FEATURESMovie Features

จากตัวอักษรขึ้นจอหนัง นิยายเรื่องไหนดัง

เป็นเรื่องปกติธรรมดาสามัญ สำหรับการนำเอานวนิยายดังๆ มาทำเป็นภาพยนตร์ ซึ่งถือว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว เพราะกับหนังสือดัง ๆ นั้น ก็การันตีได้ไปก่อนหน้าแล้ว ว่าเรื่องราวเนื้อหานั้นน่าจะสนุก แถมยังได้กลุ่มแฟนหนังสือ ที่อาจจะอยากตามมาชมภาพยนตร์กันอีกต่อ แถมการเป็นหนังสือดัง ก็ทำโพรโมตได้ไม่ยาก ชนิดที่ว่า พอรู้ว่าต้องทำการตลาดให้กับหนังที่สร้างจากนิยายดัง ๆ เรื่องไหน ฝ่ายมาร์เก็ตติงก็อาจจะลูบปากกันมันแผล็บเลยทีเดียว

แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีข้อเสีย เพราะหากทำได้ไม่ดี อย่างที่แฟนหนังสือแซ่ซ้องสรรเสริญแล้วละก็ เตรียมตัวนอนในห้องดับจิต ปิดตัวเองจากโลกภายนอกได้เลย เพราะจะต้องโดนกระหน่ำซัมเมอร์เซลจากแฟนๆ ยับเยิน

ซึ่งกับหนังที่หยิบเอาหนังสือมาตีความเป็นภาพยนตร์นั้น มันก็มีทั้งดี ทั้งร้าย และนี่คือส่วนหนึ่งที่หยิบมาบอกกล่าวเล่าสิบให้กันฟังว่า สอบผ่านคะแนนฉลุย คนอ่านอักษรไม่ค่อนแคะภาพเคลื่อนไหว และงานภาพยนตร์โดยตัวมันเอง ก็ออกมาเป็นงานที่ดีมีคุณค่ามากพอที่ควรจะทำความรู้จัก

Fight Club

Fight Club: ผลงานการกำกับของเดวิด ฟินเชอร์ ผู้กำกับจอมสร้างบรรยากาศเรื่องนี้ สร้างมาจากนิยายชื่อเดียวกันในปี 1996 ของชัค พาลาห์เนียค โดยงานนี้ฟินเชอร์พาคนดูไปเป็นหนอนในใส้ของแจ็ค ที่เล่นโดย เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน ซึ่งเป็นคนเล่าเรื่อง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ นี่คือคนที่ชีวิตสุขสบายถูกดันไปสู่ความเสี่ยง โดยผู้ชายแรงเหลืออย่าง ไทเลอร์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบทที่ดีที่สุดในชีวิตของแบรด พิทท์ ที่มายุให้แจ็คเปิดคลับราวี (Fight Club) หนังออกฉายในปี 1999 ที่ถือได้ว่าเหมาะเจาะกับเวลา และการนำเสนอทางด้านภาพก็ทำให้คนดูเข้าถึง และเป็นส่วนหนึ่งของแจ็คได้จริงๆ โดยมีงานดนตรีประกอบกระตุ้นต่อมอะดรีนาลีนของ The Dust Brothers เป็นแรงส่งสำคัญ

