FEATURESMusic Features

เรื่องเล่าชาวร็อค ถึงวันที่ The Beatles ถ่ายปกอัลบัมในตำนาน Abbey Road

The Beatles สร้างสรรค์อะไรมากมายให้กับวงการเพลง และไม่ใช่แค่เสียงดนตรี ยังมีเรื่องการทำธุรกิจ เส้นทางการมีชื่อเสียง กระทั่งปกอัลบัม งานหลายๆ ชุดของพวกเขาได้รับกล่าวขวัญและยกย่องถึง เช่น Sgt. Pepper’s Lonely Heart Club Band ซึ่งผ่านกระบวนการคิด เตรียมการเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ใช่ทุกชุดที่กระบวนการทำงานเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะหนึ่งในปกอัลบัมที่ถ้าไม่ใช่ก็ต้องใกล้เคียงกับการเป็นปกระดับตำนานที่สุด ที่ดูเรียบง่าย เป็นภาพสี่สมาชิก จอร์จ แฮร์ริสัน, พอล แม็คคาร์นีย์, ริงโก สตาร์ร์ และจอห์น เล็นน็อน เดินข้ามทางม้าลายของถนนหน้าสตูดิโอของพวกเขา

 

เจฟฟ์ ไจล์ จาก Ultimateclassicrock.com หยิบเอาเรื่องราวของการถ่ายปกอัลบัมชุดนั้น เมื่อ 8 สิงหาคม 1969 มาเล่าให้ฟัง

ปกอัลบัม Abbey Road

สำหรับแฟนๆ ของสี่เต่าทอง บอกเพียงแค่นั้นก็คงรู้แล้วว่า นี่คือปกอัลบัมชุด Abbey Road อัลบัมที่ออกก่อนงานชุดสุดท้ายของวง แต่เป็นอัลบัมสุดท้ายของพวกเขาที่ถูกบันทึกเสียง ซึ่งกำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในช่วงเวลาที่วงกำลังจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ในปี 1969 และเป็นอีกหนึ่งความพยายามเพื่อให้วงกลับมาเข้ารูปเข้ารอยอีกครั้ง หลังการทำงานที่เรียกได้ว่าเป็นหายนะ ที่กลายเป็นอัลบัม Let It Be ที่ไปๆ มาๆ การทำงานชุดนี้ทำให้เดอะ บีเทิลส์ได้พบบางอย่าง ซึ่งแฮร์ริสันบอกในเวลาต่อมาว่า เขารู้สึกราวกับ “พวกเรากำลังจะถึงจุดสิ้นสุดของเส้นทาง”

ไม่ต่างไปจาก Let It Be การทำงานชุดนี้เรียกร้องการประนีประนอมจากการถกเถียงกันอย่างรุนแรง และถึงแม้ผลลัพธ์ที่ออกมาจะผสมผสานความทะเยอทะยานเข้าไปในการรอมชอมและต่อสู้ แต่ก็มีบางแง่มุมของอัลบัม ซึ่งอยู่ในสภาวะการทำงานที่ไม่ถึงกับสาหัส และค่อยๆ พัฒนาจนกลายเป็นงานในระดับที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมได้

ชื่ออัลบัมที่ใช้ระหว่างการทำงาน คือ Everest ซึ่งเป็นบุหรี่ยี่ห้อโปรดของจอฟฟ์ เอเมอริค ซาวนด์เอ็นจิเนียร์ของอัลบัม แถมตอนแรกมีการวางแผนไว้ด้วยว่า จะให้สมาชิกของวงขึ้นเครื่องเช่าเหมาลำไปภูเขาหิมาลัย เพื่อถ่ายภาพปกที่นั่น แต่อีเอ็มไอ ต้นสังกัดของวงรู้สึกว่างานชุดนี้ ไม่ใช่งานที่มีความหวังอะไรมากมาย และความขัดแย้งทางความคิดของวงก็ยังระอุ ทำให้จบลงตรงที่คอนเส็ปท์ที่โคตรจะเรียบง่าย และอยู่ใกล้ตัวพวกเขาสุดๆ นั่นก็คือภาพสมาชิกทั้งสี่เดินข้ามทางม้าลาย ที่ถนนด้านนอกสตูดิโอแอบบีย์ โรดของวง

สี่เต่าทองกำลังเตรียมตัวออกเดิน

11.30 น. ของเช้าวันที่ 8 สิงหาคม 1969 ถนนถูกปิด ช่างภาพ – เอียน แม็คมิลแลน หิ้วบันไดไปตั้งที่กลางถนน และจัดการทุกสิ่งทุกอย่างจนเสร็จภายในเวลาเพียง 10 นาที

