DVD ReviewREVIEW

แกะกล่องหนังแผ่น: READY PLAYER ONE งานรำลึกความทรงจำของสตีเวน สปีลเบิร์ก

หากคุณเป็นคนเขียนนิยายสักเรื่อง ที่เนื้อหาบางส่วนแทบจะเป็นการยกย่องใครสักคน แล้วจู่ๆ ใครคนนั้นก็คือคนที่มาเอาตัวอักษรของคุณไปขึ้นจอภาพยนตร์ คุณจะรู้สึกอย่างไร? คำตอบของคำถามนี้อยู่ในเนื้อหาพิเศษของหนัง Ready Player One งานกำกับของสตีเวน สปีลเบิร์ก ที่เจ้าตัวกลับไปทำงานที่โชว์ความเป็นพ่อมดฮอลลีวูดให้โลกได้เห็นอีกครั้ง ด้วยการนำนิยายชื่อเดียวกันของเออร์เนสท์ ไคลน์ มาทำเป็นภาพยนตร์

แล้วสปีลเบิร์กทำยังไงกับเนื้อหาที่ยกย่องเขาจากหนังสือ คำตอบก็คือ ตัดออกทั้งหมด เพราะเจ้าตัวไม่อยากทำหนังที่เต็มไปด้วยสิ่งละอันพันละน้อยที่ยกย่องตัวเอง แต่ก็ยังเต็มไปด้วยสิ่งละอันพันละน้อยจากยุครุ่งเรืองของสปีลเบิร์ก ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอเกม, เพลง, ภาพยนตร์, ตัวการ์ตูน เมื่อเรื่องราวของหนังนั้นว่าด้วยการละทิ้งโลกแห่งความจริงอันโหดร้ายในโลกอนาคต เพื่อไปสู่โลกไม่มีอะไรปิดกั้นทุกอย่างเป็นไปได้สุดทางของจินตนาการของตัวเองที่เรียกว่าโอเอซิส ที่เวด วัทท์จะต้องหาทางชิงกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การเป็นเจ้าของโอเอซิส ที่นอกจากจะมีบรรดาผู้คนที่เข้ามาอยู่ในโลกเสมือนใบนี้เป็นคู่แข่งแล้ว ก็ยังมีไอโอบริษัทยักษ์ใหญ่เป็นก้างขวางคอสำคัญ

ซึ่งในโอเอซิสแห่งนี้ ล้วนเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆ จากยุค ’80s เสื้อผ้าหน้าผม, ข้าวของเครื่องใช้, ตัวละคร, เพลง, สถานที่ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำให้ Ready Player One เป็นหนึ่งในหนังในแบบที่เรียกว่า Recognition Cinema ซึ่งเป็นหนังที่มีอะไรหลายอย่างในเรื่อง ที่ทำให้ผู้ชมนึกถึงสิ่งต่างๆ จากเรื่องราวอื่นๆ เพราะฉะนั้นหากเป็นคนยุค ’80s นี่คือโอกาสอันดีในการตรวจสอบความทรงจำของตัวเอง เมื่อหนังเต็มไปด้วยสารพัดสิ่งที่ทำให้นึกถึงหนัง-เพลง-การ์ตูนเรื่องต่างๆ จากยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นรถเดอลอรีนจากหนัง Back to the Future, เพลง “Faith” ของจอร์จ ไมเคิล หรือ “1984” ของ Van Halen ที่ยังทำให้ Ready Player One กลายเป็นงานถวิลหาอดีตไปพร้อมๆ กัน

แล้วกับเนื้องานหลังจากไปทำหนังซีเรียส ทำงานดรามา จนคนยุค 2000s ไม่รู้เลยว่าสตีเวน สปีลเบิร์กคือเจ้าพ่อหนังบล็อคบัสเตอร์ ที่สร้างผลงานซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญๆ ให้กับโลกภาพยนตร์เอาไว้มากมายในยุค ’80s การกลับมาทำงานในแนวทางที่ทำคนรู้จักและรักเขาอีกครั้ง ถือเป็นการกลับมาที่สวยงาม เมื่อหนังประสบความสำเร็จทั้งคำชมและรายได้

Ready Player One ได้คะแนนความสดจากเว็บมะเขือเน่าถึง 72% จากบทวิจารณ์ 412 ชิ้น โดยคะแนนเฉลี่ยของบทวิจารณ์อยู่ที่ 6.84 จากคะแนนเต็ม 10 ส่วนที่เมตาคริติคหนังได้คะแนน 64 จากคะแนนเต็มร้อย คำชมส่วนใหญ่ของหนังไปอยู่ที่การแสดงของไท เชอริแดน ที่รับบทเวด วัทท์ กับไรแลนซ์ ที่เล่นเป็นหนึ่งในผู้สร้างโอเอซิส รวมไปถึงการนำเสนอสิ่งต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในช่วงเวลาหนึ่งจากสื่อต่างๆ และการที่ปรับเรื่องราวจากหนังสือได้ดี

