Movie ReviewREVIEW

ดูมาแล้ว – THE DIRT เหล้ายา นารี ปาร์ตี ดนตรีร็อค ครอบครัว และผองเพื่อน

ผู้กำกับ: เจฟฟ์ เทรเมน นักแสดง: ดักลาส บูธ, โคลสัน เบเคอร์, แดเนียล เว็บเบอร์, ไอแวน เรห์ออน

ท่ามกลางกระแสความสำเร็จของ Bohemian Rhapsody ที่ไปได้ไกลจนถึงเวทีรางวัลใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นออสการ์หรือว่าลูกโลกทองคำ, บาฟตา ผ่านปี 2562 มาถึงเดือนที่สาม คอเพลงก็มีหนังอัตชีวประวัติของวงดนตรีชื่อดังอีกวงให้ได้ชม จากวงร็อคในยุค 70 เช่น Queen มาเป็นวงร็อคยุค 80 ที่ชื่อเสียงเลื่องลือในเรื่องความแสบสันต์ตามนิยาม Sex, Drugs, Rock ‘N Roll โด่งดังจนบดบังเรื่องศักยภาพทางดนตรีของพวกเขาไปจนหมด

ที่หากจะบอกว่าวงดนตรีวงนี้ Motley Crue มีชื่อเสียมากกว่าชื่อเสียงก็คงไม่ผิด

ตั้งวงกันที่ลอส แองเจลีส เมื่อปี 1981 โดยมีนิกกี ซิกซ์ซ์ (เบส) กับทอมมี ลี (กลอง) เป็นสมาชิกตั้งต้น แล้วก็ตามด้วย มิค มาร์ส (กีตาร์) ที่เข้ามาทดสอบตามประกาศที่ซิกซ์ซ์ลงเอาไว้ และวินซ์ นีล (นักร้องนำ) อดีตเพื่อนสมัยยังเรียนหนังสือของลี ที่หากเป็นไปตามที่เห็นในหนัง ม็อทลีย์ ครูว์ สร้างชื่อในเรื่องของความห่ามได้ก่อนความสามารถในทางดนตรีด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่พวกเขาคือวงแอลเอ เมทัลกลุ่มแรกๆ ที่ยังเป็นกระแสเริ่มต้นของวงแบบแกลม เมทัล ในอีกไม่กี่ปีต่อมา เมื่ออัลบัมชุดที่สามของวงในปี 1985 Theatre of Pain กลายเป็นงานที่ประสบความสำเร็จ ทำยอดขายในสหรัฐอเมริกาได้มากกว่า 4 ล้านชุด

ก่อนที่จะตอกย้ำด้วย Girls, Girls, Girls ในอีกสองปีต่อมา ที่ทำยอดขายไม่ต่างกัน แล้วก็ถึงจุดสูงสุดด้วย Dr. Feelgood อัลบัมอันดับ 1 ในชาร์ทบิลล์บอร์ด 200 ชุดแรกและชุดเดียวของพวกเขา ในปี 1989

แต่ก็อย่างที่บอก การผสมผสานดนตรีฮาร์ดร็อค, พังค์ และเฮฟวี เมทัล เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน และฉาบหน้าด้วยภาพลักษณ์แบบแกลม ที่ทำให้ม็อทลีย์ ครูว์ มีความเฉพาะตัวทั้งดนตรีและการนำเสนอ ต้องกลายเป็นเรื่องรอง เมื่อพวกเขาไม่ได้มีเรื่องราวแค่การแสดงบนเวที หรือว่าการนำเสนอชีวิตที่ ‘สร้าง’ ขึ้น แบบศิลปินแกลมรุ่นพี่ๆ เพราะสิ่งที่ได้ยิน เห็นและเป็นข่าว ล้วนคือไลฟ์สไตล์ที่พวกเขาใช้และเป็นจริงๆ

The Dirt สร้างจากหนังสืออัตชีวประวัติชื่อเดียวกัน ที่ทางวงกับนีล สเตราสส์ ช่วยกันเขียน และมีแผนงานสร้างมาตั้งแต่ตอนต้นปี 2006 แต่กว่าจะได้สร้างก็มาถึงปี 2017 เมื่อเน็ทฟลิกซ์เข้ามาซื้อลิขสิทธิ์ในการสร้าง มีริช วิลค์ส ผู้เขียนบทหนัง xXx ภาคแรกเป็นคนเขียนบท ส่วนผู้กำกับก็เป็น เจฟฟ์ เทรเมน เจ้าของเครดิตจากหนังใหญ่ Jackass ทั้งสี่เรื่อง

