Movie ReviewREVIEW

ดูมาแล้ว – ชีวิต ความรัก และบทเพลงของเอลตัน จอห์น ใน ROCKETMAN

เกิดเมื่อ 25 มีนาคม 1947 มีชื่อจริงๆ ว่า เรจินัลด์ เคนเน็ธ ดไวท์ แต่หลังเป็นนักดนตรีแบ็คอัพ, นักแต่งเพลงอาชีพ และกำลังจะเป็นศิลปินเดี่ยว เขาตัดสินใจเอาชื่อเพื่อนนักดนตรีร่วมวงมาใช้ และนามสกุลก็เอามาจากชื่อของหนึ่งในตำนานวงการเพลง ที่หลายๆ คนน่าจะนึกออกว่าเป็นใคร

Empty Sky อัลบัมแรกออกมาในปี 1969 แต่เป็น “Your Song” ซิงเกิลฮิตเพลงแรกของเขาจากอัลบัมที่สองในปี 1970 ที่ใช้ชื่อตัวเองเป็นชื่อชุด ที่นอกจากจะกลายเป็นเพลงอมตะของวงการเพลงแล้ว ยังทำให้เขากลายเป็นที่รู้จัก นับจากนั้นชื่อของเอลตัน จอห์น ก็ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์วงการเพลงของโลก

และเรื่องราวช่วงหนึ่งในชีวิตของผู้ชาย ที่มักจะปรากฏตัวด้วยภาพลักษณ์ที่ฉูดฉาด ชวนเข็ดฟัน ก็ถูกหยิบนำมาเล่าขานเป็นภาพยนตร์ ทีี่เอาเพลงๆ หนึ่งของเขามาเป็นชื่อเรื่อง “Rocketman”

เพลงที่ว่าด้วยชีวิตของนักบินอวกาศ ที่คิดว่าภารกิจของตัวเองเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ หากท้ายที่สุดแล้วเขาก็พบว่ามันไม่ต่างไปจากชีวิตประจำวันของคนหาเช้ากินค่ำ ที่ต้องหาเงินทองมาจับจ่ายใช้สอย เพื่อตัวเองและครอบครัว

“And I think it’s gonna be a long, long time / ‘Til touch down brings me round again to find / I’m not the man they think I am at home/ Oh no no no I’m a rocket man/ Rocket man burning out his fuse up here alone”

ท่อนหนึ่งใน Rocketman ว่าเอาไว้ และจะว่าไป ชีวิตของเอลตัน จอห์นก็ไม่ต่างกัน

กับชีวิตที่คิดว่าตัวเองคือยิ่งใหญ่ เป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง และในวันหนึ่ง ก็ร่วงหล่นลงมาบนพื้นโลก เมื่อพบว่าตัวเองก็คือ มนุษย์อีกคนหนึ่งที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ เพื่อดำรงชีวิต และความรัก…

สิ่งที่เขาขาด… โหยหามาทั้งชีวิตไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่นั่นคือสิ่งที่เรื่องราวในหนัง ที่เขียนบทโดย ลี ฮอลล์ และกำกับโดยเด็กซ์เตอร์ เฟล็ทเชอร์บอกเอาไว้

นับตั้งแต่วัยเด็ก ที่โหยหาอ้อมกอดและความอบอุ่นจากคนเป็นพ่อ ซึ่งเขาไม่เคยได้รับ กระทั่งเติบโตก็ยังถูกเมินมองไม่เห็น ความห่วงใยจากคนเป็นแม่ก็แทบไม่มีให้สัมผัส ขณะที่ความต้องการทางเพศของตัวเอง ก็ทำให้ยากจะได้พบกับรักแท้ และทำให้เขาต้องผิดหวัง เมื่อคนที่เขารักมอบกลับความรักที่แตกต่างให้ จอห์นหลงไปในวังวนของความใคร่ และผลประโยชน์ พาชีวิตเพริดไปกับแสงสีและความสำเร็จ เป็นซูเปอร์สตาร์ที่หลงอยู่ในโลกของเซ็กส์, ยาเสพติด และดนตรีร็อค

แต่ก็ด้วยความรักอีกนั่นแหละ… แม้จะไม่ใช่ในแบบที่เขาต้องการ จากเพื่อนร่วมงานและเพื่อนแท้ในชีวิต ที่ดึงเขากลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง ชีวิตที่เรียบง่าย ปราศจากความฟุ้งฝัน

“So goodbye yellow brick road /Where the dogs of society howl/ You can’t plant me in your penthouse/ I’m going back to my plough/ Back to the howling, old owl in the woods/ Hunting the horny-back toad/ Oh, I’ve finally decided my future lies/ Beyond the yellow brick road”

