Movie ReviewREVIEW

ดูมาแล้ว – ELVIS ในอีกมุมด้านของตำนาน ที่เล่าได้อย่างฉูดฉาด มีสีสัน

ไม่ว่าเพลงสุดท้ายที่เอลวิส เพรสลีย์ร้องในการแสดง จะเป็นเพลงอะไรก็ตาม แต่บทเพลงสุดท้ายที่ได้เห็นเอลวิส เพรสลีย์ บนจอภาพยนตร์ ที่รับบทโดย ออสติน บัตเลอร์ ร้องในฉากสุดท้ายของหนัง ที่ค่อย ๆ ตัดไปสู่การแสดงจริง ๆ ที่โรงแรมและคาสิโน อินเตอร์เนชันแนล ในลาสเวกัสของเอลวิส โดยมีเสียงบรรยายของทอม แฮงก์ส ในบทผู้พันทอม ปาร์เกอร์ เล่าว่า

“อะไรฆ่าพ่อหนุ่มของผม พวกหมอบอกว่าหัวใจเขา คนอื่น ๆ ว่าเพราะยา บางคนก็ว่าเพราะผม ไม่เลย… ผมจะบอกให้ว่าอะไรฆ่าเขา มันคือความรัก… ความรักของเขาที่มีต่อพวกคุณ

“ไม่กี่อาทิตย์ก่อนตาย ผมได้เห็นเขาร้องเพลงเป็นครั้งสุดท้าย เขาแทบจะลุกขึ้นยืนไม่ได้ แต่คืนนั้นเขาร้องเพลงเหมือนที่เคยทำ ด้วยทั้งหัวใจและวิญญาณ เสียงที่คุ้นเคย และเขาร้องมันด้วยทั้งชีวิต”

ซึ่งเป็นเพลง “Unchained Melody” ก็สามารถสรุปเรื่องราวชีวิตของซูเปอร์สตาร์ระดับตำนานของวงการเพลง เจ้าของฉายา “ราชาเพลงร็อคแอนด์โรลล์” ที่เรื่องราวของเขายังมีลมหายใจมาถึงทุกวันนี้ได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ชื่อเพลง ไล่รวมถึงเนื้อหา เมื่อชีวิตเจ้าของเสียงร้องที่ดูเลิศหรู ไม่ได้เป็นท่วงทำนองที่เชื่อมต่อกันอย่างสวยงามนัก และในช่วงอายุที่แสนสั้นเพียง 42 ปี สิ่งที่เขาโหยหา และต้องการก็คือ ความรัก และสถานที่จะทำให้เขาได้เอนกายอย่างมีความสุข อยู่กับคนที่เขารัก และรักเขา อย่างที่เพลงว่าเอาไว้

“Woah, my love, my darling I’ve hungered for your touch A long, lonely time And time goes by so slowly And time can do so much Are you still mine? I need your love I need your love God speed your love to me…”

“….Wait for me, wait for me I’ll be coming home, wait for me”

น่าเสียดาย ที่คนเพียงคนเดียวที่อยู่เคียงข้าง และสามารถดึงวันเวลามาให้เขาได้ใช้มากมายกว่าที่เป็นอยู่ กลับไม่ได้ทำในสิ่งที่เขาต้องการ แต่คอยสูบเลือด สูบเนื้อ สูบชีวิตของเขา อย่าง ทอม ปาร์เกอร์

การนำเรื่องราวของเอลวิส เพรสลีย์มาขึ้นจอ ไม่ใช่เรื่องยาก หากที่ไม่ง่ายก็คือ จะเล่าอย่างไร ให้แตกต่าง และดูสนุก เพราะน่าจะเป็นเรื่องราวที่เชื่อว่า คนส่วนใหญ่น่าจะคุ้น ๆ หรือรับรู้มาบ้าง ไม่มากก็น้อย เด็กหนุ่มจากเมมฟิส คนขับรถบรรทุกที่กลายเป็นนักร้องดัง เมื่อทำให้เพลงร็อคแอนด์โรลล์กลายเป็นงานดนตรี ที่ประสบความสำเร็จในวงกว้าง โดยเฉพาะการเข้าถึงกลุ่มคนฟังเพลงผิวขาว แล้วโด่งดังเป็นซูเปอร์สตาร์ เป็นราชาเพลงร็อคแอนด์โรลล์ อย่างที่รู้กัน แล้วก็จบชีวิตลงจากการใช้ยา (ตามใบสั่งแพทย์) เกินขนาด

