FEATURESMovie Features

กว่าจะเป็น 1917 หนังแบบเทคเดียวล่ารางวัลของผู้กำกับแซม เมนเดส

มาแบบเงียบๆ แล้วก็กวาดรางวัลใหญ่บนเวทีลูกโลกทองคำ และประสบความสำเร็จต่อเนื่องบนเวทีของสมาคมผู้อำนวยการสร้าง และสมาคมผู้กำกับ รวมทั้งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 92 ถึง 10 รางวัล และเข้าชิงรางวัลตุ๊กตาทองของอังกฤษ – บาฟตาถึง 9 รางวัล มาถึงตอนนี้ 1917 หนังสงคราม/ ดรามา ของผู้กำกับแซม เมนเดส กลายเป็นหนังตัวเก็งเต็งหนึ่งในหลายๆ เวทีรางวัลไปเรียบร้อยแล้ว

หากได้ชมหนังที่มีที่มาจากเรื่องราวที่ปู่ของตัวผู้กำกับประสบในระหว่างที่เป็นทหารร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 เรื่องนี้ (หนังเข้าฉายรอบสองทุ่มในบ้านเราตั้งแต่ 23-29 มกราคม ก่อนจะฉายจริง 30 มกราคม) จะพบว่าความโดดเด่นที่สัมผัสได้ทันทีก็คือ การเล่าเรื่องราวให้ปรากฏบนจอในแบบหนังเทคเดียว เหมือนกับที่อเลฮานโดร กอนซาเลซ อิญาร์ริตูใช้ในหนังยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์เมื่อปี 2015 Birdman ซึ่งบางทีหากเป็นคนที่ทำงานเบื้องหลังภาพยนตร์ หรือมีความเข้าใจในเรื่องการกำกับภาพและการตัดต่อ ก็อาจมองเห็นจุดเชื่อมต่อต่างๆ ของหนัง หากก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ด้วยการคำนวณและทำงานอย่างเยี่ยมยอด ทำให้ความรู้สึกระหว่างชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ต่างไปจากการอยู่ร่วมเหตุการณ์ในเวลาเดียวกันกับตัวละคร คล้ายๆ กับที่รู้สึกใน Birdman เช่นกัน โดยใน 1917 เทคนิคแบบช็อตเดียวจะใช้เล่าเรื่องของสองพลทหารชาวอังกฤษ ซึ่งรับบทโดยจอร์จ แม็คเคย์ และดีน-ชาร์ลส์ แช็ปแมน ที่ได้รับคำสั่งจากนายพล (โคลิน เฟิร์ธ) ให้นำข้อความไปแจ้งกับผู้กองแม็คเคนซี (เบเนดิคท์ คัมเบอร์แบทช์) เพื่อไม่ให้เขานำกำลังพลร่วมพันหกร้อยนายไปสู่กับดักของศัตรู ทั้งคู่ต้องเดินทางผ่านทั้งเขตปลอดทหาร, แนวหน้าของข้าศึก เผชิญหน้าอันตรายมากมาย ซึ่งทำให้ภารกิจนี้ยากจะเป็นไปได้

ซึ่งการทำให้เรื่องราวทั้งหมดขึ้นจอในแบบเทคเดียวของเมนเดส ผู้กำกับมากประสบการณ์ เจ้าของผลงานอย่าง Skyfall, American Beauty และ Jarhead ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมืิอนกัน

“ผมอยากเล่าเรื่องราวนี้ในเวลา 2 ชั่วโมงตามเวลาจริงๆ เพื่อให้รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ เพื่อล็อคผู้ชมให้อยู่กับประสบการณ์ที่ตัวละครได้รับ โดยหนังมีลักษณะของงานระทึกขวัญแข่งกับเวลา ผมอยากให้คนดูรู้สึกถึงทุกๆ วินาทีที่และทุกๆ ก้าวที่ตัวละครผ่านไป รวมไปถึงรู้ถึงสภาพภูมิศาสตร์และระยะทางแล้วก็ความยากลำบากที่เป็นรูปธรรม ความรู้สึกในการที่ได้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ไปกับพวกเขาโดยที่ไม่มีการตัดใดๆ” เมนเดสพูดถึงความตั้งใจในการทำ 1917 ให้เป็นหนังแบบเทคเดียว

แต่ 1917 ไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่นำเสนอแบบงานช็อตเดียว ก่อนหน้านี้ยังมีหนังอย่าง Birdman หรือว่า Rope ของอัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อค แต่ที่แตกต่างไปก็คือ ใน 1917 ผู้ชมจะรู้สึกเหมือนกำลังเกาะติดอยู่กับตัวละครเพียงหนึ่งหรือสองคนตลอดเวลา ไม่ได้มีการส่งต่อเรื่องราวไปยังตัวละครอื่นๆ “มันเป็นความท้าทายอย่างมาก ที่จะต้องไม่ทำให้เกิดอะไรซ้ำๆ ถึงแม้จะเกาะติดอยู่กับตัวละครเพียง 1-2 ราย หากท้ายที่สุดหนังก็มีการเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับตัวละครอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้มุมมองที่เห็นไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ตัวละครทำเสมอไป บางครั้งคนดูก็เห็นพวกเขา แต่ไม่เห็นว่าพวกเขามองเห็นอะไร บางครั้งคนดูก็เห็นบางอย่างก่อนที่พวกเขาเห็น บางครั้งมันก็เป็นสิ่งที่คุ้นเคยมากๆ และเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลเหลือเกิน บางครั้งมันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งคุณจะเห็นพวกเขาเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ที่อยู่ในภูมิประเทศขนาดใหญ่

