Movie ReviewREVIEW

ดูมาแล้ว – ช่วงเวลาวายป่วง ที่โรงแรมเอล โรแยล ใน Bad Times at the El Royale

ดรูว์ ก็อดดาร์ด ถือเป็นมือเขียนบทมือทองคนหนึ่งของวงการ เมื่อดูจากเครดิทที่ผ่านมา อย่าง งานเขียนบทให้หนัง Cloverfield ทั้งสามเรื่อง, World War Z, The Martian ที่ทำให้เข้าชิงออสการ์, Deadpool 2 แล้วก็งานโทรทัศน์ เช่น Buffy the Vampire Slayer, Angel, Alias, Lost รวมถึงซีรีส์มาร์เวลทางเน็ทฟลิกซ์ Daredevil กับ The Defenders น่าจะบอกยืนยันได้ดี

 
พอมาทำงานกำกับเป็นหนแรกกับ The Cabin in the Woods ในปี 2012 หนังก็ไปได้สวยทั้งรายได้และคำวิจารณ์ กับงานสยองขวัญที่เต็มไปด้วยสถานการณ์พลิกผันหักมุม จากที่คล้ายๆ กับเป็นหนังเชือดวัยรุ่นไปพักในแคมป์ ก็กลายเป็นงานไซ-ไฟ และต่อยอดจนเป็นงานแฟนตาซี ที่ทำให้ผู้ชมถึงกับเซอร์ไพรส์ เพราะคงไม่มีใครคิดว่าท้ายที่สุดแล้ว หนังจะลงเอยอย่างที่เห็น

ส่วนชะตากรรมของตัวละครก็ยากจะคาดเดาว่า ใครจะอยู่ หรือใครจะไป

ตัดภาพมาที่อีกราวๆ 6 ปีต่อมา ก็อดดาร์ดกลับมานั่งเก้าอี้ผู้กำกับอีกครั้ง ในหนังที่เขาเขียนบทเองเหมือนเดิม Bad Times at the El Royale แล้วก็ขนนักแสดงมาขึ้นจอมากมาย ไม่ต่างไปจากหนังรวมดาว อาทิ เจฟฟ์ บริดเจส, ซินเธีย เอริโว, ดาโกตา จอห์นสัน, จอน แฮมม์, ไคลี สปาเอนี, ลิงอิส พูลล์แมน และคริส เฮมสเวิร์ธ ซึ่งเคยเป็นเซอร์ไพรส์ใน The Cabin on the Woods ให้เขามาแล้ว

แต่หนนี้ไม่ใช่หนังสยองขวัญ/ ไซ-ไฟ และแฟนตาซี อย่างเรื่องแรก แต่เป็นหนังนัวร์ยุคใหม่, ระทึกขวัญ, ซ่อนเงื่อน ในแบบฝนตกขี้หมูไหลคนอะไรมาพบกัน… ทำนองนั้น

โดยให้เรื่องราวเกิดขึ้นภายใจในเวลาหนึ่งวันของปี 1969 ที่โรงแรมเอล โรแยล ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นแบ่งเขตแดนรัฐแคลิฟอร์เนียและเนวาดา ที่ผ่ากลางตรงล็อบบีพอดี จนเป็นกิมมิคสำคัญของที่นี่ เพราะสามารถเลือกได้ว่าจะพักที่รัฐไหน โดยไม่ต้องขับรถข้ามรัฐให้วุ่นวาย

และวันนี้ ไมล์ส มิลเลอร์ เจ้าของตำแหน่งสารพัดเบ๊เพียงคนเดียวของโรงแรม ก็ได้ต้อนรับลูกค้าแปลกๆ ถึงสี่ราย

หนึ่งคือ เซลส์ขายเครื่องดูดฝุ่นปากเสีย – ซีย์มัวร์ ‘ลารามี’ ซุลลิแวน
 สองคือ บาทหลวงท่าทางงกๆ เงิ่นๆ คุณพ่อ แดเนียล ฟลินน์
 สามคือ สาวผิวดำลักษณะรุกรี้รุกรน ดาร์ลีน สวีท
สี่คือ สาวฮิปปีผู้ไม่สนใจใคร เอมิลี ซัมเมอร์สปริง

หลังแนะนำตัวละครทั้งหมดที่ล็อบบีของโรงแรม ซึ่งต่างก็เหมือนกับมีอะไรบางอย่างซ่อนไว้ ก็อดดาร์ดก็พาไปพบกับผู้เข้าพักทีละคนในแต่ละห้อง ที่ทำให้ได้เห็นเบื้องหลังของทุกคน ที่ต่างก็มีวาระซ่อนเร้นของตัวเอง และไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นแม้แต่คนเดียว

หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ ที่มาเก็บอุปกรณ์สอดแนมขององค์กรที่ซ่อนอยู่ในห้องหนึ่ง, อีกหนึ่งเป็นอดีตโจรที่มาตามเงินซึ่งถูกฝังไว้ในห้องหนึ่งของโรงแรม, อีกหนึ่งคือนักร้องเสียงดีที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อปากท้อง, อีกหนึ่งคือคนที่จับตัวใครบางคนมาด้วย

กระทั่งตัวโรงแรมที่เคยอู้ฟู่มีผู้มาพักมากมายและเป็นในระดับเซเล็บ ทั้งนักการเมือง ทั้งผู้คนในวงการบันเทิง ก็เหมือนอีกหลายๆ ชีวิตที่เข้าพักในวันนี้ เมื่อมีด้านมืดที่ซุกซ่อนอยู่ ไม่เว้นแม้แต่พนักงานหนึ่งเดียวของโรงแรม ที่สำคัญมันยังมีหลักฐานสำคัญที่เป็นความลับสุดฉาวของคนสำคัญบางคนผู้จากไปเก็บเอาไว้ด้วย

