Movie ReviewREVIEW

ดูมาแล้ว Ex Machina ปัญญาประดิษฐ์…. ระเบิดฆ่าตัวตาย ของคนที่กำลังเล่นบทเป็นพระเจ้า

ex_machina-posterอเล็กซ์ การ์แลนด์ สร้างชื่อให้ตัวเองด้วยบทประพันธ์อย่าง The Beach ที่ทำให้เขากลายเป็นกระบอกเสียงของคนยุคเจเนอเรชัน เอ็กซ์ และต่อมากลายเป็นภาพยนตร์ที่กำกับโดยแดนนี บอยล์ ซึ่งเป็นผู้กำกับหนังเรื่องแรกที่เขาเขียนบทภาพยนตร์ 28 Days Later ในปี 2002 ก่อนที่การ์แลนด์จะมีงานเขียนบทที่น่าสนใจออกมาอีกอย่าง Sunshine (2007), Never Let Me Go (2011) และ Dredd (2012) ซึ่งทั้งหมดได้รับคำชมเชยเป็นอย่างดี

ปีที่ผ่านมา การ์แลนด์ก็มีงานกำกับเรื่องแรกให้ได้ชมกัน เป็นหนังไซ-ไฟชื่อว่า Ex Machina ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างงดงาม ทั้งจากนักวิจารณ์ และผู้ชม โดยบ้านเราหาชมกันได้แล้วพักใหญ่ในรูปแบบของดีวีดี และบลู-เรย์ แล้วพอถึงช่วงของการประกาศรางวัลในต้นปีนี้ Ex Machina ก็มาไกลถึงเวทีออสการ์ กับการได้ชิงรางวัลแม้จะเพียงแค่สองรางวัล แต่หนึ่งในนั้นก็คือ การเข้าชิงรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ที่ไม่ต่างไปจากการตอกย้ำสถานภาพการเป็นมือเขียนบทระดับคุณภาพของเจ้าตัว ทั้งๆ ที่นี่คือหนังเล็กๆ จากเกาะอังกฤษ ที่เล่นกันด้วยนักแสดงเพียง 4 คนก็ว่าได้ แต่เป็นงานไซ-ไฟ ที่มีสไตล์ทั้งงานด้านภาพ, โปรดัคชัน ดีไซน์, การแสดง และแน่นอนบท

ที่แม้จะเต็มไปด้วยบทสนทนา แต่การ์แลนด์ทำให้ Ex Machina ที่เล่าเรื่องด้วยท่วงท่าแบบเนิบๆ ค่อยๆ ทวีความเข้มข้น ในแบบการต้มน้ำ ที่อุณหภูมิค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดเดือดได้ในตอนท้าย อย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีจังหวะจะโคน จากจุดเริ่มต้น ที่เป็นการถูกล็อตเตอรีพนักงานของคาเล็บ โปรแกรมเมอร์ของบริษัทซอฟท์แวร์ที่ชื่อบลูบุ๊ค ทำให้เขาได้โอกาสไปพักร่วมกับนาธาน เจ้าของและประธานบริษัท ที่บ้านพักอันอยู่ห่างไกลผู้คน และท่ามกลางธรรมชาติที่แวดล้อม ซึ่งนาธานใช้ชีวิตอยู่กับเคียวโกะ สาวใช้ชาวญี่ปุ่นที่พูดและรับรู้ภาษาอังกฤษไม่ได้

และเมื่อมาถึงคาเล็บก็รู้ว่า… นี่ไม่ใช่การมาพักผ่อนธรรมดา แต่เขายังต้องทำการทดสอบปัญญาประดิษฐ์ของหุ่นยนต์เพศหญิงที่ชื่อว่า เอวา ที่นาธานสร้างขึ้นมาอีกด้วย โดยเป็นการทดสอบที่มีทั้งเป้าหมาย และวิธีการที่แตกต่างไปจากการทดสอบตามปกติ เพราะคาเล็บรู้อยู่แล้วว่าเอวาคือปัญญาประดิษฐ์

จากความเคอะเขินในครั้งแรกที่เจอกัน คาเล็บกับเอวาเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์คืบหน้าไปเรื่อยๆ ในแต่ละครั้งที่ได้พบ จนถึงขั้นเธอขอให้เขาพาไปเดท ในขณะที่นาธานก็เฝ้าสังเกตการความเป็นไปอย่างใกล้ชิด ทุกอย่างสุกงอมเมื่อคาเล็บรู้ความจริงบางอย่างเกี่ยวกับเอวา รวมไปถึงเป้าหมายของนาธาน ทำให้เขาตัดสินใจพาเธอหนี