“มันเป็นการเต้นรำระหว่างกล้อง, ตัวละคร แล้วก็สถานที่ ทั้งสามสิ่งจะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา นั่นคือภาษาของหนังซึ่งเป็นสิ่งที่ผมกำกับโรเจอร์ ดีคินส์ (ผู้กำกับภาพ) ทำงานร่วมกันอย่างหนักเพื่อมีพัฒนาการไปเรื่อยๆ”

ในฉากหนึ่งของหนัง เราจะเห็นตัวละครของจอร์จ แม็คเคย์ วิ่งหนีกระสุนปืนจากฝ่ายตรงข้ามในเมืองที่เต็มไปด้วยทรากปรักหักพัง ก่อนจะกระโดดลงไปในแม่น้ำ ที่ภาพถูกนำเสนออย่างต่อเนื่องในแบบลองเทค

แต่หากได้ชมการทำงานเบื้องหลัง ในฉากนี้จะได้เห็นทีมกล้องไล่ตามแม็คเคย์โดยรถจี้ป, มอเตอร์ไซค์ หรือกระทั่งวิ่งตามแม็คเคย์ ก่อนที่เขาจะกระโดดลงไปบนเบาะ ที่จะมีการตัดภาพตัวละครโดดลงไปในน้ำมารับอีกที

นี่คือหนึ่งตัวอย่่างของการประดิษฐ์ประดอยที่คนทำหนังสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อให้ผลงานออกมาเป็นงานแบบช็อทเดียว ซึ่งต้องใช้ทั้งจังหวะเวลาที่เป๊ะ การวางแผนในระดับสุดยอด และความชาญฉลาดทั้งการใช้กล้องและการตัดต่อ ที่นอกจากผู้กำกับแซม เมนเดสแล้ว คนสำคัญอีกคนของ 1917 ก็คือโรเจอร์ ดีคินส์ ผู้กำกับภาพ เจ้าของงานเทพๆ ในหนังอย่าง Skyfall และ Sicario รวมถึง Blade Runner 2049 ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลออสการ์

“ผมอยากบอกว่า นี่ไม่ใช่สไตล์ในการทำหนังที่เหมาะกับหนังหลายๆ เรื่อง มันต้องเป็นหนังที่มีความเฉพาะไม่ธรรมดามากๆ” ดีคินส์พูดถึงการทำงานใน 1917

“มันเป็นความท้าทายชั้นเยี่ยม และคุณก็คงรู้ว่ามันจะออกมาเป็นยังไง หลังจากถ่ายทำกันไปสัก 2-3 ช็อต พวกเรารู้สึกว่า ‘โอ… มันเจ๋งมาก’ แล้วไม่ใช่แค่ออกมาเยี่ยม มันยังน่าดื่มด่ำจริงๆ” ดีคินส์ย้ำ “คุณกำลังทำฉากที่เป็นงานลองเทคที่ยาวออกไปเรื่อยๆ เทคที่เราถ่ายกันยาวที่สุด บางทีน่าจะกินเวลาสัก 8 นาทีครึ่ง คุณต้องมีลูกเล่นในการใช้กล้อง แล้วนักแสดงก็ต้องทำงานของเขา ทุกสิ่งจะได้หลอมรวมกันอย่างพอดิบพอดี เพราะมันเหมือนกับการเต้นบัลเลท์ คุณต้องทำงานหนึ่งในช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่แล้วก็มาอีกช่วงหนึ่งละ จากนั้นก็มาอีกช่วงละ แล้วพอคุณรู้สึกว่าเกือบจะจบการถ่ายทำ คุณก็รู้สึกแบบ ‘ตายละ… หวังว่าผมคงไม่ทำมันพังนะ!’ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างมันก็จะกลับไปหาจุดเริ่มต้นกันใหม่ มันเป็นการเดินทางของแท้”

ด้วยเหตุนี้การทำงานจึงต้องมีการเตรียมการเป็นอย่างดี และมากกว่าที่หนังทั่วๆ ไปทำกัน ต้องมีการสร้างแบบจำลองของทุกๆ ฉาก เพื่อให้ทุกคนมองเห็นภาพรวมในแต่ละฉากว่า จะออกมาหน้าตายังไง เช่น ฉากที่ตัวละครของแม็คเคย์วิ่งผ่านเมืองที่ถูกทำลาย ยังมีแสงจากพลุสว่างวาบเป็นระยะๆ และนั่นก็คือแหล่งกำเนิดแสงเพียงอย่างเดียวในฉากนี้ ทีมงานต้องการระยะเวลาที่แน่นอนว่า พลุจะสว่างอยู่ท่ามกลางความมืดนานแค่ไหน ซึ่งต้องมีการทดสอบกับแบบจำลองก่อน เพื่อดูทิศทางของเงาที่เกิดขึ้น รวมไปถึงแสงจะส่องผ่านช่องว่าง หรือหน้าต่างบานไหนบ้าง