แต่บาซ เลอร์หแมนน์ทำให้เรื่องราวที่ใคร ๆ ก็ (น่าจะ) รู้กัน กลายเป็นงานที่สดใหม่ ให้มุมมองที่แตกต่างกับเรื่องเล่าเดิม ๆ ได้สำเร็จ

ตั้งแต่การเล่าเรื่องด้วยภาพ ที่จัดจ้าน วูบวาบ ดูตื่นตา ไม่ต่างไปจากเมื่อครั้งที่นำเอาบทประพันธ์ที่ผู้คนแทบจะท่องจำบทพูดได้อย่าง ‘Romeo + Juliet’ มาขึ้นจอได้ “ว้าว” ความรู้สึก หรือการทำให้หนังเพลงที่ลมหายใจรวยริน ถูกปั้มด้วยเครื่องกระตุ้นหัวใจ จนมีลมหายใจมาถึงทุกวันนี้ จาก ‘Moulin Rouge’

งานเพลงที่นอกจากเพลงเด่น ๆ ของเอลวิส เพรสลีย์ ที่คุ้นหูกันอยู่แล้ว และ “ต้อง” มี ก็ยังมีงานของศิลปินใหม่ ๆ อาทิ เอ็มมิเน็ม, ไดพโล, แคซีย์ มัสเกรฟส์, ซีโล กรีน, โดจา แค็ต ที่หยิบจับเพลงเก่าของเอลวิส หรือศิลปินอื่น ๆ ในยุคนั้น มาทำใหม่ในสไตล์ฮิป-ฮ็อป, แจซ, อิเล็กทรอนิกส์, โซล, บลูส์ หรือร็อค ซึ่งสามารถแทรกอยู่ในเรื่องราวที่ว่าด้วยชีวิตของคนที่ทำให้ดนตรีร็อคแอนด์โรลล์ เป็นก้องอยู่ในหูผู้คนในช่วงเวลาหนึ่งได้อย่างไม่เคอะเขิน

ทั้งหมดไม่ได้ให้เพียงแค่ความหวือหวา ทุกอย่างถูกใช้งานอย่างคุ้มค่า และมีความหมาย ไม่ว่าจะเป็น การแบ่งภาพบนจอเป็นหลาย ๆ ภาพ ที่ทำให้ได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ หรืออารมณ์ของตัวละครในหลายแง่มุม โดยที่ไม่นับรวมการจัดภาพที่มาพร้อมสัญลักษณ์ ซึ่งใช้เล่าเรื่องได้ในทันทีโดยไม่ต้องใช้คำพูด หรือการแสดงออกมากมาย การเชื่อมเพลง ที่มีทั้งเพลงเดียวกัน แต่ต่างยุคสมัย หรือเป็นของศิลปินคนละราย การต่อเพลงจากเพลงหนึ่งไปสู่อีกเพลงหนึ่ง ล้วนมีความหมาย อย่างน้อย ๆ ก็บอกเล่าถึงช่วงเวลาของเหตุการณ์ หรือสิ่งที่เกิดขึ้น/ อยู่ในใจตัวละคร

แล้วกับฉากที่ต้องขับเน้นความโดดเด่นเป็นพิเศษ การทำงานของภาพและเพลง ก็เป็นทีมเวิร์กที่ลงตัวและสมบูรณ์แบบเหลือเกิน อย่างที่เห็นในฉากเพลง “If I can Dream” เพลงปิดท้ายการแสดงที่เป็นการกลับมาของเอลวิส เพรสลีย์ในปี 1968 ฉากซ้อมการแสดงที่โรงแรมอินเตอร์เนชันแนล

และแน่นอน ฉากเพลงสุดท้ายของหนัง… ที่เชื่อมการแสดงของออสติน บัตเลอร์ในบทเอลวิส เพรสลีย์ กับการแสดงของตัวจริงได้อย่างเนียนสนิท และที่เยี่ยมยอดที่สุด ถึงอารมณ์ จนเป็นฉากจบที่สวยงามซาบซึ้ง และน่าประทับใจ