ในแง่ของความบันเทิง อเล็กซ์ การ์แลนด์ทำให้หนังที่เต็มไปด้วย ‘ความจำกัด’ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่, ตัวละคร และขอบเขตของเรื่อง เต็มไปด้วยชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง และมีความหลากหลาย มีความเป็นดรามา, มีความโรแมนซ์ จากความสัมพันธ์ของตัวละคร, มีความลึกลับ, มีเงื่อนปมที่น่าติดตาม, มีอารมณ์ขันเชิงเสียดสี ที่เล่าผ่านบทสนทนา และลักษณะของตัวละคร ตลอดจนการออกแบบภูมิทัศน์ต่างๆ อย่าง ที่พักของคาเล็บที่แปลกแยกกับสภาพแวดล้อมจนรู้สึกได้ ขนาดงบมีไม่มากนัก การ์แลนด์ก็ทำให้ Ex Machina เป็นงานที่มาพร้อม ‘สไตล์’ ที่โดดเด่นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาพ,ดนตรี และการออกแบบงานสร้างต่างๆ

การแสดงเองที่แม้จะมีน้อยคนแต่ก็แสดงรับ-ส่งกันได้อย่างกลมกลืนลงตัว โดยเฉพาะอลิเซีย วิแคนเดอร์ ที่ฉายแสงแรงกล้าขึ้นมาเรื่อยๆ ในแต่ละครั้งที่ได้เห็น และใน Ex Machina ก็คืองานโชว์ ‘ของ’ ของเธอ

ตัวเรื่องที่เนิบช้าในตอนต้น สปีดอารมณ์ของ Ex Machina ค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้น เหมือนกับน้ำที่ถูกต้มอย่างที่บอกไว้ ไม่ว่าจะเป็นโทนของหนัง บทสนทนา อารมณ์ของตัวละคร และความแรงของการกระทำ เมื่อถึงช่วงไคลแม็กซ์ในตอนท้าย หนังก็หักมุมได้ในระดับที่ทำให้อึ้ง และพลิกทุกอย่างจากที่ทุกคนคิดไว้ ทั้งคาเล็บ, นาธาน และแน่นอนผู้ชม แล้วก็กลายเป็นอีกครั้งที่มนุษย์ผู้เล่นบทพระเจ้าถูกตอกหน้าหงาย ไม่ว่าจะแสดงออกมาในรูปแบบไหนพระเดชหรือพระคุณ จากที่คิดว่าทุกอย่างอยู่ในกำมือของตัวเอง ที่เชื่อว่ามีความฉลาด และมีความสามารถมากกว่าสิ่ง (ไม่) มีชีวิตอื่นๆ จนลืมไปว่า หากมีเรื่องของวิวัฒนาการ วันหนึ่งบางสิ่งบางอย่างก็อาจจะก้าวล้ำไปเรื่อยๆ จนแซงหน้ามนุษย์ ที่มีขีดจำกัดและความถดถอยของพัฒนาการ เพราะความเป็นมนุษย์นี่ละ เมื่อเวลาผ่านเลยไป

ส่วนเอวา ก็ไม่ต่างไปจากหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่ได้เห็นในหนังอีกหลายๆ เรื่องที่ไม่มีขีดจำกัดของมนุษย์มาหยุดการเติบโต และทำให้ตัวเองกลายเป็น Ex Machina หรือ อดีตเครื่องจักรกลอย่างที่หนังว่าไว้ รวมไปถึงกลายเป็นระเบิดฆ่าตัวตาย ที่ถูกสร้างขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ และจัดการกับคนที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่า หรือกำลังเล่นบทพระเจ้าในท้ายที่สุด

เพราะพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว นอกเหนือไปจากนั้น แค่ ‘เล่นบท’ ไม่ใช่ ‘เป็น’

EX MACHINE – ผู้กำกับ: อเล็กซ์ ​การ์แลนด์ นักแสดง: อลิเซีย วิแคนเดอร์, ดอห์มเนลล์ กลีสัน, ออสการ์ ไอแซ็ค, โซโนยะ มิซูโน

โดย นพปฎล พลศิลป์

จากคอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านงานวิจารณ์หนัง และเพลง แบบนี้ ได้ด้วยการกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์กันไว้ก่อน ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Movie Review

Comments are closed.