ไม่ใช่แค่แบบจำลอง ทีมงานจะต้องสร้างฉากจริงๆ ขึ้นมาด้วย และต้องทำให้ทีมกล้องทำงานได้อย่างสะดวก เช่น ฉากรั้วลวดหนามที่ตัวละครต้องเดินผ่านในเขตปลอดทหาร จะต้องมีช่องให้ตากล้องเดินผ่านได้เช่นกัน แต่ที่น่าประทับใจสุดก็คือ การสร้างสนามเพลาะความยาว 5,200 ฟุต ที่ฉากแอ็คชันรวมไปถึงการถ่ายทำที่แสนท้าทายจะเกิดขึ้นไปตามทางเดินแคบๆ ที่ทอดยาวแห่งนี้ ทุกช็อตจะต้องมีการกำหนดความยาวในการใช้สถานที่แบบเป๊ะๆ ถ้าช็อตนี้จะต้องถ่ายกันด้วยความยาว 8 นาที มันก็ต้องมีการกำหนดพื้นที่สำหรับความยาวเท่านั้นขึ้นมา เมนเดสเผยด้วยว่า พวกเขาจะไม่มีทางสร้างฉากขึ้นมา จนกว่าจะรู้ว่ามันใช้ความยาวขนาดไหนในการถ่ายทำ

ทำให้ต้องมีการซ้อมเกิดขึ้นก่อน

หนังทุกเรื่องต้องมีการซ้อม แต่การซ้อมของ 1917 กินเวลานานกว่า และโหด รวมถึงต้องแม่นยำมากกว่า ดีคินส์เล่าว่า หนังส่วนใหญ่การซ้อมจะเกิดขึ้นในวันก่อนหน้าถ่ายทำจริงๆ แต่สำหรับ 1917 ต้องมีการซ้อมกันล่วงหน้า โดยเริ่มกันที่เชพเพอร์ตัน สตูดิโอ ใกล้ๆ กรุงลอนดอน จากนั้นก็ย้ายไปที่กองถ่ายจริง ที่บทสนทนาต่างๆ จะต้องซ้อมกันในสถานที่จริง รวมไปถึงการวางจุดต่างๆ ทั้งหมดกินเวลาถึง 4 เดือน

อุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องมีการวางแผน อย่างกล้องก็ต้องทำให้สะดวกในการเคลื่อนที่ และโชคดีที่กล้องความละเอียดสูงรุ่นใหม่ๆ เบาขึ้นและมีขนาดเล็กขึ้น ช่วยให้ดีคินส์ได้ภาพคุณภาพเยี่ยมตามที่ต้องการ กล้องเหล่านี้ยังสะดวกกับการพกพาหรือติดกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นเครนหรือว่าโดรน

อีกหนึ่งความท้าทายก็คือ การจัดแสง พวกเขาใช้แสงที่สร้างขึ้นเป็นส่วนใหญ่ แต่ในบางฉากที่กล้องต้องเคลื่อนไหวอย่างอิสระ 360 องศา ก็จำเป็นที่จะต้องใช้แสงธรรมชาติ ที่ทีมงานต้องการแสงในยามฟ้าครึ้มๆ มากกว่าวันที่แดดเจิดจ้า เพราะในวันที่อาทิตย์ส่องแสงก็หมายความว่าจะมีเงาเกิดขึ้นมากกว่าเดิม “ผมต้องเช็คแอพพ์สภาพอากาศ เพื่อดูว่าเมื่อไหร่ฟ้าจะครึ้ม แล้วมันจะอยู่นานพอจะถ่ายทำกันสักห้านาทีไหม?”

ท้ายที่สุดการทำงานอย่างหนัก และเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ก็ให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมออกมา 1917 กลายเป็นงานคุณภาพ ที่ไปอยู่บนเวทีรางวัลทุกรางวัล และเป็นหนึ่งในหนังยอดเยี่ยมของปี 2019 รวมทั้งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชม เมื่อทำรายได้ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาไปแล้วถึง 92.1 ล้านเหรียญ และอีก 63.1 ล้านเหรียญในพื้นที่อื่นๆ ของโลก

และที่สำคัญที่สุด 1917 เป็นภาพยนตร์ที่แสดงถึงการทำงานในแบบ ‘ทีมเวิร์ค’ ได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง รวมถึงเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้คำว่า “ประสบการณ์การชมภาพยนตร์” มีความหมายตามนั้นจริงๆ

โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง กว่าจะเป็น 1917 หนังแบบเทคเดียวล่ารางวัลของผู้กำกับแซม เมนเดส คอลัมน์ หรรษา วันจันทร์ Happy Monday หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 27 มกราคม 2563

[one_half][/one_half][one_half_last][/one_half_last] 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.