ซึ่งไม่ต่างไปจากการเดินลาถนนอิฐสีเหลืองที่นำทางไปสู่ดินแดนของพ่อมดอ็อซ เช่นเรื่องราวที่อยู่ในเพลง “Goodbye Yellow Brick Road” ซึ่งขับขานในฉากที่น่าจะเป็นช่วงเวลาสะเทือนความรู้สึกที่สุดของหนัง เมื่อคนที่พยายามดึงรั้งจอห์นให้กลับมาสู่พื้นดินโดยสวัสดิภาพ เลือกเดินจากเขา ซึ่งทำให้ความหมายของเพลงนี้เผยออกมาชัดเจน ว่านี่คืองานที่เพื่อนคนนั้นของจอห์น – เบอร์นี ทอพิน เจ้าของภาษาและเรื่องราวในเพลงมากมายของเขา บอกเล่าเรื่องของตัวเองผ่านเสียงของจอห์น

ที่การนำเสนอบนจอก็สวยงาม เมื่อให้ทอพินคือคนที่ร้องเพลงนี้ ไม่ใช่จอห์น

หนังหยิบ เลือก และใช้เพลงของจอห์นมาเล่าเรื่องได้สวยงาม ลงตัว กับสถานการณ์ต่างๆ ตั้งแต่เพลงเปิดเรื่อง “The Bitch is Back” ที่จอห์นซึ่งกำลังสนุกตามประสาเด็ก ต้องถูกแม่กระชากเข้าบ้าน หรือ “I Want Love” ที่บ่งบอกสภาพความรักของจอห์นในวัยเด็ก หรือ “Sorry Seems to be the Hardest Word” ก็แสดงถึงความรู้สึกผิดของเขาที่มีต่อผู้หญิงคนหนึ่ง ได้โดยที่ไม่ต้องมีคำพูดใดๆ ออกมา เพียงแค่ไม่กี่โน้ตของเพลงก็จับอารมณ์ ถ้อยความทุกอย่างได้อยู่หมัด

แม้บางเพลงอย่าง “Don’t Go Breaking My Heart” อาจจะดูเป็นเพลงฮิตที่ใส่เข้ามาแบบไม่มีอะไร แต่ถ้ามองกันในอีกมุม นี่คือการใช้เพลงแนะนำคนที่มีบทบาทในชีวิตของจอห์น เป็นส่วนหนึ่งของการนำไฮไลท์ของผู้ชายคนนี้มาบอกกล่าว หรือ “Crocodile Rock” ก็ไม่ใช่แค่เพลงในฉากแสดงคอนเสิร์ต เมื่ออากัปกริยาของผู้คนในฮอลล์ ก็ให้รู้สึกราวกับการส่งจรวดของร็อกเก็ทแมนขึ้นไปบนอวกาศอันไกลโพ้น และเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางสู่แสงสี ความเพ้อฝัน ของจอห์นในเวลาเดียวกัน

ทำให้ Rocketman เป็นงานหนังเพลงแท้ๆ ที่ไม่ใช่งานแบบหนังตู้เพลง ที่เอาเพลงดังๆ มาใส่ มาร้อยเข้าไปในหนัง ทุกเพลงมีที่ทางในการเล่าเรื่อง บอกอารมณ์ และที่สำคัญ การเป็นส่วนหนึ่งบนจอก็ทำให้ความหมายของเพลงกระจ่างชัด เช่นที่ “Tiny Dancer” แสดงให้เห็น

การเป็นหนังเพลงยังทำให้สามารถใส่ความเป็นแฟนตาซี ให้ทั้งเรื่องและชีวิตของเอลตัน จอห์นไปได้สุดทางมากขึ้น ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง ที่จอห์นในเครื่องทรงชุดใหญ่เดินเข้าไปในสถานบำบัด แล้วก็พาผู้ชมและเพื่อนร่วมห้องเดินทางไปพบชีวิตของเขาตั้งแต่วัยเด็ก เห็นจุดสูงสุด-ต่ำสุดในชีวิต ที่ไม่ใช่แค่บอกเล่า แต่ยังเจาะลึกถึงมูลเหตุที่หล่อหลอมให้เป็นอย่างที่เป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิต รสนิยมทางเพศ ความสามารถทางดนตรี แนวทางเพลงที่สนใจ ซึ่งกลายเป็นมูลเหตุให้เพลงของจอห์นเป็นอย่างที่เป็น บ้างก็มีความเป็นงานคลาสสิคัล, ร็อคแอนด์โรลล์, คันทรี, โซล