no-country-for-old-men

No Country for Old Men: โทนหนังนั้นได้ชื่อว่าสัตย์ซื่อกับนิยายจากปี 2005 ของคอร์แมค แม็คคาร์ธีย์เต็มที่ สองพี่น้องโคเอ็นนำเสนอเรื่องราวออกมาได้อย่างมีสีสัน โดยเฉพาะการสร้างตัวละคร แอนทอน ชิเกอหร์ นักฆ่าเลือดเย็นที่รับบทโดย ฮาเวียร์ บาร์เดม ซึ่งเป็นนักฆ่าเจ้าของทรงผมที่อัปลักษณ์ที่สุดในโลก ที่ช่วยเสริมบุคลิกของตัวละครให้ดูหลอน ๆ และน่าพรั่นพรึงอย่างได้ผล ต้วหนังออกฉายหลังหนังสือเปิดตัวเพียงแค่ 2 ปี แต่คุณภาพของงานนั้นได้รับการยกย่องว่า เป็นงานที่สร้างผลกระทบต่อสังคมและคนดูอย่างสูง ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับที่หนังสือได้รับ ยิ่งไปกว่านั้น หนังยังรับรางวัลออสการ์หนังเยี่ยมมาครองอีกต่างหาก

clockwork orange

Clockwork Orange: งานอมตะของสแตนลีย์ คูบริค ที่นำเอาเลนส์ไวด์มาใช้เล่าเรื่องราวจากนิยายในปี 1962 ของแอนโธนี่ เบอร์เจสส์ เพื่อทำให้ภาพที่ออกมามีอารมณ์กึ่ง ๆ ฝัน และให้คนดูได้ขุดค้นอย่างละเอียดเข้าไปในความคิดฉ้อฉลของอเล็กซ์เด็กหนุ่มต่อต้านสังคม ซึ่งรับบทโดย มัลคอล์ม แม็คโดเวลล์ งานด้านภาพจากหนังเรื่องนี้เยี่ยมถึงขั้นคว้ารางวัลออสการ์ด้านการกำกับภาพมาครอง แถมเจ้าของบทประพันธ์เองก็ยังพึงพอใจอย่างมากกับการดัดแปลงเรื่องราวของตัวเองขึ้นจอ “ผมสามารถบอกได้ว่า เรื่องราวในหนังสือ และในหนังต่างมีกันและกัน ที่สุดแล้วหากให้ผมคิดถึงหนังเรื่องอื่น ๆ ที่สามารถเก็บความเจ็บปวดได้ใกล้เคียงกับหนังสือที่เจ๋งกว่านี้ ที่นึกออกก็มีแค่เรื่อง ‘Rosemary’s Baby’ ที่กำกับโดยโรมัน โปลันสกีเท่านั้นเอง”

trainspotting

Trainspotting: สร้างจากนิยายแนว ๆ ที่ฮิตแบบงานคัลท์ ของเออร์วิง เวลช์ ซึ่งผู้กำกับแดนนี่ บอยล์สามารถสร้างภาพความเจ็บปวด และความพึงพอใจของพวกก๊วนขี้ยาให้ปรากฏบนจอได้อย่างเยี่ยมยอด ซึ่งก็ต้องยกเครดิตให้นักแสดงอย่าง ยวน แม็กเกรเกอร์, เอฟเวน เบรมเมอร์ และจอนนี่ ลี มิลเลอร์ ด้วยเช่นกัน หนังออกฉายในปี 1996 โดยตลอดความยาว 90 นาทีของหนัง ดูเหมือนว่าบอยล์และทีมนักแสดงของเขากำลังพยายามฉีดผงเข้าเส้นคนดูเลยด้วยซ้ำ

TLOTR

The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring: กับงานในแบบไตรภาค หากหนังภาคแรก ตอนแรกออกมาไม่ได้เยี่ยมยอด มันก็คือหายนะของหนังในตอนต่อ ๆ ไป โชคดีที่ปีเตอร์ แจ็คสัน ทำได้ดีในหนังเรื่องแรกที่บอกเล่าเหตุการณ์ในมัชฌิมโลก และทำให้อนาคตของหนังอีกสองเรื่องต่อมา และหากนับกันจริง ๆ ก็ต้องเป็นห้า ดูสดใส จากวรรณกรรมอมตะของ เจอาร์อาร์ โทลคีน เมื่อปี 1954 แจ็คสันสามารถทำให้ภาพต่าง ๆ ที่เคยเป็นแค่จินตนาการ ปรากฏบนจอได้อย่างถูกใจแฟนหนังสือ และบรรดานักแสดงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเอไลจาห์ วูด, เอียน แมคเคลแลน, ออร์แลนโด บลูม หรือว่า วิกโก มอร์เทนเซน ก็ราวกับแปลงร่างจากตัวอักษรมาสู่จอกันเลยทีเดียว

