Movie ReviewREVIEW

ดูซีรี่ส์ Touch งานแสดงนำของคีเฟอร์ ซุเธอร์แลนด์ ปรุงแต่ง แต่อบอุ่น และได้ผล

ซีรี่ส์ที่เปิดตัวมาดี ตั้งแต่เห็นตัวทีมงาน ที่เป็นการทำงานร่วมกันของ คีเฟอร์ ซุเธอร์แลนด์ นักแสดงจากซีรี่ส์แอ็คชัน ที่ประสบความสำเร็จมหาศาล 24 กับทิม คริง ผู้เขียนบท-ผู้อำนวยการสร้างหนังโทรทัศน์ชั้นดีอย่าง Strange World, Crossing Jordan และ Heroes โดยมีฟรานซิส ลอว์เรนซ์ ผู้กำกับของ The Hunger Games: Catching Fire เป็นอีกหนึ่งแรงที่เข้ามาช่วย ทั้งในฐานะผู้อำนวยการสร้างร่วม และกำกับการแสดงในหลายๆ ตอน ซึ่งก็รวมไปถึงตอนไพล็อตของซีรี่ส์

Touch_s1_Poster_001Touch เป็นเรื่องของพ่อและลูกชายวัย 12 ปี มาร์ติน และเจค บอห์ม ที่ตัวลูกชายเติบโตมาพร้อมกับอาการผิดปกติ นั่นคือ ไม่ยอมให้ใครแตะต้องตัว และไม่ยอมแตะต้องตัวใคร รวมไปถึงไม่พูดไม่จา เขาสื่อสารกับพ่อด้วยการเขียนเป็นตัวเลข ซึ่งกลายเป็นปริศนาให้มาร์ตินต้องแก้ไข ขบคิดให้แตก เพราะทุกครั้งล้วนเป็นการช่วยเหลือชีวิตผู้คน แก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้ถูกต้อง และเกี่ยวพันกับผู้คนมากมาย ไม่ใช่แค่ผู้คนที่อยู่ใกล้ๆ พวกเขาเพียงเท่านั้น กับจุดเล็กๆ ที่อยู่ข้างๆ ตัว ปริศนาของเจค หลายต่อหลายครั้งกลับทำให้ผู้คนที่อยู่ในอีกซีกโลกหนึ่งได้พบกับความสุข ได้เจอกับทางออกของชีวิตไปพร้อมๆ กัน

เช่น จากปืนกระบอกหนึ่ง พาไปพบเด็กถูกภาคฑัณฑ์ ที่ถูกส่งไปปล้นร้านเครื่องดนตรีเก่า โดยเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเขา แล้วตัวเด็กเองก็ มีพี่ชายพิการให้ดูแล แต่แม่ตายพ่อหนี ทั้งสองพี่น้องมีแค่ป้าในโปรตุเกส ซึ่งเด็กๆ ไม่รู้จะติดต่อยังไง แล้วป้าเองก็มีปัญหากับร้านกาแฟที่กำลังจะหลุดจำนอง จนไม่มีเวลาสนใจมือกีตาร์เจ้าของกีตาร์เก่าที่เข้ามาจีบ ที่ชายหนุ่มตัดสินใจขายกีตาร์เอาเงินมาช่วยเธอ แล้วเมื่อมาร์ตินยื่นมือเข้ามา เขาตามหาป้าเด็กจนเจอ ช่วยเด็กจากเจ้าหน้าที่ภาคฑัณฑ์ ป้าบินมานิว ยอร์คเพื่อรับหลาน มือกีตาร์บินมาด้วยเพื่อไถ่กีตาร์ตัวเองคืนจากร้านเครื่องดนตรีเก่า

ทุกอย่างเกี่ยวข้องกัน ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม และด้วยบางสิ่งบางอย่าง ที่วิทยาศาตร์อธิบายไม่ได้ แต่ศาสนาอธิบายได้ว่าเป็นเพราะ ความตั้งใจ การภาวนา อย่างที่เจคบอก ทุกอย่างก็หากันจนเจอ

ในแต่ละตอนของ Touch จะเริ่มด้วยการพูดถึงความเกี่ยวพันของสิ่งต่างๆ ในโลก ตามด้วยตัวเลขปริศนาของเจค เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ของโลก หรือของเมือง จากนั้นมาร์ตินก็ต้องวิ่งตามหาคำตอบของปริศนาที่เจคทิ้งไว้ ขณะที่เรื่องราวซึ่งเกิดขึ้นกับตัวละครแต่ละตัวก็ดำเนินไปเรื่อยๆ และเมื่อมาร์ตินจัดการปริศนาของเจคได้ เหตุการณ์ทุกอย่างก็คลี่คลาย ตัวละครทุกตัว ทุกเหตุการณ์ที่ถูกปูมาในหนัง พบทางสว่าง บางครั้งอาจจะไม่สวยสงดงาม บางครั้งอาจจะไม่ถึงกับเป็นแฮปปี้ เอนดิง แต่ทุกครั้งก็ปิดจบลงด้วยความอบอุ่น ซาบซึ้ง ประทับใจ

ในแบบที่การนำเสนอของหนังเอง ก็จัดมาเต็มที่กับองค์ประกอบต่างๆ ที่ช่วยในการเร้าอารมณ์ กระตุ้นความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นงานด้านภาพที่เน้นความอบอุ่น การเล่าเรื่องที่พยายามสร้างความรู้สึกแบบซึ่มลึก ดนตรีประกอบที่ส่งอารมณ์เต็มที่