สำหรับผู้ชมจากการเก็บสถิติของซีนีมาสกอร์ ผู้ชมให้คะแนนหนัง เอ ลบ แล้วทางโพสท์แทร็คก็รายงานว่าผู้ชมถึง 82% ให้คะแนนด้านบวกกับหนัง และมี 65% ที่บอกว่าจะแนะนำให้คนอื่นๆ มาชม แล้วเมื่อดูกันที่รายได้ Ready Player One ทำรายได้ทั่วโลกรวมกัน 582 ล้านเหรียญ โดยใช้ทุนสร้างอยู่ที่ราวๆ 155-175 ล้านเหรียญ

ด้วยความสำเร็จจากหนังสือและหนัง ทำให้มีการมองไปถึงภาคต่อ ซึ่งไคลน์ผู้ประพันธ์นิยายออกมาเผยว่า มีความเป็นไปได้ โดยทางวอร์เนอร์ บราเธอร์สต้องการทำแน่ๆ แต่เขาก็ไม่แน่ใจว่าสปีลเบิร์กอยากกลับมาทำหน้าที่เดิมหรือเปล่า โดยเฉพาะกับการที่เจ้าตัวบอกไว้ว่า นี่เป็นหนังที่ทำยากที่สุดเป็นอันดับสามของตัวเอง แต่สำหรับนักแสดงบางคนอย่าง โอลิเวีย คุก รวมไปถึงอีกหลายๆ คน มีรายงานว่า มีการเซ็นสัญญาสำหรับหนังภาคต่อเอาไว้แล้ว

ก็ไม่รู้ว่าจะมีความเป็นไปได้ไหม เพราะตอนนี้ทุกอย่างก็ยังเงียบสนิท แต่หากคิดถึงเวด วัทท์และเพื่อนๆ รวมไปถึงสารพัดสิ่งที่ทำให้นึกถึงยุค ’80s แล้วละก็ Ready Player One มีให้ซื้อหามาครอบครองกันจากไอทูนส์ สโตร์ แล้วไม่ใช่มีแค่หนัง เพราะยังจัดเต็มไปด้วยเนื้อหาพิเศษหรือไอทูนส์ เอ็กซ์ตรา

แต่ก่อนจะไปดูของแถม มาดูกันที่ตัวหนังก่อน อัตราส่วนของภาพจะอยู่ที่ 2.35:1 สัดส่วนเดียวกับในโรงภาพยนตร์ หนังมีครบทั้งบรรยายไทยและเสียงไทย ซึ่งเสียงพากย์ก็ออกมาดี และน่าจะเป็นเสียงที่ใช้กับโรงภาพยนตร์

มาถึงของแถม ในเมนูของ Ready Player One นอกจากจะมีเมนู Extra ที่พาไปสู่เนื้อหาพิเศษเต็มๆ แล้ว ยังมีของแถมแปะมาให้อีกสองเมนูคือ Treasure Room ซึ่งหากคลิกเข้าไปดูจะแบ่งเป็นหมวดต่างๆ อย่าง Snacks, Poster, Speed พอคลิกเข้าอีกที จะมีภาพจากหนังพร้อมกับคำอธิบายของไคลน์ มาเล่าถึงว่าในฉากนี้มี ‘ของ’ สำคัญอะไรบ้าง เช่น ใน Snacks ก็จะมีกล่องของเล่นจากการ์ตูน Master of the Universe หรือที่บ้านเราเรียกกันว่าฮีแมน ใน Speed ก็จะมีภาพฉากหนึ่งในหนัง ซึ่งซ่อนตัวละครบางรายเอาไว้ และไคลน์ก็จะมาเฉลยว่าเป็นใคร โดยสารพันสารพัดสิ่งต่างๆ ที่ไคลน์จะมาเฉลยให้ได้รับรู้กันนั้น มีทั้งหมด 20 อย่าง ก่อนจะปิดท้ายด้วยเมนูรูปกุญแจ ที่จะพาไปพบเบื้องหลังการถ่ายทำฉากเด็กแฝดจากหนัง The Shining ที่มาปรากฏตัวใน Ready Player One ด้วย