gone with the wind

Gone with the Wind: การได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในปี 1940 ไม่ใช่แค่ยืนยันว่า ตัวหนังสามารถนำเสนอเรื่องราวจากหนังสือของมาร์กาเร็ต มิตเชลล์ออกมาได้เป็นอย่างดี แต่ ‘Gone with the Wind’ ยังทำได้ดีกว่านั้น เมื่อกวาดรางวัลไปทั้งหมดถึง 10 รางวัล โดยมี 2 รางวัล ที่เป็นรางวัลเกียรติยศ หนังกลับบ้านโดยคว้าทั้งรางวัลหนังยอดเยี่ยม และบทดัดแปลงยอดเยี่ยม ซึ่งน่าจะเป็นการยืนยันถึงความเยี่ยมของหนัง ที่ทำได้พอ ๆ กับความยอดของหนังสือได้ดี

psycho

Psycho: หลายๆ คนอาจจะหลงลืมไปว่า งานคลาสสิกของผู้กำกับระดับตำนานของวงการภาพยนตร์ อัลเฟรด ฮิทช์ค็อค เมื่อปี 1960 เรื่องนี้ สร้างมาจากนิยายของโรเบิร์ต บล็อค ฮิทช์ค็อคคัดเลือกนักแสดงได้อย่างยอดเยี่ยม ชนิดที่คอหนังสือไม่มีข้อโต้แย้ง โดยเฉพาะแอนโธนี เพอร์คินส์ ที่เล่นเป็นนอร์แมน เบตส์ ได้อย่างน่าเห็นอกเห็นใจ น่าหวาดหวั่น และน่าสะพรึงกลัวเมื่อความลับถูกเปิดเผย ขณะที่ฉากสังหารใต้ฝักบัว ก็กลายเป็นหนึ่งในฉากจากหนังที่รู้จักกันดีทั่วโลก และยังหลอนผู้คนได้ทุกรุ่นทุกสมัย หนังได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ ขณะที่รายได้ก็ไปได้สวย ไม่น่าแปลกใจที่ ‘Psycho’ จะกลายเป็นหนึ่งในหนังที่ดัดแปลงจากหนังสือ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดมาจนถึงทุกวันนี้

forrest gump

Forrest Gump: ทอม แฮงก์ส คว้ารางวัลออสการ์ตัวที่สองมาครอง จากบทที่เป็นทั้งชื่อหนังและเป็นศูนย์กลางของเรื่อง นักกีฬาผู้ชื่นชอบช็อกโกแล็ต ที่ตอนหลังกลายมาเป็นเจ้าของธุรกิจกุ้ง นี่คืองานมหากาพย์หนังชีวิต-เบาสมองเรื่องเยี่ยม ที่ทำให้คนดูหัวเราะ ร้องไห้ และส่งเสียงเชียร์ไปกับการผจญภัย และความคิดของผู้ชายที่ชื่อ ฟอร์เรสต์ กัมป์ ถึงตัวหนังจะมีการปรับเปลี่ยนจากหนังสือไม่ใช่น้อย และนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่าง โรเบิร์ท เซเมคคิส ผู้กำกับ และวินสตัน กรูม เจ้าของบทประพันธ์ แต่ท้ายที่สุดก็เป็นที่ยอมรับกันว่า สิ่งที่เซเมคคิสทำ คือการทำให้เรื่องราวของหนังสือขึ้นจอได้อย่างน่าเชื่อถือ และที่สำคัญเขาสามารถเก็บเอาอารมณ์ ความบันเทิง ความประทับใจ ที่คนอ่านเคยได้รับจากหนังสือเอาไว้ได้อย่างครบถ้วนกระบวนความ