“ผมจำได้ว่าเราจ้างตำรวจมาคุมการจราจรเอาไว้ ขณะที่ผมขึ้นไปบนบันไดเพื่อถ่ายภาพ” แม็คมิลแลน เล่า “ความคิดทั้งหมด ผมคงต้องบอกว่า เป็นของพอล แม็คคาร์ทนีย์ 2-3 วันก่อนหน้าจะถ่ายภาพกัน เขาสเก็ทช์ภาพปกอัลบัมที่คิดไว้มาให้ดู ซึ่งพวกเราก็แทบจะเห็นพ้องต้องกันในวันนั้นเลย ผมถ่ายภาพวงเดินข้ามถนนได้ 2-3 ภาพ แล้วก็เปิดการจราจร จากนั้นก็ให้พวกเขาเดินข้ามมาจากอีกทางหนึ่ง ซึ่งผมก็ถ่ายภาพไว้ได้อีกหลายช็อต ภาพที่ถูกเลือกเป็นภาพปก น่าจะถูกถ่ายเป็นภาพที่ 5จาก 6 ภาพ มันเป็นภาพเดียวจริงๆ ที่ขาของพวกเขาก้าวโดยเป็นรูปตัว V อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องการเพื่อให้มันมีสไตล์บางอย่าง”

เมื่อได้รูปมาอยู่ในมือ จอห์น คอช ผู้ดูแลฝ่ายศิลป์ของแอปเปิล เรคอร์ดส์ ก็เลือกออกแบบปกของ Abbey Road ให้เรียบง่าย ที่เรียกได้ว่าเรียบง่ายโคตรๆ ก็ยังได้ เมื่อตัดสินใจไม่ใส่ชื่อวงหรือชื่ออัลบัมลงไปเลย “ผมคิด ‘เออ.. นี่คือวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ทำไมจะต้องทำอะไรแบบนั้นด้วยล่ะ?’” คอชหัวเราะ “มันเป็นงานที่ออกมาจาก The Beatles เพราะฉะนั้นผมเลยตัดสินใจไม่ใส่คำว่า The Beatles ลงบนปก โดยพวกเขากำลังเดินข้ามถนน… ถ้าคุณไม่รู้จักพวกเขา แสดงว่าคุณไปอยู่ในถ้ำที่ไหนสักแห่งแหละ”

ไม่รู้เหมือนกันว่า พอลกำลังโวยวายอะไร

แต่การทำให้เซอร์ โจเซฟ ล็อควูด ประธานของอีเอ็มไอ เจ้าของการวางตัวที่ทำให้ดูอึดอัดเช่นเดียวกับที่นามสกุลบอกเอาไว้ ตัดสินใจแบบนั้นด้วยไม่ใช่เรื่องง่าย จอห์น คอชต้องรับโทรศัพท์จากล็อควูดที่เต็มไปด้วยความโมโหโกรธาตอนกลางดึก “ผมรับโทรศัพท์ตอนตีสาม เสียงตามสายบอกว่า ‘แก ทำได้งามหน้ามาก เราจะไม่ขายอัลบัมนี้ แกมันไอ้ชั่ว’ เป็นเสียงที่น่าตระหนก แต่พูดด้วยสำเนียงอังกฤษที่ดีโคตรๆ เพราะเขาเป็นพวกมีเชื้อพระวงศ์ แต่ผมไม่” คอชเล่า “ผมกลัวสุดๆ ตอนนั้นผมอายุแค่ 23 เอง เช้าวันรุ่งขึ้นผมดิ่งไปที่แอปเปิล ซึ่งจอร์จก็อยู่ที่นั่นแล้ว เขาบอกว่า ‘นี่เพื่อน เราคือเดอะ บีเทิลส์ ไม่ต้องกังวลอะไรกับมันหรอก'”

ซึ่งนั่นก็มีเหตุผลเพียงพอแล้ว Abbey Road วางจำหน่ายโดยไม่มีชื่ออะไรให้เกะกะ ทำให้จุดสนใจทั้งหมดตกอยู่ที่ภาพปกของแม็คมิลแลนเต็มๆ ช่วยให้แฟนๆ ได้เห็นรายละเอียดหรือเรื่องราวมากมายที่อยู่ในภาพ เช่น การที่แม็คคาร์นีย์ ไม่ใส่รองเท้า, ป้ายทะเบียน LMW 281F ของรถซึ่งจอดอยู่ด้านหลัง, คนเดินถนนคนหนึ่งที่กำลังจ้องดูวงอยู่ห่างๆ หลังจากนั้นองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ ก็กลายเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันไปของเดอะ บีเทิลส์ เช่น สองเรื่องแรก กลายเป็นข้อพิสูจน์ของทฤษฎีสมคบคิดที่ว่า พอล แม็คคาร์ทนีย์ เสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นแล้วหลายปี ที่กลายเป็นข่าวลือหนาหูในช่วงของการทำงานชุดนี้