อีกเมนูหนึ่งจะเป็น Gallery ที่จะพาไปดูภาพคอนเส็ปท์ในการออกแบบของทั้งฉาก, เสื้อผ้า-หน้าผม, ตัวละคร, สิ่งของต่างๆ ซึ่งมีให้ชมกันอย่างจุใจ

แล้วก็มาถึงเมนูของแถมจริงๆ ซึ่งใส่เนื้อหาพิเศษหกเรื่องความยาวรวมกันทั้งหมด 1 ชั่วโมงกับอีก 57 นาทีมาให้ชม

เริ่มกันที่ The ’80s: You’re the Inspiration ที่นักแสดงและทีมงานจะมาพูดถึงยุค ’80s ซึ่งสิ่งต่่างๆ ในยุคนั้นเข้ามามีบทบาทสำคัญในหนัง ว่ามีความสำคัญกับเรื่องราวและตัวละคร รวมไปถึงตัวเองยังไง

ต่อกันด้วย Game Changer: Cracking the Code ที่ว่ากันยาวถึง 57 นาที เรื่องนี้จะเป็นสารคดีที่ว่าด้วยความเป็นมาของหนัง ที่เริ่มตั้งแต่ตัวนิยายของไคลน์ การนำหนังสือมาเขียนเป็นบท การเข้ามารับผิดชอบหนังเรื่องนี้ของสปีลเบิร์ก รวมไปถึงการคัดเลือกนักแสดง การเตรียมงานสร้างในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบงานสร้าง, การออกแบบเสื้อผ้าหน้าผม ตลอดจนการออกแบบตัวละครอวาตารของตัวละครแต่ละคน ซึ่งนอกจากเรื่องราวจะพาไปลงลึกแล้ว คลิปต่างๆ ที่ได้ชมกัน หลายๆ คลิปก็ไม่น่าจะหาชมกันได้ง่ายๆ อย่าง การประชุมเรื่องนักแสดง นอกจากนี้ยังมีคลิปการทำงานเบื้องหลังให้ได้ชมอีกด้วย

เรื่องที่สาม Effects for a Brave New World การทำงานเพื่อสร้างโลกสองโลกจากคอนเส็ปท์ขึ้นมาให้มีจริง โลกในโอเอซิส และโลกจริง ที่ต่างก็ต้องใช้งานศิลปินเทคนิคพิเศษด้านภาพจำนวนมาก เพราะกับโลกจริงก็ต้องมีการแต่งเติมหรือสร้างขึ้นมาใหม่เหมือนกัน เมื่อหนังเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่เกิดขึ้นบนโลกหลังหายนะ ทำให้งานนี้ต้องใช้บริษัททำสเปเชียล เอ็ฟเฟ็คท์ใหญ่ถึงสองรายทำงานร่วมกันคือ ไอแอลเอ็ม ที่จะเป็นผู้สร้างโลกโอเอซิส และดิจิตัล โดเมนที่จะสร้างโลกจริง รวมไปถึงภาพบนจอมอนิเตอร์ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่ได้มีแค่การใช้คอมพิวเตอร์ กราฟิค แต่ยังมีการใช้เอ็ฟเฟ็คท์สด ใช้เทคนิคโมชันแคปเจอร์ เพื่อสร้างทุกอย่างให้สมจริง

Level Up: Sound for the Future ไม่ใช่แค่ภาพที่ต้องใช้ทีมงานมากมายมาสร้างขึ้น เสียงของ Ready Player One ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความบันเทิงให้กับหนัง ที่เห็นได้ชัดก็คือ การออกแบบเสียงให้กับตัวอวาตารของตัวละครแต่ละคน นอกจากนี้ยังมีเสียงเอ็ฟเฟ็คท์ต่างๆ ที่ต้องสอดรับเข้ากับภาพอย่างกลมกลืนลงตัว รวมทั้งเสียงของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ตัวละครใช้ เช่น เสียงปืน หรือเสียงรถยนต์ ซึ่งทั้งหมดต้องสร้างขึ้นมาใหม่หมด

