน และให้มือกลองห้องอัด – แอนดี ไวท์ มาตีแทน ซึ่งทำให้ริงโกเจ็บปวดมากๆ แต่มาร์ตินก็ยอมให้เขาตีหนึ่งเทค และเพลงนี้ทั้งสองเวอร์ชันก็ถูกนำออกวางจำหน่ายทั้งคู่
(พรุ่งนี้มีต่อ)
จากเรื่อง อีกหนึ่งตำนานผู้จากไป จอร์จ มาร์ติน เต่าทองคนที่ห้าของ The Beatles คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ โดย นพปฎล พลศิลป์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 10 มีนาคม 2559