ไม่ยากเลยที่จะ “อิน” ไปกับแต่ละตอนของ Touch แม้จะรู้สึกได้ถึงการปรุงแต่ง และจงใจอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ต้องยอมรับว่า เป็นการปรุงแต่ง ตั้งใจ ที่ทำได้สำเร็จ สำหรับผู้ชมกลุ่มกว้างๆ และในขณะเดียวกันกับคนที่ไม่ได้เพริดไปกับเครื่องปรุงทั้งหลาย ก็ต้องให้การยอมรับ และยกเครดิตให้กับ การวางพล็อต การเล่าเรื่อง ที่เป๊ะ และลงตัวในแทบทุกตอน แม้บางที บทสรุปหลายๆ อาจจะมาถึงแบบ “ง่าย” เกินไปก็ตามที

แล้วกับเรื่องราวที่เหมือนกับปิดจบในตอน ทิม คริง ยังวางเรื่องยาวๆ ของซีรี่ส์เอาไว้พร้อมๆ กัน เพื่อสร้างพัฒนาการของเรื่อง และตัวละคร นั่นคือ เรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิ์ในการเลี้ยงดูลูก และการทดลองลับที่มีต่อบรรดาเด็กๆ ที่มากความสามารถ ราวกับหยั่งรู้อนาคตแบบเดียวกับเจค ขนานไปกับเหตุการณ์ในแต่ละตอน ซึ่งในช่วงตอนท้ายๆ ของซีรี่ส์ ทั้งสองเรื่องที่ถูกวางเป็นแกนของซีรี่ส์ ที่ดูเหมือนจะเป็นเส้นขนาน ไม่น่าจะมาเจอกันได้ กลับมาทาบทับรวมเป็นเรื่องราวเดียวกัน และส่งให้ Touch กลายเป็นซีรีส์อีกเรื่องที่มีเรื่องราวในแบบทฤษฎีสมคบคิด เป็นเรื่องของการต่อสู้กับองค์กรขนาดมหึมา ของคนตัวเล็กๆ ที่มีความสามารถพิเศษบางอย่าง

นอกจากจะต้องจัดการกับปริศนาในแต่ละตอน ในเวลาเดียวกัน มาร์ตินก็ต้องสู้เพื่อสิทธิ์ในการเลี้ยงดูเจค และท้ายที่สุดก็นำไปสู่การต่อสู้กับองค์กรใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นรูปเป็นร่าง เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้นก็ในฤดูฉายที่ 2 ซึ่งเป็นฤดูฉายสุดท้ายของหนัง

ที่น่าสนใจก็คือ หากดูจบจบครบทุกตอนในฤดูฉายแรก แล้วมองย้อนจากตอนสุดท้ายไล่กลับไปจนถึงตอนไพล็อท จะเห็นถึงความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีต่อกัน เป็นความสัมพันธ์ในภาพใหญ่ ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ในแต่ละตอน แต่ละเหตุการณ์

แน่นอนว่ากับการปั้นซีรี่ส์ขึ้นมาสักเรื่อง ที่ไม่ใช่แค่หนังตอนเดียว แต่มีอย่างน้อยสิบกว่าตอนขึ้นไป และต้องมองฤดูฉายเอาไว้ด้วยว่า สามารถจบได้ในฤดูฉายเดียว หากเรทติ้งไม่ดี หรือขยับขยายไปได้ไกลกว่านี้หากเรทติ้งไปได้สวย ต้องผ่านการคิดไม่ใช่แค่ “เยอะ” แต่ต้อง “แยะ” แล้วกับเรื่องราวที่ในแต่ละตอนนั้น มาพร้อมกับความซับซ้อนของเหตุการณ์ ที่มีพล็อตหลัก บวกกับพล็อตรองอีก 2-3 เรื่อง บวกกับที่ต้องไม่ทำให้พล็อตที่เป็นโครงใหญ่ของซีรี่ส์ทั้งหมดหายไปไหนด้วย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำออกมาให้สนุก และยากกว่าหากจะทำออกมาให้ได้อารมณ์ในแบบที่ฝรั่งเรียกว่า Sentimental

แต่ Touch ทำได้ แม้จะเห็นได้ชัดถึงการปรุงแต่งที่เข้มข้น แต่หากเป็นการชมเพียงสัปดาห์ละตอน ก็อาจจะไม่สัมผัสถึงอาการ “เกิน” ของเครื่องปรุงรส ที่ถ้ามองกันที่ผลลัพธ์ ไม่ว่าจะรู้สึกว่าเป็นหนังแก่เครื่องหรือไม่ก็ตาม ต้องยอมรับว่า Touch ดูอบอุ่น ซึ่งแสดงว่า มันได้ผล

TOUCH ผู้สร้างสรรค์: ทิม คริง นักแสดง: คีเฟอร์ ซุเธอร์แลนด์, กูกู เอ็มบาธา-รอว์, เดวิด มัซซู, แซ็กซอน ชาร์บิโน, แดนนี โกลเวอร์

โดย นพปฎล พลศิลป์ จากคอลัมน์ วิจารณ์ – แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 25 ฉบับที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Movie Review

Comments are closed.