แต่ไม่ใช่เพียงแค่นี้ กับตัวละครบางตัว ก็อดดาร์ดก็หักมุมอีกชั้น ว่านอกจากจะไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นในตอนแรกแล้ว ก็ยังไม่ใช่อย่างที่เข้าใจว่าเป็นในเวลาต่อมาซ้ำ เช่นเดียวกับวาระซ่อนเร้นของแต่ละคนที่เบี่ยงเบนไปจากจุดเริ่มต้น ตามผลกระทบที่ส่งถึงกัน ซึ่งล้วนแสดงถึงความซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ยากแท้หยั่งถึงของผู้คน ที่การกระทำจากคนหนึ่งย่อมส่งผลต่ออีกอีกคน และต่อๆ ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ก่อนในท้ายที่สุด ตัวละครที่ก้าวเข้ามาในตอนท้ายจากการชักนำของใครบางคน ที่จริงๆ แล้ว ก็อดดาร์ดเผยตัวออกมาตั้งแต่แรกในแบบที่ไม่มีใครรู้สึกตัว จะมาเป็นคนปิดเกมที่เกิดขึ้นที่เอล โรแยล

หนังไม่ใช่แค่ทำสำเร็จในการสร้างตัวละครที่ยากจะคาดเดา แต่ยังทำให้ผู้ชมต้องลุ้นต่อว่า ใครที่จะอยู่และใครที่จะไป โดยไม่รู้เลยว่าเมื่อเครดิทปิดเรื่องปรากฏขึ้น ใครที่จะประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ หรืออย่างน้อย… ยังมีลมหายใจ เมื่อบท (หรือเรื่อง) พร้อมจะจัดการใครและในตอนไหนก็ได้ จนสถานการณ์ชวนช็อคหรือสร้างความประหลาดใจเกิดขึ้นเป็นระยะๆ

ด้วยเรื่องราวที่เป็นนัวร์ยุคใหม่ ตีแผ่ด้านมืดของคนออกมาให้เห็น และองค์ประกอบหลายๆ อย่าง เช่น การให้ตัวละครกลุ่มใหญ่ที่มีเป้าหมายไม่ ‘ซื่อ’ มารวมอยู่ในที่เดียวกัน, การใช้เพลงประกอบเก่าๆ, ตลอดจนการเล่าเรื่องที่แบ่งเป็นบทๆ ตามเหตุการณ์ หรือตามตัวละคร ที่บางครั้งก็สืบเนื่องกัน บางครั้งก็ทาบทับกัน Bad Times at the El Royale จะทำให้นึกถึงงานของเควนติน ทารานติโน อย่าง Four Rooms หรือโดยเฉพาะ The Hateful 8 แต่ก็อดดาร์ดก็สามารถเล่าเรื่องของตัวเองได้ในบรรยากาศ และโทนเรื่องที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ที่ดู ‘ป็อป’ และ สดใสกว่า ความรุนแรงก็ไม่หนักหนา ทั้งจากภาษาพูด หรือภาษาภาพ

การแสดงก็ออกมาเยี่ยม โดยเฉพาะคริส เฮมสเวิร์ธ กับบทตัวแสบที่ไม่ต่างไปจากเจ้าลัทธิผู้บ้าคลั่ง ที่ละม้ายกับแบรด พิทท์ ใน Fight Club หรือหากมองการจับคู่ทำกิจกรรมบางอย่างที่มองไม่เห็นของตัวละครที่เขาเล่นกับไคลี สปาเอนี หรือจะมองไปที่การแสดงออกของเขาแหละเธอ ก็ไม่ต่างไปจากที่แบรด พิทท์กับจูเลียทท์ ลิวอิส และเอาไว้ใน Kalifornia หรือจะให้คลั่งกว่านั้นก็ต้องเป็นวูดี ฮาร์เรลสันกับลิวอิส จาก Natural Born Killer

หากเป็นไปในโทนที่บางเบามากกว่า เช่นเดียวกับที่โทนหนังเป็น

บางทีก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่หนังไม่พาตัวเองให้มีความหนักหน่วงกว่าที่เป็นอยู่ รวมไปถึงเดินหน้าไปด้วยท่วงท่าที่รุกเร้าผู้ชมมากกว่านี้ เพราะด้วยเรื่องราว ประเด็นต่างๆ ที่หนังนำเสนอ รวมถึงคุณภาพของการแสดง ทุกอย่างสามารถผลักดันไปได้อีก จนน่าจะเป็นหนังนัวร์เข้มข้น ที่มาพร้อมความระทึก ตื่นเต้น บีบบี้คนดูได้สุดๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาสุดท้ายของหนัง ที่ดูผ่อนคลายเกินไปด้วยซ้ำ เมื่อมองถึงว่า นี่คือฉากที่ทุกอย่างไหลมารวมกัน หลังฝนตกขี้หมูไหล…

ซึ่งน่าจะทำให้ตัวละครได้อยู่ และผู้ชมได้เห็น ช่วงเวลาที่เป็น Bad Times อย่างที่ชื่อหนังว่าเอาไว้จริงๆ

(หมายเหตุ: หนังไม่ได้เข้าฉายในบ้านเรา แต่น่าจะมีแผ่นออกวางจำหน่ายแล้ว หรือไม่ก็ซื้อดาวน์โหลดได้ที่ไอทูนส์ สโตร์ราคาพิเศษ 99 บาท ในเวลาจำกัด)

โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง ช่วงเวลาวายป่วง ที่โรงแรมเอล โรแยล ใน Bad Times at the El Royale คอลัมน์ หรรษา วันจันทร์ – HAPPY MONDAY หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 6 พฤษภาคม 2562

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Movie Review

Comments are closed.