the wizard of oz

The Wizard of Oz: อย่าสับสนกับ ‘Oz: The Great and Powerful’ ที่เพิ่งออกฉาย เพราะนี่คืองานที่สร้างจากนิยายคลาสสิคของคนอเมริกัน ‘The Wonderful Wizard of Oz’ ประพันธ์โดย แอล แฟรงก์ บอม และนับตั้งแต่ออกฉายในปี 1939 หนังก็ยังเป็นที่ประทับใจของคนดูไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ จากรุ่นสู่รุ่น ที่ยังคงชื่นชมกับเวทย์มนตร์ของทุ่งดอกป็อปปี้ และเสียงร้องเพลงจากมันชกินส์ ที่ยิ่งไปกว่านั้น นี่คืองานที่เป็น “สัญลักษณ์” แห่งศตวรรษ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าแตะสีทับทิมของโดโรธี คำพูดคม ๆ และตัวละครที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป็อปแบบอเมริกัน แต่กับบ้านเราหากยังไม่รู้สึกถึงความใกล้ตัวของหนังเรื่องนี้ ลองฮัมเพลง ‘Over the Rainbow’ ดูซิ

to kill a mockingbird book

To Kill a Mockingbird: ขณะที่หนังสือระดับรางวัลทั้งหลาย พอกลายเป็นภาพยนตร์ก็มักจะได้รับคำชื่นชมสรรญเสริญ แต่กับ ‘To Kill a Mockingbird’ ความสำเร็จกลับอยู่ในระดับกลาง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หรือว่าหนัง ทั้งที่ในเรื่องคุณภาพ โดยเฉพาะการแสดงไม่น่าจะต่ำกว่าคำว่า “ยอดเยี่ยม” เกรกอรี่ เป็ค ทำให้คนดูต้องทึ่งไปกับบททนายที่รักครอบครัว และเป็นนักแม่นปืนฝีมือฉกาจ – แอตติคัส ฟินช์ แต่หากมองดูเนื้อหาของหนังสือและหนังก็ไม่น่าแปลกใจ ที่ยากจะมีใครรักเรื่องราวเกี่ยวกับผู้บริสุทธิ์ในช่วงเวลา และสถานที่ ที่เรื่องของการเหยียดสีผิว ตึงเครียดถึงขีดสุด

atonement

Atonement: หนังอาจจะมีอายุไม่มากนักเมื่อออกฉายในปี 2007 แต่ก็มีคุณภาพมากพอสำหรับการเป็นหนังจากหนังสือที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง เนื้อหาของหนังและหนังสือ เป็นเรื่องราวของพี่น้องสองสาวตระกูลทัลลิส กับร็อบบี เทอร์เนอร์ ลูกชายพ่อบ้าน ซึ่งกินเวลายาวนานถึงกว่า 6 ทศวรรษ สาวทัลลิสคนโตรับบทโดย เคียรา ไนท์ลีย์ ขณะที่คนเล็กเป็นเซอร์ซา โรแนน และผู้ชายที่อยู่กึ่งกลางของทั้งสองคนเป็นการแสดงของเจมส์ แมคอะวอย ผลงานที่ดัดแปลงมาจากนิยายของเอียน แม็คอีแวนเรื่องนี้ ได้ใจทั้งนักวิจารณ์และคนดู รวมทั้งถูกยกให้เป็นตัวอย่างของนิยายที่ถูกสร้างเป็นหนังได้อย่างดีอีกเรื่องหนึ่งในทันที