High Score: Endgame หากตามงานของสปีลเบิร์กมาโดยตลอด ก็คงรู้ว่า จอห์น วิลเลียมส์คือคนทำดนตรีคู่บุญที่ทำงานร่วมกันมายาวนาน แต่เพราะในช่วงเวลาที่ทำ Ready Player One สปีลเบิร์กก็มี The Postเป็นหนังอีกเรื่องที่กำลังจะเสร็จออกฉาย ทำให้เจ้าตัวเลือกวิลเลียมส์สำหรับการทำดนตรีประกอบของ The Post และให้อลัน ซิลเวสทรี จาก Back to the Future ทั้งสามภาค ซึ่งไม่ใช่ใครอื่นๆ เพราะหนังทั้งสามเรื่องก็มีเขาเป็นผู้อำนวยการสร้างมารับหน้าที่แทน ในเนื้อหาพิเศษเรื่องนี้ ซืลเวสทรีจะมาพูดถึงการทำงานกับสปีลเบิร์ก ที่มีกำหนดไว้แล้วว่าฉากไหนที่ต้องใช้ดนตรีประกอบ แล้วก็ลงลึกไปเลยว่าเข้า-ออกตอนไหน รวมไปถึงการสร้างบางธีมที่เกี่ยวพันกับหนังในอดีต อย่าง มีการหยิบธีมจาก Back to the Future มาใช้ หรือการสร้างธีมที่เป็นการบอกใบ้เป็นนัยๆ เช่น การใช้เสียงร้องประสานภาษาละตินที่เฉลยถึงปริศนาของเหตุการณ์

มาถึง Ernie & Tye’s Excellent Adventure สองคนออสติน เออร์เนสท์ ไคลน์และไท เชอริแดนจะมานั่งคุยกันถึงประสบการณ์การทำงานในหนัง รวมไปถึงการเตรียมตัวสำหรับรอบปฐมทัศน์

แต่ไม่ใช่ว่าเนื้อหาพิเศษจะจบลงตรงนี้ เพราะยังมีแตกหน่อออกมาเป็น Trivia อีกหนึ่งเรื่อง ซึ่งจะเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ ของหนัง เช่น ใบหน้าตัวอวตารของโช อิงมาจากหน้าของโตชิโร มิฟูเนนักแสดงคู่บุญของผู้กำกับอากิระ คูโรซาวะ หรือฉากยิงกันในดิสโกเธอ เพอร์ซีวัลกับอาร์เทมิส ใช้ปืนจาก Battlestar Galactica แล้วก็ Ghost in the Shell งานนี้มีเกร็ดต่างๆ จาก Ready Player One ให้รับรู้กันถึง 30 เรื่องเลยทีเดียว

สำหรับเนื้อหาพิเศษทั้งหมด ไม่มีบรรยายไทยนะครับ แต่ก็มีภาษาอังกฤษมาให้ ถือว่าไม่เสียหายสักเท่าไหร่

ที่ด้วยตัวหนังและของที่ขนมากันขนาดนี้ ไม่มีไว้ดูก็เกินไปนะ 😀

รายละเอียดภาพยนตร์:
ผู้กำกับ: สตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้อำนวยการสร้าง: โดนัลด์ เดอ ไลน์, คริสตี มาคอสโก ไครเกอร์, แดน ฟาราห์, สตีเวน สปีลเบิร์ก เขียนบท: แซ็ค เพ็นน์, เออร์เนสท์ ไคลน์ จากเรื่อง: Ready Player One โดย เออร์เนสท์ ไคลน์ นักแสดง: ไท เชอริแดน, โอลิเวีย คุก, เบน เมนเดลซอห์น, ที.เจ. มิลเลอร์, ไซมอน เพ็กก์, มาร์ค ไรแลนซ์ ดนตรีประกอบ: อลัน ซิลเวสทรี กำกับภาพ: จานุสซ์ คามินสกี ตัดต่อ: ไมเคิล คาห์น, ซาราห์ บรอชาร์ บริษัทผู้สร้าง: วอร์เนอร์ บราเธอร์ส พิคเจอร์ส, แอมบลิน พาร์ทเนอร์ส, แอมบลิน เอนเตอร์เทนเมนท์, วิลเลจ โรดโชว์ พิคเจอร์ส, เดอ ไลน์ พิคเจอร์ส, ฟาราห์ ฟิล์มส์ แอนด์ แมเนจเมนท์ จัดจำหน่าย: วอร์เนอร์ บราเธอร์ส พิคเจอร์ส วันฉาย: 29 มีนาคม 2018 ความยาว: 140 นาที
เนื้อหาพิเศษ: 1. [1.1. The ’80s: You’re the Inspiration 1.2. Game Changer: Cracking the Code 1.3. Effects for a Brave New World 1.4. Level Up: Sound for the Future 1.5. High Score: Endgame 1.6. Ernie & Tye’s Excellent Adventure] 2. Trivia

โดย นายสะเด่าส์ คอลัมน์ แกะกล่องหนังแผ่น นิตยสารเอนเตอร์เทน 1296 ปักษ์หลัง มกราคม 2563

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:DVD Review

Comments are closed.