ต้องให้เครดิตกับนักแสดงหนุ่มรายนี้ ที่แรกเห็นรู้สึก “ขัด” ตาเหลือเกินกับการสวมบทบาทเป็นราชาเพลงร็อคแอนด์โรลล์ด้วยเช่นกัน จากท่วงท่าที่ดูมี “จริต” เกินในทีแรก บัตเลอร์ค่อย ๆ กลายเป็นเอลวิสในความรู้สึก และเชื่อว่าที่เห็นบนจอคือเอลวิส เพรสลีย์ได้อย่างสนิทใจ ด้วยภาพของเด็กหนุ่มผู้เปราะบาง ที่อยู่ภายใต้โอวาทของผู้ให้กำเนิด และถูกครอบโดย คนใกล้ตัวที่ควรจะใส่ใจกับเขามากกว่าการเป็นตัวทำเงิน โดยตัวเองก็รู้ตัว หากก็อยู่ในสภาวะที่จำใจ อย่าง ผู้พันทอม ปาร์เกอร์

ตัวละครที่ทอม แฮงก์สรับบทได้อย่างน่าเกลียด น่าชัง ชายผู้ที่รักษาผลประโยชน์ของตัวเองทุกเม็ด และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากคนอื่น โดยมองเพียงแค่เป็นเครื่องทำเงิน หรือสร้างรายได้ ไม่ใช่มนุษย์ที่มีเลือดมีเนื้อ ที่ในมุมหนึ่งก็อาจจะมีพื้นที่ให้พอเห็นใจ เมื่อเอลวิส คือสิ่งเดียวที่เขาสามารถยึดเหนี่ยวเพื่อสร้างเงินทำทองขึ้นมาได้

และทอม ปาร์เกอร์นี่ละ ที่ทำให้ ‘Elvis’ ของบาซ เลอร์หแมน กลายเป็นเรื่องเล่าที่แตกต่าง มาพร้อมมุมมองใหม่ ๆ ที่เป็นความสดถึงแกนกระดูก ไม่ใช่แค่ผิวหนังหรือหน้าตา

เมื่อเลอร์หแมน เลือกที่จะเล่าเรื่องผ่านมุมมองของปาร์เกอร์ ชายที่รู้ดีว่าตัวเองสามารถตักตวงได้จากเด็กหนุ่มผู้มากพรสวรรค์ และเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์รายนี้ เด็กหนุ่มที่คนซึ่งควรจะดูแลเขาได้อย่างเต็มที่ เวอร์นอน เพรสลีย์ เป็นได้แค่พ่อผู้ให้กำเนิด ซึ่งดูแล้วอาจจะอ่อนแอกว่าลูกชาย จนกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ปาร์เกอร์เจาะเข้ามาโจมตีอย่างได้ผล และกลายเป็นคนที่สามารถเชิดเอลวิสจนได้ในท้ายที่สุด หลังจากที่แม่-แกลดีส์ เสียชีวิตไป ที่ต่อให้เอลวิสพยายามขัดขืน แต่ท้ายที่สุดเขาก็ได้รู้ว่า ปาร์เกอร์ไม่ใช่แค่ผู้จัดการจอมแสบ ที่ให้สมญาว่า “ปลิง” ได้อย่างเต็มปาก แต่ยังเป็นปรสิต ที่ชอนไชเข้าไปฝังอยู่ในร่างกายจนอยากที่จะกำจัดออกไปจากชีวิต เพราะหลายสิ่งอย่างของเขา จำเป็นต้องทั้งพึ่งพา ทั้งถูกผูกมัดกับผู้ชายคนนี้

หากอย่างน้อย เอลวิสก็ยังมีช่วงเวลาที่ขัดขืน มีชั่วโมงที่ได้ยืนเป็นตัวของตัวเองอยู่เป็นระยะ ๆ กับการต่อต้านเล็ก ๆ ที่ให้ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ ในแบบ “ขบถ” ที่ขับเน้นนิยามของดนตรีร็อคแอนด์โรลล์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งก็รวมถึงตัวตนของตัวเอง เมื่อแสดงให้เห็นว่า เขาไม่ได้เป็นราชาเพลงร็อคแอนด์โรลล์ เพราะนำพางานดนตรีแนวนี้ไปสู่ความสำเร็จแค่นั้น