ส่วนคนเดินถนนคนนั้น คือ พอล โคล นักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน ซึ่งกว่านักข่าวจะตามเขาเจอก็ในอีกหลายปีต่อมา เขาบอกถึงเหตุผลที่มายืนอยู่ริมทางเดินแบบนั้นก็เพราะว่า เขาไม่อยากตามภรรยาไปยังสถานที่ล่าสุดตามแผนการท่องเที่ยวที่วางเอาไว้ “ผมเห็นพิพิธภัณฑ์จนเอียนแล้ว ผมเลยออกมาข้างนอก มาดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง'” โคลจำได้กระทั่งที่บอกกับภรรยาว่า “ผมอยากพูดกับคนอื่นๆ บ้าง ผมเลยเดินออกมา แล้วก็เจอตำรวจคนหนึ่งนั่งอยู่ในรถ ผมเริ่มคุยอะไรเรื่อยเปื่อยไปกับเขา… จากนั้นก็มองขึ้นมา เห็นทั้งสี่คนกำลังเดินข้ามถนน เรียงตามกันอย่างกับเป็ด เหมือนพวกคนติงต๊อง ผมตะโกนเรียกพวกเขา เพราะพวกเขาดูเหมือนพวกที่จะทำอะไรแรงๆ ยังไงยังงั้น เฮ้… นายไม่ควรเดินเท้าเปล่าบนถนนในลอนดอนนะ”

ปกหลังอัลบัม Abbey Road ก็ถ่ายจากกำแพงใกล้ๆ ทางข้าม

แต่ไม่เป็นผลและไม่มีใครรู้ว่าเขาอยู่ตรงนั้น และเขาก็ไม่รู้ว่าทั้งสี่คนเป็นใคร จนกระทั่งภรรยาของโคลซื้ออัลบัม Abbey Road เขาถึงรู้ว่า วันนั้นเขากำลังดูอะไรอยู่ “ผมต้องใช้เวลาอยู่พักใหญ่ เพื่อทำให้ลูกๆ เชื่อว่า ในรูปนั่นคือผม” เขาหัวเราะ “ผมบอกพวกเขาว่า ‘ไปเอาแว่นขยายมาส่องดูซิ’”

ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทางม้าลายตรงนั้นกลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยตัวมันเอง รวมทั้งทำให้แฟนๆ ของเดอะ บีเทิลส์เดินทางมาที่นี่เพื่อวาดภาพลงบนกำแพงที่อยู่ถัดจากทางข้าม ซึ่งถูกใช้เป็นภาพปกหลังของอัลบัมซ้ำแล้วซ้ำเล่าในแต่ละปี ก่อให้เกิดความน่ารำคาญจากบรรดาผู้คนเกินจะนับที่มารำลึกถึงภาพปกอัลบัม ด้วยการถ่ายภาพตัวเองเดินข้ามถนน “ผมมาที่นี่ทุกครั้ง ก็จะเจอเรื่องเดิมๆ ทุกที มันทำให้คุณรำคาญ” คนขับแท็กซีรายหนึ่งบอกกับบีบีซี “ทุกอย่างที่พวกเขาทำก็คือ ทำท่ากำลังเดินข้ามถนน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ใครบางคนคงต้องถูกชนเข้าสักวัน”

ปกอัลบัม Paul is Live

ปัจจุบัน ทางม้าลายตรงนี้มีเว็บแคมของตัวเองเรียบร้อย และด้วยเหตุผลที่ดีในการติดตั้ง “ภาพปกอัลบัม มันได้ชื่อว่าเป็นภาพตำนานของยุค 1960s” แม็คมิลแลน กล่าวในปี 1989 “ผมคิดว่านะ สาเหตุที่ทำให้มันกลายเป็นที่นิยม ผมคิดว่าเพราะ มันเป็นความเรียบง่าย มันเป็นภาพที่มีสไตล์ แล้วเป็นภาพของคนที่ใครๆ ก็รู้สึกถึงความสัมพันธ์บางอย่างได้ด้วย แล้วก็เป็นสถานที่ซึ่งใครๆ ก็สามารถมาเดินได้”

ปกอัลบัม Abbey Road กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนเลียนแบบหรือทำตามมากมายไม่ถ้วน กระทั่งผู้ชายคนหนึ่งในรูปที่ยังมีชีวิตอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ผู้ชายที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าความคิดของภาพนี้ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ในปี 1993 พอล แม็คคาร์ทนีย์เอาภาพของแม็คมิลแลนมาทำรีทัช ใช้เป็นปกอัลบัมแสดงสดชุดที่สี่ของตัวเอง ซึ่งชื่ออัลบัม Paul Is Live ราวจะล้อเลียนสิ่งที่เกิดขึ้นจากปกอัลบัมต้นฉบับ แต่เปลี่ยนภาพเพื่อนเป็นสุนัขเลี้ยงแกะแทน ที่สำคัญคราวนี้เขาใส่รองเท้า!!!

โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง เรื่องเล่าชาวร็อค ถึงวันที่ The Beatles ถ่ายปกอัลบัมในตำนาน Abbey Road คอลัมน์ หรรษา วันจันทร์ – HAPPY MONDAY หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 12 สิงหาคม 2562

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.