FEATURES

บริษัทกีตาร์ในตำนาน กิบสัน ล้มละลาย

จากที่เคยพยายามหาทางฟื้นฟูกิจการ ในที่สุดบริษัทกีตาร์ระดับตำนานกิบสัน (Gibson) ก็ถึงคราวต้องพาตัวเองพ้นจากภาวะล้มละลาย หลังสารพัดวิธีที่ใช้ก่อนหน้านี้ นำไปสู่สถานภาพล้มเหลวทางเศรษฐกิจ โดยทางบริษัทได้ยื่นขอล้มละลายต่อศาล หลังไม่สามารถชำระหนี้ที่มีถึง 500 ล้านดอลลาร์ได้ ซึ่งการขอล้มละลายจะทำให้บริษัทได้รับความคุ้มครองของศาลจากเจ้าหนี้ เพื่อที่จะสามารถปรับการดำเนินธุรกิจของตัวเองได้

ตัวแทนบริษัทกิบสันที่ก่อตั้งเมื่อปี 1894 และปัจจุบันมีสินค้ายี่ห้อ เวอร์ติไลเซอร์ (Wurlitzer), โดโบร (Dobro) และ เอพิโฟน (Epiphone) อยู่ในการดูแล เสริมด้วยว่า ทางบริษัทมีแผนสานต่อการทำธุรกิจออกแบบ, สร้าง และขายเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยอาจจะปิดกิจการในส่วนที่เป็นการทำหูฟังยี่ห้องฟิลิปส์ (Philips) และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ลง

“ตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา การปรับโครงสร้างการทำงานของเรามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก” เฮนรี จัสซ์คีวิคซ์ (Henry Juszkiewicz) ซีอีโอของกิบสัน ที่ถือหุ้นของบริษัทถึง 36% กล่าว เขายังบอกอีกว่า ทางบริษัทซึ่งมีลูกจ้างถึง 875 คนในแนชวิลล์, เมมฟิศ และที่โบซแมน, มอนทานา จะ “ปรับมุมมองใหม่ในธุรกิจสำคัญๆ” ที่เป็นบรรดาเครื่องดนตรี ซึ่ง “เราเชื่อว่าจะสร้างความมั่นคงและความสมบูรณ์ทางการเงินให้บริษัทได้ในระยะยาว”

จัสซ์คีวิคซ์ซื้อบริษัทมาในปี 1986 ด้วยเงินแค่ 5 ล้านดอลลาร์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารที่อารมณ์แปรปรวน และเคยเชิญบรรดาผู้บริหารมาร่วมยิงกีตาร์เฟนเดอร์ สตราโตคาสเตอร์ (Fender Stratocasters) กับเขาในสนามยิงปืน และในช่วงยอดขายตกต่ำ เขาตัดสินใจเพิ่มความหลากหลายให้กับบริษัท ด้วยการโดดไปสู่ตลาดเครื่องไฟฟ้าที่อาศัยเงินทุนจากกิบสัน และอีกความพยายามอย่างเพิ่มลูกเล่นเครื่องตั้งสายในตัว จี-ฟอร์ซ (G Force) เข้าไปในตัวกีตาร์ ก็ถูกผู้บริโภคปฏิเสธ

“ทุกอย่างที่เราทำเป็นเรื่องของดนตรี” จัสซ์คีวิคซ์ กล่าว “ไม่สำคัญว่าจะเป็นการทำเพลงด้วยเครื่องดนตรี หรือฟังเพลงด้วยเครื่องเล่นเพลง สำหรับผม เราคือบริษัทดนตรี นั่นคือสิ่งที่เราอยากเป็น และผมต้องการเป็นเบอร์ 1 และอย่างที่รู้ดูเหมือนว่าไม่มีใครเป็นคู่แข่งกับเราแล้วในตอนนี้”

หลายปีที่ผ่านมา รายได้ของกิบสันตกลงจาก 2.1 พันล้านดอลลาร์เหลือแค่ 1.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2017 เมื่อปี 2014 บริษัทซื้อแผนกเครื่องเสียงของฟิลิปส์ด้วยเงินถึง 135 ล้านเหรียญ ซึ่งกลายเป็นการตัดสินใจที่ผิด และนำไปสู่การลดระดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของบริษัทในปี 2016

เรื่องที่เกิดกับกิบสัน จะว่าไปแล้วเป็นเรื่องปกติสำหรับอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ยอดขายกีตาร์ไฟฟ้าลดลงฮวบฮาบ จาก 1.5 ล้านตัวเหลือแค่ล้านตัว และในปี 2010 กีตาร์โปร่งก็ทำยอดขายแซงหน้ากีตาร์ไฟฟ้าได้ด้วยซ้ำ แถมบริษัทเฟนเดอร์ก็เคยต้องเปิดขายหุ้นสามัญต่อสาธารณะมาแล้วในปี 2012 หลังหนี้สินรุมเร้า ส่วนร้านขายปลีกกีตาร์รายใหญ่ กีตาร์ เซนเตอร์ (Guitar Center) ก็มีหนี้สินถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์

องค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ยอดขายกีตาร์ลดลงก็คือ “เด็กๆ ที่เคยทำให้ยอดขายกีตาร์พุ่งสูง หันไปสนใจดนตรีอีดีเอ็ม, แร็ป และดนตรีอินดีที่ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยกีตาร์สักเท่าไหร่ กระทั่งความสนใจในเรื่องดนตรีเองก็ไม่ได้สูงขึ้นกว่าเดิม”

ปีที่แล้วจอร์จ กรุนห์ (George Gruhn) พ่อค้ากีตาร์ระดับตำนานของแนชวิลล์ บอกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากตลาดที่ซบเซา และบรรดาของก็อปปีสินค้าคลาสสิค แต่โดยพื้นฐานแล้วสิ่งที่ต้องการก็คือ เทพกีตาร์อย่าง จิมมี เพจ (Jimmy Page) ถึงจะมีมือกีตาร์ที่ประสบความสำเร็จอย่าง แจ็ค ไวท์ (Jack White), แกรี คลาร์ค จูเนียร์ (Gary Clark Jr) หรือวงแบบ The Black Keys แต่นักดนตรีรุ่นใหม่ๆ ก็อยากเป็นปรมาจารย์เทคโนโลยีอย่าง อเบิลทัน (Ableton) มากกว่า “สิ่งที่เราต้องการคือ กีตาร์ฮีโร” กรุนห์สรุป

โดย นพปฎล พลศิลป์ จากเรื่อง บริษัทกีตาร์ในตำนาน กิบสัน ล้มละลาย คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 11 พฤษภาคม 2561

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.