ที่หลายๆ ครั้งก็เป็นจิ๊กซอว์ที่ผู้ชมต้องค่อยๆ ประกอบ ซึ่งจะทำให้เห็นตัวตนของผู้ชายคนนี้ในภาพรวม ส่วนการไม่อั้นเรทก็กลายเป็นการเติมความสมจริงให้หนังเพลงแฟนตาซีเรื่องนี้ ที่ในความเพ้อฝันก็มีความจริงอยู่ข้างใน ขณะที่ในความเป็นจริงก็มีสีสันที่ฉูดฉาดจับตาด้วยเช่นกัน

หลายๆ คนคงอดเทียบกับ Bohemian Rhapsody ไม่ได้ เพราะนอกจากจะเป็นหนังเพลงของศิลปินร็อคเหมือนกันแล้ว ยังเป็นศิลปินในยุคเดียวกัน เป็นรักร่วมเพศไม่ต่างกัน มีความสามารถทางดนตรีที่พอฟัดพอเหวี่ยงกัน แถมเคยใช้ผู้จัดการร่วมกัน แล้วเอาเข้าจริงๆ เด็กซ์เตอร์ เฟล็ทเชอร์ผู้กำกับของ Rocketman คือคนแรกๆ ที่มีชื่อทำหนังวง Queen และเฟร็ดดี เมอร์คิวรีด้วยซ้ำ ก่อนจะฉากออกไป และไบรอัน ซิงเกอร์มารับงานแทน แต่เมื่อซิงเกอร์โดนไล่ออก เฟล็ทเชอร์คือคนที่มาปิดจ็อบ ซึ่งเจ้าตัวก็บอกไว้ว่า “ผมเข้ามาในช่วง 2-3 สัปดาห์สุดท้ายของการถ่ายทำหลักๆ แล้วก็จัดการเรื่องตัดต่อกับอะไรทำนองนั้นอีกนิดหน่อย… ผมมองว่าหนังสององก์ที่เสร็จสมบูรณ์ว่าเป็นงานที่ดี และผมต้องไม่ทำให้มันแย่ลง”

Rocketman อาจจะดูยากกว่า เข้าถึงไม่ง่ายในความเป็นหนังเพลง แต่ก็แข็งแรงกว่าในหลายๆ ด้าน ทั้งการเล่าเรื่องที่ไม่ใช่งานตามสูตร การเป็นหนังเพลงแท้ๆ และการแสดง ที่ทารอน เอเจอร์ตัน เป็นเอลตัน จอห์นได้เหมือนที่ไมเคิล ฟาสส์เบนเดอร์เป็นสตีฟ จ็อบส์ รวมไปถึงยังร้องเพลงได้อย่างน่าทึ่ง นักแสดงรายรอบก็ทำได้เยี่ยม ไม่ว่าจะเป็น ริชาร์ด แม็ดเดน ที่เป็นจอห์น รีด ผู้จัดการตัวดี, ไบรซ์ ดัลลาส โฮเวิร์ด กับสตีเฟน แกรห์ม ที่เป็นแม่และพ่อของจอห์นตามลำดับ แล้วที่ขาดไม่ได้ เจมี เบลล์ อดีตไอ้หนูนักบัลเลท์จาก Billy Elliot ที่รับบททอพิน ท่าทางซื่อๆ จริงใจ ง่ายๆ ของเบลล์ เป็นทั้งขั้วตรงข้ามและด้านที่เติมเต็มให้กับชีวิตเอลตัน จอห์นของเอเจอร์ตันได้อย่างพอดิบพอดี

รวมถึงลงตัวกับสารบางอย่างที่หนังสื่อออกมา ที่ทำให้ Rocketman ไม่ใช่แค่หนังชีวิตและผลงานของเอลตัน จอห์น แต่ในมุมหนึ่งของหนัง ยังเป็นจดหมายรักถึงเบอร์นี ทอพิน เพื่อนร่วมงานและเพื่อนแท้ตลอด 50 ปี ซึ่งเขาเขียนและแอบเก็บซ่อนไว้ใต้กรอบแว่น ไม่ยอมให้ใครรู้มานานแสนนาน ในเวลาเดียวกัน

และท้ายที่สุด ความรักที่ทอพินมอบให้ ก็อาจจะเป็นสิ่งที่จอห์นค้นหามาทั้งชีวิต โดยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป

โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง ชีวิต ความรัก และบทเพลงของเอลตัน จอห์น ใน ROCKETMAN คอลัมน์ หรรษา วันจันทร์ – HAPPY MONDAY หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 17 มิถุนายน 2562


 
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.