ซึ่งคงพอจะอธิบายได้ในระดับหนึ่งว่า ทำไม The Dirt ถึงไม่ได้ขึ้นจอกันในแบบงานดรามา เข้มข้น ทั้งๆ ที่เรื่องราวของวงนั้นเดือดไม่น้อย แต่ออกมาเป็นงานแบบทีเล่นทีจริง เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน รวมไปถึงมีโทนที่สดใสด้วยซ้ำ ทำให้ภาพลักษณ์ที่ชวน ‘ดูด Teen’ ของทางวงกลายเป็นเรื่องเบาๆ ความห้าว ห่ามของพวกเขากลายเป็นเรื่องสนุกๆ แล้วเมื่อรวมกับเรื่องราวที่เอามาบอกเล่านั้น ไม่ได้ลงลึกอะไรไปมากเท่าไหร่ด้วยแล้ว

The Dirt ก็คล้ายๆ กับ Bohemian Rhapsody เหมือนกัน ตรงที่เรื่องหนึ่งเปรียบได้กับหนังสือเรียนวิชา ควีน 101 อีกเล่มหนึ่งก็ไม่พ้น ม็อทลีย์ ครูว์ฉบับเริ่มต้น ที่บางคนอาจจะบอกว่า เสิร์ชกูเกิลหรือเปิดอ่านในวิกิพีเดียก็น่าจะไม่ต่างกัน

แม้หนังจะแนะนำซิกซ์ซ์ที่เป็นผู้เริ่มต้น รวมไปถึงลี ด้วยการย้อนไปถึงชีวิตในวัยเยาว์ แต่ก็ไม่ได้พาเข้าไปสัมผัสเบื้องลึกของสภาพจิตใจ ทั้งๆ ที่มีอะไรให้เล่นมากมาย ไม่ว่าการโตมาในบ้านที่จู่ๆ พ่อก็ทิ้ง แม่คบผู้ชายไม่ซ้ำหน้า และมองไม่เห็นค่าของตัวเอง ท้ายที่สุดเขาคือคนที่ทำให้แม่ถูกจับ ตัวเองถูกส่งไปอยู่สถานดูแลเด็ก เมื่อโตโทรไปหาพ่อ ก็ดันไม่ยอมรับว่าเขาเป็นลูก จนทำให้ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเป็นนิคกี ซิกซ์ซ์อย่างที่เห็น ลีก็ดูจะโตมาในครอบครัวหัวโบราณ หากก็เป็นครอบครัวที่อบอุ่นกว่าจะส่งให้เขาอยากใช้ชีวิตที่หลุดกรอบอย่างที่เป็น

กระทั่งนีล ที่ต้องเจอกับปัญหาของลูกสาว รวมไปถึงเป็นต้นเหตุให้เพื่อนร่วมอาชีพจากวง Hanoi Rock เสียชีวิต The Dirt ก็แตะไม่ถึงข้างใน เช่นเดียวกับความขัดแย้งของเขากับวง และปัญหาคาใจระหว่างซิกซ์ซ์กับลี ก็ถูกพูดถึงเพียงผิวๆ ขณะที่มิค มาร์ส สมาชิกที่อายุมากที่สุดในวง ก็กลายเป็นบุคคลลึกลับในท้ายที่สุด

ส่งให้การพูดว่า ม็อทลีย์ ครูว์ คือครอบครัว ในตอนท้าย กลายเป็นบทสนทนาตามสูตรของหนังแนวนี้ ที่ไม่ได้กินใจหรือซาบซึ้งอะไรในที่สุด

ส่วนเรื่องของดนตรี ที่มาของเพลงเด่น เพลงเด็ด เพลงสำคัญ ก็ไม่ได้ถูกเล่าบอกอย่างเป็นจริงเป็นจัง ซึ่งทำให้เรื่อง ‘ปูม’ เพลงของพวกเขาหายไป แม้จะมีพูดถึงเพลง “Home Sweet Home” งานบัลลาดสร้างชื่อจาก Theatre of Pain แต่ก็แค่พูดถึง หรือ “Live Wire” เพลงฮิตยุคแรกๆ ก็เป็นเพียงเพลงที่นีลร้องตอนที่มาออดิชันกับวงเท่านั้น

