FEATURESMusic Features

บทสรุปของคดีก็อปปีเพลง “Blurred Lines” 

หลายๆ คนคงยังจำเพลงฮิต “Blurred Lines” กันได้ ที่นอกจากจะเป็นเพลงดังสร้างชื่อให้กับโรบิน ธิกแล้ว เพลงนี้ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างธิกกับฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์ ยังตกเป็นข่าวคราวใหญ่หลังจากครอบครัวของมาร์วิน เกย์ ยื่นฟ้องต่อศาลว่า เป็นเพลงที่ลอกเลียน “Got to Give it Up” เพลงของมาร์วิน เกย์เมื่อปี 1977 และวันนี้คดีดังกล่าวก็ถึงบทสรุป หลังจากการดำเนินคดียืดเยื้อมานานถึง 5 ปี เมื่อจอห์น เอ. ครอนสตัดท์ ผู้พิพากษา ศาลรัฐแคลิฟอร์เนียตัดสินให้ครอบครัวของเกย์เป็นผุ้ชนะ ส่งผลให้ธิกกับวิลเลียมส์ต้องสูญเงินกว่า 5 ล้านเหรียญ

คดีดังกล่าวเริ่มต้นในปี 2013 เมื่อครอบครัวของเกย์อ้างว่า เพลง “Blurred Lines” ของธิกกับวิลเลียมส์ก็อปปี “ซาวนด์” และ “อารมณ์”  เพลง “Got to Give it Up” ซิงเกิลของเกย์เมื่อปี 1977 หลังจากธิกยอมรับว่า เพลงของเกย์เป็นแรงบันดาลใจของเพลงนี้ 

ในปี 2015 ทั้งคู่แพ้คดี แต่มีการยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาล โดยปฏิเสธว่า คดีนี้ไม่ใช่เรื่องการก็อปปีเพลง แต่เป็นแค่เรื่องการ ‘มีความคล้ายคลึงร่วมกัน’  

ถัดมาในปี2016 ธิกกับวิลเลียมส์ ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลที่ให้จ่ายค่าเสียหาย 5.3 ล้านเหรียญ ที่คำตัดสินในตอนแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2015 คณะลูกขุนระบุว่า มีมูลค่าถึง 7.3 ล้านเหรียญ แต่ผู้พิพากษาตัดเหลือ 5.3 ล้านเหรียญ และหาทางเปลี่ยนคำตัดสิน แต่ทางศาลอุทธรณ์ของรัฐยังยืนกรานคำตัดสินเดิมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

โดยธิก, วิลเลียมส์ และบริษัทพิมพ์เพลงของวิลเลียมส์ – More Water From Nazareth จะต้องแบ่งกันจ่ายค่าเสียหายที่ตั้งไว้ 2,848,846.50 เหรียญ ขณะที่ค่าเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ ธิกซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของเพลงนี้ จะต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่อีกคิดเป็นเงิน 1,768,191.88 เหรียญ บวกกับอีก 357,630.97 เหรียญจากวิลเลียมส์และบริษัทพิมพ์เพลงของเขา 

นอกจากนี้ครอบครัวของเกย์ ยังได้รับดอกเบี้ยก่อนคำตัดสินจากค่าเสียหาย ผลกำไรจากที่แต่ละฝ่ายได้รับอีก 9097.51 เหรียญ ทำให้รวมๆ แล้วครอบครัวของเกย์จะได้รับเงินทั้งหมดราวๆ 5 ล้านเหรียญ ซึ่งลดลงจากเดิม 7.3 ล้านเหรียญ

ถ้ามองย้อนไปตั้งแต่ถูกตัดเป็นซิงเกิล จะว่าไปแล้ว “Blurred Lines” ก็สร้างข้อถกเถียงมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะการตกเป็นเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล แต่เริ่มตั้งแต่การโปรโมทที่มีลักษณะของการดูถูกเพศหญิง อย่างที่เนื้อหา และเรื่องราวของเพลงแสดงนัยเอาไว้ นอกจากนี้ตัวมิวสิค วิดีโอก็ทำออกมาไม่เหมาะสมสำหรับการปล่อยออกอากาศโดยทั่วไปอีกด้วย แต่ถึงจะถูกตำหนิมากมายหลายมุม แต่เพลงนี้ก็กลายเป็นเพลงฮิต ที่คนฟังเพลงมากมายทั่วโลกชื่นชอบ

เควสท์เลิฟ ดีเจและโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน ให้ความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า เขาไม่เห็นด้วยกับความคิดของครอบครัวเกย์ และเลือกยืนฝั่งธิกกับวิลเลียมส์ “เรื่องนี้ผมเลือกข้างฟาร์เรลล์กับโรบินนะ แต่ผมก็เป็นพวกต่อต้านการดูถูกเพศหญิง” เขากล่าว “ในทางเทคนิค มันไม่ใช่การลอกเลียน” และ “กระทั่งทางเดินคอร์ดก็ไม่เหมือนกัน มันเป็นเรื่องของอารมณ์” 

“เราทุกคนรู้ดีว่า มันเป็นการเลียนแบบ นั่นคือสิ่งที่งานของฟาร์เรลล์เป็น” เขาเสริท “ทุกอย่างที่ฟาร์เรลล์ทำ คือการเลียนแบบอีกเพลงหนึ่ง แต่มันเป็นการแสดงการคารวะ และในกรณีนี้ ใช่… ที่เพลงมันไม่ได้ดีเด่ แต่มันก็สนุกดี” 

โดยคำตัดสินยังระบุว่า ครอบครัวของเกย์จะได้รับ 50% จากค่าลิขสิทธิ์ของเพลงนี้ที่เกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย   

โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง บทสรุปของคดีก็อปปีเพลง “Blurred Lines” คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ 25 ธันวาคม 2561

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.