นอกจากจะนำเสนอ หรือย้ำชัดถึงสิ่งที่ทำให้เอลวิส ยิ่งใหญ่และยังมีลมหายใจแม้ร่างถูกฝังลงในผืนดินแล้ว ‘Elvis’ ยังเผยด้านที่ไม่ใช่แค่ “ศิลปินเพลง” ของเอลวิสออกมาให้รับรู้ในวงกว้าง โดยเฉพาะเรื่องแง่มุมการเมือง-สังคม ที่อาจจะทำให้สายตาที่มองเอลวิสเปลี่ยนไปจากเดิมสุดขั้ว เอลวิสใน ‘Elvis’ ไม่ใช่แค่ ร็อก (หรือพ็อป) สตาร์ ที่ร่ำร้องบทเพลงฮิต ๆ เป็นเพียงศิลปินที่ประสบความสำเร็จ แต่ยังรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ และอ่อนไหวไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม นอกจากเป็นศิลปินที่นำดนตรีของคนผิวดำ มาร้องจนประสบความสำเร็จเป็นดนตรีในกระแส ยังเป็นเด็กหนุ่มที่ยังต่อสู้เรื่องของการเหยียดผิวผ่านเสียงดนตรีในคราวเดียวกัน โศกเศร้ากับการสูญเสียบุคคลสำคัญทางการเมือง ที่อาจจะนำสิ่งใหม่ ๆ มาให้ประเทศหรือสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่เขาพร้อมจะแสดงความรู้สึก หรือ “พูด” ออกมาด้วยเสียงเพลง

หนังไม่ได้มีแค่ความสดใหม่ด้านภาพ แต่ยังสร้างมุมมองใหม่ ๆ ให้กับเอลวิส เพรสลีย์ ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ตุ๊กตาที่ถูกเชิดเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าของทอม ปาร์เกอร์แต่ฝ่ายเดียว หากเขาก็พยายามสู้ แต่ด้วยสภาพแวดล้อม ชีวิตที่เป็นมา ทำให้สลัดหลุดจากปาร์เกอร์ไม่ได้อย่างที่รับรู้กัน และหนังก็แทรกเหตุผล ความเป็นไป ว่าเพราะอะไร? ทำไม? ชีวิตของเอลวิสถึงต้องแบกปาร์เกอร์เอาไว้จนหมดลมหายใจสุดท้าย ซึ่งไม่ใข่แค่เพราะสัญญาผูกพัน หรือภาระหนี้สินที่เกิดขึ้น

แม้ชีวิตของเอลวิส ไม่ว่าในหนังหรือชีวิตจริง จะเป็นโศกนาฏกรรม แล้วที่น่าเศร้าก็คือ… หากมองไปถึงคนที่กลายมาเป็นลูกเขย และได้ฉายาเป็น “ราชา” เช่นกัน อย่าง ไมเคิล แจ็คสัน ก็จบชีวิตในแบบเดียวกันกับพ่อตา

แต่เมื่อรวมโศกนาฏกรรมกับความสำเร็จที่เขาได้รับ และสิ่งที่เขาสร้างทำเอาไว้ ทำให้เอลวิสยังคงมีลมหายใจในความทรงจำของผู้คน เป็นมนุษย์อมตะที่ถูกบันทึกเอาไว้ในตำนาน ให้ผู้คนจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้รับรู้ และสัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ของผู้ชายคนนี้

เช่นที่หนังซึ่งสไตล์ด้านภาพ งานโปรดักชัน การใช้เพลง รวมไปถึงการแสดง ดูตื่นตา และการเล่าเรื่อง ประเด็นต่าง ๆ ที่นำเสนอ ทำให้น่าตื่นใจ เรื่องนี้นำเสนอเอาไว้

กำกับ: บาซ เลอร์หแมนน์ เขียนบท: บาซ เลอร์หแมนน์, แซม บรอเมลล์, เครก เพียร์ซ, เจเรมี โดเนอร์ เรื่อง: บาซ เลอร์หแมนน์, เจเรมี โดเนอร์ นักแสดง: ออสติน บัตเลอร์, ทอม แฮงก์ส, โอลิเวีย เดอจองจ์, เฮเลน ธอมสัน, ริชาร์ด ร็อกซ์เบิร์กห์, เคลวิน แฮร์ริสัน จูเนียร์, เดวิด เวนแฮม, โคดี สมิต-แม็กฟี

 

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 33 ฉบับที่ 10 พฤศจิกายน 2565

ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Movie Review

Comments are closed.