หากหนังก็นำเสนอวิชา ว่าด้วยม็อทลีย์ ครูว์ ได้ในระดับที่เรียกว่าเพลิดเพลินเหมือนกัน โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นภาพของร็อคสตาร์ในยุค 80 ที่เพียบแปล้ไปด้วยเรื่องเหล้ายา ปาร์ตี ผู้หญิง รวมไปถึงวีรกรรมสุดโต่งอย่างเช่นการรื้อห้องพักในโรงแรมกระจาย หรือสมาชิกเล่นยาจนถึงขั้นที่ถูกประกาศอย่างเป็นทางการว่าเสียชีวิตไปแล้ว ก่อนที่เจ้าหน้าที่บนรถพยาบาลจะพยายามกู้ชีวิตเขาจนกลับมาได้อีกครั้ง พูดง่ายๆ ก็คือ มีเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของวงถูกหยิบมาเล่าเป็นระยะๆ ที่เพี้ยนที่สุดก็คือ การพบกับออซซี ออสบอร์น ที่เลือกพวกเขามาเป็นวงเปิดการแสดงในทัวร์

ซึ่งฉากเปิดแนะนำสมาชิกแต่ละคน ที่ให้ทอมมี ลี เบิร์นสาวโชว์กลางงานปาร์ตี, นิกกี สูดโคเคนที่เรียงเป็นเส้นๆ อย่างมีความสุข รวมไปถึงนีลที่กระแทกบั้นท้ายหญิงสาวคนหนึ่งอย่างเมามันส์ ขณะแฟนหนุ่มของเธอกำลังเคาะประตูเรียก น่าจะบอกได้ว่า ส่วนหนึ่งหรือสิ่งที่หนังจะทำให้ได้รู้คืออะไร

นอกจากจะเป็น ม็อทลีย์ ครูว์ 101 มากพอๆ กับที่ Bohemian Rhapsody เป็นควีน 101 แล้ว The Dirt ยังมีอะไรมากมายที่ไม่ต่างไปจากหนังเรื่องนั้น ไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่า การเป็นสมาชิกของวงดนตรีวงหนึ่งนั้น ไม่ต่างไปจากการอยู่ร่วมเป็นครอบครัวเดียวกัน กระทั่งบทสรุปเรื่องราว ก็คือการดึงอดีตนักร้องนำของวงกลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง เพื่อออกทัวร์รียูเนียน กลับไปเป็นม็อทลีย์ ครูว์ ในแบบพร้อมหน้าพร้อมตาทุกคนในครอบครัว ที่ปิดฉากด้วยการขึ้นเวทีครั้งสุดท้าย ในการสายทัวร์คอนเสิร์ตอำลา เมื่อ 31 ธันวาคม 2015

ที่ต่างก็คือ กับการเป็นโปรดัคชันขนาดเล็ก ทำให้ The Dirt ไม่ถึงกับดูอลังเท่ากับหนังของควีน โชว์สุดท้ายของตัวเอง มันย่อมไม่แกรนด์แบบไลฟ์ เอด เรื่องของเสื้อผ้าที่ตัวละครสวมใส่ในการแสดงบนเวทีก็ยังไม่เป๊ะ ส่วนนักแสดงก็ให้รู้สึกว่าเป็นการ ‘เล่น’ มากกว่าสวมบทบาท หากกับการนำเสนอออกมาด้วยอารมณ์เบาๆ มีโทนในแบบหนังเบาสมอง ก็ไม่รู้สึกถึงกับขัดหูขัดตานัก ส่วนหนังที่ไม่ได้ลงลึก ไม่ได้ทำให้รู้จักม็อทลีย์ ครูว์มากกว่าที่เป็น ก็พอกล้อมแกล้มไปได้จากการนำเสนอภาพไลฟ์สไตล์แบบร็อคแอนด์โรลล์ อย่างเต็มที่

แต่ถ้านำเสนอแบบจริงจัง เข้มข้นมากกว่านี้ หนังก็น่าจะให้ภาพ ‘จริงๆ’ ของชีวิตที่เหมือนสนุกแต่เต็มไปด้วยความทุกข์ หรือมากไปด้วยปัญหา ให้รู้สึกว่าไลฟ์สไตล์ของร็อคสตาร์ มันไม่ใช่เรื่องบันเทิง แต่เป็นเรื่องที่หดหู่ ก็น่าจะทำให้คนดูได้รับรู้ความเป็นจริงในชีวิตของผู้คนในแวดวงนี้มากขึ้น หรืออย่างน้อยหนังก็น่าจะมีโทนเรื่องที่เข้ากันได้และเป็นไปตามที่ชื่อหนัง และชื่อหนังสือที่เป็นที่มาตั้งใจให้เป็นจริงๆ

ไม่ใช่เป็นหนังทีเล่นแบบใสๆ จนไม่ได้รู้สึกถึงอีกด้านของไลฟ์สไตล์แบบร็อคสตาร์ ที่มักจะพ่วงมาด้วยคำว่า Sleep Fast Die Young เสมอๆ

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 30 ฉบับที่ 7 2562

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Movie Review

Comments are closed.