the silence of the lambs
The Silence of the Lambs: แอนโธนี ฮ็อปคินส์คว้ารางวัลออสการ์ในฐานะดารานำชายจากบทคนกินเนื้อคน ที่ชวนขนลุก ขนพองเมื่อได้เห็น แม้จะมีเวลาอยู่ในหนังเพียงแค่ เอิ่ม… 16 นาที ซึ่งน่าจะพอได้ว่า เขาเล่นได้สุด ๆ ขนาดไหน โจดี ฟอสเตอร์ กับเท็ด ลีไวน์ก็ได้รับการยกย่องจากหนังเรื่องนี้เช่นกัน นี่คืองานที่ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็น “หนึ่งในหนังเขย่าขวัญที่ดีที่สุด” และเป็นหนังซ่อนเงื่อนที่เยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่งเช่นกัน ที่มาของหนังคือนิยายชื่อเดียวกันจากปี 1988 ของโธมัส แฮร์ริส ซึ่งเป็นนิยายเรื่องที่สองในชุด ซึ่งเริ่มต้นด้วย  ‘Red Dragon’ ก่อนจะปิดท้ายด้วย ‘Hannibal’

 

shawshank redemption

The Shawshank Redemption: สร้างมาจากเรื่อง ‘Rita Hayworth and Shawshank Redemption’ ในหนังสือรวมเรื่องสั้นของสตีเฟน คิง ‘The Different Seasons’ หนังปี 1994 เรื่องนี้ ได้ทิม ร็อบบินส์ และมอร์แกน ฟรีแมน มารับบทคู่หูคนคุกต่างวัย ที่ตอนหลังกลายเป็นเพื่อนกันในโลกนอกกรงขัง แม้หนังจะทำเงินได้ในระดับพอประมาณ แต่นักวิจารณ์ “รัก” หนังเรื่องนี้กันถ้วนหน้า และทำให้หนังประสบความสำเร็จมากมายในตลาดโฮม เธียเตอร์ รวมถึงการนำออกฉายอีกหน ที่น่าทึ่งก็คือ หนังเปลี่ยนอะไรไปจากเรื่องสั้นมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การเปลี่ยนตัวละคร “เรด” จากคนไอริชผมแดงเพลิง มาเป็นมอร์แกน ฟรีแมน เนื่องจากแฟรงค์ ดาราบอนท์ผู้กำกับ มองไม่เห็นว่าใครจะรับบทนี้ได้ดีไปกว่าเขา และผลลัพธ์ที่ออกมา ก็ไม่มีใครกล้าตำหนิการตัดสินใจครั้งนี้ นี่คือนักแสดงที่ทำหน้าที่ได้อย่างเยี่ยมยอด, นิ่ง, ดูดี และเป็นคนที่ทำให้หนังคลาสสิก

the godfather

The Godfather: เป็นตำนานอีกหน้าหนึ่งในโลกภาพยนตร์ เมื่อตัวหนังอยู่เหนืองานนิยายของมาริโอ พูโซ และได้รับการย่องว่า เป็นงานที่ถ้าไม่ดีที่สุด ก็คือ หนึ่งในงานที่ดีที่สุดตลอดกาล และเป็นงานมาสเตอร์พีซอย่างไม่ต้องสงสัย เนื้อหาว่าด้วยเรื่องของครอบครัวอาชญากรคอร์ลีโอเน ที่สมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวถูกกันให้เป็นคนนอก แต่เขากลับค่อยๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจที่คุ้นเคยของบ้าน โดยบทวีโต คอร์ลีโอเน ผู้อาวุโสของบ้านเป็นการแสดงที่ไร้ที่ติของมาร์ลอน แบรนโด เจ้าของประโยคอมตะในวงการภาพยนตร์ “ข้ามีข้อเสนอที่มันปฏิเสธไม่ได้” ออกมา หนังยังมีภาคต่อออกมาอีก 2 ภาค ซึ่งได้รับการยอมรับ และตอบรับเป็นอย่างดี

(จากเรื่อง จากตัวอักษรเป็นแผ่นฟิล์ม จากหนังสือสู่จอหนัง โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ Film นิตยสาร Hip เชียงใหม่)

ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.